xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมปฏิบัติ : วิธีแก้อารมณ์ของจิต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คนเรามีอารมณ์อยู่ในใจทุกคน ตั้งแต่เกิดมาจนกระทั่งวันตาย มีอารมณ์ด้วยกันทั้งนั้น อาจจะหนักหรือเบา รุนแรงหรือไม่รุนแรงต่างกัน

มนุษย์เราเกิดขึ้นมาแล้ว ข้องอยู่ในอารมณ์ต่างๆ เช่น ความรัก ความชัง ความโกรธ ความเกลียด ความเพลิดเพลิน มัวเมา ฯลฯ ติดอยู่ในสันดานทุกคน

เหตุนั้นจึงฟังเรื่อง “อารมณ์” ต่อไป เพื่อให้เข้าใจถึงอารมณ์นั้นๆ

อารมณ์ แปลว่า สิ่งที่พอใจยินดี ถึงแม้สิ่งอันที่ไม่พอใจ มีความโกรธความเกลียด เป็นต้น มันก็พอใจผูกพันอยู่กับความโกรธ ความเกลียดนั้น คือ มันไม่ทิ้งไม่วางนั่นเอง จึงเรียกว่าอารมณ์

ที่เกิดของอารมณ์ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ที่เรียกว่า อายตนะทั้งหก เป็นบ่อเกิดของอารมณ์ ท่านว่าเป็นบ่อเกิดมิใช่เกิดจากอายตนะ

ความจริง อารมณ์มิใช่เกิดจาก ตา หู จมูก ลิ้น กาย มันเกิดจากจิตต่างหาก

ตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็นแต่เพียงประตู เปรียบเหมือนประตูหรือหน้าต่างของบ้านเรือนนั่นแหละ พอได้ยินเสียงอันใดก็ไปเปิดประตูดู ไปส่องดูตามหน้าต่าง อยากเห็นอะไรก็ไปส่องดูตามนั้นแหละ แต่ผู้ส่องไม่ใช่หน้าต่าง หน้าต่างเป็นเพียงช่องสำหรับส่องดู ผู้ส่องดูคือคนดูต่างหาก

ถึงแม้จะไม่มีประตูหน้าต่าง คือ ไม่มี ตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่จิตมันยังมีอยู่ มันก็ยังเห็นอยู่ ดังนั้นจึงว่าอารมณ์ไม่ได้เกิดที่ ตา หู จมูก ลิ้น กายนั่นหรอก มันเกิดที่จิต

ถ้าหากเรามาพิจารณาแยกออกไป แยกกาย แยกใจ กับอารมณ์นั้น ก็จะเห็นชัดด้วยใจของตนเองว่า อารมณ์เป็นอันหนึ่ง ใจเป็นอันหนึ่ง อายตนะเป็นอันหนึ่ง แต่อารมณ์ก็เกิดจากจิตนั่นเอง

ในการที่แยกพิจารณานั่นเอง อารมณ์ กับ ใจ มันเลยออกจากกันไม่รู้ตัว

“ใจ” ไม่มีอารมณ์ มันหายไปเลยทีเดียว ทีนี้เราไม่ได้พิจารณาแยกเช่นนั้น เราไปหากันแต่อารมณ์ ไม่หาใจ เลยไม่รู้จักว่า มันแยกกันออก เช่น เวลารักสิ่งใดก็เลยไปชอบใจ ไปพอใจด้วยสิ่งนั้น สิ่งที่เรารักนั่นแหละ ไปยินดีพอใจพัวพันอยู่แต่ในสิ่งที่รักนั้น หรือพอไปโกรธไปเกลียดสิ่งที่ไม่ถูกใจเข้า ก็ชอบคิดวนเวียน อยู่แต่ในสิ่งนั้นแหละ มันก็เลยติดอยู่เพียงแค่นั้น ไม่เข้าถึงใจสักที

ครั้นมาพิจารณาแยกอย่างนี้ คือ พิจารณาใจ ใจคือตัวกลาง ดังที่เคยอธิบาย ให้ฟังมาแล้ว ใจไม่มีอะไรเลย ความคิดนึกปรุงแต่งไม่มี อดีตไม่มี อนาคตไม่มี มีความรู้สึกแต่ปัจจุบันเท่านั้น

ส่วนอารมณ์ เช่น ความรักลูก รักหลาน รักภรรยาสามี รักสิ่งต่างๆ ทั้งหมด มันพาให้ไปคิดถึงเรื่องของคนที่เรารักนั้น ปรุงแต่งอดีตอนาคต มันจะเป็นอย่างนั้น มันจะเป็นอย่างนี้ โดยที่มันยังไม่ทันเป็นก็อยากให้มันเป็น หรือมันเป็นไปแล้ว ก็คิดนึกปรุงเพลิดเพลินไปต่างๆ นั่นจึงเรียกว่า อารมณ์ มันไม่อยู่คงที่ ไม่อยู่ในที่เดียว ไม่ลงปัจจุบัน

ถ้าหากลงปัจจุบันก็หมดเรื่อง มันวางเรื่องต่างๆ ที่คิดนึกปรุงแต่งทั้งหมด อารมณ์ก็ไม่มี อยู่เฉยๆ เป็นกลางๆ ไม่คิดนึก เข้าถึงใจเลย ตัวกลางๆ นั่นแหละคือตัวใจ

ขอให้เห็นให้รู้จักตัวกลางนั่นเสียก่อน ถึงมันจะไม่เป็นสมาธิก็ช่าง ให้เห็นตัวกลาง เพื่อให้รู้จักตัวเดิมของมัน ความรัก ความชังเกิดมาจากตัวกลางๆ นั่นแหละ มันเป็นเหตุให้เกิดอดีตอนาคต ถ้าไม่มีของกลางก็หมดเรื่อง เพราะตัวที่จะออกไปปรุงไปแต่งเป็นอดีตอนาคตไม่มี

ตัวกลางนี้จึงเรียกว่า “ใจ” ตัวที่คิดนึกปรุงแต่งเรื่องต่างๆ ทั้งปวงเรียกว่า “จิต” หรือเรียกว่า “เจตสิก” ก็ตามแต่จะเรียกกันไป ในที่นี้จะเรียกว่า จิต

จิตไม่มีหยุดนิ่งอยู่ได้ ถ้าจะวิ่งตามความปรุงความแต่งของจิตไม่มีที่สิ้นสุด วันหนึ่งๆ มันไปรอบด้าน มันปรุงมันแต่งคิดโน่นคิดนี่ทุกอย่าง มันไม่หยุดไม่อยู่ จะวิ่งตามมัน โอ๊ย.. ไม่ไหวหรอก เหมือนคนวิ่งตามเงา จะวิ่งเท่าไหร่ๆ ก็ไม่ทันเงา หากหยุดวิ่ง เงาก็หยุดกึกเลย จิตก็เหมือนกัน มันไม่หยุดสักที ถ้าเราหยุดกึกลงไปเท่านั้น มันอยู่คงที่เลย ไม่ต้องวิ่งตาม

เหตุนั้นจึงว่า ให้เห็นตัวเดิมของมันเสียก่อน เมื่อเห็นตัวเดิมแล้วคราวนี้จึงรู้ว่า อารมณ์ ก็คือ จิต นั่นแหละ คิดนึก ส่งหน้า ส่งหลัง อดีต อนาคต ยินดีอยู่กับความคิดปรุงคิดแต่ง ไม่ว่าจะคิดกุศลหรืออกุศล เช่น ความโกรธ ความจริงที่ แท้ไม่อยากโกรธหรอก แต่หากวางไม่ได้ คือ มันยินดี มันติดใจในเรื่องนั้น คิดนึกปรุงแต่งแต่เรื่องความโกรธนั่นแหละ วางไม่ได้ทอดทิ้งไม่ได้ มันเป็นอารมณ์ในเรื่องนั้น

จะละ จะทิ้ง จะถอน อารมณ์อย่างไร เรามาลองคิดดูว่า ถ้าหากเราไม่คิดจะเป็นอย่างไร? เมื่อไม่คิด ไม่ปรุง ไม่แต่ง มันก็เฉยๆ เท่านั้นเอง นี่แหละคือตัวกลาง

เมื่อเข้าถึงตัวกลางได้แล้ว ความโกรธ ความไม่พอใจ ความรัก อารมณ์ต่างๆ ก็หลุดออกไปหมด อันนี้คือ วิธีแก้อารมณ์ คือ แยกใจออกจากอารมณ์เสีย แล้วเอาแต่ใจอย่างเดียว อย่าไปเอาอารมณ์ เท่านั้นก็เป็นว่าแยกได้ทุกสิ่งทุกอย่างหมด

ไม่ว่าจะเป็นความรัก ความชัง ความโกรธเกลียด อิจฉา พยาบาท ความวิตก ความกลัว ความเศร้าโศกคับแค้นใจ ความ เพลิดเพลินมัวเมา สรรพกิเลสทั้งปวงหมด ต้องแยกอย่างนี้ ต้องพิจารณาอย่างนี้ จึงจะเข้าถึงตัวใจ เมื่อเข้าถึงใจแล้ว สิ่งทั้งปวงมันก็ถอนรากไปพร้อมกัน ก็หมดเรื่อง

วันนี้ได้อธิบายถึงเรื่องอารมณ์และวิธีแก้อารมณ์ โดยเฉพาะเพียงแค่นี้ เอวํ ฯ

(จากส่วนหนึ่งของหนังสือ
เทสรังสีบูชา ๒๙)


(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 138 มิถุนายน 2555 โดย พระราชนิโรธรังสี คัมภีร์ปัญญาวิศิษฏ์ (หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี) วัดหินหมากเป้ง จ.หนองคาย)
กำลังโหลดความคิดเห็น