โดย กมลรัตน์ อู่อรุณ
โรคที่เกี่ยวข้องกับระบบหายใจอีกโรคที่ยังมีอัตราการเข้ารับการรักษาในห้องฉุกเฉิน และต้องนอนพักโรงพยาบาลเป็นอันดับต้นๆ อีกโรค คือ โรคหืด หรือที่เรียกติดปากกันว่า โรคหอบหืด อาจจะคิดว่าโรคนี้ไม่อันตรายและไม่น่าเป็นห่วงมากเมื่อเทียบกับโรคร้ายอย่างมะเร็ง
แต่สำหรับผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหืด อย่าง รศ.นพ.วัชรา บุญสวัสดิ์ ประธานเครือข่ายคลินิกโรคหืดและปอดอุดกั้นเรื้องรังแบบง่าย (Easy Asthma and COPD Clinic Network) กลับเห็นว่า โรคนี้ก็เป็นอีกโรคที่ไม่ควรมองข้าม ควรที่จะดูแลเอาใจใส่โดยเฉพาะผู้ที่รู้ว่าตนเองเป็นโรคหืด ซึ่งปัญหาที่พบส่วนใหญ่ คือ ผู้ป่วยไม่ทราบว่าตนเป็นโรคหืด พร้อมทั้งไม่เข้าใจว่า โรคหืด นั้นเกิดจากการที่หลอดลมอักเสบ แต่คนมักเข้าใจว่า เกิดจากหลอดลมตีบ และเมื่อหลอดลมอักเสบอยู่แล้วเจอสิ่งกระตุ้นทำให้อักเสบมากขึ้น จากนั้นอาการหอบจึงตามมา คนไทยจึงเรียกว่า โรคหอบหืด การรักษาที่ผ่านมาจึงเป็นการพ่นยาเพื่อรักษาอาการตีบเพียงอย่างเดียว ไม่ได้รักษาที่ต้นเหตุคืออาการอักเสบ แต่ปัจจุบันทราบถึงสาเหตุที่แท้จริงของโรคแล้วจึงทำให้รักษาได้ตรงจุด อีกทั้งผู้ป่วยยังสามารถสังเกตและดูแลตัวเองไม่ให้อาการกำเริบได้ด้วย
“หากอยากทราบว่าตนเองเป็นหืดหรือไม่ ให้สังเกตตนเองว่ามีอาการดังนี้หรือเปล่า ไอ หอบ หายใจมีเสียงหวีด และไวต่อสิ่งกระตุ้น สิ่งกระตุ้นในที่นี้คือ สภาพอากาศที่ร้อนๆ หนาวๆ การออกกำลังกายที่นักเกินไป สภาพอารมณ์ที่แปรปรวนและรุนแรง บางคนอาจจะไวต่อฝุ่น ละอองด้วย ถ้ามีอาการครบดังนี้ให้สันนิษฐานว่าเป็นโรคหืด ส่วนการดูแลตัวเองในเบื้องต้นเพื่อไม่ให้อาการกำเริบนั้น ควรเลี่ยงจากสิ่งกระตุ้นต่างๆ ที่ทำให้เกิดโรค เช่น การออกกำลังกายที่หักโหม ,สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ร้อนๆ เย็นๆ โดยเฉพาะอากาศเย็น, พยายามควบคุมไม่ให้เกิดอารมณ์แปรปรวน รุนแรง แต่หากเลี่ยงไม่ได้ผู้ป่วยควรจะสังเกตตนเองเมื่อเริ่มมีอาการของโรคให้รีบมาพบแพทย์หรือสถานพยาบาลที่มีคลินิกโรคหืดใกล้บ้านทันทีอย่าชะล่าใจปล่อยให้อาการของตนกำเริบถึงขั้นหนักไม่เช่นนั้นอาจจะรักษาได้ไม่ทัน เพราะโรคนี้หากเข้าใจจะสามารถรักษาให้หายได้
นอกจากการดูแลตัวเองในเบื้องอย่างที่ผู้เชี่ยวชาญแนะนำแล้ว ยังมีเครื่องมือทางการแพทย์อย่าง เครื่อง Peak Flow Meter เป็นเครื่องวัดอัตราลมหายใจออกที่แรงที่สุด ใช้วัดความแรงลมหายใจออกของผู้ป่วย เพื่อใช้เปรียบเทียบระดับลมหายใจออกซึ่งถือว่าเป็นตัวช่วยแพทย์ในการวินิจฉัย เพื่อให้ได้ผลการวินิจฉัยที่แน่นอนและสะดวกเมื่อต้องเผชิญกับผู้ป่วยจำนวนมากทำให้สามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยได้ทันท่วงที
นอกจากนี้ ศ.พญ.สุมาลี เกียรติบุญศรี นายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย แนะนำการใช้ เครื่อง Peak Flow Meter สำหรับผู้ป่วยว่า 1.ควรปรับมาตรวัดให้อยู่ในตำแหน่งล่างสุด 2.ยืนตัวตรง ถือเครื่องวัดให้อยู่ในแนวราบ ให้มาตรวัดอยู่ด้านบน ระวัง อย่าให้นิ้วขวางเข็มชี้หรือรูด้านหน้า 3. สูดหายใจเข้าปอดลึกๆ 4.อมท่อเป่าให้ริมฝีปากแนบสนิท แล้วเป่าออกให้แรงและเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ 5.อ่านค่าที่ได้จากเข็มชี้ 6.ทำซ้ำอีก 2 ครั้ง จากขั้นตอนที่ 1 ถึง 5 และบันทึกค่าที่ดีที่สุด เพื่อใช้ข้อมูลนี้มาเป็นตัวช่วยในการวินิจฉัยของแพทย์