xs
xsm
sm
md
lg

กระแสพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 5-7 ที่เกี่ยวกับการปกครองแบบประชาธิปไตย (ตอนที่ 2)

เผยแพร่:   โดย: เทพมนตรี ลิมปพยอม

อันที่จริงแล้วรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ยังมีพระราชกระแสรับสั่งที่เกี่ยวกับการจัดการปกครองแบบประชาธิปไตยและในส่วนที่เกี่ยวกับ “คณะรัฐมนตรีและรัฐบาล” อีกจำนวนหนึ่งซึ่งจะนำเสนอในบทสรุปต่อไป ในบทความครั้งนี้ ผมจึงขอนำเสนอกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงสืบสานพระราชปณิธานของรัชกาลที่ 5 ที่ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งเอาไว้ตอนปลายรัชกาลดังที่ผมได้นำเสนอไปแล้วในตอนที่ 1

ในหลวงรัชกาลที่ 6 ทรงทดลองการปกครองแบบประชาธิปไตยด้วยการสร้างเมือง “ดุสิตธานี” ขึ้นอย่างเสร็จสมบูรณ์ ณ บริเวณพระราชวังพญาไท โดยให้มีคณะรัฐบาล มีพรรคการเมือง มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร (เรียกว่า เชษฐบุรุษ) มีการออกหนังสือพิมพ์ดุสิตสมิต เพื่อเผยแพร่แนวความคิดในการปกครองแบบประชาธิปไตย ดังความว่าในจดหมายเหตุรายวัน รัตนโกสินทร์ศก 130 เล่ม 2 วันที่ 13 มกราคมถึงวันที่ 31 มีนาคม หน้า 49-50

“การที่มอบการปกครองไว้ในมือเจ้าแผ่นดินคนเดียวผู้มีอำนาจสิทธิขาดนั้น ดูเปนการเสี่ยงบุญเสี่ยงกรรมอยู่ ถ้าเจ้าแผ่นดินเป็นผู้ที่มีสติปัญญาสามารถและมีความตั้งใจมั่นอยู่ว่า จะทำการให้บังเกิดผลอันดีที่สุดแก่ชาติบ้านเมืองฉนี้แล้วก็จะเป็นการดีที่สุด จะหาลักษณะการปกครองอย่างใดมาเปรียบปานได้โดยยาก แต่ถ้าแม้เจ้าแผ่นดินเป็นผู้ที่โฉดเขลาเบาปัญญา ขาดความสามารถ ขาดความพยายาม เพลิดเพลินไปแต่ในความศุขส่วนตัว ไม่เอาใจใส่ในน่าที่ของตน ฉนี้ก็ดีฤาเปนผู้ที่มีน้ำใจพาลสันดานหยาบดุร้ายและไม่ตั้งมั่นอยู่ในราชธรรม เห็นแก่พวกพ้องและบริวารอันสอพลอและประจบฉนี้ก็ดี ประชาชนก็อาจได้รับความเดือดร้อน ปราศจากความศุขไม่มีโอกาสที่จะจเริญได้

ดังนี้จึงเห็นได้ว่าเป็นการเสี่ยงบุญเสี่ยงกรรมอยู่.......ส่วนการมีคอนสติตูชั่นนั้น เปนอันตัดความไม่แน่นอนไปได้มาก เพราะอำนาจมิได้อยู่ในมือคนคนเดียว ซึ่งถึงแม้ว่าจะดีฤาชั่วปานใดก็เปลี่ยนไม่ได้ ประชาชนได้มีเสียงในการปกครองชาติบ้านเมืองของตนเอง เสนาบดีผู้รับตำแหน่งน่าที่ปกครองต้องรับผิดชอบต่อประชาชน จำเป็นต้องทำการให้เปนไปอย่างดีที่สุดที่จะเปนไปได้ เพราะถ้าแม้ว่าทำการในน่าที่บกพร่อง ประชาชนไม่เป็นที่ไว้วางใจต่อไป ก็อาจจะร้องขึ้นด้วยกันมากๆ จนเสนาบดีต้องลาออกจากตำแหน่ง คนที่ประชาชนไว้วางใจก็จะได้มีโอกาสเข้ารับตำแหน่งน่าทีทำการงานให้ดำเนินไปโดยทางอันสมควรอย่างยิ่ง

และถ้าแม้จะกล่าวไปแต่โดยทางว่าเป็นแบบแผนที่ดีฤาไม่คงไม่มีใครเถียงเลย คงต้องยอมรับว่าดีทั้งนั้น แต่แบบอย่างใดๆ ถึงแม้ว่าจะดีที่สุดเมื่อเขียนอยู่ในกระดาษ เมื่อใช้จริงเข้าแล้วบางทีก็มีที่เสียหายปรากฏขึ้น ดังปรากฏอยู่แก่ผู้ที่ได้ศึกษาและรู้เหตุการณ์ที่เปนไปในนานาประเทศ เพราะเหตุหลายประการ...”

นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังทรงมีพระราชหัตถเลขาที่ตอบไปยังพระยาราชไมตรี เรื่องควรจัดให้สมาชิกรัฐมนตรีได้มีการทำและออกพระราชบัญญัติกำหนดหน้าที่ของสภาใหม่ เมื่อวันที่ 21-30 เษายน 2460 (หอจดหมายเหตุแห่งชาติ สบ.001/6) ความว่า

"ถ้ายังจะมีปาร์ลิเมนต์ไม่ได้แล้ว ก็ไม่ควรจะมีอะไรที่เป็นของเลียนขึ้นไว้สำหรับตบตา เพราะคนที่เขารู้จริงว่าปาร์ลิเมนต์เป็นอย่างไร เขาก็ไม่เชื่อว่าของนั้นจะแทนปาร์ลิเมนต์ได้ และผู้ที่ไม่เข้าใจเสียเลยถึงวิธีการปกครองอย่างคอนสติตูชั่นก็คงไม่เข้าใจเช่นนั้นว่าประโยชน์ของรัฐมนตรีนั้นอะไร”

พระราชปรารภในช่วงระยะเวลาที่มีพระราชบัญญัติประถมศึกษา พ.ศ. 2464 ซึ่งปรากฏอยู่ในหนังสือ “ศุกรหัศน์” หน้า 327 ใจความว่า “เรามีความปรารถนาจะให้ประชาราษฎรของเราได้มีความรู้ถึงคั่นประถมศึกษาโดยทั่วถึงภายใน 15 ปี นับแต่เราได้ขึ้นครองราชสมบัติ เพราะความตั้งใจของเรามีอยู่ว่า เมื่อครองราชย์ได้ครบ 15 ปี เราจะมอบสิทธิ์การปกครองบ้านเมืองให้ประชาชนของเรามีส่วนมีเสียง แต่ถ้าเขายังไม่มีความรู้พอแก่การดำเนินการได้ ให้ไปเสื่อมประโยชน์
กำลังโหลดความคิดเห็น