xs
xsm
sm
md
lg

มองเป็นเห็นธรรม : อยู่อย่างพอเพียง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“เป็นยังไงบ้างล่ะ.. พี่รวย ขับรถแท็กซี่ ได้เงินเยอะมั้ยวันนี้”

“เกือบขาดทุนไปเหมือนกัน ค่าแก๊ซก็ขึ้น ค่าเช่าก็แพง นี่ว่าสิ้นเดือนจะกลับไปทำนาแล้ว ไม่อยู่แล้วกรุงเทพฯ หากินไม่พอยาไส้เลย แกล่ะทิดเขียว ค่าแรงได้วันละ ๓๐๐ บาท พอใช้ไหมล่ะ”

“พอที่ไหนล่ะพี่ แค่ซื้อข้าวกินสามมื้อ ค่าห้องเช่า ก็เกือบหมดแล้ว ผมก็คิดว่าจะกลับไปทำนาเหมือนกัน คิดว่าราคาข้าว คงจะดีขึ้น ยังไงก็คงจะพอเหลือเงินไว้ใช้จ่ายบ้าง”

“แล้วที่นายังเหลืออยู่มากมั้ย”

“มีประมาณ ๒๐ ไร่ กะว่าจะทำในนาของพี่น้องที่ไม่กลับบ้าน ก็เกือบ ๖๐ ไร่ คงจะได้ข้าวมากอยู่ เพราะในหลวงท่านไปทำอ่างเก็บน้ำไว้ให้ น้ำท่าก็บริบูรณ์อยู่ ทำให้ปลูกข้าวได้สองสามครั้งแน่ะพี่ กะว่าจะทำสวนผสมผสาน ปลูกผักผลไม้ด้วย ก็คงจะได้เงินอยู่นะพี่”

“ไม่คิดจะไปทำงานที่ตะวันออกกลางเหรอวะ เสียค่านายหน้าสักหน่อย ก็คงจะได้ค่าแรงกลับมามากอยู่ เห็นคนไปหลายคนแล้ว รวยกันทุกคนเลย”

“ไม่เอาหรอกพี่ คนที่หมดตัวเพราะถูกหลอกก็มีเยอะ บางคนเก็บเงินไม่อยู่ ชอบใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ก็ไม่เหลือเงินเลยนะ ผมเห็นหลายคนมาขายแรงงานแค่ในกรุงเทพฯ ได้เงินมาก็ตั้งวงกินเหล้าสูบบุหรี่ เล่นการพนัน ชักหน้าไม่ถึงหลัง เป็นหนี้สินรุงรัง ผมก็เอือมแล้วพี่ และกลัวมากด้วยเรื่องไปตะวันออกกลาง ไม่เอาเด็ดขาด แล้วพี่ล่ะจะเอาไงกับชีวิต”

“ก็กะว่าจะกลับไปทำนาเหมือนกัน ขับรถแท็กซี่มานานแล้ว สุขภาพก็โทรม มีเงินเหลือเก็บอยู่สักหน่อย ว่าจะเอาไปเป็นทุนทำนา ข้ามีที่นาอยู่ ๑๕ ไร่กว่า ก็คงพออยู่ พอกิน ในบ้านก็ปลูกผักสวนครัวไว้มากอยู่ ไม่อดตายหรอก”

“ผมว่าเราสองคนนี่ประมาทกับการดำเนินชีวิตนะพี่ เงินทองได้มาจึงเก็บไม่ค่อยอยู่ มานั่งคิดถึงเรื่องที่ในหลวงท่านรับสั่งไว้ เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงน่ะ ผมคิดว่า พอจะเข้าใจบ้างแล้วนะพี่ ถ้าเรากลับ ไปทำนาแล้วอยู่อย่างพอเพียง ก็คงจะเห็นผลดังรับสั่ง”

“ไหนเอ็งลองพูดอธิบายให้ข้าฟังหน่อยซิ เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงที่รับสั่งถึงคืออะไร?”

“เอางี้..พอดีฉันมีหนังสือที่บอกเรื่องนี้อยู่ เดี๋ยวฉันหยิบมาอ่านให้ฟังนะ.. เขาบอกไว้อย่างนี้ ...เศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาชี้ถึงแนวการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปในทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัฒน์

ความพอเพียง หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควร ต่อการกระทบใดๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในภายนอก

ทั้งนี้ จะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังอย่างยิ่งในการนำวิชาการต่างๆ มาใช้ในการวางแผน และการดำเนินการทุกขั้นตอน

และขณะเดียวกัน จะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎี และนักธุรกิจในทุกระดับ ให้มีสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต และให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติ ปัญญา และความรอบคอบ เพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง ทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี

ความหมายของเศรษฐกิจพอเพียง จึงประกอบด้วยคุณสมบัติ ดังนี้

๑. ความพอประมาณ หมายถึง ความพอดีที่ไม่น้อยเกินไป ไม่มากเกินไป โดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เช่น การผลิต และการบริโภคที่อยู่ในระดับพอประมาณ

๒. ความมีเหตุผล หมายถึง การตัดสินใจเกี่ยวกับระดับความพอเพียงนั้น จะต้องเป็นไปอย่างมีเหตุผล โดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้นๆ อย่างรอบคอบ

๓. ภูมิคุ้มกัน หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น โดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ต่างๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต

โดยมีเงื่อนไขของการตัดสินใจและดำเนินกิจกรรมต่างๆ ให้อยู่ในระดับพอเพียง ๒ ประการ ดังนี้

๑. เงื่อนไขความรู้ ประกอบด้วย ความรอบรู้เกี่ยวกับวิชาการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องรอบด้าน ความรอบคอบที่จะนำความรู้เหล่านั้นมาพิจารณาให้เชื่อมโยงกัน เพื่อประกอบการวางแผนและความระมัดระวัง ในการปฏิบัติ

๒. เงื่อนไขคุณธรรม ที่จะต้องเสริมสร้าง ประกอบด้วย มีความตระหนักในคุณธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริตและมีความอดทน มีความเพียร ใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต”

.....

“ข้ายังไม่ค่อยเข้าใจเลยทิดเขียว ลองขยายความหน่อย เอาง่ายๆนะ”

“พี่ก็เคยบวชเรียนมาแล้ว จำเรื่องสันโดษได้ไหมล่ะ”

“พอจำได้ แบบว่า ยินดีตามมีตามได้ ยินดีตามกำลัง ยินดีตามสมควร ใช่ไหม?”

“ถูกต้อง แล้วยินดีตามมีตามได้คืออะไร พี่ยังจำได้ไหม?”

“พอจำได้เลาๆนะ ยินดีตามมีตามได้ คือมีความยินดีในสิ่งของที่ตนหามาได้ อย่างข้าขับรถนี่ หาเงินได้เท่าไรก็พอใจยินดีในเงินที่หาได้ ไม่ไปนั่งคิดเครียดกับจำนวนเงินว่ามากหรือน้อย หรือไปริษยาคนอื่นว่าทำไมจึงได้เงินมากกว่า

ยินดีตามกำลัง คือข้ามีสมรรถนะในการขับรถแท็กซี่ได้วันละ ๖ ชั่วโมง ดังนั้น เงินที่ข้าได้ใน ๖ ชั่วโมงนี่จะมากน้อยเท่าไร ข้าก็พอใจแล้ว ไม่มีความคิดไปหักโหม ทำงานเพื่อเงินมากๆ หรือมีความคิดว่าขับรถได้เงินแค่นี้พอแล้ว ทั้งๆที่ยังสามารถจะขับได้อีกสักสองสามชั่วโมง

ส่วนยินดีตามสมควร คือข้าต้องรู้จักพอใจในความเป็นอยู่ที่เหมาะสมกับฐานะของข้า ไม่ใช่ว่าเป็นคนมีรายได้น้อย แต่รสนิยมสูง ใช้จ่ายฟุ่มเฟือยสุรุ่ยสุร่าย ทำตนให้มีหนี้สินรุงรัง หรือมีรายได้ดี แต่ขี้เหนียว ใช้จ่ายน้อยเกินไป ก็เท่ากับทำร้ายสุขภาพตนเอง ให้เป็นบ่อเกิดของโรคภัยไข้เจ็บ ที่พูดมานี่ตรงกับที่เอ็งคิดไหมล่ะ”

“ก็เหมือนกันล่ะพี่ พี่คิดดูสิเรามีความสันโดษเป็นนิสัย เราก็จะรู้จักใช้สติปัญญา ให้เกิดความสุขตามอัตภาพ รู้จักความพอเพียงในการดำเนินชีวิตให้เกิดความสุขสำราญแก่ตนเองและครอบครัว

นี่ก็จะตรงกับปรัชญาที่ว่า มีความพอประมาณ การใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิตให้อยู่ในหลักสันโดษที่พี่พูดมานี้ ก็เท่ากับว่า เราใช้ความมีเหตุผล ในการดำเนินชีวิต ซึ่งส่งผลให้เรามีความไม่ประมาทในการดำเนินชีวิต รู้จักเก็บออม รู้จักใช้จ่าย รู้จักสร้างความสุขที่สมควรกับฐานะความเป็นอยู่ที่แท้จริงของเรา นี่ก็คือ ภูมิคุ้มกัน ที่เราสร้างขึ้นให้แก่ชีวิตของเราและครอบครัวของเรา

ถ้าพี่พิเคราะห์ต่อไปอีกสักนิด พี่ก็จะรู้ว่าความสันโดษที่เป็นบ่อเกิดของเศรษฐกิจพอเพียงนี้ ต้องอาศัยเงื่อนไขของความรู้และคุณธรรม ซึ่งจะทำให้เกิดสติปัญญาในการดำเนินชีวิตไปตามหลักสันโดษได้อย่างแท้จริง

นี่ล่ะปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่เขาแปลความมาจากพระราชดำรัสของในหลวง ที่ฉันอ่านให้ฟังเมื่อสักครู่นี้”

“ในหลวงทรงรับสั่งอย่างไรนะ เขาถึงมาตีความเป็นปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ลองอ่านให้ข้าฟังหน่อย เพื่อจะได้จำไว้บ้าง และจะได้นำมาเป็นหลักในการดำเนินชีวิต ให้ตรงตามพระราชประสงค์ จะได้สมกับที่เกิดมาภายใต้ร่มพระบรมโพธิสมภารของพระองค์ท่าน”

“ฟังนะ..นี่เป็นพระราชดำรัสในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๑ ความว่า

...พอเพียง มีความหมายกว้างขวางยิ่งกว่านี้อีก คือคำว่าพอ ก็พอเพียง นี้ก็พอแค่นั้นเอง คนเราถ้าพอในความต้องการ ก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อยก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย

ถ้าประเทศใดมีความคิดอันนี้ มีความคิดว่าทำอะไรต้องพอเพียง หมายความว่าพอประมาณ ซื่อตรง ไม่โลภอย่างมาก คนเราก็อยู่เป็นสุข พอเพียงนี้อาจจะมี มีมากอาจจะมีของหรูหราก็ได้ แต่ว่าต้องไม่ไปเบียดเบียนคนอื่น...


ส่วนพระราชดำรัสที่พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล หัวหิน วันที่ ๑๗ มกราคม ๒๕๔๔ ความว่า

...ฉันพูดเศรษฐกิจพอเพียง ความหมายคือ ทำอะไรให้เหมาะสมกับฐานะของตัวเอง คือทำจากรายได้ ๒๐๐-๓๐๐ บาท ขึ้นไป เป็นสองหมื่น สามหมื่นบาท คนชอบเอาคำพูดของฉัน เศรษฐกิจพอเพียง ไปพูดกันเลอะเทอะ

เศรษฐกิจพอเพียง คือทำเป็น Self-Sufficiency มันไม่ใช่ความหมายไม่ใช่แบบที่ฉันคิด ที่ฉันคิดคือเป็น Self-Sufficiency of Economy เช่น ถ้าเขาต้องการ ดูทีวี ก็ควรให้เขามีดู ไม่ใช่ไปจำกัดเขาไม่ ให้ซื้อทีวีดู เขาต้องการดูเพื่อความสนุกสนานในหมู่บ้านไกลๆ ที่ฉันไป เขามีทีวีดูแต่ใช้แบตเตอรี่ เขาไม่มีไฟฟ้า แต่ถ้า Sufficiency นั้น มีทีวีเขาฟุ่มเฟือย เปรียบเสมือนคนไม่มีสตางค์ไปตัดสูทใส่ และยังใส่เนคไทเวอร์ซาเช่ อันนี้ก็เกินไป...


พี่ลองพิเคราะห์ดูสิ ว่าเหมือนหลักสันโดษที่เราพูดกันไหม”

“เหมือนกันเลย ทำไมข้าถึงคิดไม่ได้ถึงสิ่งดีๆ ที่พระองค์ทรงสอนไว้ คิดแล้วก็สังเวชตนเองจริงๆ บวชเรียนมาตั้งสองพรรษา หลวงตาก็พร่ำอบรมตักเตือนให้ดำรงตนเป็นคนสันโดษ ข้ายังเถียงท่านเลยว่า ความสันโดษจะทำให้ประเทศไทยล้าหลัง เพราะคนไทยมัวแต่พอใจในสิ่งที่ตนมี ไม่รู้จักพัฒนาตนเองให้มีความก้าว หน้า มีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

โอ...เวรกรรมตามทันจริงๆ ในหลวงท่านทรงผนวชเพียง ๑๕ วัน พระองค์ไม่ทอดทิ้งสิ่งที่พระอาจารย์สอนในขณะทรงผนวช ทรงแสวงหาความรู้เพิ่มเติม ทำให้ทรงมีหลักธรรมในพระราชหฤทัย ที่เป็นส่วนสำคัญนำให้พระองค์ทรงพระราชทานโครงการที่เป็นประโยชน์มากมาย ทุกโครงการก็ทำไปตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง

ข้านี้แย่จริงๆ ไม่ได้คิดถึงหลักธรรมที่เรียนมา พาตัวไปติดกับความศิวิไลซ์ ตามพวกหัวนอก เกือบพาชีวิตให้สูญเปล่าแล้วเรา”

“ไม่ใช่แต่พี่หรอก ฉันก็เหมือนกัน ทำมาหากินไม่พอยาไส้ จึงไปหาหลวงพ่อวัดใกล้ๆ ที่พัก ท่านชวนคุยธรรมะเรื่องเก่าๆ แล้วท่านก็พูดถึงเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ฉันก็เลยมานั่งคิดพิจารณาดูเหตุผลจากสิ่งที่ท่านพูด ก็เลยคิดว่าจะกลับไปทำนาที่บ้าน และทำสวนผสมผสานไปด้วย

ก็เลยตั้งใจมาชวนพี่กลับไปตั้งต้นชีวิตใหม่ที่บ้านเราดีกว่า ทำตนตามรอยพระยุคลบาท อยู่ในกรอบของธรรม ชีวิตเราจะได้ดีขึ้น และยังช่วยให้เราได้มีส่วนในการพัฒนาหมู่บ้านเราให้เจริญด้วยศีลธรรม ในพระพุทธศาสนา ฉันว่าพ่อแม่พี่น้องเราก็คงจะยินดีกันทุกคนนะพี่”

“เออดี.. ข้าก็กำลังเบื่อชีวิตแบบนี้อยู่เหมือนกัน มองไม่เห็นอนาคตเลย กลับบ้านเราดีกว่า ไปทำนาไร่ ใช้ชีวิตเหมือนพ่อแม่ อย่างไรๆ ก็ยังดีกว่าชีวิตแรงงานในกรุงเทพฯ นี่แน่นอน

ไปกันพรุ่งนี้เลยดีมั้ย คิดถึงลูกเมียมาหลายวันแล้ว ได้เหตุผลจากทิดเขียวครานี้ ก็สบช่องกลับบ้านเสียที”

“แล้วเจอกันที่บ้านเรานะพี่”

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 137 พฤษภาคม 2555 โดย พระพจนารถ ปภาโส วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม)


กำลังโหลดความคิดเห็น