การทำจิตให้สงบ คือการวางให้พอดี ตั้งใจเกินไปมากมันก็เลยไป ปล่อยเกินไปมันก็ไม่ถึง เพราะขาดความพอดี ธรรมดาจิตเป็นของอยู่ไม่นิ่ง เป็นของมีกิริยาไหวตัวอยู่เรื่อย ฉะนั้นจิตใจของเราจึงไม่มีกำลัง
การทำจิตใจของเราให้มีกำลัง กับการทำกายของเราให้มีกำลังมันต่างกัน
การทำกายให้มีกำลัง คือ การออกกำลังกายบริหาร มีการกระโดด การวิ่ง นี่คือการทำกายให้มีกำลัง
การทำจิตให้มีกำลัง ก็คือ ทำจิตให้สงบ ไม่ใช่ทำจิตให้คิดนั่นคิดนี่ไปต่างๆ ให้มันอยู่ในขอบเขตของมัน เพราะว่าจิตของเรานั้น ไม่เคยได้สงบ ไม่เคยมีกำลัง มันจึงไม่มีกำลังทางด้านสมาธิภายใน
• การทำสมาธิ
บัดนี้เราจะทำสมาธิ ก็ตั้งใจให้เอาความรู้สึกกำหนดอยู่กับลมหายใจ
ถ้าหากว่าเราหายใจสั้นเกินไป หรือยาวเกินไป ก็ไม่พอดี ไม่ได้สัดได้ส่วนกัน ไม่เกิดความสงบเหมือนกันกับเราเย็บจักร ผู้เย็บจักรมีมือมีเท้า เราต้องถีบจักรเปล่าดูก่อน ให้รู้จักให้คล่องกับเท้าของเราเสียก่อนจึงเอาผ้ามาเย็บ
การกำหนดลมหายใจก็เหมือนกัน หายใจเฉยๆ กำหนดรู้ไว้ จะพอดีขนาดไหน ยาวขนาดไหน สั้นขนาดไหน จะให้ค่อยขนาดไหน แรงขนาดไหน จะยาวก็ไม่เอากับมัน จะสั้นก็ไม่เอากับมัน จะค่อยก็ไม่เอากับมัน เอาตามความพอดี
เอายาวพอดี เอาสั้นพอดี เอาค่อยพอดี เอาแรงพอดี นั่นชื่อว่าความพอดี เราไม่ได้ขัดไม่ได้ข้องแล้วก็ปล่อย หายใจดูก่อนไม่ต้องทำอะไร
ถ้าหากว่าจิตสบายแล้ว จิตพอดีแล้ว ก็ยกลมหายใจเข้าออกเป็นอารมณ์
หายใจเข้าต้นลมอยู่ปลายจมูก กลางลมอยู่หทัยคือหัวใจ ปลายลมอยู่สะดือ อันนี้เป็นแหล่งการเดินลม
เมื่อหายใจออก ต้นลมจะอยู่สะดือ กลางลมจะอยู่หทัย ปลายลมจะอยู่จมูก นี่มันสลับกันอย่างนี้
กำหนดรู้เมื่อลมผ่านจมูก ผ่านหทัย ผ่านสะดือ พอสูดแล้วก็ จะเวียนกลับมาอีกเป็นสามจุดนี้ ให้ความรู้ของเราอยู่ในความเวียนเข้าออกทั้งสามจุดนี้ พยายามติดตามลมหายใจเช่นนี้เรื่อยไป เพื่อรักษาความรู้นั้นและทำสติสัมปชัญญะของเราให้กล้าขึ้น
เมื่อดูว่าเรากำหนดจิตของเราให้รู้จักต้นลม กลางลม ปลายลมดีแล้วพอสมควร เราก็วาง เราจะหายใจเข้าออกเฉยๆ เอาความรู้สึกของเราไว้ปลายจมูก หรือริมฝีปากบนที่ลมผ่านออกผ่านเข้า เอาแต่ความรู้สึกเท่านั้นไว้ที่นั่น ไม่ต้องตามลมออกไป ไม่ต้องตามลมเข้ามา
เอาความรู้สึกหรือผู้รู้นั่นแหละไว้เฉพาะหน้าเราที่ปลายจมูก ให้รู้จักลมผ่านออก ผ่านเข้า ไม่ต้องคิดอะไรมากมาย เพียงแต่ให้มีความรู้สึกเท่านั้นแหละ ให้มีความรู้สึกติดต่อกัน
ลมออกก็ให้รู้ ลมเข้าก็ให้รู้ ให้รู้อยู่แต่ที่นั่นแหละ รู้แล้วมันจะเป็นอะไรก็ไม่ต้องคิด เอาเพียงเท่านั้นเสียก่อน
ในเวลานี้หน้าที่การงานของเรามีแค่นั้น ไม่ได้มีมาก กำหนดลมเข้าออกอยู่อย่างนั้นแหละ ต่อไปจิตก็สงบ ลมก็จะละเอียดเข้าไป น้อยเข้าไป กายก็จะเบาเข้าไป จิตก็จะสงบไป ความเบากายเบาใจนั้นก็จะเกิดขึ้นมา จะเป็นกายควรแก่การงาน และจะเป็นจิตควรแก่การงานต่อไป
นี่คือการทำสมาธิ ไม่ต้องทำอะไรมาก ให้กำหนดเท่านั้น ต่อไปนี้ให้ตั้งใจทำ กำหนดไป.....
จิตเราละเอียดเข้าไป การทำสมาธินั้นจะไปไหนก็ช่างมัน ให้เรารู้ทันเอาไว้ ให้เรารู้จักมัน มันก็มีทั้งอารมณ์ มีทั้งความสงบคลุกคลีกันไป
มันมีวิตก วิตกคือการจะยกจิตของตน นึกถึงอันใดอันหนึ่งขึ้นมา ถ้าสติของเราน้อย ก็จะวิตกน้อย แล้วก็มีวิจารณ์ คือการตรวจดูตามเรื่องที่เราวิตกนั้น แต่ข้อสำคัญนั้น ต้องพยายามรู้ให้ทันอยู่เสมอ แล้วก็พิจารณาให้ลึกลงไปอีก ให้เห็นว่ามีทั้งสมาธิ และมีทั้งความรู้รวมอยู่ในนั้น
• องค์ประกอบของความสงบ
คำว่า “จิตสงบ” นั้นไม่ใช่ว่าไม่มีอะไร มันต้องมี มีความสงบครอบอยู่ ท่านกล่าวถึงองค์ของความสงบขั้นแรกว่า หนึ่งมี วิตก ยกเรื่องใดเรื่องหนึ่งขึ้นมา แล้วก็มีวิจารณ์ คือพิจารณาตามอารมณ์ที่เกิดขึ้นมา
ต่อไปก็จะมีปีติ คือความยินดีในสิ่งที่เราวิตกไปนั้น ในสิ่งที่เราวิจารณ์ไปนั้นก็จะเกิดปีติ คือความยินดีซาบซึ้งอยู่โดยเฉพาะของมัน
แล้วก็มีสุข สุขอยู่ไหน สุขอยู่ในการวิตก สุขอยู่ในการวิจารณ์ สุขอยู่กับความอิ่มใจ สุขอยู่กับอารมณ์เหล่านั้นแหละ แต่ว่ามันสุขอยู่ในความสงบ ความอิ่มใจก็อยู่ในความสงบวิจารณ์ ก็วิจารณ์อยู่ในความสงบ ความอิ่มใจก็อยู่ในความสงบ สุขก็อยู่ในความสงบ ทั้งสี่อย่างนี้เป็นอารมณ์อันเดียว
อย่างที่ห้า คือ เอกัคคตา ห้าอย่างแต่เป็นอันเดียวกัน คือ ทั้ง ห้าอย่างนี้เป็นอารมณ์ แต่มีลักษณะอยู่ในขอบเขตอันเดียวกัน คือเมื่อจิตสงบ วิตกก็มี วิจารณ์ก็มี ปีติก็มี สุขก็มี เอกัคคตาก็มี ทั้งหมดนี้เป็นอารมณ์เดียวกัน
คำที่ว่าอารมณ์เดียวกันนั้น ทำไมจึงมีหลายอย่าง หมายความว่า มันจะมีหลายอาการก็ช่างมัน เพราะอาการทั้งหลายเหล่านั้น จะมารวมอยู่ในความสงบอันเดียวกัน ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่รำคาญ เหมือนกับว่ามีคน ๕ คน แต่ลักษณะของคนทั้ง ๕ คนนั้น มีอาการอันเดียวกัน คือจะมีอารมณ์ทั้ง ๕ อารมณ์
เมื่ออารมณ์อันนั้นอยู่ในลักษณะนี้ ท่านเรียกว่า “องค์” องค์ของความสงบ ท่านไม่ได้เรียกว่าอารมณ์ ท่านเรียกว่า วิตก วิจารณ์ ปีติ สุข เอกัคคตารมณ์ สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ไม่เป็นอารมณ์ตามธรรมดา ท่านจึงจัดว่าเป็นองค์ของความสงบ มีอาการอยู่ ๕ อย่าง คือ วิตก วิจารณ์ ปีติ สุข เอกัคคตา
ไม่มีความรำคาญ มีความสุขก็ไม่รำคาญ จิตจึงเป็นอารมณ์เดียวอยู่ในสิ่งทั้ง ๕ นี้ จับรวมกันอยู่ เรื่องจิตสงบขั้นแรก จึงเป็นอย่างนั้น
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 136 เมษายน 2555 โดย พระโพธิญาณเถร (หลวงพ่อชา สุภัทโท) วัดหนองป่าพง จ.อุบลราชธานี)