xs
xsm
sm
md
lg

กระแสพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 5-7 ที่เกี่ยวกับการปกครองแบบประชาธิปไตย (ตอนที่ 1)

เผยแพร่:   โดย: เทพมนตรี ลิมปพยอม

ในระยะนี้มีคณะบุคคลคณะหนึ่งนามว่า “คณะนิติราษฎร์” พยายามเสนอให้รัฐสภาแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 เพื่อลดทอนพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์และเกิดการต่อต้านจากประชาชนกลุ่มต่างๆ เป็นอันมาก ในบทความของผมนี้ไม่ต้องการจะกล่าวถึงพวก “คณะนิติราษฎร์” ในประเด็นอื่นๆ เกี่ยวกับข้อเสนอของพวกเขา หรือให้ความสำคัญต่อสิ่งที่พวกเขาได้นำเสนอเพราะผมเห็นว่าข้อเสนอของพวกเขาไม่สนใจต่อความทุกข์ร้อนของประชาชน หากแต่พวกเขาทำเพื่อตัวพวกเขาเอง

ในบทความของผมต้องการเสนอข้อมูลสำคัญที่พวกคณะนิติราษฎร์ไม่เคยสนใจ หรือไม่เคยรับรู้หรือนำไปคิดพิจารณาถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ที่พวกเขาอาศัยแผ่นดินเกิดอยู่ พวกเขาทำตัวเหมือนทารกน้อยที่ลืมตาดูโลกโดยไม่รู้ว่าใครเป็นผู้ให้ที่อยู่ที่อาศัยที่ทำมาหากิน ด้วยเหตุดังกล่าวนี้ ผมจึงขออัญเชิญกระแสพระราชดำรัสของพระมหากษัตริย์ที่แสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถในเรื่องสิทธิเสรีภาพและความเป็นประชาธิปไตยที่มีมานับร้อยปีแล้ว

1. พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในหลวงรัชกาลที่ 5 ได้มีกระแสพระราชดำรัสดังนี้

“ด้วยเหตุว่าคนในเมืองไทยเคยรวบรวมกันเป็นความคิดอันหนึ่งอันเดียว คือ เอากระแสพระราชดำริพระเจ้าแผ่นดินเป็นประมาณ เมื่อกระแสพระราชดำริเป็นไปอย่างไร คนทั้งปวงเห็นตามโดยจริง เป็นตกลงไปได้โดยง่าย เป็นธรรมยั่งยืนเคยฝึกมาหลายชั่วคนแล้ว…อาศัยพระเมตตากรุณาต่อประชาราษฎรอันแรงกล้า เป็นที่นิยมยินดีชอบใจของราษฎรทั้งหลายทั้งปวง จึงได้เป็นที่เชื่อใจวางใจของคนทั้งปวง เคยออมชอมยอมตามมาไม่มีผู้ใดจะคิดฝ่าฝืน ไม่เหมือนในประเทศยุโรปซึ่งมีพระเจ้าแผ่นดินประพฤติต่างๆ รุนแรงไปตามอัธยาศัย มีบังคับเรื่องศาสนา เป็นต้น จนคนทั้งปวงมีความเบื่อหน่าย คิดอ่านต่อสู้ลดหย่อนอำนาจพระเจ้าแผ่นดิน”

“…ถ้าจะตั้งปาลิเมนต์ขึ้นในเมืองไทย เอาความคิดราษฎรเป็นประมาณในเวลานี้แล้ว ข้าพเจ้าเชื่อว่าจะไม่ได้จัดการอันใดสักสิ่งหนึ่งเป็นแน่แท้เทียว คงจะต้องเถียงกัน ป่นปี้ไปเท่านั้น…”

“...ถ้าจะตั้งเป็นโปลิติกัลปาตี…ก็จะมีได้แต่พวกละเก้าคนสิบคนหรือสี่ห้าคน…ซึ่งจะเข้าทำการเป็นคอเวอนเมนต์ก็ไม่พอ…”   

“…อีก 3 ปีข้างหน้าฉันจะให้ลูกวชิราวุธมอบของขวัญแก่พลเมืองในทันทีที่ได้ขึ้นสู่บัลลังก์ในฐานะสืบตำแหน่งกษัตริย์ กล่าวคือ ฉันจะให้เขาให้ปาลิเมนต์และคอนสติติวชัน อีก 3 ปีคงไม่ช้านักมิใช่หรือ…ฉันจะอยู่หลังราชบัลลังก์ของลูกเอง อยู่อย่างพ่อในหลวงอย่างไรล่ะ…และหมดกังวลในพลเมืองที่รักของฉัน…”

บทวิเคราะห์

จากกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงพระราชทานตามวาระและโอกาสต่างๆ สามารถแยกแยะประเด็นได้ว่า

1. เมื่อร้อยกว่าปีที่ผ่านมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ทรงมีความเข้าใจเรื่องระบอบประชาธิปไตยการจัดตั้งพรรคการเมือง และคณะรัฐบาลอย่างไม่ต้องเคลือบแคลงสงสัย

2. ทรงมีความกังวลต่อเรื่องที่ประชาชนหรือราษฎรยังไม่มีความพร้อม

3. ทรงแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างราษฎรกับสถาบัน

4. ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะพระราชทานระบอบประชาธิปไตยให้กับราษฎรเมื่อในหลวงรัชกาลที่ 6 ได้ขึ้นครองราชย์แล้วและพระองค์ท่าน (ในหลวงรัชกาลที่ 5) จะทรงอยู่เบื้องหลังเพื่อถวายคำแนะนำ (อ่านต่อวันพุธหน้า)
กำลังโหลดความคิดเห็น