xs
xsm
sm
md
lg

ไหว้พระ“วัดไร่ขิง” เต็มอิ่มที่“ตลาดริมน้ำวัดดอนหวาย”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย : หนุ่มลูกทุ่ง
ประชาชนนิยมมากราบไหว้พระที่วัดไร่ขิง
การมีวันหยุดนอกเหนือจากวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ก็ทำให้ฉันบันเทิงใจไม่น้อย เพราะเป็นช่วงเวลาที่ฉันจะได้หาสถานที่เที่ยวพักผ่อนหย่อนใจแบบสบายๆ ไม่ต้องไปเบียดแย่งกับผู้คนมากนัก และสถานที่ที่ฉันจะไปก็ไม่ไกลเลย แค่นครปฐมเมืองส้มโอหวานเพื่อนบ้านของเรานี่เอง

วันนี้ฉันออกเดินทางแบบสบายๆในช่วงสายๆ กะว่าจะไปทำบุญและหาของอร่อยลงท้องให้หนำใจ ฉันจึงมุ่งหน้าไปยัง “วัดไร่ขิง” หรือชื่ออย่างเป็นทางการว่า “วัดมงคลจินดาราม” ตั้งอยู่ที่อ.สามพราน เพื่อเอาฤกษ์เอาชัยเอาบุญกันแต่เริ่มแรกของวัน
หลวงพ่อวัดไร่ขิงภายในอุโบสถ
วัดแห่งนี้สร้างเมื่อ พ.ศ. 2334 โดย "สมเด็จพระพุทธฒาจารย์(พุก )" ในขณะนั้นท่านดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดศาลาปูนวรวิหาร ท่านได้กลับมาสร้างวัดไร่ขิงและวัดดอนหวาย ซึ่งเป็นบ้านโยมบิดาและมารดาของท่าน และด้วยบริเวณนี้ในอดีตเคยเป็นที่อยู่ของชาวจีน และนิยมปลูกขิงกันอย่างแพร่หลาย จนเป็นที่มาของชื่อหมู่บ้านหรือชุมชนในแถบนี้ว่า “ไร่ขิง” ต่อมาเมื่อมีชุมชนหนาแน่นมากยิ่งขึ้นจึงได้มีการสร้างวัดเพื่อเป็นจุดศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้าน และได้ชื่อตามชุมชนว่า “วัดไร่ขิง”
จิตกรรมฝาผนังในอุโบสถวัดไร่ขิงตอนหนึ่งเป็นเรื่องพระปฐมเจดีย์
 
ต่อมาในราวปี พ.ศ. 2446 สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ เสด็จตรวจเยี่ยมวัดในเขตอำเภอสามพราน สมเด็จฯ ได้เสด็จมาที่วัดไร่ขิง และทรงตั้งชื่อวัดใหม่ว่า “วัดมงคลจินดาราม”
 
มณฑปพระพุทธบาท วัดไร่ขิง
เมื่อสร้างเสร็จแล้ว ได้อัญเชิญพระพุทธรูปจากวัดศาลาปูนมาประดิษฐานไว้ที่วัดไร่ขิง ซึ่งในปัจจุบันชาวบ้านเรียกกันว่า “หลวงพ่อวัดไร่ขิง” เป็นพระพุทธรูปเนื้อทองสัมฤทธิ์ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 4 ศอก 2 นิ้วเศษ สูง 4 ศอก 16 นิ้วเศษ พุทธลักษณะงดงามด้วยพุทธศิลป์ 3 สมัย คือ พระรูปผึ่งผายแบบเชียงแสน พระหัตถ์เรียวงามแบบสุโขทัย และพระพักตร์งดงามในแบบรัตนโกสินทร์ ประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชี 5 ชั้น เป็นพระประธานในพระอุโบสถ

แต่ก็มีอีกตำนานหนึ่งเล่าว่า ในกาลครั้งหนึ่ง มีพี่น้องชาวเมืองเหนือ 5 คน ได้บวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนาจนสำเร็จเป็นพระอริยบุคคลชั้นโสดาบัน ได้ตั้งสัตย์อธิฐานว่าจะขอบำเพ็ญบารมีช่วยให้สัตว์โลกได้พ้นทุกข์ จนกว่าจะถึงพระนิพาน
สวนสวยริมน้ำวัดไร่ขิง
ครั้งพระอริยบุคคลทั้ง 5 องค์ ได้ดับขันธ์ไปแล้ว ก็เข้าไปสถิตในพระพุทธรูปทั้ง 5 องค์มีความปรารถนาที่จะช่วยคนทางเมืองใต้ที่อยู่ติดแม่น้ำให้ได้พ้นทุกข์ จึงได้พากันลอยน้ำลงมาตามลำน้ำทั้ง 5 สาย เมื่อชาวบ้านตามเมืองที่อยู่ริมแม่น้ำเห็นเข้า จึงได้อัญเชิญและประดิษฐานไว้ตามวัดต่างๆ ได้แก่ วัดโสธรวรวิหาร วัดบางพลี วัดบ้านแหลม วัดเขาตะเครา และวัดไร่ขิงแห่งนี้
อุทยานพระเบญจภาคี วัดไร่ขิง
เมื่อไหว้หลวงพ่อวัดไร่ขิงและขอพรเป็นอันสบายใจแล้ว ฉันก็ออกจากวัดไร่ขิงเดินทางต่อไปยัง “วัดดอนหวาย” ที่อยู่ไม่ไกลกัน แต่การเดินทางไปยังวัดดอนหวายนั้นฉันไม่ได้นั่งรถไปหรอกนะ เพราะบรรยากาศมันพาให้ฉันก้าวเท้าลงเรือไป
อุโบสถแบบไทยของวัดดอนหวาย
ลมเย็นๆโชยแบบอ่อยๆสบายๆตลอดทางที่เรือล่องอย่างช้าๆผ่านข้างทางที่มีทั้งบ้านเรือน และธรรมชาติแมกไม้ที่ดูเขียวร่มเย็น เวลาผ่านไปประมาณครึ่งชั่วโมง ฉันก็มาถึงยัง “วัดดอนหวาย” หรือ “วัดคงคารามดอนหวาย” เดิมชื่อ “วัดโคกหวาย” เพราะบริเวณที่สร้างวัดเป็นที่เนินสูง มีต้นหวายขึ้นเป็นจำนวนมาก ต่อมาเห็นว่าชื่อไม่เป็นมงคลนาม จึงได้เปลี่ยนชื่อใหม่ว่า “วัดคงคารามดอนหวาย” เหตุที่เอาคำว่า “คงคา” นำหน้านั้น เพราะเห็นว่าวัดตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำท่าจีนนั่นเอง
พระพุทธรูปประดิษฐานภายในศาลาติดกับตลาดริมน้ำ
ตามประวัติวัดดอนหวายแห่งนี้ สร้างขึ้นช่วงเวลาไล่เลี่ยกันกับวัดไร่ขิง ส่วนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ประชาชนมักนิยมมาไหว้ขอพรกันก็คือ “หลวงพ่อวิไลเลิศ” ประดิษฐานเป็นองค์ประธานภายในอุโบสถ และ “หลวงพ่อวิสาหาร” เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชีค่อนข้างสูง ศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เป็นพระประธานภายในวิหาร ด้านซ้ายและขวาประดิษฐานพระโมคคัลลานะและพระสารีบุตรพระอัครสาวกด้วย

ด้านนอกวิหาร ทางทิศตะวันออกมีเจดีย์รูปเหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง ส่วนทางด้านทิศใต้มีเจดีย์ทรงลังกาฐานสูงฐานมียักษ์แบกดูสวยงาม นอกจากนี้ยังมีพระพุทธรูปอีกหลายองค์ และพระบรมสารีริกธาตุประดิษฐานไว้ที่ศาลาด้านข้างตลาดริมน้ำให้ประชาชนได้กราบไหว้ขอพระกันอย่างสะดวกสบาย
บรรยากาศตลาดริมน้ำวัดดอนหวาย
เมื่อไหว้พระขอพรเป็นที่สบายจิตสบายใจแล้ว ก็ได้เวลาที่ฉันจะออกเดินเท้าตะลุยหาของกินที่ “ตลาดริมน้ำวัดดอนหวาย” โดยตลาดแห่งนี้มีความยาวของตลาดประมาณ 300 เมตร ตัวตลาดมีลักษณะเป็นอาคารไม้เก่า ๆ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 ที่ดูคลาสสิกไม่น้อยเลยเชียวหละ
ร้านค้าที่ตลาดริมน้ำวัดดอนหวายเปิดขายกันทุกวัน
โดยในอดีต สมัยที่ยังมีการคมนาคมทางน้ำเป็นหลัก ตลาดดอนหวายที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำท่าจีนจึงเป็นศูนย์รวมสินค้าเครื่องอุปโภคบริโภคสำหรับชาวสวนและชาวนา ต่อมาเมื่อการคมนาคมทางบกสะดวกขึ้นตลาดน้ำดอนหวายจึงร่วงโรยไปตามกาลเวลา จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2542 ตลาดดอนหวายแห่งนี้จึงกลับมาคึกคักอีกครั้งหนึ่ง จากสภาพเศรษฐกิจในขณะนั้นที่ข้าวของแพง แต่ที่ตลาดดอนหวายยังคงขายสินค้าในราคาประหยัดแบบชาวบ้านกันอยู่
มีร้านอาหารมากมายให้ช้อปกันอย่างจุใจในตลาดดอนหวาย
จากการบอกเล่าปากต่อปากมาเรื่อยๆ ทำให้ตลาดดอนหวายเป็นที่รู้จักมากขึ้นจนปัจจุบัน ส่วนอาหารการกินที่จำหน่ายก็มีมากมายหลายอย่าง อาทิ ผักสด ผลไม้ นานาชนิด อาหารแห้ง อาหารสำเร็จรูป ปลาสลิด ปลาแห้ง ปลายาง ห่อหมก หนังปลากรายทอด ปลาต้มเค็ม น้ำพริกต่างๆ เป็ดพะโล้ชื่อดังหลายเจ้า ขาหมูเยอรมันทอด ขนมไทยโบราณ ขนมหวานหลากชนิด หรือจะเป็นขนมตาลป้าไข่ ขนมขึ้นชื่อของตลาดดอนหวายก็มีต้นตำหรับอยู่ที่นี่
จากตลาดริมน้ำวัดดอนหวายมีเรือท่องเที่ยวบริการทุกวัน
สำหรับใครที่อยากจะกินมื้อใหญ่กันเดี๋ยวนั้น ก็มีแพอาหารอยู่เรียงติดกันหลายแพ มีอาหารหลายอย่าง ชนิดที่เลือกกินกันไม่ถูกเชียวหละ และที่สำคัญตลาดริมน้ำแห่งนี้เปิดแบบจัดเต็มทุกวัน ใครว่างวันไหนก็มาวันนั้นรับรองไม่เสียเที่ยว
ร่มรื่นริมน้ำวัดดอนหวาย

รายงานสดจากพื้นที่ข่าว

เดินทางไปที่นี่
Latitude: 13.77049249 Longitude: 100.2904281



* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

“วัดไร่ขิง” และ “วัดและตลาดริมน้ำดอนหวาย” ตั้งอยู่ที่ อ.สามพราน จ.นครปฐม การเดินทางจากถนนปิ่นเกล้า-นครชัยศรี เข้าทางพุทธมณฑล สาย 5 ตรงเข้าไปประมาณประมาณ 1 กิโลเมตร เลี้ยวขวาตรงไปเรื่อยจนเจอสามแยก หากเลี้ยวขวาจะไปวัดและตลาดริมน้ำดอนหวาย เลี้ยวซ้ายจะไปยังวัดไร่ขิง

หากใช้เส้นทางสายถนนเพชรเกษม ผ่านสวนสามพราน ก็จะพบป้ายของวัดไร่ขิงอยู่ทางขวามือ นอกจากนี้ยังสามารถเดินทางโดยรถโดยสารประจำทาง และรถตู้โดยสารได้อีกด้วย

ส่วนการเดินทางจากวัดไร่ขิงไปวัดดอนหวาย สามารถเดินทางทางเรือได้ทุกวัน โดยในวันธรรมดาจะออกเป็นรอบๆ ส่วนวันหยุดเสาร์-อาทิตย์จะมีเรือบริการตลอดทั้งวัน
กำลังโหลดความคิดเห็น