xs
xsm
sm
md
lg

หยุดกินสุ่มสี่สุ่มห้า ไกลภาวะ “ยาตีกัน”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สารพัดปัญหาหลังจากใช้ยาแล้วอาการป่วยไม่ดีขึ้น หรือบางรายอาการแย่ลง ทำให้หลายคนบ่นว่า “ยาไม่ดี” “ไม่มีประสิทธิภาพ” แต่หากปรึกษาแพทย์และเภสัชกรสักนิด คุณจะทราบว่าแท้จริงการกินยาให้ได้ผลไม่ใช่เรื่องยาก ซ้ำยังสามารถเลี่ยงพฤติกรรมที่ก่อให้เกิด “ยาตีกัน” ได้

คำจำกัดความของ “ยาตีกัน” นั้น รศ.ภญ.ธิดา นิงสานนท์ นายกสภาเภสัชกรรม อธิบายว่า เป็นอาการที่ฤทธิ์ของยาตัวหนึ่งเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เมื่อได้รับยาอีกตัวหนึ่งร่วมด้วย โดยส่วนมากจะผลที่เกิดขึ้นต่อสุขภาพเมื่อยาตีกัน คือ อาจก่อให้เกิดผลการรักษาที่เพิ่มขึ้นโดยไม่ตั้งใจเกิดอาการไม่พึงประสงค์ ผลการรักษาลดลง บางครั้งอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ซึ่งจะเกิดผลมากหรือน้อยขึ้นกับสภาวะของผู้ป่วย ระยะเวลาที่ใช้ยาร่วมกัน และขนาดยาที่ใช้ด้วย ซึ่งที่ผ่านมา พบว่า ผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลด้วยภาวะที่เกิดจากยา โดยเฉพาะกลุ่มที่ป่วยเรื้อรังอย่างโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ฯลฯ ซึ่งต้องใช้ยาต่อเนื่อง

สำหรับพฤติกรรมเสี่ยงต่อการเกิดยาตีกันมีหลายกรณี นายกสภาเภสัช กล่าวว่า เกิดได้หลายกรณี ที่เด่นๆ ได้แก่ การกินยารักษาโรคร่วมเรื้อรัง ร่วมกับยารักษาโรคตามทอาการประเภทอื่น หรือบางรายกินร่วมกับยาสมุนไพร หรืออาหารเสริมบางชนิด รวมถึงการสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์ก็ส่งผลต่อการเกิดยาตีกันได้เช่นกัน

“ในส่วนของบุหรี่ที่ตีกันกับยานั้น มักจะเป็นการทำปฏิกิริยาระหว่างยากับสารในควันของบุหรี่ ทำให้เกิดการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือดง่าย เพิ่มโอกาสในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ขณะที่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะเสริมฤทธิ์ยากดประสาท ทำให้ง่วงซึมมากกว่าเดิม และอาจไปกระตุ้นให้ระดับยาบางชนิดเพิ่มหรือลดลงได้ กรณีนี้แพทย์จะแจ้งต่อผู้ป่วยเองว่า หากใช้ยาตัวใดแล้วต้องหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บ้าง ซึ่งจะแตกต่างกันไปตามแต่ชนิดของยา แต่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็เป็นผลเสียต่อสุขภาพแล้ว แนะนำว่า หลีกเลี่ยงจะดีที่สุด” รศ.ภญ.ธิดา กล่าวเสริม

ด้าน ภก.จตุพร ทอง อิ่ม อธิบายถึงตัวอย่างยาที่อาจก่อให้เกิดภาวะยาตีกันว่า ที่แพทย์ค่อนข้างห่วง คือ กรณียาเกี่ยวกับระบบหลอดเลือดและหัวใจ ซึ่งหากผู้ป่วยรายใช้ยาชนิดนี้อยู่ กรณีป่วยด้วยโรคอื่น และต้องการซื้อยา หรืออาหารเสริมมาใช้ร่วมกัน จำเป็นต้องปรึกษาแพทย์และเภสัชกรทุกครั้ง โดยยาเกี่ยวกับหลอดเลือดและหัวใจนี้ มักจะตีกันกับยาแก้ปวด ดังนั้น ไม่แนะนำให้ผู้ป่วยซื้อยาแก้ปวดทุกชนิดมากินเองในระหว่างที่ใช้ยาเกี่ยวกับโรคดังกล่าวอยู่ เนื่องจากอาจก่อให้เกิดเลือดออกผิดปกติได้ ที่สำคัญ หากเป็นผู้ป่วยที่เคยบริโภคอาหารเสริม หรือน้ำสมุนไพร น้ำผลไม้บางชนิด มาก่อน หากพบว่า ป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับหัวใจ และหลอดเลือดและต้องรับยาต่อเนื่อง ก็ควรแจ้งให้แพทย์ผู้รักษาทราบ ซึ่งหากแพทย์พบว่า เป็นอาหารเสริม หรือน้ำสมุนไพรที่เสี่ยงต่อการตีกันของยาก็จะสั่งระงับการใช้ผลิตภัณฑ์นั้นๆ เอง

“นอกจากนี้ สิ่งที่ผู้ป่วยพึงระวังอีกอย่าง คือ การใช้ยาโรคเรื้อรังร่วมกับยาท้องเสีย ซึ่งยาท้องเสียอาจเป็นยาเม็ดผงถ่าน จะมีคุณสมบัติในการดูดซับเชื้อที่ทำให้ท้องเสียได้ แต่หากทานพร้อมกับยารักษาโรคเรื้อรัง ยาเม็ดผงถ่านก็จะจับตัวยาโรคเรื้อรังไปด้วย กรณีนี้ฤทธิ์ยาเรื้อรังก็ไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร ดังนั้น หากจำเป็นต้องใช้ยาสองประเภทร่วมกันต้องเว้นระยะห่างเรื่องเวลาซึ่ง ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของสภาพร่างกายของผู้ป่วยแต่ละราย แต่ต้องเน้นที่ยาโรคเรื้อรังเป็นหลัก เช่น แบ่งเป็นเวลาเช้า กับเย็น เป็นต้น” ภก.จตุพรอธิบายโดยสรุป


ภก.จตุพร  ทอง อิ่ม
รศ.ภญ.ธิดา นิงสานนท์
กำลังโหลดความคิดเห็น