การกินอย่างมีสติ คือการใส่ใจการกินอาหารแต่ละมื้อ หรือพูดง่ายๆก็คือ คำนึงถึงอาหารที่ใส่เข้าปากและผลที่จะตามมา ซึ่งอาจเป็นวิธีง่ายๆที่ช่วยให้คุณลดน้ำหนักได้
มีงานวิจัยใหม่ที่เชื่อมโยงการทำงานของสมองที่มากเกินไปกับการกินมากผิดปกติ ในบางคนนั้น ไม่ใช่เป็นเพราะขาดวินัย แต่มันเกี่ยวกับอาหาร หากเข้าใจถึงความสัมพันธ์ของสมองกับอาหาร(การรับรู้) ก็สามารถฝึกเทคนิคการกินอย่างมีสติ ซึ่งจะช่วยให้คุณเอาชนะการตอบสนองพื้นฐานของสมอง และหยุดการกินมากผิดปกติได้
จากการศึกษาเรื่องวิวัฒนาการของสมองมนุษย์พบว่า บางส่วนของสมองค่อนข้างเป็นสมองใหม่ อย่างไรก็ดี ระบบลิมบิก (กลุ่มของส่วนสมองที่ทำงานร่วมกันในการรับรู้เกี่ยวกับอารมณ์และพฤติกรรม) เป็นสมองส่วนที่เก่าแก่ที่สุดและมีหน้าที่หลักเกี่ยวข้องกับอารมณ์ และแรงกระตุ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับการอยู่รอด อาทิ ความกลัว อีกทั้งมันยังทำให้เกิดความพึงพอใจ ยามที่เราทำกิจกรรมเพื่อการดำรงอยู่ รวมถึงความพอใจที่เกิดจากการกินด้วย
มูลนิธิการใช้ชีวิตอย่างมีสติ (Mindful Living Foundation) เมืองแคมาริลโล รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เปิดเผยว่า งานวิจัยเกี่ยวกับสมองชิ้นใหม่ชี้ว่า คนที่กินมากผิดปกติ อาจมีสมองที่ไวต่อสิ่งกระตุ้นและมีปฏิกริยาตอบสนองมากกว่าปกติ คราใดที่พวกเขามองเห็น ได้กลิ่น ได้ลิ้มรส หรือเพียงคิดถึงอาหาร แนวการให้รางวัลที่อยู่ในระบบลิมบิกจะตอบสนองรุนแรงมากกว่า และสั่งว่า ต้องกินเดี๋ยวนี้ และให้มากที่สุดเท่าที่จะกินได้
ในอดีต แหล่งอาหารมีมากมายและราคาถูก การกินจึงเป็นไปตามกลไกการตอบสนองพื้นฐานเพื่อการอยู่รอด แต่ปัจจุบัน มันอาจกลายเป็นข้อบกพร่อง เพราะแต่ละครั้งที่เรามองเห็นร้านอาหาร หรือป้ายโฆษณาที่มีรูปคนกำลังกินอย่างเอร็ดอร่อย สมองของเราจะส่งคำสั่งเตือนว่า “กินเดี๋ยวนี้ รอถึงพรุ่งนี้ไม่ได้ เดี๋ยวอดตาย!!”
ดังนั้น สำหรับคนบางคน การกินมากผิดปกติ มิใช่เรื่องการไร้วินัยหรือขาดความเคารพในตัวเอง แต่เป็นเพราะขบวนการชีววิทยาตามธรรมชาติและระบบประสาทขาดการเชื่อมโยงกันในขณะมองเห็นอาหาร อย่างไรก็ตาม เราสามารถฝึกสมองของเราได้ ด้วยการกินอย่างมีสติและให้คำมั่นกับตัวเองที่จะเอาชนะแนวโน้มการกินมากผิดปกติ
ขณะที่ ไบรอัน เชลลี ผู้อำนวยการศูนย์ดูแลสุขภาพ First Choice Community Healthcare ในเมืองอัลเบอเคอร์กี รัฐนิวเม็กซิโก สหรัฐอเมริกา ได้สังเกตเห็นความสัมพันธ์ระหว่างการทำสมาธิและพฤติกรรมการกินที่อาจเกี่ยวข้องกัน ขณะที่เขากำลังสอนภาคปฏิบัติ เรื่องเทคนิคการลดความเครียดด้วยการทำสมาธิ
โดยเมื่อถึงเวลาหยุดพักรับประทานอาหารกลางวัน เชลลีบอกว่า “ผมสังเกตเห็นพวกเขากินอาหารอย่างตั้งใจ ด้วยความเงียบสงบ เป็นเวลา 1 ชั่วโมง ทุกคนรู้สึกพอใจในอาหาร ไม่กินมากไป ไม่รีบร้อน และมีสติรู้ตัวในขณะ นั่งลงเพื่อเริ่มรับประทาน”
ปัจจุบัน เชลลีเป็นผู้สอนภาคปฏิบัติเรื่องการกินอาหารอย่างมีสติโดยเฉพาะ ด้วยหลักการง่ายๆคือ ใช้เวลาเพียงวันละ 10 นาที ทำสมาธิ มีสติรู้ตัว และรู้ว่ากำลังทำอะไรในขณะรับประทานอาหาร
“เราไม่ได้สอนให้คุณระวังเรื่องแคลอรี่ หรือโฟกัสรสชาติของอาหารที่กินเข้าไป เพราะมันเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญตามประสบการณ์ของแต่ละคน” เขากล่าว
เมเกรต เฟลตเชอร์ ผู้อำนวยการบริหารของศูนย์การกินอย่างมีสติ (Center for Mindful Eating) ในเมืองเวสต์ นัตติงแฮม รัฐนิวแฮมเชียร์ บอกว่า การตระหนักรู้และมีสติ เป็นขั้นตอนแรกในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม
“ฉันขอให้คนหันมาใส่ใจกับความรู้สึกของตัวเอง ถามตัวเองว่า ฉันชอบรสชาติของอาหารที่กำลังรับประทานหรือเปล่า? ฉันสังเกตอะไรได้บ้าง?
การใส่ใจในการรับประทาน ช่วยให้อาหารแต่ละคำ คือสิ่งที่คุณเลือก มิใช่แค่การตอบสนองโดยอัตโนมัติ คุณอาจชอบทานขนมหวานเป็นชีวิตจิตใจ แต่ไม่ได้หมาย ความว่า คุณต้องกินทุกครั้งที่เห็นมันวางอยู่ตรงหน้า หากคุณหยุดและคิดว่า ถ้ากินขนมหวานชิ้นต่อไป คุณจะรู้สึกอย่างไร มันอาจทำให้คุณเลือกที่จะกินหรือไม่กิน และไม่ว่าคุณจะเลือกอย่างใด อย่างน้อยมันก็เป็นทางเลือกที่คุณ ได้พิจารณาแล้ว
เรามักพร่ำบอกตัวเองเสมอว่าเรากำลังจะเจออะไร แทนที่จะทำให้ตัวเราเองตระหนักรู้ถึงสิ่งที่กำลังจะเจอ” เธอกล่าว
ส่วนเชลลีกล่าวว่า การมีสติช่วยให้คนตระหนักรู้ว่า โดยปกติเขาควรกินอาหารมากเท่าใด และรวดเร็วขนาดไหน
“เราต้องกินอาหารช้าๆ เพื่อจับสัญญาณทางร่างกาย ที่บอกว่า เรากินเพียงพอแล้ว เรามักจะสูญเสียความสามารถที่จะจับสัญญาณนั้นได้ แต่เราก็สามารถปรับจูน ทักษะนี้ให้เกิดขึ้นได้เช่นกัน”
ทั้งนี้ เคยมีผลการวิจัยที่นำการทำสมาธิมาช่วยลดปัญหาการกินที่ผิดปกติ รวมถึงการกินมากผิดปกติ ที่ระบุว่า มันช่วยลดพฤติกรรมกินมากผิดปกติได้ในบางคน แต่ยังไม่แน่ชัดว่า มันช่วยแก้ปัญหาการกินมากผิดปกติโดยทั่วไปได้หรือไม่ และการทำสมาธิช่วยลดน้ำหนักได้จริงหรือไม่ คำถามเหล่านี้ ยังคงต้องอาศัยการศึกษาวิจัยอีกต่อไป
แต่ยังมีงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่ยังไม่ได้ตีพิมพ์ ซึ่งเชลลีและเพื่อนร่วมวิจัยพบว่า ผู้เข้าร่วมคอร์สการกินอย่างมีสติ มีน้ำหนักตัวลดลงเฉลี่ยราว 4.5 กก.นานกว่า 1 ปี ซึ่งนานกว่าที่พบในกลุ่มทดลองใช้ยาลดน้ำหนัก และถึงแม้จำนวนน้ำหนักที่ลดลงของทั้งสองกลุ่มจะใกล้เคียงกัน แต่กลุ่มกินอย่างมีสติมีความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดหัวใจลดลงอย่างเห็นได้ชัดมากกว่า
การเลี้ยงฉลองวาระแห่งความสุขที่เพิ่งผ่านพ้นไป การกิน ดื่ม เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ หลายๆท่านเริ่มมีปัญหาความอ้วนมาเยือน เมื่ออ่านถึงตอนนี้ คงอยากนำวิธีกินอย่างมีสติไปลองใช้ลดน้ำหนักดูบ้าง เพราะการทำสมาธิไม่ส่งผลข้างเคียงต่อร่างกาย เหมือนเช่นการใช้ยาลดน้ำหนักอีกด้วย
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 133 มกราคม 2555 โดย เบญญา)