xs
xsm
sm
md
lg

บทความพิเศษ : อันตราย "ยาตีกัน" อาจถึงตาย !!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เรื่องของ “ยา” อย่านึกว่าไม่มีปัญหา โดยเฉพาะคนที่เจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังต่างๆที่ต้องกินยาหลายขนานเป็นประจำ จะต้องระมัดระวังให้มาก เพราะอาจเกิดปัญหา “ยาตีกัน” ได้ ทั้งนี้ เภสัชกรจตุพร ทองอิ่ม เภสัชกรประจำศูนย์บริการสาธารณสุข 51 วัดไผ่ตัน กทม. ได้ให้ข้อมูลว่า

“ยาตีกัน” หมายถึง การที่ฤทธิ์ของยาตัวหนึ่งเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเมื่อได้รับยาอีกตัวหนึ่งร่วมด้วย โดยผลที่เกิดขึ้นอาจก่อให้เกิดผลการรักษาที่เพิ่มขึ้นโดยไม่ตั้งใจ หรือเกิดอาการไม่พึงประสงค์ หรืออาจทำให้ผลการรักษาลดลงก็ได้ หรือบางครั้งอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

อย่างไรก็ตาม ยาตีกันจะเกิดผลมากน้อยขึ้นกับสภาวะของผู้ป่วย ระยะเวลาที่ใช้ยาร่วมกัน และขนาดยาที่ใช้ด้วย

สาเหตุของยาตีกัน

• อาจมาจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของผู้ป่วย หรือการได้รับยาจากสถานพยาบาลหลายแห่ง แพทย์ หรือเภสัชกรคนละคน โดยเฉพาะในผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ที่ต้องรักษาต่อเนื่องและกินยาหลายขนาน เช่น ผู้ป่วยโรคหัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง มักได้รับยามาจากสถานพยาบาลหลายแห่ง โดยแต่ละแห่งไม่ทราบข้อมูลว่าผู้ป่วยรับประทานยาอะไรอยู่บ้างเป็นประจำ

• หรืออาจมาจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของตัวผู้ป่วยเอง เช่น การที่ผู้ป่วยไปหาซื้อยา อาหารเสริม หรือแม้แต่สมุนไพรมารับประทานเอง นอกจากเกิดปัญหาการได้รับยาซ้ำซ้อนแล้ว ยังอาจเกิด“ยาตีกัน”ได้

กรณีตัวอย่างของยาตีกัน
ที่เป็นอันตราย


• ยาปฏิชีวนะบางชนิดจะตีกันกับยาที่ผู้ป่วยได้รับอยู่แล้ว เช่น ยาลดไขมัน ยาหัวใจ ยาขยายหลอดลม เป็นต้น ทำให้ระดับยาในเลือดของยาเหล่านี้เพิ่มสูงขึ้น ในผู้ป่วยบางคนอาจเป็นอันตรายได้

• ผู้ป่วยที่ได้รับยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด ต้องระมัดระวังในการซื้อยาหรืออาหารเสริมมารับประทานร่วมด้วย เพราะอาจเกิดปฏิกิริยากัน ส่งผลให้เกิดภาวะเลือดออกผิดปกติและอาจเป็นอันตรายร้ายแรงได้

• การรับประทานยาฆ่าเชื้อบางกลุ่ม ร่วมกับยาลดกรด หรือแคลเซียม เหล็ก วิตามินบางชนิด จะทำให้การดูดซึมของยาฆ่าเชื้อลดลงกว่าครึ่ง ผลการฆ่าเชื้อก็ลดลงด้วย

• ยาตีกับอาหารเสริม หรือสมุนไพรบางชนิด นอกจากยาตีกันเองแล้ว อาหารเสริมที่ไม่ได้จัดเป็นยาหรือสมุนไพรบางชนิดก็สามารถ “ตีกับยา” ได้ เช่น น้ำผลไม้บางชนิด กระเทียม หรือแป๊ะก๊วย อาจเพิ่มฤทธิ์ของยาที่ต้านการเกาะกันของเกล็ดเลือด เช่น แอสไพริน หรือยาที่ต้านการแข็งตัวของเลือด เช่นwarfarinได้

พฤติกรรมการรับประทานอาหาร
การสูบบุหรี่หรือดื่มเหล้า มีฤทธิ์ตีกับยา


• พฤติกรรมของผู้ป่วยในเรื่องการรับประทานอาหาร การสูบบุหรี่ การดื่มเหล้า ล้วนมีผลต่อการออกฤทธิ์ของยาทั้งสิ้น การสูบบุหรี่จะทำให้ยาทั้งหลายออกฤทธิ์ลดลง ผู้ป่วยที่สูบบุหรี่ส่วนใหญ่ต้องการขนาดยาที่จะได้ผลการรักษาที่สูงกว่าคนอื่นทั่วไป เช่นเดียวกับแอลกอฮอล์จะทำให้ผลการรักษาของยาเปลี่ยนแปลงไป

• ยาบางอย่าง เช่น ยาเบาหวาน อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ หรือเกิดอาการที่เรียกว่าdisulfiram-like effect

• น้ำผลไม้บางชนิดโดยเฉพาะน้ำเกรปฟรุต (ขนาด250ซีซี) จะทำให้ระดับยาในเลือดของยาที่รับประทานร่วมด้วยสูงขึ้น เช่น ยาลดไขมัน ยากดระบบประสาท เป็นต้น

• อาหารเสริม หรือสมุนไพรบางชนิด ก็สามารถ “ตีกับยา” ได้

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 137 พฤษภาคม 2555 โดย กองบรรณาธิการ)
กำลังโหลดความคิดเห็น