xs
xsm
sm
md
lg

ทางเอก : สุญญตา (ตอนที่ ๓)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ที่ปล่อยวางความถือมั่นในจิตได้แล้วจะมีความรู้สึกต่อ (๑) บัญญัติ (๒) สภาวะของธรรมชาติที่แวดล้อมอยู่ (๓) สภาวะของจิต (๔) สภาวะของธรรม แตกต่างไปจากที่เคยรู้สึกมา คือจะเห็นบัญญัติเป็นเพียงภาพลวงตาอันว่างเปล่า เห็นรูปนามรวมทั้งจิตและธรรมชาติที่แวดล้อมอยู่เป็นความว่างเปล่าจากความเป็นตัวตน และเห็นธรรมหรือนิพพานเป็นความว่างอย่างถึงที่สุดหรือมหาสุญญตา คือตัวมันเองก็ว่าง และยังว่างจากรูปนามและบัญญัติอีกด้วย โดยท่านผู้นั้นจะมีความรู้สึกต่อสิ่งต่างๆ ดังนี้คือ

๑. บัญญัติ บุคคลทั่วไปจะรู้สึกว่าบัญญัติเป็นของจริงจัง เช่นคนก็เป็นคนจริงๆ ต้นไม้ก็เป็นต้นไม้จริงๆ ผู้ปฏิบัติจะรู้สึกว่าบัญญัติเป็นของไม่จริงจัง แต่ก็หลงจริงจังกับบัญญัติเป็นคราวๆ แต่ผู้ที่ปล่อยวางความถือมั่นในจิตได้แล้ว ย่อมเห็นบัญญัติเป็นเพียงภาพลวงตา คือจะเห็นแจ้งชัดว่า อารมณ์บัญญัติ (ทั้งสัททบัญญัติ คือคำเรียกขานสิ่งต่างๆ และอัตถบัญญัติ คือความเข้าใจเนื้อหาของสัญลักษณ์ต่างๆ เช่น ไฟแดง หมายถึงให้หยุด ไฟเขียว หมายถึงให้ไปได้) เป็นเพียงสิ่งที่มนุษย์ตกลงสมมุติกันขึ้นเอง แม้แต่เรื่องราวที่คิดนึกขึ้นก็เป็นเพียงภาพลวงตา หรือ เป็นมายาที่หลอกลวงให้หลงเป็นจริงเป็นจังไปเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม บัญญัติก็เป็นความจริงโดยสมมุติ ผู้นั้นย่อมเข้าใจ อาศัย และคล้อยตามบัญญัติ ไม่ได้ปฏิเสธบัญญัติแต่อย่างใด แต่หากบัญญัติใดผิดต่อคุณธรรม ผู้นั้นจะยึดถือคุณธรรมเป็นใหญ่ เช่น ชาวโลกสมมุติกันว่า การต้มเหล้าขายเป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน ผู้นั้นก็ไม่ต้มเหล้าขาย เพราะเหล้าเป็นเครื่องทำลายสติ ซึ่งเป็นคุณธรรมวิเศษสุดอย่างหนึ่งของมนุษย์

และชาวโลกสมมุติกันว่า การพนันของรัฐเป็นสิ่งถูกกฎหมาย ผู้นั้นก็ไม่นิยมยินดีด้วย เพราะการพนันเป็นเครื่องส่งเสริมความ โลภ และหยามหมิ่นคุณค่าของความพากเพียรที่จะทำมาหากินด้วยน้ำพักน้ำแรงของมนุษย์ เป็นต้น

๒. สภาวะของธรรมชาติ บุคคลทั่วไปจะรู้สึกว่าธรรมชาติหรือสิ่งที่แวดล้อมอยู่ เช่น คนอื่น สัตว์อื่น ต้นไม้ และภูเขา กับตัวเรา เป็นสิ่งสองสิ่งที่แยกต่างหากจากกัน ทั้งธรรมชาติและตัวเรามีความเป็นตัวตนจริงจังมาก คือธรรมชาติทั้งหลายก็เป็นของจริง ตัวเราก็มีอยู่จริงๆ เขามักคิดว่าคนที่เก่งๆ จะสามารถบังคับตนเองและเอาชนะธรรมชาติได้ เขาจะพยายามแสวงหาความสุขจากการครอบครองและผลักไสสิ่งที่แวดล้อมเขาอยู่ตลอดเวลา โดยหวังว่าการกระทำเช่นนั้นจะนำความสุขมาให้

ผู้ปฏิบัติจะรู้สึกว่า ธรรมชาติกับตัวเราเป็นสิ่งสองสิ่งที่แยกต่างหากจากกัน ถ้าขาดสติ ธรรมชาติและตัวเราก็มีตัวตนจริงๆ แต่ถ้ามีสติก็อาจเห็นได้ว่า ธรรมชาติและตัวเราเป็นภาพลวงตา คือไม่มีตัวตนที่แท้จริง แต่ความยึดถือในธรรมชาติและตัวเราก็ยังมีอยู่ เขาจะพยายามรักษาใจซึ่งก็คือสิ่งที่ถือมั่นว่าเป็นตนเอง ไม่ให้เป็นทุกข์เพราะการกระทบกับธรรมชาติภายนอกที่แวดล้อม อยู่

แต่ผู้ที่ปล่อยวางความถือมั่นในจิตได้แล้ว ย่อมเห็นสรรพสิ่งที่แวดล้อมอยู่เป็นเพียงรูปนาม ซึ่งว่างเปล่าจากความเป็นตัวตน ไม่มีการแบ่งแยกธรรมชาติอันเป็นหนึ่งนั้นให้เป็นสองส่วน คือเป็นตัวเรากับสิ่งภายนอก

ธรรมชาติหรือรูปนามที่สัมผัสรู้ได้จะมีสภาวะราบเรียบเสมอกันราวกับหน้ากลอง คือไม่มีสิ่งใดสะดุดตาสะดุดใจ จนโดดเด่นยกสูงขึ้นมาเป็นตัวตนได้อีก เช่น เมื่อมองดูโลกก็เห็นทุกสิ่งราบเรียบเสมอภาคกันในความรู้สึก เพราะปราศจากความหลงและอคติต่างๆ และเห็นว่าในธรรมชาติอันเป็นหนึ่งนั้นไม่มี สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา มีแต่รูปกับนามที่หมุนเวียนเปลี่ยนแปลงไปตามปัจจัยปรุงแต่ง รูปนามก็ทำงานไปตามหน้าที่ของมันเท่านั้นเอง

และแม้รูปนามจะไม่เที่ยง เป็นทุกข์และเป็นอนัตตา แต่ก็ไม่เป็นภาวะเครื่องเสียดแทงเข้าถึงจิตแต่อย่างใด ผู้นั้นจะอยู่กับธรรมชาติที่แวดล้อมอยู่ในลักษณะเหมือนดอกบัวที่อยู่กับน้ำ แต่ไม่ติดน้ำ เขาย่อมไม่หลงเพลินหรือผลักไสรูปนามทั้งปวงนั้น

๓. สภาวะของจิต บุคคลทั่วไปจะรู้สึกว่าตัวเรามีอยู่อย่างแน่นอน และสิ่งที่เรียกว่าตัวเราก็คือกลุ่มก้อนทั้งก้อนของกายกับใจนี่เอง ไม่สามารถจำแนกได้ว่า อันใดเป็นกายอันใดเป็น จิตใจ รู้สึกเพียงแต่ว่าทั้งหมดนี้คือตัวเรา ผู้ปฏิบัติจะรู้สึกว่า กายก็อันหนึ่ง จิตใจก็อันหนึ่ง ธรรมชาติที่แวดล้อมอยู่ก็เป็นอีกอันหนึ่ง กายและธรรมชาติ ไม่ใช่ตัวเรา แต่จิตเป็นตัวเรา

แต่เมื่อปฏิบัติจนบรรลุพระโสดาบันแล้วจะเห็นว่าจิตไม่ใช่ตัวเรา แต่ก็ยังมีการหยิบฉวยครอบครองจิตอยู่ ไม่สามารถปล่อยวางความถือมั่นในจิตได้ ยังมีความพยายามจะรักษาจิต และต้องการพัฒนาจิตไปสู่ความหลุดพ้นอยู่ และรู้สึกว่าจิตยังมีขอบเขต มีจุด มีดวง และจิตจะเสพอารมณ์ในกามาวจรอยู่เสมอ

ส่วนผู้ทรงฌานก็จะละอารมณ์ในกามาวจรไปเสพอารมณ์ ในรูปาวจรและอรูปาวจรเป็นครั้งคราว แต่ผู้ที่ปล่อยวางความถือมั่นในจิตได้แล้ว ย่อมเห็นจิตเป็นความว่างเปล่าจากความเป็นตัวตน คือเห็นจิตเป็นธรรมชาติอันหนึ่งที่ไม่ใช่ตัวตนใดๆ ทั้งสิ้น จิตมีความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา เหมือนกับสังขารธรรมทั้งหลายนั่นเอง

พวกเราอย่าสำคัญผิดว่า เมื่อปฏิบัติถึงที่สุดแล้ว จิตจะเที่ยง เป็นสุข และเป็นอัตตาขึ้นมาได้ เพราะจิตเป็นขันธ์ จิตจึงย่อมจะเป็นตัวทุกข์เสมอไป เพียงแต่ผู้ที่ปล่อยวางจิตได้แล้วจะไม่มีความรู้สึกกระทบกระเทือนหรือถูกเสียดแทงเพราะขันธ์หรืออารมณ์ใดๆ อีกต่อไป จิตที่เคยทำหน้าที่เสพอารมณ์ กลับทำหน้าที่รู้สึกนึกคิดโดยไม่เสพอารมณ์ อยู่ต่างหากจากอารมณ์ มีความรู้สึกที่โปร่งโล่งว่าง ไร้น้ำหนัก ไร้รูปลักษณ์ ไร้ขอบเขต และเป็นอิสระ

ส่วนวิบากจิตที่ทำหน้าที่รู้รูปเสียงกลิ่นรสสัมผัสทางกายทวาร รวมทั้งวิบากจิตที่ทำหน้าที่รับอารมณ์ พิจารณาอารมณ์ และตัดสินอารมณ์ ก็ยังทำหน้าที่เหมือนจิตของปุถุชนธรรมดาๆ นั่นเอง

ขอขยายความถึงจิตที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับความรู้สึกนึกคิดที่เรียกว่า “ชวนจิต” อีกสักเล็กน้อย จิตชนิดนี้จะมีความแตกต่างไปจากเดิม คือชวนจิตของผู้ที่ยังปล่อยวางความถือมั่นในจิตไม่ได้ จะทำหน้าที่นึกคิดและเสวยอารมณ์ คือหลงยินดียินร้ายไปด้วย หรือเป็นกุศลหรืออกุศลไปด้วย

แต่ชวนจิตของผู้ที่ปล่อยวางความถือมั่นในจิตได้แล้วจะนึกคิดแต่ไม่เสวยอารมณ์ จะมีลักษณะสักว่าคิดนึกปรุงแต่งเพื่ออยู่กับโลก และอนุโลมตามโลกเป็นกิริยาไปอย่างนั้นเอง

จิตเหล่านี้บางดวงมีโสมนัสเวทนา บางดวงมีอุเบกขาเวทนา บางดวงประกอบด้วยปัญญา บางดวงไม่ประกอบด้วยปัญญา แต่ทั้งหมดมีลักษณะเป็นหนึ่ง เป็นปกติ สงบสันติ แจ่มจ้า อิสระ ไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆในภายในแม้แต่น้อย ไม่มีจุด ไม่มีดวง ไร้รูปลักษณ์และขนาด กว้างขวางไม่มีขอบเขตเครื่องกีดกั้นไม่มีสิ่งห่อหุ้ม เหมือนกับอยู่เหนือขันธ์ ไม่ปนเปื้อนด้วยขันธ์ ไม่มีน้ำหนัก ไม่มีอะไรเลยนอกจากธรรมชาติรู้อันบริสุทธิ์ล้วนๆ และไม่ถูกหยิบฉวยหรือกำหนดหมายไว้แต่อย่างใด จิตนี้มีอยู่ก็เหมือนไม่มี และไม่มีกิจที่จะต้องดูแลรักษาอีกต่อไป

ชวนจิตนี้เมื่อไม่มีกิจจะต้องรู้ขันธ์หรืออยู่กับโลกอันเป็นสมมุติ ก็จะไปรู้ธรรมอันเป็นอมตธาตุหรืออมตธรรม จัดว่าเป็นจิตที่แปลกและอัศจรรย์ เหมือนกับไม่ใช่จิต ไม่น่าจะเรียกว่าจิต แต่ก็ต้องเรียกว่าจิตเพราะมีสภาวะรู้

ครูบาอาจารย์วัดป่าท่านมักจะสมมุติเรียกจิตชนิดนี้ว่า ใจฐีติจิต จิตเดิม จิตหนึ่ง เป็นต้น เพราะเป็นเครื่องรู้ธรรมอันเป็นธัมมารมณ์ชนิดที่ท่านสมมุติเรียกกันว่า ธรรม ฐีติธรรม มหาสุญญตา เป็นต้น ใจนี้เงียบสนิทและบริสุทธิ์ผุดผ่องจริงๆ ไม่มีอะไรในนั้นสักจุดสักแต้มเดียว กว้างขวางไร้ขอบเขต และไม่มีการทำงานแม้แต่การหมายรู้ใจหรือการหมายรู้ธรรม ใจนี้แหละรู้ธรรม ใจนี้แหละทรงธรรมไว้ แต่แท้ที่จริงแล้วธรรมนั่นแหละทรงธรรมไว้ คือทรงสภาพไว้ได้เองโดยไม่อิงอาศัยสิ่งใด และเมื่อมีกิจเช่นมีความจำเป็นจะต้องสัมผัสหรือสัมพันธ์กับโลก จิตก็ทำหน้าที่รู้อารมณ์รูปนามและบัญญัติอย่างเป็นกิริยาไปอย่างนั้นเอง เป็นการอนุโลมตามโลก และเมื่อหมดกิจการงานแล้ว ใจก็รู้ธรรมไปและมีความสุขอันมหาศาลอยู่กับธรรมนั้นเอง

(อ่านต่อฉบับหน้า)

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 137 พฤษภาคม 2555 โดย พระปราโมทย์ ปาโมชฺโช)
กำลังโหลดความคิดเห็น