ศูนย์ข่าวศรีราชา - จังหวัดปราจีนจัดพิธีถวายราชสดุดีพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงจัดตั้งกองลูกเสือไทย
ที่บริเวณบริเวณลานพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 5 อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี นายศิริพงษ์ ห่านตระกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี เป็นประธานวางพวงมาลาและประกอบพิธีถวายราชสดุดี เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ รัชกาลที่ 6 ที่ทรงจัดตั้งกองลูกเสือไทย โดยมีลูกเสือ เนตรนารี ลูกเสือชาวบ้าน ผู้บังคับบัญชา ประมาณ 1,500 คน ร่วมพิธี
ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงมีพระราชกรณียกิจที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาตินานัปการ อาทิ ได้ทรงจัดตั้งกองเสือป่าขึ้น เพื่อฝึกหัดให้ข้าราชการบริพารที่ไม่ได้เป็นทหาร ได้เรียนรู้วิชาทหารไว้เป็นกำลังช่วยชาติบ้านเมืองในยามสงคราม ทรงก่อตั้งกิจการลูกเสือขึ้นเพื่อฝึกหัดเด็ก ๆ ให้มีความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ มีความรักชาติ เคารพนับถือศาสนา และยังทรงตราข้อบังคับลักษณะปกครองลูกเสือไทยฉบับแรกขึ้น เพื่อเผยแพร่กิจการลูกเสือไปยังโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศ
ด้านการพัฒนาประเทศชาติ พระองค์ทรงโปรดเกล้าฯให้ตราพระราชบัญญัติการประถมศึกษา เมื่อปีพุทธศักราช 2464 โดยทรงตั้งเกณฑ์ให้เด็กไทยทุกคนที่มีอายุตั้งแต่ 7 ปีบริบูรณ์ ต้องได้รับการศึกษาจนกระทั่งอายุครบ 14 ปี และยังทรงยกระดับการศึกษาขั้นอุดมศึกษา
โดยการจัดตั้งจุฬาลงกรมหาวิทยาลัย และโปรดเกล้าฯให้ตราพระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ในปีพุทธศักราช 2464 เพื่อจัดระบบระเบียบโรงเรียนราษฎร์ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ด้านการเศรษฐกิจ ได้ทรงตราพระราชบัญญัติคลังออมสินขึ้นในปีพุทธศักราช 2456 และทรงเริ่มการจัดส่งไปรษณียภัณฑ์ ทางอากาศยานและขยายเส้นทางการเดินรถไฟเพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกมากขึ้น
นอกจากนั้น พระองค์ยังทรงจัดตั้งกองมหรสพ เพื่อสืบทอดวิชาการละครและการดนตรีไทยขึ้น ด้านวรรณศิลป์ พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์โคลงฉันท์ กาพย์ กลอน บทละคร เพื่อจรรโลงใจไว้หลายเรื่อง ทรงมีพระราชวินิจฉัยในการต่างประเทศอย่างสุขุมรอบคอบ โดยการส่งทหารไปร่วมรบกับฝ่ายสัมพันธมิตร จากสงครามโลกครั้งที่ 1 ส่งผลให้ประเทศไทยได้รับเอกสิทธิ์ในหลายด้าน และยังช่วยให้พ้นจากภัยพิบัติทั้งปวง
รวมทั้งทรงมีพระราชปณิธานเปลี่ยนแปลงการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ให้เป็นการปกครองแบบประชาธิปไตย ทั้งยังทรงโปรดเกล้าฯให้ตราพระราชบัญญัตินามสกุลเมื่อปีพุทธศักราช 2456 จนถึงปัจจุบัน
และจากการที่พระองค์ท่านได้ทรงมีพระราชกรณียกิจที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาตินานัปการจึงได้รับการยกย่องถวายพระนามว่า “พระมหาธีรราชเจ้า” ซึ่งนับเป็นมหาราชอีกพระองค์หนึ่งในจักรีวงศ์