xs
xsm
sm
md
lg

มองเป็นเห็นธรรม : กว่าจะรู้ตัว ก็สายไปแล้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ยายๆ หลวงตามาแน่ะ”

“เป็นไงบ้างล่ะโยม เห็นเจ้าเปี๊ยก บอกว่าโยมไม่ค่อยสบาย อาตมาผ่านมาทางนี้ ก็เลยถือโอกาสแวะมาเยี่ยม”

“กราบขอบพระคุณเจ้าค่ะ พักนี้ไม่รู้เป็นอะไร จิตใจไม่สงบ ร่างกายก็ไม่ค่อยสบาย เมื่อคืนก็นอนไม่หลับ คิดถึงเรื่องเก่าๆ แล้วรู้สึกไม่สบายใจ มีหลายเรื่องเลย ที่ไม่ได้ทำให้คุณพ่อคุณแม่และคุณพี่ ในยามที่ยังมีชีวิตอยู่

อิฉันติดเอาแต่ใจตนเองเหลือเกิน ทำให้ลืมคิดถึงคนรอบข้าง โดยเฉพาะคุณพ่อคุณแม่ ตั้งแต่เล็กจนโต จนมีครอบครัว ก็ไม่เคยเลยที่จะห่วงใยดูแลท่านอย่างจริงจัง ปล่อยให้ท่านอยู่กันตามสภาพ

ยิ่งคุณพี่แล้ว สารพัดเลยที่จะต่อว่าต่อขาน อยากพูดอะไรตามอารมณ์ก็พูด อยากได้อะไรก็สั่ง คุณพี่ก็ดีเหลือเกิน ไม่เคยพูด หรือแสดงกิริยาให้รู้เลยว่าไม่พอใจหรือขัดใจ ยอมตามใจทุกอย่าง

ลูกของอิฉันนี่ติดพ่อทุกคนเลยเจ้าค่ะ แต่ไม่ค่อยชอบแม่เท่าไรหรอก คงจะเป็นวิบากกรรมที่อิฉันทำไว้กับคุณพ่อคุณแม่มาก มันจึงส่งผลให้เห็นก่อนตายนี่ล่ะเจ้าค่ะ เห็นภาพเก่าๆทั้งคืน ตอนนี้ก็คิดอยากทำบุญอุทิศให้คุณพ่อคุณแม่และสามี”

“โยม.. เรื่องมันผ่านเลยมาแล้ว แก้ไขก็ไม่ได้ เราก็เห็นผลของกรรมนั้นในขณะนี้แล้ว ทำไมไม่วางมันลงบ้างล่ะ จะได้บรรเทาความฟุ้งซ่านในจิตใจลงบ้าง เดี๋ยวเจ็บหนักลงไปก็จะแย่นะ เขาว่าตายในขณะทุกข์มากๆ นี่ ไปนรกเชียวนะ”

“อิฉันไม่รู้ว่าจะทำยังไงให้ใจมันสุขสักหน่อย เพราะอย่างน้อยๆ ก็ช่วยลดวิบากกรรมที่ทำไปแล้วบ้างก็ยังดี”

“ทุกข์เพราะคิด หยุดคิดมันก็หมดทุกข์ โยมก็อย่าไปคิดถึงอดีตที่ผ่านมา ลุกขึ้นทำกิจกรรมเล็กๆน้อยๆ ตามกำลัง เดินเล่นในสวนบ้าง เอาใจไปใส่ไว้ในสิ่งสวยงามภายนอกบ้าง มันก็หยุดคิดได้”

“มันจะหยุดได้อย่างไร ทุกที่ทางในบ้านนี้มันมีรอยอดีตที่ติดตรึงใจอยู่ทุกแห่ง มองไปดูไปก็เศร้า เลยไม่อยากลุกมาดูมาเห็นให้ทุกข์ใจ”

“แล้วมันทุกข์เพิ่มหรือลดลงล่ะ?”

“ไม่รู้สิเจ้าคะ รู้สึกว่ามันทุกข์รันทดอยู่ตลอดเวลาเลย”

“โยม.. ใจมันคิดถึงเรื่องเบียดเบียนพ่อแม่และสามี ซึ่งเป็นอดีต มันก็บอกให้โยมรู้ว่า นี่เป็นบาปที่โยมกระทำเสร็จแล้ว โยมก็ได้รับความทุกข์ใจจากบาปนั้นอยู่ตลอดเวลา นี่ก็เป็นผลของบาป

พระพุทธองค์ท่านรู้ความจริงของโลก ท่านจึงสอนพระสาวกเป็นหลักพระพุทธศาสนาข้อแรกว่า ไม่ทำบาปอกุศลทั้งปวง แล้วทรงสอนข้อที่สองว่า ให้ทำแต่ความดีเป็นบุญเป็นกุศล ที่จะนำให้เกิดผลเป็นข้อที่สาม คือจิตใจของตนผ่องแผ้วเบิกบาน

นี่เป็นหลักการแรกของพระพุทธศาสนา ที่ทรงสอนให้พระสาวกนำไปเผยแผ่แก่สาธารณชน ทำให้พระพุทธศาสนาแผ่กระจายไปทั่วชมพูทวีป ต่อมาเรียกหลักการนี้ว่า โอวาทปาติโมกข์ ที่พระสงฆ์ มักจะสาธยายพรรณนาความในวันมาฆบูชาอยู่เสมอ โยมก็ไปฟังอยู่ทุกปี จำความได้บ้างไหม?”

“ได้เจ้าค่ะ ทุกวันนี้ก็ใช้เป็นหลักในการดำเนินชีวิตอยู่ แต่ก็ยังไม่เห็นว่าจิตใจของตนจะผ่องแผ้วแจ่มใสเลยเจ้าค่ะ เห็นแต่ทุกข์แต่บาปที่ทำไปแล้ว จิตใจมันก็ห่อเหี่ยวตลอดเวลา”

“ก็เพราะโยมคิดอย่างนี้อยู่ ถึงได้เบียดเบียนตนเองไง โยมรู้ไหมนี่เป็นเหตุแห่งบาปที่สำคัญเลยนะ เหมือนคนขี้เมาที่ชอบหาเงินไปซื้อเหล้ามาดื่ม หรือคนติดบุหรี่ที่ต้องซื้อบุหรี่มาสูบตลอดเวลา

ลองพิจารณาดูสิว่า ใครไปบังคับเขาให้ทำอย่างนั้น จะอ้างเหตุผลอย่างไรก็ตาม ที่ยกแก้วเหล้าดื่มหรือที่หยิบบุหรี่มาสูบ ก็เขาทำเองทั้งนั้น ทำทุกวันมันก็ติด ขาดไม่ได้ คราวนี้โยมคิดว่า เขาสุขหรือทุกข์ล่ะ?”

“อิฉันไม่รู้หรอกเจ้าค่ะ เหล้าบุหรี่นี่ผิดศีล อิฉันไม่แตะต้องหรอก มันบาป”

“โยมก็คิดว่าเป็นบาป ลองบอกมาซิว่าบาปตรงไหน”

“พระท่านสอนไว้ว่าศีลข้อ ๕ ห้ามดื่มเหล้าเมรัย ท่านก็รู้อยู่แล้วนี่เจ้าคะ”

“โยมลองพิจารณาผู้ดื่มเหล้าผู้สูบบุหรี่ สิว่า เขาจะคิดว่าเป็นบาปไหม?”

“ใครเขาจะไปคิดว่าเป็นบาปล่ะคะ เขาก็คิดว่าเป็นบุญมากกว่า ที่มีเงินซื้อเหล้า บุหรี่มาปรนเปรอตนเองได้ตามปรารถนา

โถ.. ไม่คิดกันเลยว่ามันจะทำลายร่างกายตนเองให้ทรุดโทรม บั่นทอนสุขภาพ พาชีวิตเข้าไปหาความตายเร็วขึ้น

อิฉันเห็นมาหลายรายแล้ว อายุไม่ถึงห้าสิบก็ตาย ที่ไม่ตายก็อมโรคเยอะแยะ นี่ก็ยังยกมาเตือนลูกหลานอยู่บ่อยๆ”

“สิ่งที่โยมเห็นคือเขาทำบาปผิดศีล แล้วโยมว่า เขาผิดต่อธรรมไหมล่ะ?”

“ผิดศีลก็ต้องผิดธรรมอยู่แล้ว ผิดศีลแล้วถูกธรรม ไม่มีหรอกเจ้าค่ะ”

“เอาเฉพาะธรรมในโอวาทปาติโมกข์นี้ เขาก็ผิดแล้วอย่างโยมว่า คือเขาเบียดเบียนร่างกายตนเองอยู่ตลอดเวลา แม้ยังไม่เห็นทุกข์จากการดื่มเหล้าหรือสูบบุหรี่ แต่การบั่นทอนร่างกายก็เกิดขึ้นทุกครั้งที่เขาดื่มเหล้าหรือสูบบุหรี่ เขายังไม่รู้สึกตัวถึงอันตรายที่กำลังเกิดขึ้น เขายังสำคัญว่า นี้เป็นความสุขที่เขาสามารถสัมผัสได้

แต่เมื่อร่างกายชำรุดจนแสดงอาการเจ็บป่วยขึ้นมา เขาก็จะสัมผัสถึงความทุกข์ ที่เกิดจากการเบียดเบียนร่างกายตนเอง คราวนี้จิตใจของเขาก็จะหดหู่ไปตามสภาพทุกข์ บางคนอาจจะใช้การดื่มเหล้าหรือสูบ บุหรี่ ด้วยสำคัญผิดว่า นี่เป็นการดับทุกข์ ก็ยิ่งเท่ากับเร่งตนเองให้เข้าหาความตายมากขึ้น โยมคิดว่า เขาจะขึ้นสวรรค์หรือลงนรก”

“จะไปสวรรค์ได้ไงล่ะท่าน มีลมหายใจอยู่ก็ทุกข์มาก และตายไปก็ตกนรกแน่นอน”

“แล้วการที่โยมจมอยู่กับความคิดในอดีตนี่ มันทุกข์หรือสุขล่ะ”

“มันทุกข์เจ้าค่ะ อืมมม...อิฉันก็เบียดเบียนตนเองเหมือนกัน ทำตัวเองให้มีทุกข์ เหมือนคนกินเหล้าสูบบุหรี่ นี่ถ้าคุณพ่อ คุณแม่และคุณพี่ท่านมองอยู่ข้างๆ ท่าน ก็คงทุกข์ไปด้วย เพราะความห่วงใยอิฉันแน่ๆ กรรมจริงๆ ทำพวกท่านเป็นทุกข์ทั้งยามมีชีวิตและยามตายเลย

ไม่เอาแล้ว ไม่คิดแล้ว กราบขอบพระคุณท่านมากเลยเจ้าค่ะ ที่ช่วยฉุดอิฉันขึ้นมาจากนรก ต่อไปอิฉันจะไม่คิดถึงเรื่องเหล่านี้อีกแล้ว”

“โยมก็อายุมากแล้ว ควรระมัดระวังสุขภาพร่างกายให้มากๆ อย่าไปทำร้ายร่างกายจนลูกหลานพลอยเป็นทุกข์กันหมด จะไปทำหน้าที่การงานอะไรก็ไม่ได้ ก็เพราะคอยห่วงโยม

เรื่องเก่าๆ ถ้าคิดแล้วมันทุกข์ มันก็ไม่มีประโยชน์ แต่ถ้าคิดเพื่อนำมาปรับปรุงชีวิตให้ดีขึ้น หรือนำมาสอนลูกหลานให้ดำเนินชีวิตไปด้วยดีมีประโยชน์ เรื่องเก่าๆ เหล่านี้ก็เป็นสุขเป็นบุญ บุญ บาป เป็นสิ่งที่เราเลือกเองทำเอง โยมว่าจริงไหม?”

“จริงเจ้าค่ะ แล้วอิฉันจะสอนลูกหลานอย่างไร ให้มีความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณในยามที่ท่านมีชีวิตอยู่ล่ะเจ้าค่ะ ไม่อยากให้สายเกินไปแบบอิฉันเลยเจ้าค่ะ”

“สมเด็จพระสังฆราช (สา) ได้ทรงนิพนธ์พุทธสุภาษิตไว้บทหนึ่งว่า ความกตัญญูกตเวที เป็นเครื่องหมายของคนดี ลูกหลานทุกคนก็อยากเป็นคนดี เราก็ต้องสอนให้เขารู้จักจดจำพุทธสุภาษิตบทนี้ เขาก็จะรู้แนวทางปฏิบัติตนให้เป็นคนดี

อาตมาจะอธิบายการทำตนให้เป็นคนมีความกตัญญูกตเวที ตามแนวนวโกวาทของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ซึ่งเป็นหลักสูตรธรรมสนามหลวงที่ไว้สำหรับสอนพระเณรและญาติโยมก็แล้วกัน

ความกตัญญู คือ ความรู้ระลึกถึงบุญคุณที่ผู้อื่นได้กระทำแล้วต่อตน กตเวที คือ ความตอบแทนบุญคุณท่านผู้นั้น ในสังคมจำแนกความสัมพันธ์ของบุคคล ไว้ดังนี้

ในครอบครัว พ่อแม่ก็เป็นผู้ได้ทำความอุปการะก่อนแก่บุตรธิดา ด้วยการเลี้ยงดูอบรมบุตรธิดาจากเล็กจนเติบใหญ่

ในทางการศึกษา ครูอาจารย์ก็เป็นผู้ให้ความอุปการะแก่ศิษย์ ด้วยการอบรมสั่งสอนศิลปวิทยาที่ตนมีให้แก่ศิษย์

ในทางสังคม ผู้ใหญ่ก็อุปการะผู้น้อย ด้วยการสนับสนุนให้ผู้น้อยมีความก้าวหน้าในอาชีพการงาน

ในทางปกครอง พระมหากษัตริย์ทรงอุปการะพสกนิกร ด้วยการทำให้พสกนิกร มีความเป็นอยู่ที่ดี มีความปลอดภัยในชีวิต

ในทางศาสนา พระศาสดา ก็ให้ความอุปการะแก่สาวก ด้วยคำสอนและแนวทางปฏิบัติตนที่สาวกสามารถปฏิบัติให้บรรลุผลในศาสนาได้ตามกำลังความสามารถ

พ่อแม่ ครูอาจารย์ ผู้ใหญ่ พระมหากษัตริย์ พระศาสดา จัดเป็นบุพการี บุคคลผู้อุปการะก่อน ดังนั้นการระลึกถึงบุญคุณ บุพการี จึงเป็นความกตัญญู การตอบแทน บุพการีก็คือกตเวที

การจะทำตนให้เป็นผู้มีความกตัญญูกตเวทีได้นั้น เบื้องต้น ต้องระลึกถึงบุญ คุณของบุพการีไว้อยู่เสมอ ซึ่งนี่จะทำให้รู้ตัวว่า ตนเองเติบใหญ่มาจนถึงบัดนี้ มีความเป็นอยู่สุขสบายได้ ก็เพราะบุญคุณของบุพการี การรักษาความรู้สึกเช่นนี้ได้ตลอดเวลา ย่อมได้ชื่อว่าเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะ

เมื่อมีสติสัมปชัญญะแล้ว ต่อไปเมื่อจะทำอะไร จะพูดสิ่งใด จะนึกคิดเรื่องใด ก็จะทำให้มีความละอายเกิดขึ้นในใจว่า สิ่งนี้เป็นบาปเป็นสิ่งเลวทราม ก็ไม่กล้ากระทำ มีความเกรงกลัวต่อบาป ด้วยสำเหนียกว่า ถ้าทำไปแล้วจะทำให้บุพการีเสียใจ จะทำตนให้เป็นคนไม่ดี เป็นคนอกตัญญู นี่ย่อมทำให้ได้ชื่อว่าเป็นผู้มีหิริโอตตัปปะ ซึ่งจะทำให้ตนเป็นผู้สามารถดำเนินชีวิตไปตามหลักของเบญจศีลเบญจธรรม มีศีลประจำกายมีธรรมประจำใจอยู่เป็นนิตย์

เมื่อมีหิริโอตตัปปะแล้ว การดำเนินชีวิตก็จะเป็นไปด้วยความไม่ประมาท รู้จักพิจารณาถึงสิ่งที่ตนประสบ หรือมากระทบตน ไม่นำตนให้หลงใหลไปตามสิ่งเหล่านั้น มีการรักษาความเป็นผู้มีปกติกายวาจา มีความอดทนต่อสภาพที่ก่อให้เกิดความทุกข์ยากลำบาก ด้วยคิดว่า ถ้าทำผิดพลาดไปจนเกิดความเสียหายแก่ร่างกายและชีวิต บุพการีจะทุกข์เศร้าใจมาก ก็จะสามารถรักษาจิตใจให้มั่นคงได้

เมื่อผู้ใดมารู้จักคุ้นเคยก็จะชมเชยว่าเป็นผู้มีความงดงามในการดำเนินชีวิต นี่ย่อมทำให้ได้ชื่อว่าเป็นผู้มีขันติโสรัจจะ แต่นั้นไปก็จะสามารถทำตนให้เป็นผู้มีความกตัญญูกตเวทีได้ตลอด เวลา และเป็นคนดีที่ทุกสังคม ปรารถนา

เอาแค่นี้ล่ะนะ.. คิดว่าโยมและลูกหลาน คงจะพอเข้าใจ และสามารถน้อมนำไปประยุกต์เป็นแนวทางปฏิบัติตนให้เป็นคนดีได้ ในที่สุดก็จะพบความสุขที่สดใส อันเกิดจากการทำความดีของตนเอง คงทำได้นะ”

“เจ้าค่ะ.. โยมจะจำไว้สอนลูกหลานต่อไป ไม่อยากให้เขาเป็นทุกข์เสียใจ เหมือนตัวเอง ที่กว่าจะรู้ตัวก็สายไปเสียแล้ว กราบขอบพระคุณมากเจ้าค่ะ”

“อาตมาขอลากลับวัดก่อนนะ รักษาเนื้อรักษาตัวให้ดีก็แล้วกัน เจริญพร”

“สาธุเจ้าค่ะ”

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 135 มีนาคม 2555 โดย พระพจนารถ ปภาโส วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม)


กำลังโหลดความคิดเห็น