xs
xsm
sm
md
lg

ไหว้ 9 สิ่งศักดิ์สิทธิ์วัดบวรฯ เสริมมงคลชีวิต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พระคู่บวร ณ อุโบสถ
เริ่มแล้ววันนี้ วัดบวรนิเวศวิหาร จัด “งานสมโภช 175 ปี วัดบวรนิเวศวิหาร” เชิญชวนประชาชนร่วมบุญ สร้างกุศล เสริมสิริมงคลครั้งยิ่งใหญ่แก่ชีวิต ต้อนรับปีใหม่และเทศกาลตรุษจีน สักการะพระพุทธรูปสำคัญของชาติ และสิ่งมงคลคู่แผ่นดิน ภายในวัดบวรนิเวศวิหารทั้ง 9 แห่ง ระหว่างวันที่ 11-15 มกราคม นี้

ไหว้พระคู่บวร ณ พระอุโบสถ
พระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ ทรงสถาปนาขึ้นใหม่ พระอุโบสถเมื่อแรกสร้างเป็นอาคารจตุรมุข ต่อมาได้รื้อมุขหลังออก จึงปรากฏเป็นอาคารตรีมุข มีลักษณะเป็นอาคาร 2 หลังต่อกัน มีหน้าบันรวม 3 ด้าน ประดับด้วยปูนปั้นลายดอกพุดตานใบเทศ ตรงกลางเป็นตราพระมหามงกุฎและพระขรรค์ปูนปั้นลงรักปิดทอง ประดิษฐานเหนือพานแว่นฟ้า ซึ่งเป็นพระราชลัญจกรประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นเครื่องหมายว่าทรงครองวัดบวรนิเวศวิหารเมื่อครั้งทรงพระผนวช

พระสุวรรณเขต หรือที่เรียกว่า “หลวงพ่อโต” (องค์หลัง) เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยหน้าตักกว้าง 9 ศอก 21 นิ้ว สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ ได้อัญเชิญจากวัดสระตะพาน จังหวัดเพชรบุรี มาประดิษฐานเป็นพระประธานองค์แรกของพระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร

พระพุทธชินสีห์ (องค์หน้า) เป็นพระพุทธรูปสำคัญองค์หนึ่งในหัวเมืองฝ่ายเหนือ ตามตำนานเล่าว่า พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก เจ้าเมืองนครเชียงแสนทรงหล่อขึ้นพร้อมกับพระพุทธชินราช และพระศรีศาสดา เมื่อประมาณ พ.ศ. 1500 พระพุทธชินสีห์เป็นพระพุทธรูป
ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 5 ศอกคืบ 7 นิ้ว สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ โปรดให้อัญเชิญมาประดิษฐานในมุขหลังพระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร ครั้นใน พ.ศ.2380 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะยังทรงพระผนวชอยู่และทรงครองวัดบวรนิเวศวิหาร โปรดให้อัญเชิญเข้าประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถ ดังปรากฏทุกวันนี้

พระบรมสารีริกธาตุ บูชาพระไพรีพินาศ ณ พระเจดีย์
พระเจดีย์วัดบวรนิเวศวิหาร ก่อพระฤกษ์สร้างขึ้นเมื่อเดือน 10 ขึ้น 11 ค่ำ ปีเถาะ ตรีศก จ.ศ. 1193 ตรงกับวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2374 ในสมัยรัชกาลที่ 3 และสร้างเสร็จในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงครองวัดบวรนิเวศวิหาร องค์พระเจดีย์มีสัณฐานกลมขนาดใหญ่ มีทักษิณ 2 ชั้นเป็นสี่เหลี่ยม ภายในคูหาพระเจดีย์ประดิษฐานพระเจดีย์กาไหล่ทอง บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2386 ในรัชกาลที่ 3 ที่ฐานพระเจดีย์กาไหล่ทอง เป็นแท่นศิลาสลักภาพพุทธประวัติ ปางประสูติ ตรัสรู้ แสดงธรรมจักร และปรินิพพาน ด้านละปาง มีอักษรจารึก พระวาจา พระอุทาน และพระพุทธวจนะไว้เหนือแผ่นภาพสลักนั้นด้วย และมีเจดีย์ประดิษฐานโดยรอบพระเจดีย์กาไหล่ทองอีก 4 องค์ คือ ด้านตะวันตกเป็นพระไพรีพินาศเจดีย์ ด้านใต้เป็นพระเจดีย์บรมราชานุสรณ์พระชนมพรรษา 5 รอบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ด้านตะวันออกเป็นพระเจดีย์ไม้ปิดทอง ด้านตะวันตกเป็นพระเจดีย์โลหะปิดทอง

พระไพรีพินาศ ประดิษฐาน ณ เก๋งบนทักษิณชั้น 2 ของพระเจดีย์วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นพระพุทธรูปศิลา หน้าตักกว้าง 33 เซนติเมตร ความสูงถึงปลายรัศมี 53 เซนติเมตร มีผู้นำมาถวายแด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อยังทรงพระผนวช และทรงครองวัดบวรนิเวศวิหาร ในราว พ.ศ.2391 เมื่อทรงได้รับถวายพระพุทธรูปองค์นี้แล้ว ปรากฏว่า อริราชศัตรูที่คิดปองร้ายพระองค์ มีอันพ่ายแพ้พินาศไป พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้ถวายพระนามพระพุทธรูปองค์นี้ว่า “พระไพรีพินาศ”

พระศรีศาสดา ณ พระวิหารพระศาสดา
พระวิหารพระศาสดา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระศรีศาสดา ซึ่งโปรดให้อัญเชิญจากวัดประดู่ฉิมพลีมาประดิษฐานไว้คู่กับพระพุทธชินสีห์ที่วัดนี้ แต่การก่อสร้างยังมิทันแล้วเสร็จก็สิ้นรัชกาล พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้สร้างต่อจนเสร็จสมบูรณ์ พระวิหารพระศาสดาจึงเป็นสถาปัตยกรรมตามพระราชนิยมในรัชกาลที่ 5 ภายในพระวิหารพระศาสดาประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญ 2 องค์ คือ

พระศรีศาสดา เป็นพระพุทธรูปสำริดปางมารวิชัย สมัยสุโขทัย หน้าตักกว้าง 4 ศอก 1 คืบ 8 นิ้ว สร้างขึ้นในคราวเดียวกับพระพุทธชินราชและพระพุทธชินสีห์ เดิมประดิษฐานอยู่ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก ต่อมาเจ้าอาวาสวัดบางอ้อยช้าง จังหวัดนนทบุรีให้อัญเชิญจากเมืองพิษณุโลกมาไว้ที่วัดบางอ้อยช้าง เมื่อสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัด บุนนาค) ทราบเรื่อง จึงให้อัญเชิญมาไว้ที่วัดประดู่ฉิมพลี ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้คู่กับพระพุทธชินสีห์ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร แต่ยังมิได้สร้างสถานที่ประดิษฐาน จึงโปรดให้อัญเชิญไปประดิษฐานยังมุขหน้าพระอุโบสถวัดสุทัศนเทพวรารามก่อน ครั้นสร้างพระวิหารพระศาสดาจวนแล้วเสร็จจึงโปรดให้อัญเชิญมาประดิษฐานเมื่อ พ.ศ.2406

พระพุทธไสยา เป็นพระพุทธรูปสำริดลงรักปิดทองปางไสยาสน์ สมัยสุโขทัย ยาวตั้งแต่พระบาทถึงพระจุฬา 6 ศอก 1 คืบ 5 นิ้ว สร้างขึ้นราว พ.ศ.1800-1893 เดิมประดิษฐาน ณ วัดพระพายหลวง จังหวัดสุโขทัย ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังทรงพระผนวชอยู่ ได้เสด็จประพาสเมืองสุโขทัย เมื่อ พ.ศ.2376 ทอดพระเนตรว่า มีพุทธลักษณะงดงาม จึงโปรดให้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ที่มุขหลังของพระอุโบสถ เมื่อ พ.ศ.2390 ครั้นสร้างพระวิหารพระศาสดาแล้วจึงได้อัญเชิญมาประดิษฐานที่พระวิหารพระศาสดาห้องทิศตะวันตก

พระพุทธรูปคู่พระบารมีฯ ณ พระวิหารเก๋ง
พระวิหารเก๋ง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้สร้างขึ้นสำหรับเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปฉลองพระองค์ผู้ทรงครองวัดบวรนิเวศวิหาร เป็นอาคารขนาดเล็กศิลปะผสมไทยจีน ผนังภายในพระวิหารเก๋งมีจิตรกรรมฝาผนังเรื่องสามก๊ก ฝีมือช่างสมัยรัชกาลที่ 5 ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปฉลองพระองค์ผู้ทรงครองวัดบวรนิเวศวิหาร คือ

พระพุทธวชิรญาณ พระพุทธรูปทรงเครื่องอย่างจักรพรรดิราช ปางห้ามสมุทร ประดิษฐานตรงกลางหันพระพักตร์ไปทิศใต้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างเป็นพระพุทธรูปฉลองพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอัญเชิญมาประดิษฐานเมื่อ พ.ศ. 2428

พระพุทธปัญญาอัคคะ พระพุทธรูปฉลองพระองค์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ประดิษฐานทางด้านทิศตะวันออก หล่อและประดิษฐานพร้อมกับพระพุทธวชิรญาณ เมื่อ พ.ศ.2428 เป็นพระพุทธรูปยืนปางห้ามสมุทร ครองจีวรคลุมสองพระอังสา เบื้องล่างบรรจุพระอังคารสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์

พระพุทธมนุสสนาค พระพุทธรูปฉลองพระองค์และบรรจุพระอังคารของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ประดิษฐานทางด้านทิศตะวันตก เป็นพระพุทธรูปยืนครองจีวรคลุมสองพระอังสา พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างและเชิญมาประดิษฐานเมื่อ พ.ศ. 2473

พระพุทธปฏิมาทีฆายุมหมงคล หรือ “หลวงพ่อดำ” สร้างขึ้นในวโรกาสงานฉลองพระชนมายุ 80 พรรษา สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ เมื่อ พ.ศ.2495 เป็นพระพุทธรูปฉลองพระองค์ และบรรจุพระอังคาร ของสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ประดิษฐานที่มุขด้านทิศตะวันออกของพระวิหารเก๋ง

พระพุทธรูปศิลา ณ โพธิฆระ
โพธิฆระ เป็นฐานต้นพระศรีมหาโพธิ ซึ่งมีทับเกษตรล้อมรอบ การสร้างโพธิฆระสำหรับต้นพระศรีมหาโพธินี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริขึ้น โดยทรงได้แบบอย่างมาจากลังกา แต่เดิมในบริเวณโพธิฆระนี้เป็นที่ตั้งคณะลังกา ที่พักของสมณทูตชาวลังกาที่เข้ามาสืบข่าวพระศาสนาตั้งแต่ในรัชกาลที่ 3 ต่อมาโปรดให้รื้อคณะลังกาเพื่อสร้างพระวิหารพระศาสดา ต้นพระศรีมหาโพธินี้เป็นบริโภคเจดีย์ที่เกี่ยวเนื่องกับสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระศรีมหาโพธิต้นนี้ได้พันธุ์มาจากพุทธคยา ประเทศอินเดีย สังเวชนียสถานที่ตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เมล็ดพันธุ์แล้วทรงเพาะเป็นต้นขึ้นพระราชทานมาปลูกที่วัดบวรนิเวศวิหารต้น 1 ต้นพระศรีมหาโพธินี้เป็นพระศรีมหาโพธิรุ่นแรกในประเทศไทยที่ได้พันธุ์มาจากต้นพระศรีมหาโพธิที่พุทธคยา ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงปลูก ต่อมาโพธิฆระได้ทรุดโทรมไปตามกาลเวลาจนที่สุดได้ถูกรื้อลง คงเหลือแต่ฐานต้นพระศรีมหาโพธิ ถึงปี พ.ศ.2522 สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก จึงให้ก่อสร้างโพธิฆระขึ้นใหม่ตามรูปลักษณะเดิมจากภาพถ่าย พ.ศ.2525 หลังจากสร้างโพธิฆระเสร็จประมาณ 1 ปี ต้นพระศรีมหาโพธิ ซึ่งมีอายุราว 100 ปี ได้ตายลงตามอายุขัยของต้นไม้ และเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2525 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาเสด็จพระราชดำเนินมาทรงปลูกหน่อกล้าโพธิซึ่งเกิดใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ ณ โพธิฆระนี้แทนต้นเดิมที่ตายลง

พระพุทธรูปศิลาแลง ไม่ปรากฏหลักฐานว่า สร้างขึ้นในสมัยใด เดิมแตกหักเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยกระจายอยู่ในที่ต่างๆ มีผู้เก็บมาถวายสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก ทีละชิ้น จึงโปรดให้ประกอบกันเข้า ก็ปรากฏเป็นองค์พระพุทธรูปสมบูรณ์และงดงาม จึงโปรดให้สร้างซุ้มที่ประดิษฐานไว้ ณ โพธิฆระแห่งนี้

พระพุทธรูปปางลีลา ณ ศาลาการเปรียญ
ศาลาการเปรียญ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของพระเจดีย์ สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางลีลา สมัยสุโขทัย 3 องค์ ข้างหน้ามีธรรมาสน์สำหรับแสดงธรรม ฐานก่ออิฐถือปูน ตัวธรรมาสน์เป็นไม้สลักปิดทอง แต่เดิมศาลาการเปรียญนี้ใช้เป็นที่แสดงธรรมเทศนา

พระพุทธรูปปางลีลา สมัยสุโขทัย องค์กลางมีขนาดใหญ่กว่ายกพระหัตถ์ซ้าย องค์ขนาบข้างมีขนาดย่อมลงมา องค์ทางขวายกพระหัตถ์ซ้าย องค์ทางซ้ายยกพระหัตถ์ขวา แปลกกว่าที่อื่น ซึ่งสร้างเข้าชุดกันทั้ง 3 องค์

รอยพระพุทธบาทโบราณ ณ ศาลาพระพุทธบาท
รอยพระพุทธบาท หรือ รอยพระพุทธยุคลบาท สมัยสุโขทัย ประดิษฐานภายในศาลาพระพุทธบาท ด้านติดกำแพงวัดทางด้านทิศตะวันตกของพระอุโบสถ รอยพระพุทธบาทนี้สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ ทรงได้มาจากจังหวัดชัยนาท เดิมประดิษฐานไว้ที่วัดบวรสถานสุทธาวาสในพระราชวังบวรสถานมงคล ต่อมาในปี พ.ศ.2452 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ย้ายมาที่วัดบวรนิเวศวิหาร สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส จึงโปรดให้มีการบูรณะและต่อมุขศาลานี้เป็นที่ประดิษฐานภายในเจาะผนังเป็นคูหาประดิษฐานพระพุทธรูปปางลีลา ตรงกลางประดิษฐานพระพุทธรูปนาคปรกศิลา สมัยลพบุรี ไว้สองข้าง ข้างละ 1 องค์ และพระพุทธรูปประจำวันเกิด

รอยพระพุทธบาทนี้สลักอยู่ตรงกลางแผ่นหินชนวนขนาดใหญ่ ยาว 3.60 เมตร กว้าง 2.17 เมตร หนา 20 เซนติเมตร รอบรอยพระพุทธบาท สลักภาพพระอสีติมหาสาวก มีตัวอักษรบอกนามพระมหาเถรกำกับไว้ รอยพระพุทธบาทคู่นี้อยู่ในกรอบสี่เหลี่ยม กลางฝ่าพระบาทแต่ละข้างมีรูปธรรมจักรขนาดใหญ่ ภายในธรรมจักรมีรูปมงคล 108 ที่ด้านข้างแผ่นหินด้านปลายพระพุทธบาท มีคำจารึกภาษามคธ อักษรขอม 7 บรรทัด คำจารึกมีใจความว่า

“ครั้งแผ่นดินพระมหาธรรมราชาที่ 3 ไสยลือไทย พระวิทยาวงศ์มหาเถร ได้นำแผ่นหินมายังเมืองสุโขทัย ครั้นมาในแผ่นดินพระมหาธรรมราชาที่ 4 บรมปาลมหาธรรมราชา พระสิริสุเมธังกรสังฆนายก ผู้เป็นศิษย์ของพระสิริสุเมธังกรสังฆราช ได้สลักรอยพระพุทธบาททั้งคู่ลงบนแผ่นหินนั้น ตามแบบรอยพรุพุทธบาทบนยอดเขาสมันตกูฏ ในลังกาทวีป”

พระพุทธรูปโบราณที่ซุ้มปรางค์ (ด้านซ้าย) ข้างพระอุโบสถ
ซุ้มปรางค์พระพุทธรูป ตั้งอยู่ด้านข้างพระอุโบสถนอกกำแพงแก้วด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตก เดิมเป็นหอระฆังน้อย ดัดแปลงเป็นซุ้มพระพุทธรูปในรัชกาลที่ 6 พระไวโรจนะ พระพุทธรูปศิลา สมัยศรีวิชัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงได้รับถวายมาจากพระเจดีย์บุโรพุทโธ ในเกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อคราวเสด็จประพาสเกาะชวา ในปี พ.ศ. 2439 ประดิษฐานอยู่ในซุ้มปรางค์ด้านทิศตะวันตก (ด้านซ้าย)

พระพุทธรูปโบราณที่ซุ้มปรางค์ (ด้านขวา) ข้างพระอุโบสถ
พระพุทธรูปศิลาประทับยืน สมัยทวารวดี สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส อัญเชิญมาจากวัดตองปุ เมืองลพบุรี ประดิษฐานอยู่ในซุ้มปรางค์ ด้านทิศตะวันออก (ด้านขวา)
พระไพรีพินาถ ณ พระเจดีย์
พระศรีศาสดา ณ วิหารพระศาสดา
พระพุทธรูปคู่บารมีฯ วิหารเก๋ง
พระพุทธรูปศิลา ณ โพธิฆระ
พระพุทธรูปปางลีลา  ณ ศาลาการเปรียญ
รอยพระพุทธบาทโบราณ  ณ ศาลาพระพุทธบาท
พระพุทธรูปโบราณที่ซุ้มปรางค์ (ด้านซ้าย)  ข้างพระอุโบสถ
กำลังโหลดความคิดเห็น