xs
xsm
sm
md
lg

พลิกชีวิต : พัทธ์อิทธิ์ จินต์วุฒิ จากนักโทษประหาร สู่บ้านธรรมทาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ใครจะเชื่อว่าชายหนุ่มผู้ก่อตั้งสถานปฏิบัติธรรม ‘บ้านธรรมทาน’ ซึ่งดูสุขุมเยือกเย็น อย่าง ‘พัทธ์อิทธิ์ จินวุฒิ’ จะเป็นคนเดียวกับเพลย์บอยเลือดร้อน ใช้ชีวิตแบบเต็มเหนี่ยว เที่ยวหัวราน้ำ ทั้งกินเหล้าเจ้าชู้ ครบสูตร ที่สำคัญยังเป็นคนเดียวกับ ‘นักโทษประหาร’ ซึ่งถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำบางขวางเมื่อหลายปีก่อน

อะไรทำให้ชีวิตของผู้ชายคนหนึ่ง พลิกผันเปลี่ยนแปลงไปอย่าง ‘สุดขั้ว’ ได้มากมายขนาดนี้?

• จากเจ้าของโรงแรมหรู
สู่นักโทษประหาร


กล่าวได้ว่าก่อนที่ชีวิตจะพลิกผันนั้น พัทธ์อิทธิ์คือหนึ่งใน ‘หนุ่มฮอต’ แห่งเมืองสองแคว เขาคือชายหนุ่มที่เพียบพร้อมทั้งรูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ และคุณสมบัติ ซึ่งเป็นที่หมายปองของสาวๆ

หลังจบด้านการโรงแรมจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ พัทธ์อิทธ์ก็กลับมาบริหารกิจการโรงแรมของครอบครัว แม้ภาคหนึ่งจะเป็นผู้บริหารหนุ่มไฟแรง แต่หลังจากเลิกงาน เขาก็ใช้ชีวิตอย่างสุดขั้ว เที่ยวหัวราน้ำ กินเหล้า เข้าผับ จีบสาวเป็นว่าเล่น เพราะเขาคิดว่าสิ่งที่ทำนั้น ไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน

แต่ด้วยความเป็นคนเลือดร้อน ไม่กลัวใคร ทำให้พัทธ์อิทธิ์มีคนเกลียดขี้หน้าอยู่ไม่น้อย วันหนึ่งเขาจึงถูกกล่าวหาว่าจ้างวานฆ่า และตกเป็นผู้ต้องหาคดีอาญา ถูกตีตรวนจองจำในฐานะนักโทษประหาร!!

“คือผมใช้ชีวิตอยู่เมืองนอก 5-6 ปี ก็ใช้ชีวิตกินสุขอิ่มเสพ แล้วก็ไปลองพวกของมึนเมาต่างๆ ยาเสพติดบ้างเล็กๆน้อยๆ ถามว่าเกเรไหม ก็มีบ้าง ที่สำคัญผมเป็นคนเลือดร้อน ชอบใช้กำลังชกต่อยกับคนอื่น

พอกลับมาเมืองไทยไม่ถึง 9 เดือนก็โดนคดี ถูกกล่าวหาจ้างวานฆ่า ผมก็ประกันตัวออกมาสู้คดี ศาลชั้นต้นตัดสินประหารชีวิต ช่วงนั้นประมาณปี 2545 ก็ต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำตั้งแต่นั้น ผมก็อุทธรณ์สู้คดีต่อ

ช่วงเดือนแรกๆเครียดมาก รับไม่ได้ จนปวดหัวเป็นไมเกรน แต่ได้กำลังใจจากคุณพ่อและญาติพี่น้องเลยผ่านมาได้ ชีวิตในคุกก็ค่อนข้างลำบาก อาหารการกิน ห้องน้ำห้องท่าอะไรมันก็แย่หมด บางวันก็จะมีเพื่อนที่อยู่ด้วยกันถูกนำตัวไปประหาร สภาพจิตใจเราก็แย่ ยิ่งพอศาลอุทธรณ์ตัดสินยืนตามศาลชั้นต้นให้ประหารชีวิต ถึงเราจะสามารถสู้คดีในชั้นฎีกาได้ แต่ความหวังก็เลือนลางมาก แต่สุดท้ายศาลฎีกาตัดสินยกฟ้อง เพราะคำให้การของฝ่ายโจทก์ขัดแย้งกันเอง
ผมอยู่ในคุกทั้งหมด 4 ปี 1 เดือน 21 วัน แต่เชื่อไหมว่า ช่วงที่นั่งฟังคำสั่งศาล ผมรู้สึว่ามันนานกว่านั้นมาก”

• บทเรียนชีวิตจากเรือนจำ

ชีวิตในเรือนจำ ถือเป็นบทเรียนล้ำค่าสำหรับพัทธ์อิทธิ์ ที่สอนให้เพลย์บอยเลือดร้อนอย่างเขา กลายเป็นคนที่อดทนได้มากขึ้น อดทนทั้งต่อความยากลำบากทางกาย และอดทนอดกลั้นต่ออารมณ์ความรู้สึกรัก โลภ โกรธ หลง อันเป็นเรื่องปกติของปุถุชน

หลังจากพ้นโทษออกมา เขาจึงใช้ชีวิตด้วยความระมัดระวังขึ้น แม้จะยังคงเที่ยวเตร่ กินเหล้า สูบบุหรี่ อยู่บ้าง แต่ก็ลดนิสัยมุทะลุเลือดร้อนลงไปได้มาก ที่สำคัญช่วงเวลาแห่งความยากลำบากในเรือนจำนั้น ทำให้เขาได้เห็นถึงคุณค่าของความรักจากคนในครอบครัว ซึ่งเขาบอกกับตัวเองว่าจะไม่ยอมสูญเสียมันไปอย่างเด็ดขาด

“4 ปีในคุก มันทำให้ผมเข้มแข็ง รู้จักอดทน เวลาจะทำอะไรก็จะต้องคิดให้รอบคอบ ถึงแม้จะทำผิดหรือไม่ได้ทำผิด แต่ภาพที่คนอื่นเขาเห็น มันทำให้เขาเชื่อหรือตัดสินเราจากสิ่งที่เขาเห็น แล้วผมก็ได้เห็นหลายๆคนที่ต้องติดคุกเพราะอารมณ์ชั่ววูบ มันทำให้ผมสามารถระงับอารมณ์ได้ มันก็ยังใจร้อนอยู่นะ แต่ไม่แสดงออก รู้จักแยกแยะได้ว่าอะไรที่ควรจะพูด อะไรที่ควรจะทำ ต่างจากเมื่อก่อนที่ไม่คิดอะไรหรอก ทำเลย ที่สำคัญทำให้ผมได้ฉุกคิดว่าท้ายที่สุดแล้วเวลาที่ลำบากจริง เวลาที่ไม่มีใคร ก็ได้ครอบครัวนี่แหละที่คอยช่วยเหลือ

คือนักโทษทุกคนที่ถูกตัดสินประหารชีวิต จะถูกนำตัวมาขังที่เรือนจำกลางบางขวาง แล้วในหนึ่งสัปดาห์จะให้เยี่ยมได้ 2 วัน คือวันอังคารและวันพฤหัสฯ ครั้งละ 45 นาที คุณพ่อก็ไปทุกวันที่เปิดให้เยี่ยม ขับรถจากพิษณุโลก 365 กม. ออกตั้งแต่เช้า ถึงเรือนจำบ่ายๆ เยี่ยมเสร็จก็ขับรถกลับ ขณะที่ท่านก็อายุมากแล้ว เป็นอะไรที่ผมสะเทือนใจมากว่า ทำให้พ่อต้องลำบากขนาดนี้ พ่อไปเยี่ยมผมอย่างนี้อยู่ 2 ปี จนผมต้องบอกว่าไม่ต้องมาทุกวันหรอก เดือนละครั้ง หรือสองอาทิตย์ครั้งก็พอ

ตอนก่อนเกิดเรื่อง ผมไม่เคยคิดถึงคนในครอบครัวเลย คิดว่าคุณพ่อคุณแม่คงอยู่กับเราไปอีกนาน เราก็จะเที่ยว กินเหล้า ตกเย็นมาก็ตั้งวง จะไปเที่ยวเธคที่ไหนดี แต่ตอนนี้ผมรู้สึกว่าอยากจะใช้เวลาที่เหลืออยู่ดูแลท่านให้ดีที่สุด” พัทธ์อิทธิ์กล่าวด้วยรอยยิ้ม

• 7 วันที่ทำให้ชีวิตเปลี่ยนไป

นอกจากความคิดที่เปลี่ยนไป หลังได้รับอิสรภาพแล้ว ยังมีสิ่งหนึ่งที่ทำให้พัทธ์อิทธิ์ได้ค้นพบกับความสุขที่แท้จริงของชีวิต ชนิดที่เรียกว่าเหมือนตายแล้วเกิดใหม่ นั่นก็คือ ‘ธรรมะ’ ขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

เริ่มจากวันที่พี่ชายของเขา นิมนต์พระอาจารย์นวลจันทร์ กิตติปัญโญ พระวิปัสสนาจารย์ จากยุวพุทธิกสมาคมฯมาที่บ้าน เขาจึงได้มีโอกาสพูดคุยกับพระอาจารย์ ทำให้ความเข้าใจที่มีต่อพุทธศาสนานั้นเปลี่ยนไป และทุกอย่างก็ยิ่งกระจ่างชัดมากขึ้นเมื่อเขาได้เข้าคอร์สปฏิบัติธรรม ซึ่งช่วงเวลา 7 วันในการปฏิบัติธรรมนี่เองที่ทำให้ความคิดและชีวิตของชายหนุ่มเปลี่ยนไปเป็นคนละคน !!

“จริงๆตอนอยู่ในคุก ก็มีผู้คุมมานำสวดมนต์นะ แต่ผมไม่ทำตาม เพราะไม่รู้ว่าจะสวดไปทำไม ตอนนั้นไม่ได้สนใจธรรมะเลย หนังสือธรรมะก็อ่านบ้าง แต่จะสนใจประวัติหลวงปู่หลวงพ่อที่มีอิทธิปาฏิหาริย์ ก็ดูว่าท่านไปธุดงค์ ท่านทำกรรรมฐาน แต่ไม่ได้เรียนรู้ว่าการทำกรรมฐานของท่านทำยังไง

ผมเริ่มสนใจธรรมะจริงๆหลังออกจากคุกได้ประมาณ 3 เดือน พอดีพี่ชายนิมนต์พระอาจารย์นวลจันทร์ฯ มาที่บ้าน ท่านก็พูดคุยกับเรา คำพูดของท่านนั้นโดนใจมากๆ ท่านบอกว่าการปฏิบัติธรรมนั้นทำได้ทุกที่ ไม่จำเป็นต้องแต่งชุดขาว ไปเดินจงกรมในวัด ก็ปฏิบัติธรรมได้

คือก่อนหน้านี้ผมจะรู้สึกว่าการปฏิบัติธรรมคือการเดินช้าๆ พูดช้าๆ นั่งสมาธินิ่งๆ ใส่ชุดขาว แต่พอพระอาจารย์มาสอน ทำให้เข้าใจว่าศาสนาพุทธสอนเรื่องอะไร ความจริงแล้วปฏิบัติเพื่ออะไรกันแน่ วันนั้นมันก็ปิ๊งขึ้นมาเลยว่า ธรรมะของพระพุทธเจ้าน่าสนใจมาก ทำให้เราสามารถดำเนินชีวิตที่เป็นปกติได้ เช่น ทำยังไงเวลามีความโกรธขึ้นมาจะไม่ให้ความโกรธเข้าครอบงำ ตอนเด็กๆก็เคยเรียนนะ อริยสัจสี่ ประกอบด้วย ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ท่องได้ เอาไปสอบได้ แต่มันไม่เข้าใจไง

แต่จุดปลี่ยนจริงๆคือตอนที่ได้เข้าคอร์สปฏิบัติธรรม คือก่อนผมจะแต่งงาน พระอาจารย์ก็โทร.มาบอกว่าให้มาเข้าคอร์สปฏิบัติธรรมที่ยุวพุทธฯ ก่อน ซึ่งช่วงเวลา 7 วันที่เข้าคอร์ส มันเปลี่ยนชีวิตเราไปเลย เพราะได้มีโอกาสศึกษาธรรมะอย่างลึกซึ้ง ทำให้รู้ว่ารักษาศีลปฏิบัติธรรมแล้วมันดียังไง

การปฏิบัติธรรมไม่ใช่อยู่ที่รูปแบบ ไม่ได้อยู่แค่การสวดมนต์ ตักบาตร ปล่อยนกปล่อยปลา ไม่ใช่อยู่ที่การขอพรจากพระเกจิ ความจริงแล้วมันอยู่ที่ตัวเรา มันอยู่ข้างในจิตใจต่างหาก การปฏิบัติธรรมก็คือการฝึกใจ ขณะที่การสวดมนต์นั้นคือการระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า ซึ่งทำให้เรามีสติและสมาธิ

พอกลับจากปฏิบัติธรรมผมก็เลิกหมดทั้ง บุหรี่ เหล้า เรื่องเที่ยวก็หยุดไปเลย เลิกงานกลับบ้าน ทำวัตรเย็น สวดมนต์ แล้วก็นั่งภาวนา ซึ่งเป็นอะไรที่คนในบ้านไม่เคยเห็นมาก่อนเลย
แม่ก็บอกว่าเหมือนกับได้ลูกชายคนใหม่มา (หัวเราะ) แล้วผมก็ปฏิบัติแบบนี้ทุกวัน เป็นเวลา 4 ปีแล้ว” พัทธ์อิทธิ์เล่าถึงจุดเปลี่ยนที่ทำให้เขาหันมาสนใจพุทธศาสนาและเริ่มปฏิบัติอย่างจริงจัง

• เปิด ‘บ้านธรรมทาน’
สานต่อธรรมะของพุทธองค์


จากที่พัทธ์อิทธิ์ได้ค้นพบความงามและคุณวิเศษของพระธรรมนี่เอง ทำให้เขาคิดว่าอยากจะเผยแพร่สิ่งเหล่านี้ให้แก่ผู้คนทั่วไป ซึ่งอาจจะยังไม่รู้ ไม่เข้าใจ ได้มีโอกาสเข้ามาสัมผัสเนื้อแท้ของพุทธศาสนา ได้รู้ว่าจะใช้ชีวิตอย่างมีความสุขได้อย่างไร เขาจึงตัดสินใจก่อตั้งสถานปฏิบัติธรรม ‘บ้านธรรมทาน’ ขึ้นที่พิษณุโลก

ที่นี่จะมีทั้งห้องสมุด อาคารปฏิบัติธรรม และที่พักสำหรับผู้มาปฏิบัติธรรม ซึ่งคอร์สปฏิบัติธรรมแต่ละคอร์สจะมีพระอาจารย์จากยุวพุทธิกสมาคมฯ มาให้ความรู้และแนะนำการปฏิบัติ นอกจากนั้นเขายังจัดทำเว็บไซต์บ้านธรรมทาน (www.baandhammatan.com) เพื่อเผยแพร่ธรรมะ และแลกเปลี่ยนความรู้มุมมองเกี่ยวกับพุทธศาสนาอีกด้วย

“จากที่ได้ศึกษาธรรมะและปฏิบัติธรรม ทำให้ผมเห็นธรรมชาติ ว่าความทุกข์หรือปัญหาต่างๆมันเกิดมาจากความรู้สึก โลภ โกรธ หลง ซึ่งอารมณ์ต่างๆที่มันเกิดขึ้นมา เราไปยึดถืออะไรไม่ได้เลย พออารมณ์โกรธขึ้นมาเดี๋ยวมันก็หายไป ถ้าเราไปยึดถือเมื่อไรเราก็ทุกข์ทันที และก็อาจนำพาให้เราไปทำในสิ่งที่ไม่ดี ซึ่งธรรมะของพระพุทธเจ้าสามารถทำให้เราพ้นทุกข์ได้ทันที โดยที่ไม่ต้องบรรลุธรรม

ความวิเศษของธรรมะตรงนี้ ทำให้เรารู้สึกว่าเก็บไว้คนเดียวไม่ได้แล้ว อยากบอกกับคนอื่นๆว่า ความสงบร่มเย็นในจิตใจนั้น มันไม่ได้อยู่ไกลตัวเราเลย ความจริงมันอยู่ข้างในจิตใจอยู่แล้ว เพียงแต่เราอาจจะถูกกิเลสเข้ามาแทรก หรือยังไม่เข้าใจ ยังไม่เห็นเท่านั้นเอง

ก็เลยเปิดบ้านธรรมทานให้คนทั่วไปได้มาปฏิบัติธรรม โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เนื่องจากมีศักยภาพที่พอทำได้”

• พบสัจธรรม

ชายหนุ่มวัย 35 ปีผู้นี้ได้กล่าวตบท้ายถึงวาระสุดท้ายแห่งชีวิต ที่ไม่มีใครปฏิเสธได้

“หลังจากที่ศึกษาธรรมะแล้ว พอผมมองย้อนกลับไปในอดีต ทำให้พบสัจธรรมว่า จริงๆแล้วถึงเราจะอยู่นอกคุก แต่ถ้าชีวิตเรามียังความทุกข์มันก็เหมือนการติดคุก คุกที่ขังให้เราอยู่ในความรัก โลภ โกรธ หลง เราไม่สามารถเป็นอิสระจากสิ่งเหล่านี้ และทันทีที่เราเกิดมา ชีวิตของเราก็มีคำพิพากษาประหารชีวิตรออยู่แล้วทุกคน เพียงแต่เราไม่รู้ว่าวันที่จะถูกประหารคือวันไหน พรุ่งนี้เราอาจจะเดินออกไปถูกรถชนตายก็ได้

นักโทษประหารยังรู้วันตาย ยังมีเวลาเตรียมตัว แต่เราที่อยู่นอกคุก ไม่รู้อะไรเลย เพราะฉะนั้น จะดีกว่าไหมที่เราจะเตรียมตัวรับมือกับมัน”

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 137 พฤษภาคม 2555 โดย กฤตสอร)




กำลังโหลดความคิดเห็น