xs
xsm
sm
md
lg

“หลวงพ่อคูณ” สดชื่นขึ้นเตรียมทำกายภาพฯขยายเวลารักษาต่อ 1 สัปดาห์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล รายงานความคืบหน้าการรักษาอาการอาพาธหลวงพ่อคูณ ว่า มีอาการสำลักน้ำ และบ่นอยากพบญาติสนิท และผู้ใกล้ชิด จึงวางแผนขยายระยะเวลาการรับไว้ในโรงพยาบาลศิริราชอีกระยะหนึ่ง ก่อนที่จะส่งตัวกลับไปฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายและจิตใจต่อที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาต่อไป
“ศิริราช” เผย “หลวงพ่อคูณ” ดูสดชื่น ทดสอบการกลืนน้ำพบว่ายังมีสำลักเล็กน้อย วางแผนทำกายภาพบำบัดเพื่อช่วยการเคลื่อนไหวของแขนขา เตรียมประเมินการทำงานของต่อมหมวกไตพรุ่งนี้ พร้อมขยายเวลานิมนต์ "พ่อคูณ" รับการรักษาอีก 1 สัปดาห์ ดูแลอย่างดีที่สุดแก้ต้นเหตุไม่ให้อาพาธซ้ำ



วันนี้ (12 ก.ย. 54) เวลา 10.30 น. ที่ห้องประชุมคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ตึกอำนวยการ ชั้น 2 รพ.ศิริราช ศ.คลินิก นพ. ธีรวัฒน์ กุลทนันทน์ คณบดี คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานการแถลงข่าวและรายงานความคืบหน้าการรักษาอาการอาพาธของพระเทพวิทยาคม หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ ร่วมกับคณะกรรมการแพทย์

โดยศ.คลินิก นพ. ธีรวัฒน์ กล่าวว่า หลวงพ่อคูณเข้ารักษาที่โรงพยาบาลศิริราชเป็นวันที่ 5 แล้ว โดยอาการอาพาธค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้นช้า ๆ สัญญาณชีพคงที่ สามารถรับอาหารและยาทางสายยางผ่านหน้าท้องได้ตามปกติ ระดับน้ำตาลในเลือดควบคุมได้ดีโดยใช้ปริมาณยาฉีดต่อวันโดยรวมน้อยลงกว่าเดิม ได้นำลงนั่งข้างเตียงพักผ่อนอิริยาบถและทำกายภาพบำบัดได้วันละหลายครั้ง

“เช้าวันนี้หลวงพ่อยังดูสดชื่น คณะแพทย์เข้าตรวจเยี่ยมพบว่าสายยางให้อาหารทางหน้าท้องใช้งานได้ดีเต็มที่แล้วทำการทดสอบการกลืนน้ำพบว่าสามารถทำได้แต่ยังมีสำลักเล็กน้อย จึงจะนิมนต์หลวงพ่อคูณขยายเวลาในการรับการรักษาโดยวางแผนทำกายภาพบำบัดเพื่อช่วยการเคลื่อนไหวของแขนขาและกระตุ้นการกลืนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนการประเมินการทำงานของต่อมหมวกไตกำหนดไว้วันพรุ่งนี้(13 ก.ย.) พร้อมกับปรับช่วงเวลาการให้อาหารและทำกายภาพบำบัดให้สอดคล้องกับกิจวัตรประจำวันที่วัดของท่านก่อนการอาพาธในครั้งนี้”ศ.คลินิก นพ. ธีรวัฒน์กล่าว

ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ ประธานคณะกรรมการแพทย์ กล่าวให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า โดยรวมอาการอาพาธของหลวงพ่อคูณดีมาก คณะแพทย์พึงพอใจต่อผลการรักษา ซึ่งโดยปกติหลังการสอดสายยางหน้าท้องจะต้องพักฟื้นอยู่โรงพยาบาล 2-3วัน จึงสามารถกลับได้ แต่เนื่องจากคณะแพทย์ต้องการให้การดูแลหลวงพ่อคูณอย่างดีที่สุด ดังนั้น ได้ทำการประเมินเหตุที่แท้จริงเพื่อไม่ให้เกิดการอาพาธซ้ำเดิมอีก โดยนิมนต์อยู่ต่ออีกประมาณ 1 สัปดาห์

“ส่วนปัญหาการกลืนเนื่องมากจากโรคหลอดเลือดสมอง ส่งผลให้กลืนแล้วมีอาการสำลัก จนเกิดอาการอักเสบติดเชื้อที่ปอดไม่อยากให้เกิดซ้ำ แม้ตลอด48 ชม.ที่ให้อาหารทางสายยางได้ดี แต่คณะแพทย์อยากให้ฝึกการกลืน จึงให้หลวงพ่อฉันน้ำเพื่อกระตุ้นกล้ามเนื้อการกลืนให้ทำงานซึ่งเป็นความสุขหนึ่งของคนไข้ แต่พบว่ามีอาการสำลักเล็กน้อยเพราะไม่ได้กลืนมานาน อีกปัญหา คือ ประเมินการทำงานของต่อมหมวกไต หากการทำงานน้อยลงจำเป็นต้องให้ฮอร์โมนทดแทน ซึ่งการทำงานของต่อมหมวกไตจะช่วยให้ร่างกายกระปรี้กระเปร่า ซึ่งการติดเชื้ออาจทำให้ต่อมหมวกไตทำงานได้ไม่เต็มที่ จึงถือโอกาสนี้ประเมินการทำงานของต่อมหมวกไตไปด้วย”ศ.คลินิก นพ.อุดมกล่าว

ศ.คลินิก นพ.อุดม กล่าวด้วยว่า ด้านการเตรียมปรับสภาพสิ่งแวดล้อมเพื่อการกระตุ้นการทำงานของสมองในระยะยาวจะต้องหากิจกรรมให้หลวงพ่อทำคล้ายกับกิจกรรมที่วัดซึ่งหลวงพ่ออยากพบปะลูกศิษย์และผู้คนเช่นกัน

รศ.พญ. วิไล คุปต์นิรัติศัยกุล หัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู กล่าวว่า การทดสอบกลืนน้ำพบว่ายังไม่ปลอดภัยยังไม่สามารถกลืนน้ำได้ดีพอ จึงไม่อนุญาตให้ฉันน้ำและอาหารในเวลานี้ แต่ยังคงทำการฝึกกล้ามเนื้อปากและลำคอในการกลืน ซึ่งอีก2-3วันจะมีการประเมินอาการอีกครั้งว่ามีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่เพื่อวางแผนปรับโปรมแกรมตามสภาพของผู้ป่วย

รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล สาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ แพทย์เจ้าของไข้ กล่าวว่า นอกจากการดูแลรักษาพยาบาลโดยการใช้ยาแล้วการฟื้นฟูด้านการปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมภายนอกเป็นสิ่งจำเป็นเช่นกันทั้งนี้ช่วง 3-4 วันที่ผ่านมา การฟื้นตัวของสมองดีขึ้น ซึ่งคณะแพทย์ตั้งใจจะให้อาการดีขึ้นให้ใกล้เคียงกับช่วงก่อนอาพาธ โดยพยายามปรับกระบวนการรักษาและอาหารการทำกายภาพให้สอดคล้องกับอายุมากที่สุด ซึ่งเป็นไปตามสภาพของคนอายุ 88 ปี ซึ่ง หลวงพ่อคูณ แม้จะมีประวัติการสูบบุหรี่ เป็นเบาหวาน ก็ยังนับว่าดีเมื่อเทียบกับคนอายุ 88 ปี อีกหลายคน

“วันก่อนนี้ระหว่างการทำกายภาพบำบัดหลวงพ่อก็อยากลุกเดินทักทายคนใกล้ชิดลูกศิษย์ไปเจอผู้คนต่างๆ เมื่อไปเยี่ยมดูอาการก็พูดถามหาอยากเจอ หลาน พี่สาว น้องสาวบ้าง หรือขณะที่แพทย์ทดสอบการกลืน ให้พูดออกเสียงคำว่า อา เพื่อตรวจดูน้ำที่ค้างในช่องปาก สักครู่หลวงพ่อก็ออกเสียง อา น้า ป้า ซึ่งปกติท่านจะมีอารมณ์ขัน พูดจาหยอกล้อ อย่างไรก็ตาม ข้อกำหนดในการเข้าเยี่ยมอาการอาพาธยังยึดหลักเดิม” รศ.นพ.นิธิพัฒน์กล่าว

รศ.นพ.สมชาย ลีลากุศลวงศ์ สาขาวิชาโรคระบบทางเดินอาหาร ภาควิชาอายุรศาสตร์ แพทย์ผู้ทำหัตถการ กล่าวว่า แผลการผ่าตัดดีขึ้นไม่มีการซึมหรือติดเชื้อ การให้อาหารผ่านทางสายยางไม่มีปัญหาใดๆ แต่ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นกว่าเดิม โดยจะมีการเปลี่ยนสายยางหลังจากนี้อีก6เดือน


กำลังโหลดความคิดเห็น