xs
xsm
sm
md
lg

ความรู้คู่สุขภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


• บร็อคโคลี่-กะหล่ำสด
ลดเสี่ยงมะเร็งกระเพาะอาหาร


ดร.จางหยูเช็ง นักวิทยาศาสตร์ จากสถาบันรอสเวลพาร์คแคนเซอร์ สหรัฐอเมริกา เปิดเผยว่า การกินบร็อคโคลี่หรือกะหล่ำปลีสดอย่างน้อยเดือนละ 3 ครั้ง จะลดความเสี่ยงมะเร็งกระเพาะอาหารลงถึง 40%

โดยเขาได้สอบถามผู้ป่วยมะเร็ง กระเพาะปัสสาวะ 275 คน และผู้ที่มีสุขภาพสมบูรณ์ 825 คน ถึงพฤติกรรมการกินผักตระกูลครูซิเฟอรัส ซึ่งเป็นผักที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูงและมีสารไอโซธิโอไซยาเนตส์ หรือสารลดการก่อมะเร็งมาก อย่างเช่นบร็อคโคลี่และกะหล่ำปลีสดๆ พบว่า ผู้ที่ไม่สูบบุหรี่และกินผักตระกูลนี้อย่างน้อยเดือนละ 3 ครั้ง มีโอกาสเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารน้อยกว่าผู้ที่สูบบุหรี่ และกินบร็อคโคลี่และกะหล่ำปลีเดือนหนึ่งไม่ถึง 3 ครั้ง ถึง 73%

สำหรับบร็อคโคลี่และกะหล่ำปลีที่นำไปทำจนสุกนั้น ดร.จาง กล่าวว่า ไม่ได้ผลในการลดความเสี่ยงการเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารเท่ากับกินสดๆ เพราะการผ่านความร้อน ทำให้สารไอโซธิโอไซยาเนตส์ลดจำนวนลงถึง 60-90%

นอกจากนี้ คณะของดร.จาง ยังทำการทดลองกับหนู โดยทำพันธุวิศวกรรมหนูให้พัฒนาเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร จากนั้นจึงให้กินบร็อคโคลี่สดๆ พบว่า ยิ่งหนูกินบร็อคโคลี่ สดมาก โอกาสพัฒนาเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารก็ยิ่งน้อยลง

• ออกกำลังกาย 15 นาทีต่อวัน เพิ่มอายุได้ 3 ปี

รายงานที่เผยแพร่ในวารสารการแพทย์ แลนเซ็ต ได้แสดงให้เห็นว่า การออกกำลังกายเพียง 15 นาทีต่อวัน สามารถเพิ่มอายุโดยเฉลี่ยได้ถึง 3 ปี และลดความเสี่ยงการเสียชีวิตก่อนวัย 14% รวมทั้งลดความเสี่ยงการเสียชีวิตจากทุกสาเหตุ 4%

นอกจากนี้ รายงานดังกล่าวยังระบุด้วยว่า การออกกำลังกายยังช่วยป้องกันโรคมะเร็ง แม้ว่ากิจกรรมนี้จะมีประโยชน์สูงสุดหากออกกำลังกายวันละ 100 นาทีก็ตาม การศึกษาดังกล่าวครอบคลุมผู้ใหญ่กว่า 400,000 คนที่เข้าร่วมโปรแกรมการตรวจสุขภาพในไต้หวัน ซึ่งมีการติดตามผลระหว่างปี 1996-2008

ผู้เชี่ยวชาญพบว่า การออกกำลังกายเล็กน้อยต่อวัน จะสามารถลดความเสี่ยงการเสียชีวิตจากทุกสาเหตุได้ถึง 1 ใน 6

• ความเครียดบั่นทอนระบบภูมิคุ้มกัน

จากการวิจัยล่าสุดของนักวิจัยในสหรัฐอเมริกา โดยศึกษาในผู้ติดเชื้อเอชไอวี พบว่า ผู้ติดเชื้อที่มีความเครียดมากๆ จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการพัฒนา ของโรคเอดส์ง่ายขึ้น นอกจากนี้ยังพบอีกว่า ผู้ป่วยเป็นมะเร็งเต้านมที่มีความเครียด จะมีโอกาสหายจากโรคน้อยกว่าคนที่มีสุขภาพจิตดี

สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ เนื่องจากเมื่อมีความเครียดจะเกิดการเปลี่ยนแปลงการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน โดยร่างกายจะปล่อยฮอร์โมนชนิดหนึ่งมีชื่อว่า ACTH ออกมา ฮอร์โมนนี้จะไปกระตุ้นต่อมหมวกไตให้ขับฮอร์โมนคอร์ติโซล ซึ่งจะไปเกาะติดเซลล์ที่เป็นตัวต่อสู้เชื้อโรคในระบบภูมิคุ้มกัน เมื่อเซลล์ดังกล่าวมีฮอร์โมนคอร์ติโซลเกาะติดมากๆ จะทำหน้าที่ไม่ได้เต็มที่ ดังนั้น บางคนอาจจะเกิดความเจ็บป่วยได้จากการเปลี่ยนแปลงการทำงานของระบบดังกล่าว

• พบสูบบุหรี่บั่นทอนความจำ 1 ใน 3

งานศึกษาจากทีมนักวิจัยของมหาวิทยาลัยนอร์ธทัมเบรียในอังกฤษ พบว่า คนสูบบุหรี่สูญเสียความจำมากกว่าเมื่อเทียบกับคนที่ไม่สูบบุหรี่

นอกจากนั้น นักวิจัยพบว่า คนที่เลิกบุหรี่สามารถ ฟื้นความจำได้เกือบถึงระดับเดียวกับคนที่ไม่สูบบุหรี่

การศึกษานี้ครอบคลุมกลุ่มตัวอย่างอายุ 18-25 ปี จำนวน 70 คน ที่ถูกขอให้นึกถึงรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เช่น รายชื่อเพลงที่จะเล่นในงานสังสรรค์ของนักศึกษา และภารกิจที่ทำเสร็จสิ้นในจุดต่างๆ ที่เรียกว่า การทดสอบความจำในโลกจริง

ผลปรากฏว่า สิงห์อมควันจดจำภารกิจได้แค่ 59% แต่คนที่เลิกสูบแล้วจดจำได้ 74% ส่วนคนที่ไม่เคยแตะต้องบุหรี่เลย จำได้ถึง 81%

ดร.ทอม เฮฟเฟอร์แนน ผู้นำกลุ่มความร่วมมือเพื่อการวิจัยด้านยาเสพติดและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ของมหาวิทยาลัยนอร์ธทัมเบรีย กล่าวว่า ผลศึกษานี้เป็นประโยชน์สำหรับโครงการรณรงค์ต่อต้านการสูบบุหรี่

“เมื่อพิจารณาว่า มีคนสูบบุหรี่ในสหราชอาณาจักรถึง 10 ล้าน คน และ 45 ล้านคนในสหรัฐฯ สิ่งสำคัญคือการทำความเข้าใจผลจากการสูบบุหรี่ที่มีต่อการทำงานของสมองในด้านความคิดความจำประจำวัน นี่เป็นครั้งแรกที่การศึกษาได้รับการจัดเตรียม เพื่อตรวจสอบว่า การเลิกสูบบุหรี่มีผลต่อความจำหรือไม่

เรารู้กันอยู่แล้วว่า การเลิกสูบบุหรี่มีผลดีอย่างมากต่อสุขภาพร่างกาย แต่การศึกษานี้ยังแสดงให้เห็นว่า การหยุดทำร้ายตัวเองด้วยบุหรี่ ยังมีผลต่อการทำงานของสมองด้วย”

• ดื่มกาแฟวันละ 4 ถ้วยขึ้นไป
ลดความเสี่ยงซึมเศร้าในผู้หญิง


นักวิจัยพบว่า ผู้หญิงที่ดื่มกาแฟวันละ 4 ถ้วยขึ้นไปมีความเสี่ยงโรคซึมเศร้าลดลง 1 ใน 5 และลดลง 15% หากดื่มวันละ 2-3 ถ้วย โดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดของสหรัฐฯ เปรียบเทียบปริมาณกาแฟที่ดื่มกับความเสี่ยงโรคซึมเศร้าในหมู่ผู้หญิงเกือบ 51,000 คน ในระยะเวลากว่า 10 ปี

ในรายงานที่อยู่ในเจอร์นัล ออฟ อเมริกัน เมดิซิน แอสโซซิเอชัน ระบุว่า คาเฟอีนอาจทำหน้าที่เป็นยาแก้เครียด ด้วยการหยุดยั้งการผลิตฮอร์โมนบางชนิด เช่น เซโรโทนิน

ดร.ไมเคิล ลูคัส จากคณะสาธารณสุข มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด กล่าวว่า การศึกษานี้สนับสนุนผลในการปกป้องของกาแฟ โดยเฉพาะการดื่มกาแฟที่มีต่อโรคซึมเศร้า อย่างไรก็ดี จำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมเพื่อยืนยันการค้นพบนี้ และพิจารณาว่า การดื่มกาแฟที่มีคาเฟอีนปกติอาจช่วยป้องกันหรือรักษาอาการซึมเศร้าได้หรือไม่

นักวิจัยชี้ว่า คาเฟอีนในกาแฟมีผลในการกระตุ้นจิตใจ ซึ่งรวมถึงความรู้สึกเป็นสุขและกระปรี้กระเปร่า และคิดว่าในอนาคต อาจใช้กาแฟ เป็นยารักษาหรือป้องกันอาการซึมเศร้าได้

อนึ่ง ในการศึกษาเมื่อปีที่แล้วจากฟินแลนด์ พบว่าผู้ชายที่ ดื่มกาแฟวันละ 4 ถ้วยขึ้นไปมีแนวโน้มเป็นโรคซึมเศร้าน้อย ลงเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ ผู้หญิงมีแนวโน้มเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่าผู้ชาย และผลศึกษาระบุว่า 1 ใน 7 คน จะเป็นโรคนี้ในบางช่วงของชีวิต

เป็นที่รู้กันมานานแล้วว่า กาแฟช่วยป้องกันโรคมากมายหลายชนิด เช่น มะเร็งต่อมลูกหมาก โรคเกาต์ อัลไซเมอร์ และกระทั่งช่วยส่งเสริมพลังสมอง แต่หากดื่มมากเกิน ก็อาจกลายเป็นปัญหาได้ โดยนักวิจัยพบว่า กาแฟอาจเป็นตัวการทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น เช่นเดียวกับอัตราการเต้นของหัวใจ

นอกจากนั้น สตรีมีครรภ์ยังได้รับการแนะนำให้ดื่มกาแฟไม่เกินวันละ 2 ถ้วย เพื่อลดความเสี่ยง ในการแท้ง หรือทารกมีน้ำหนักต่ำกว่ามาตรฐาน

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 133 มกราคม 2555 โดย ธาราทิพย์)




กำลังโหลดความคิดเห็น