xs
xsm
sm
md
lg

ความรู้คู่สุขภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


• เคี้ยวนานช่วยให้สมองปราดเปรื่อง

การเคี้ยวอาหารเกี่ยวพันกับสมรรถนะของสมอง เพราะจะกระตุ้นให้ต่อมน้ำลาย (SALIVARY GLAND) และต่อมใต้หู (PAROTID GLAND) หลั่งฮอร์โมนออกมา ขณะเดียวกันการเคี้ยวก็จะช่วยกระตุ้นสมองใหญ่ด้วย การกระตุ้นนี้จะทำให้สมองใหญ่ปราดเปรื่องยิ่งขึ้น ช่วยเพิ่มพลังแห่งการวินิจฉัย การขบคิดและสมาธิ

ผลที่ได้จากการทดลองเคี้ยวอาหารแต่ละคำ บอกไว้ว่า เคี้ยวอาหาร 30 ที จะช่วยให้เหงือกแข็งแรง และช่วยรักษาอาการขี้หงุดหงิดจิตใจไม่สงบ เคี้ยวอาหาร 50 ที จะช่วยลดการกลุ้มใจ นอกจากนี้ ยังลดความอ้วนได้ เนื่องจากไม่มีส่วนผสมของน้ำที่เกินจำเป็นถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย

ส่วนการเคี้ยวอาหาร 100 ที ช่วยให้สามารถวินิจฉัยและจัดการปัญหาต่างๆ ได้อย่างสงบเยือกเย็น กินน้อยแต่ร่างกายดูดซึมสารอาหารได้มาก นอกจากนี้ยังช่วยลดการอยากอาหารประเภทเนื้อ หรืออาหารที่ระคายเคืองต่อร่างกายได้ด้วย

แต่ถ้าสามารถเคี้ยว 200 ที ต่ออาหาร 1 คำได้ทุกมื้อแล้ว จะหายจากโรคกระเพาะเรื้อรัง และโรคกระเพาะอาหารเป็นแผลอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันก็ช่วยให้คาดการณ์และวินิจฉัยปัญหาต่างๆ ได้แม่นยำมากขึ้นด้วย

• รูป-กลิ่นของกิน ช่วยกระตุ้น
ฮอร์โมนอยากอาหาร


นักวิจัยในเยอรมนีได้ทำการศึกษาพบว่า แค่เห็นรูปอาหารที่ดูน่ารับประทาน ก็ทำให้คนเห็นรู้สึกหิวขึ้นมาได้ทันที ทั้งนี้จากการทดลองกับอาสาสมัครหลายรายโดยให้ดูรูปอาหารอันน่าลิ้มลอง และระหว่างนั้นนักวิจัยได้ตรวจวัดระดับฮอร์โมนควบคุมความอยากอาหาร หรือที่เรียกว่า ‘เกรลิน’ ผลที่ได้ปรากฏว่า ระดับฮอร์โมนชนิดดังกล่าวเพิ่มขึ้นทันที

ผลการศึกษาเรื่องนี้ ทำให้นักวิจัยทราบเป็นครั้งแรกว่า ฮอร์โมนเกรลินนั้น สามารถเพิ่มขึ้นจากปัจจัยภายนอกร่างกาย ด้วยพลังของรูปอาหารที่น่ารับประทาน เช่น รูปเค้กที่ตัดแบ่งเป็นชิ้นสามเหลี่ยม อวดความอวบแน่นของแต่ละชั้นเค้ก สามารถทำให้ผู้ที่ได้เห็นรูปนี้ ไปหาเค้กมารับประทานได้เลย ทั้งๆ ที่อิ่มท้องอยู่แล้ว

นักวิจัยจึงเตือนให้ผู้ที่เป็นโรคอ้วน หรือกำลังต้องการควบคุมน้ำหนัก หลีกเลี่ยงการดูรูปอาหาร และอย่าเดินเฉียดใกล้ห้องครัว หรือร้านอาหาร ร้านขนม เพราะกลิ่นหอมของอาหารก็ยั่วน้ำลายและกระตุ้นฮอร์โมนเกรลินได้เช่นกัน

• ข้าวโพดสีม่วง
ช่วยต้านมะเร็ง-ชะลอแก่


ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดตรัง ประสบความสำเร็จ ในการพัฒนาและปลูกข้าวโพดเหนียวพันธุ์แฟนซีสีม่วง 111 และพันธุ์สีขาวม่วง 212 ซึ่งมีรสชาติดี มีคุณค่าทางอาหารสูง เหมาะสำหรับคนรักสุขภาพ

ทั้งนี้ จากการพัฒนาสายพันธุ์มาจากข้าวโพดสีม่วงผสมกับข้าวโพดเหนียว ทำให้ได้ข้าวโพดเหนียวสีม่วงที่มีฝักใหญ่ รสชาตินุ่มลิ้น หวานและเหนียว โดยสีม่วงเข้มในเมล็ดนั้น เป็นสารแอนโทไซยานิน ซึ่งมีคุณสมบัติในการต่อต้านอนุมูลอิสระ ช่วยลดโอกาสในการเกิดโรคมะเร็งชนิดเนื้องอก เสริมให้ร่างกายต่อต้านเชื้อโรคและสมานแผล เสริมการทำงานของเม็ดเลือดแดง ชะลอการเกิดไขมันอุดตันในหลอดเลือด ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลและชะลอความแก่

• ออกกำลังกายเป็นยาบำรุง
สุขภาพจิตคนชรา


นักวิจัยสวีเดน ของมหาวิทยาลัยโกเตนเบิร์ก พบว่า การออกกำลังกายเป็นประจำ จะช่วยให้ผู้สูงวัยไม่ค่อยรู้สึกซึมเศร้า แม้แต่ผู้ที่ยังเดินได้คล่องแคล่ว ก็มีอาการเซื่องซึมน้อยกว่าคนอื่น

ทั้งนี้ จากการศึกษากลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งมีอายุเฉลี่ย 64 ปี จากชาติยุโรป 11 ชาติ 17,500 คน ผู้ช่วยศาสตราจารย์แมกนัส ลินด์วอลล์ หัวหน้านักวิจัยบอกว่า การศึกษานี้เป็นการศึกษาผลการออกกำลังกายที่มีต่อความซึมเศร้า โดยผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่า การออกกำลังกายนับเป็นหนทางป้องกันรักษาสุขภาพจิตของผู้สูงอายุที่ทรงพลังมาก

• อาหารเช้าเพิ่มพลังสมอง

ระหว่างที่นอนหลับร่างกายเรายังคงใช้พลังงานตามปกติ พลังงานเหล่านั้นมาจากกลูโคส ที่ร่างกายเก็บสะสมไว้ กว่าจะถึงเช้ากลูโคสมากกว่าครึ่งจะถูกใช้ไป ร่างกายจึงต้องการเติมพลังงาน ซึ่งอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตจะเป็นตัวเริ่มขับเคลื่อนพลังงานให้กับร่างกายได้ดีที่สุด

สมองของคนเราก็ใช้กลูโคสเป็นพลังงานด้วยเช่นกัน แต่สมองไม่สามารถเก็บสะสมกลูโคสส่วนที่เหลือได้เหมือนกับการที่ร่างกายสะสมพลังงาน ฉะนั้นอาหารเช้าจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะช่วยให้สมองเราทำงานได้เฉียบไว หากงดอาหารเช้าอาจไม่รู้สึกอะไร เพราะมีพลังงานสำรองจากการพักผ่อน แต่พอใช้หมดไปร่างกายจะเข้าสู่ภาวะเครียด และแม้ว่าจะกินชดเชยในมื้อเที่ยง ก็สายเกินไป เพราะเวลาที่ร่างกายต้องการพลังงานส่วนนั้นได้ผ่านไปแล้ว

• กินกล้วยวันละ 3 ลูก
ช่วยลดเส้นเลือดสมองแตก


งานวิจัยซึ่งตีพิมพ์ใน Journal of the American College of Cardiology พบว่า การได้รับโปแตสเซียมทุกวัน วันละ 1,600 มิลลิกรัม จะช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองได้กว่า 1 ใน 5

นักวิจัยของมหาวิทยาลัยวอริก ในอังกฤษ และมหาวิทยาลัยเนเปิลส์ ในอิตาลี บอกว่า คนส่วนใหญ่ได้รับโปแตสเซียมในระดับต่ำกว่าที่ควร ดังนั้น ถ้าผู้คนในโลกหันมากินอาหารที่มีโปแตสเซียมสูง เช่น ผักโขม ถั่ว นม ปลา และกล้วย และลดการกินเค็ม จำนวนผู้เสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดสมองจะลดลงปีละกว่า 1 ล้านคน

กล้วยหนึ่งผลมีโปแตสเซียมประมาณ 500 มิลลิกรัม ซึ่งช่วยลดความดันโลหิต และควบคุมของเหลวในร่างกายให้มีความสมดุล ถ้าคนเราขาดโปแตสเซียม หัวใจจะเต้นผิดจังหวะ เกิดอาการระคายเคือง คลื่นไส้ และท้องร่วง

โรคนี้เป็นสาเหตุการตายอันดับสามในอังกฤษ ทางการจึงแนะนำให้ผู้ใหญ่ได้รับโปแตสเซียมวันละ 3,500 มิลลิกรัม

สมาคมโรคหลอดเลือดสมอง บอกว่า ความดันโลหิตสูงเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่สุดของโรคนี้ ซึ่งโปแตสเซียมจะช่วยลดความดันเลือดได้

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 134 กุมภาพันธ์ 2555 โดย ธาราทิพย์)





กำลังโหลดความคิดเห็น