ปลายทางสุดท้ายของคนตาย.. มิใช่แค่เพียงการฝังหรือเผาศพเท่านั้น
เป็นเวลาหลายศตวรรษแล้ว ที่วัฒนธรรมต่างๆทั่วโลกได้ใช้ทางเลือกอื่น นอกเหนือจากการฝังหรือเผาศพผู้เสียชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการทำมัมมี่เพื่อความเป็นนิรันดร์ จนถึงการคืนร่างผู้ตายกลับสู่ธรรมชาติให้เป็นอาหารของสรรพสัตว์
นิตยสาร New Scientist ได้รวบรวมวิธีจัดการเกี่ยวกับชีวิตหลังความตาย ทั้งในอดีตและปัจจุบัน ไว้ดังนี้
1. ฝังบนฟากฟ้า
ตามประเพณีชาวพุทธในทิเบต จะไม่ใช้วิธีฝังร่างผู้เสียชีวิต แต่จะวางไว้บริเวณเนินเขา ให้ฝูงนกแร้งเข้ามารุมทึ้งจิกกิน เพื่อศพจะได้คืนสภาพสู่ผืนดินโดยเร็ว โดยมีพระสงฆ์เป็นผู้ประกอบพิธี
ชาวทิเบตเชื่อว่า ร่างที่ไร้วิญญาณ ไม่มีประโยชน์ หากยังคงเหลือเนื้อหนังไว้ ถือเป็นลางร้าย ดังนั้น หลังจากที่ฝูงแร้งกัดกินซากศพจนหมดแล้ว จึงทุบกระดูกที่เหลือเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย เพื่อให้เหล่านกกากินต่อ เป็นอันเสร็จพิธีการฝังศพบนฟากฟ้า
ผู้นับถือศาสนาโซโรอัสเตอร์ในเปอร์เซียโบราณ (ปัจจุบันคือประเทศอิหร่าน) ก็มีประเพณีฝังศพคล้ายคลึงกันนี้ ซึ่งยังคงถือปฏิบัติอยู่ในบางส่วนของอินเดียจนถึงปัจจุบัน โดยจะวางร่างคนตายบน “หอคอยอันเงียบสงบ” เพื่อให้แสงแดดชำระล้างศพและให้เป็นอาหารนกกา จากนั้นอีกหลายเดือน จึงทำลายซากศพที่เหลือ ลงในหลุมที่อยู่ใต้หอคอย
2. ทำมัมมี่เพื่อชีวิตนิรันดร์
บางวัฒนธรรมเร่งกำจัดซากศพให้สูญสลายไปโดยเร็ว แต่ก็ยังมีบางวัฒนธรรมที่พยายามรักษาร่างคนตายไว้ เพื่อให้มีชีวิตนิรันดร์ ด้วยการทำมัมมี่ เช่น มัมมี่ของอียิปต์ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันมากที่สุด การทำมัมมี่ได้แพร่หลายไปทั่วโลก จนถึงตะวันออกไกล ผู้ดองศพจะเตรียม ร่างคนตายให้เป็นอมตะด้วยวิธีลับสุดยอด ภายใต้สภาพอากาศที่แห้งในหลุมฝังศพ
ในภาพคือ “มัมมี่ซินซุย” หรือที่เรียกว่า “เลดี้ได” มีอายุราว 2,100 ปี ซึ่งยังคงสภาพเดิมได้ดี จนแพทย์สามารถชันสูตรศพได้ เธอเป็นภรรยาของขุนนางสมัยราชวงค์ฮั่น และอาจเสียชีวิตด้วยภาวะหัวใจวาย หลังจากแทะกินเมล็ดแตงโม
3. ฝังในป่าท่ามกลางธรรมชาติ
เนื่องจากบางประเทศขาดแคลนสุสาน การฝังตามป่าจึงกลายเป็นเรื่องปกติ สุสานเขียวขจีนี้จึงเป็นสถานที่พักผ่อนแห่งสุดท้ายท่ามกลางธรรมชาติ คุณอาจนำโกศ หีบศพ หรือศพห่อด้วยผ้า ที่ทำจากวัสดุย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ ไปฝังในทุ่งหญ้าและป่าเขา และใช้หินวางเป็นป้ายหลุมศพ
ในเยอรมนี ป่าบางแห่งมีสถานที่พักผ่อนที่เรียกว่า “Ruhe Forsten” ที่ซึ่งคุณสามารถฝังโกศที่ย่อยสลายได้
4. ฝังใต้ท้องทะเลลึก
แทนที่จะวางโกศบนหิ้ง คุณอาจทำเป็นปะการังเทียม ด้วยการใส่อัฐิลงในภาชนะคอนกรีตขนาดใหญ่ และหย่อนลงใต้ท้องทะเลบริเวณที่ไม่มีปะการังตามธรรมชาติ เพื่อใช้เป็นที่กำบังให้สัตว์น้ำหลายชนิด
ในสหรัฐอเมริกามีการฝังศพด้วยวิธีนี้อย่างแพร่หลายตามชายฝั่งตะวันออกของประเทศ
5. ทำเป็นของเหลว
สำหรับผู้ห่วงใยสิ่งแวดล้อม รู้ถึงผลเสียของการเผาศพที่ปล่อยเถ้าถ่านแพร่กระจายในชั้นบรรยากาศ อาจสนใจที่จะเปลี่ยนศพให้กลายเป็นของเหลวแทน ด้วยการนำร่างผู้ตายบรรจุในแคปซูลที่รักษาความดันบรรยากาศภายใน เทสารที่มีส่วนผสมของโปแตสเซียมไฮดรอกไซด์ลงไป ปิดฝาให้สนิทแล้ววางไว้ในอุณหภูมิความ ร้อน 3 ชม.
เมื่อเปิดออกมา สิ่งที่เหลือคือ สารละลายที่ปราศจากเชื้อ พร้อมกระดูกนิ่มๆที่หักเป็นชิ้นเล็กๆได้ ซึ่งอาจเก็บไว้ในโกศหรือนำไปทิ้ง
6. แช่แข็งเพื่อรอคืนชีพ
ใครที่ฝันอยากฟื้นคืนชีพได้อีกครั้งหลังลาจากโลกนี้ไป ต้องลองใช้บริการของศูนย์แช่แข็งศพ ที่เปิดให้บริการอยู่ไม่กี่แห่ง โดยเมื่อเร็วๆ นี้ โรเบิร์ต เอตติงเจอร์ ผู้ริเริ่มการแช่แข็งศพ ได้เสียชีวิตลง ศพของเขา ถูกนำไปแช่แข็ง เช่นเดียวกับภรรยาคนแรกและคนที่สองของเขา ที่สถาบันแช่แข็งศพ ในเมืองคลินตัน รัฐมิชิแกน สหรัฐอเมริกา
วิธีการแช่แข็ง คือ การนำร่างคนตาย แยกแต่ละศพบรรจุใน แคปซูลที่ทำด้วยอลูมิเนียม และนำไปหย่อนในถังสเตนเลสสูญญากาศอย่างดี ซึ่งรองรับได้ 4 ศพ โดยภายในบรรจุไนโตรเจนเหลวที่ไม่มีสี
เมื่อมองจากด้านบนดังในภาพ จะเห็นส่วนบนของแคปซูลอลูมิเนียมแช่อยุ่ในถังสเตนเลสที่บรรจุไนโตรเจนเหลว มีโซ่ยึดกับตัวแคปซูลเพื่อใช้หย่อนลงในถัง
การแช่แข็งศพด้วยวิธีนี้ เพื่อว่าสักวันหนึ่งในอนาคต ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์จะช่วยชุบชีวิตร่างที่ไร้วิญญาณเหล่านั้นให้ฟื้นคืนมาได้ ด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง
7. ถนอมรักษาด้วยพลาสติก
บรรดาซากศพที่ถูกถนอมรักษาด้วยพลาสติกโพลีเมอร์ ถูกนำมาจัดแสดงอย่างน่าตื่นตาตื่นใจเพื่อให้ความรู้และสร้างแรงบันดาลใจ เช่นที่ Gunther von Hagens’ Body Worlds
ในปี 1977 กุนเธอร์ ฟอน ฮาเกนส์ ได้พัฒนาเทคนิคที่เรียกว่า พลาสติเนชั่น (Plastination) ด้วยการแทนที่น้ำและไขมันในซากศพด้วยพลาสติก ทำให้จับต้องได้ ไม่มีกลิ่นเหม็น และไม่เน่าเปื่อย อีกทั้งยังคงคุณลักษณะเดิมได้มากที่สุด เพื่อเตรียมซากศพสำหรับใช้สอนและวิจัยทางกายวิภาคศาสตร์
8. ฝังในอวกาศ
ปัจจุบัน ผู้เสียชีวิตมั่นใจว่า ได้ไปถึงสวรรค์แน่ หากมีเงินพอที่จะจ่ายค่าตั๋วเดินทาง นั่นเป็นเพราะ “จีน ร็อดเดนเบอรี่” ผู้สร้างภาพยนตร์เรื่อง Star Trek คือคนแรกที่อัฐิของเขาถูกส่งขึ้นไปโคจรในอวกาศเมื่อปี 1997 อย่างไรก็ตาม ยานอวกาศที่บรรจุอัฐิโคจรรอบโลกได้ 5 ปี ก็กลับคืนสู่ชั้นบรรยากาศโลก
“เซเลสติส” บริษัทที่รับจัดการ “การฝังในอวกาศ” ตั้งอยู่ที่เมืองฮุสตัน ในรัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา ยังคงเดินหน้าจัดส่งอัฐิคนตายไปฝังในอวกาศ และเชื่อว่าในอนาคต อาจได้รับความนิยมมากขึ้น และมีโครงการที่จะส่งอัฐิไปยังดวงจันทร์และห้วงอวกาศที่ไกลกว่านั้น
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 135 มีนาคม 2555 โดย บุญสิตา)