xs
xsm
sm
md
lg

มองเป็นเห็นธรรม : พรปีใหม่ที่แท้จริง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“นมัสการครับ หลวงตา”

“เจริญพร มาพร้อมหน้ากันเลยนะวันนี้ นั่งตามสบายนะ เด็กๆ ไปหยิบขนมในถาดทานกันได้นะ หลวงตาอนุญาต โตกันมาก็เพราะขนมก้นบาตรกันทุกคนเลยนะนี่”

“ขอบคุณครับ/ค่ะ”

“พวกผมตั้งใจจะมานมัสการหลวงตาเนื่องในวันปีใหม่ และขอพรปีใหม่ด้วยครับ เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ครอบครัวครับ”

“ดีๆๆ คิดดี แล้วจะเอาพรอะไรดีล่ะ”

“แล้วแต่หลวงตาจะเมตตาครับ”

“รู้ไหมว่า พรคืออะไร?”

“พร ก็คือคำพูดที่เป็นมงคล เป็นปิยวาจา ที่ผู้ให้ปรารถนาให้ผู้รับได้ผลตามที่มุ่งหวังครับ”

“คิดแบบคนไทยเลยนะ รับพรกันทุกปี แล้วมันดีตามพรที่ให้หรือเปล่าล่ะ ?”

“ผมว่าดีนะครับ รับพรจากหลวงตาก็เป็นมงคลทุกครั้ง”

“เออ คิดแบบนี้กันทุกคนเลยนะ นิสัยคนไทยเรานี่ก็ดีไปอย่าง คิดง่ายๆ แล้วก็ลืมง่าย บ้านเมืองเราพัฒนามาได้แบบนี้ก็โชคดีเหมือนกัน”

“ทำไมหลวงตาพูดอย่างนี้ล่ะครับ ผมว่าบ้านเมืองเราก็พัฒนามาดีแล้วนี่ครับ บ้านอื่นเมืองอื่นก็สู้บ้านเราไม่ได้ อย่างนี้ก็ดีไม่ใช่หรือครับ”

“ก็ดีอยู่เหมือนกัน แต่ลองพิเคราะห์ดูซิ ความเจริญที่เราเห็นเราสัมผัสนี่มันดีจริงอย่างที่เราคิดหรือเปล่าล่ะ”

“ผมว่าดี เพราะประเทศที่เขาเจริญแล้วมีอะไร ประเทศเราก็มีเหมือนเขา อาจจะช้ากว่า ก็ไม่นาน เดี๋ยวก็มีเหมือนกัน ผมว่าเราไม่ล้าหลังนะครับ”

“ที่ตาเราเห็น ก็คือความเจริญทางโครงสร้างวัตถุ ตึกรามบ้านช่องใหญ่โต ขยายออกไปเป็นเมืองใหญ่ทันสมัย สาธารณูปโภคพร้อม เหล่านี้คือความเจริญที่เราพูดถึงใช่ไหม?”

“ใช่ครับ”

“แล้วเวลาลูกสาวไปนอกบ้าน เกิดความห่วงความกังวลใจไหมล่ะ?”

“กังวลใจซิครับ ถ้ากลับบ้านผิดเวลาละก็ แม่เขาแทบคลั่ง ลูกกลับมาถึงบ้านก็ต้องตอบคำถามสารพัด เครียดกันทั้งแม่ทั้งลูก”

“พ่อก็.. ใครกันแน่ที่ทำอย่างนั้น เห็นเดินเป็นเสือติดจั่นทุกทีเลย เวลาที่ลูกยังไม่กลับบ้านน่ะ”

“ทำไมกังวลใจกันล่ะ บ้านเมืองที่เจริญแล้ว มันต้องสุขซิ มันจะทุกข์ได้อย่างไร คิดผิดกันหรือเปล่านี่?”

“โถหลวงตา ไอ้ที่เจริญจริงๆ มันก็แค่วัตถุนะครับ แต่จิตใจคนมันไว้ใจได้หรือ จี้ปล้นข่มขืนก็ได้ยินข่าวอยู่ทุกวัน คนสมัยนี้ดูดี แต่ใจร้ายเหลือเกิน เขาเอาแต่ความต้องการของตัวเป็นใหญ่ ไม่สนใจความเดือดร้อนของคนอื่น นิ่งดูดายเป็นปกติ ธุระไม่ใช่ อย่างนี้แล้วจะทำให้ไม่ห่วงลูกได้อย่างไรล่ะครับ”

“ตกลงว่าบ้านเมืองเราเจริญหรือไม่เจริญล่ะ?”

“เจริญแต่วัตถุครับ แต่จิตใจไม่เจริญ”

“แล้วเราจะทำให้จิตใจคนไทยเจริญได้อย่างไร”

“ก็ต้องเป็นหน้าที่ของหลวงตาซิครับ พระสงฆ์ไม่สอนศีลธรรม จริยธรรม ให้ชาวบ้าน แล้วจะให้ใครสอนล่ะครับ พ่อ แม่ ครู พูดปากเปียกปากแฉะ ลูกๆยังไม่ค่อยฟังเลยครับ”

“พระท่านเรียนมาน้อยนะ แล้วจะไปสอนญาติโยมได้อย่างไรล่ะ”

“หลวงตาก็ถ่อมตัวอยู่เรื่อย พระเรียนทางโลกน้อย แต่เรียนทางธรรมมามาก ก็เข้าใจชีวิตได้มากกว่าพวกโยมที่เรียนทางโลกมามาก พระสอนญาติโยม เขาก็มักจะฟังมากกว่าโยมพูดสอนกันนะครับ ผมก็ยังว่าให้พระสงฆ์สอนดีกว่า”

“พ่อแม่ครูอาจารย์สอน เด็กยังไม่ฟัง พระสอนเด็กจะฟังหรือ”

“ฟังครับ จิตวิญญาณความเป็นไทยที่ซึมลึกในจิตใจคนไทยนั่นล่ะครับ ที่ทำให้เด็กต้องฟังพระสอน”

“แล้วผู้ใหญ่ล่ะ จะฟังพระบ้างไหมโยม?”

“ฟังซิครับ ชอบฟังกันมากด้วย”

“เออ.. คงชอบฟังอย่างเดียวนะ ไม่เห็นนำไปปฏิบัติให้เกิดผลตามที่พระท่านสอนเลย นี่ก็ยังคิดอยู่ว่าทำไมพระสงฆ์ทั่วไปถึงไม่สามารถบำเพ็ญบารมีให้ได้เหมือนอย่างพระพุทธเจ้า คำตอบก็อยู่ตรงที่ได้คุยกับโยมนี้ล่ะ”

“ทำไมล่ะครับหลวงตา”

“ก็ความตั้งใจทำความดีให้มหาชนของพระสงฆ์ทั่วไป ยังมีน้อยมากๆ เมื่อเปรียบเทียบกับน้ำพระทัยในพระพุทธองค์ นี่ล่ะที่โบราณจารย์ท่านยกย่องว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณ ยากที่จะมีบุคคลใดในโลกนี้เปรียบเทียบได้ ในครั้งนั้น ผู้ได้เห็นพระพุทธปฏิปทา แล้วเกิดความเลื่อมใสขึ้นในจิตใจ บางคนก็ขอบวชเลย บางคนได้ฟังพระพุทธดำรัสบ้าง พระธรรมเทศนาบ้าง ก็ขอบวช เมื่อบวชแล้วก็ตั้งใจปฏิบัติตามพระพุทโธวาท นำตนให้หลุดพ้นจากอำนาจกิเลส ตรัสรู้ธรรมเป็นพระอรหันต์ ช่วยพระพุทธองค์เผยแผ่พระธรรมให้แพร่หลายไปในหมู่มหาชน

กาลเวลาผ่านมาจนถึงปัจจุบัน พระสงฆ์ที่จะบำเพ็ญกรณียกิจเช่นนี้ ก็เริ่มน้อยลง ความเจริญในทางวัตถุมีมากขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่มวลมนุษยชาติ การศึกษาของคนเราก็เจริญตามไปด้วย กิเลสในจิตใจก็พลอยเติบโตไปตามภูมิความรู้เหล่านั้น พระสงฆ์ท่านก็เลยพัฒนาองค์ความรู้ในการเผยแผ่พระธรรมได้ช้ากว่า ทำให้ช่องว่างระหว่างความคิดในทางโลกและทางจิตใจมีระยะห่างมากขึ้น จึงเป็นเหตุให้พระสงฆ์ในปัจจุบันไม่สามารถบำเพ็ญบารมีได้อย่างพระพุทธองค์ที่ปรารภให้ฟังมา”

“หลวงตาคิดมากไปหรือเปล่า พระสงฆ์ที่ทำหน้าที่เผยแผ่อย่างที่พูดนี้ ผมก็เห็นมีอยู่มากเหมือนกันนะครับ”

“สอนพระธรรมวินัย กับบอกธรรม ต่างกันนะโยม สอนพระธรรมวินัยต้องสอนให้เข้าใจถึงหลักธรรมนั้นๆ แล้วต้องเข้าถึงจิตวิญญาณแห่งธรรมนั้น จนสามารถพัฒนาธรรมนั้นให้ก่อสุขประโยชน์ ในการดำเนินชีวิตของตนและสังคมได้ บอกธรรม ก็คือจำเนื้อหาของพระธรรมที่มีอยู่ในพระไตรปิฎก หรือคำอธิบายของพระเถระรุ่นครูอาจารย์มาบอกกล่าวให้ญาติโยมฟัง โดยที่ตนเองก็ไม่มีความเข้าใจในธรรมข้อที่อธิบาย นี่จะก่อประโยชน์ให้แก่สังคมได้หรือ จะถือว่าเป็นการสร้างความดีได้หรือ?”

“หลวงตาพูดอย่างนี้ ก็คงหาพระสงฆ์ที่สอนพระธรรมวินัยได้ยากมากนะครับ แต่ผมว่าบอกธรรมก็ยังดีครับ เพราะยังชวนให้คนฟังได้สำเหนียกในธรรมที่ต้องกับจิตใจของตน ไม่มากก็น้อย”

“นี่ล่ะโยม ความกังวลใจของอาตมา เปรียบเหมือนเราจะไปเชียงใหม่ พระพุทธเจ้าท่านใช้เครื่องบินลำใหญ่ๆ บรรทุกคนได้ทีละเป็นร้อยๆคน ท่านใช้เวลาไม่นานก็ ถึงเชียงใหม่แล้ว แต่อย่างหลวงตาคงจะชวนคนเดินไปเชียงใหม่สักคนยังยากเลยนะโยม เพราะหนทางที่จะเดินไปข้างหน้าก็ไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร จะถึงเมื่อไร ไม่มีหลักประกันให้อบอุ่นใจว่าจะพาไปถึงเชียงใหม่ได้อย่างแน่นอน นี่ล่ะบารมีที่แตกต่างกัน ก็ย่อมให้ผลแตกต่างกัน

ความลำบากในการสอนญาติโยมของพระสงฆ์ในปัจจุบันก็เป็นแบบนี้ล่ะ พระสงฆ์ที่จะสอนก็มีน้อย ญาติโยมที่จะรับคำสอนแล้วนำไปปฏิบัติตาม จนทำให้เกิดผลตามที่สั่งสอนก็ยิ่งน้อยมากกว่า ประเทศไทยจึงเป็นเต่าคลานอย่างที่เห็น”

“แล้วหลวงตาจะแนะนำอย่างไรล่ะครับ ที่จะสร้างสรรค์ประเทศไทยให้มีความเจริญอย่างแท้จริง”

“เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม ที่ผ่านมา ในหลวงท่านแนะนำให้คนไทยทุกคนได้ตระหนักถึงความมั่นคงของประเทศไทยว่า ความมั่นคงของประเทศชาตินั้น จะเกิดมีขึ้นได้ก็ด้วยประชาชนในชาติอยู่ดีมีสุข ไม่มีทุกข์ยากเข็ญ ดังนั้น การใดที่เป็นความทุกข์เดือดร้อนของประชาชน ทุกคนทุกฝ่ายจึงต้องถือเป็นหน้าที่ที่จะต้องร่วมมือกันปฏิบัติแก้ไขให้เต็มกำลัง

นี่พระองค์ทรงเตือนให้คนไทยได้ตระหนักถึงความกรุณา ความปรารถนาให้เพื่อนไทยได้พ้นจากความทุกข์ยากเข็ญ สามารถนำตนให้อยู่ดีมีสุขได้ ซึ่งเป็นคุณลักษณะของคนไทยที่ได้รับปลูกฝังมาแต่ครั้งอดีต โดยผ่านขนบธรรมเนียมประเพณี

ตรองดูซิ คนไทยเดี๋ยวนี้ขนบธรรมเนียมประเพณีจางหายไปจากจิตใจ จนเป็นเหตุก่อให้เกิดสารพันปัญหามากมาย ทั้งในส่วนครอบครัวและสังคม ความแตกแยกทางความคิดก็เป็นสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นมาจากความเลือนหาย ของขนบธรรมเนียมประเพณี ประเทศไทยถึงแตกแยกทะเลาะวิวาทกันไม่สิ้นสุด

ทำให้ในหลวงตรัสสอนในที่สุดว่า ข้อสำคัญจะต้องไม่ ขัดแย้งแตกแยกกัน หากจะต้องให้กำลังใจซึ่งกันและกัน เพื่อให้งานที่ทำบรรลุผลที่มีประโยชน์ เพื่อความผาสุกของประชาชน ความมั่นคงปลอดภัยของประเทศชาติ

ถ้าเรามานั่งตริตรองพระราชดำรัสนี้บ่อยๆ เราก็จะรู้ว่าสามัคคีธรรมที่จะนำความเจริญมาสู่ประเทศไทยได้เลือนหายไปแล้วจากจิตใจคนไทยส่วนใหญ่ พระองค์จึงได้นำมาเตือนพวกเราในวาระสำคัญของพระองค์เอง แล้วโยมคิดว่าจริงไหมในความเห็นที่อาตมาพูดมานี้”

“หลวงตาพูดแบบนี้ ผมเห็นความผิดพลาดของผมเลยครับ นี่แม่.. พ่อขอโทษนะ ที่บางครั้งทำไม่ดีกับแม่ไป จนเป็นเหตุให้เราทะเลาะวิวาทกัน จนพานไปลงที่ลูกด้วย ต่อไปพ่อคงจะต้องใจเย็น คิดตริตรองเรื่องต่างๆ ในบ้านให้มากขึ้น ความจริงเราก็ตกลงกันว่าในบ้านให้แม่เป็นใหญ่ พ่อนี่แย่จริงๆ ขอโทษนะครับหลวงตา ที่ปรารภเรื่องที่บ้านแทรกขึ้นมา”

“ไม่เป็นไร เอ้าโยม..จะบอกอะไรสามีล่ะ พูดกันเลย จะได้ไม่มีอะไรติดอยู่ในใจอีก”

“เจ้าค่ะหลวงตา... นี่พ่อ...แม่ไม่มีอะไรติดใจในสิ่งที่ พ่อทำเลย เพราะคิดถึงคำที่ปู่ย่าตายายพร่ำสอนว่า ชีวิตเรานี้เป็นไปตามกรรม แม่ก็คิดว่าคงทำกรรมไม่ดีไว้มากในอดีต ตอนนี้ก็จึงต้องรับผลของกรรมไม่ดีนั้น ที่ห่วงจริงๆ ก็คือลูก ลูกกำลังโต บางทีไม่เข้าใจในเหตุการณ์ในบ้าน หรือในสังคม รับฟังรับรู้แล้วก็ไม่ได้พิจารณา คิดว่าพ่อแม่รู้ไม่เท่าตัว เลยทำให้เกิดช่องว่างขึ้น ทำให้แม่ต้องทะเลาะกับพ่อบ่อยๆ ต่อไปนี้แม่คงจะไม่ทะเลาะกับพ่อแล้วล่ะ เพื่อความสงบสุขในบ้านเรา”

“พ่อจ๋าแม่จ๋า หนูขอโทษจ้ะ ต่อไปหนูจะปรับปรุงตัวใหม่ ไม่ให้พ่อแม่เป็นห่วงอีกแล้ว”

“เออดี หยุดคิดสักนิด ฟังพระพูดสักหน่อย แล้วพิจารณาสิ่งที่พระท่านพูดท่านสอน จนเห็นถ่องแท้ในธรรมนั้น เมื่อธรรมที่กอปรด้วยเหตุผลตรงตามพระพุทธดำรัสเกิดขึ้นในจิตใจ เราก็สามารถพิจารณาสิ่งที่ผ่าน มาในอดีตอย่างมีเหตุผล เห็นความถูกผิดในสิ่งที่ได้ทำไปแล้ว ที่สุดเราก็อาจจะมีสติปัญญาเห็นแนวทางการดำเนินชีวิตของตนเองและครอบครัวให้เกิดความสุขสวัสดีได้

เพราะเราจะตั้งความปรารถนาในจิตใจของเราเองว่า สิ่งใดที่นำให้ครอบครัวเราได้รับสุขประโยชน์ที่ไม่สร้างความเดือดร้อนแก่เราและสังคม เราก็จะทำสิ่งนั้น สิ่งใดที่สร้างความเดือดร้อนแก่เราและครอบครัว เราก็งดเว้นที่จะไม่ทำสิ่งนั้น คิดได้อย่างนี้จิตใจเราก็ปลอดโปร่ง มีความสุขใจมากขึ้น นี่ก็จะเป็นการเริ่มต้นนำตนให้ปฏิบัติตามหลักโอวาทปาติโมกข์ที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ว่า ไม่ทำบาปทั้งปวง ทำกุศลความดีให้ถึงพร้อม ยังจิตใจของตนให้ผ่องแผ้ว

ชีวิตที่ดำเนินในกรอบแห่งพระธรรมวินัยย่อมเป็นชีวิตที่นำมาซึ่งความสุขสวัสดีตลอดเวลา เพราะธรรมนั้นจะคุ้มครองผู้ประพฤติธรรม ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรมให้เกิดสุขประโยชน์ตรงตามพระพุทธโอวาทอยู่เสมอ ถ้าเราเริ่มทำตนได้อย่างนี้ ตั้งแต่ตอนนี้ เราก็จะพบความสุขที่ถูกต้องได้ตลอดเวลาเลยนะ”

“ผมก็ปฏิบัติธรรมทุกวันอยู่แล้วครับหลวงตา ไม่เห็นจะเกิดความสุขอย่างที่หลวงตาพูดเลย จะสุขสงบก็เพียงแต่ตอนนั่งสมาธิเท่านั้น แม่คิดเหมือนพ่อมั้ย”

“ก็คิดเหมือนกันนะ เมื่อลืมตา เห็นสารพันความทุกข์ ในการดำเนินชีวิตของครอบครัวเราแล้วเจ้าค่ะหลวงตา ไม่เห็นจะได้อย่างที่หลวงตาสอนเลย”

“โยมปฏิบัติธรรม ไม่ใช่การนั่งสมาธินะโยม การนั่งสมาธิก็เพียงให้จิตใจถึงความสงบ ซึ่งเมื่อสงบแล้วก็สามารถพิจารณาเรื่องต่างๆ ทีละเรื่อง พิจารณาอย่างมีเหตุผล จนเข้าใจในเรื่องนั้นๆ ตรงตามธรรม ขณะเดียวกันการนั่งสมาธิก็ช่วยให้เรารักษาศีลให้มั่นคงได้ในขณะนั้น ช่วยให้เรามีความคิดเดียวในขณะนั้น ซึ่งก็เป็นประโยชน์ในชั่วขณะ

การปฏิบัติธรรมที่แท้จริงตรงตามพระพุทธโอวาท คือ การน้อมนำพระธรรมวินัยที่ทรงสอนมาเป็นแนวทางปฏิบัติตนให้บรรลุผลตามพระธรรมวินัยนั้น

โยมลองนึกถึงพระอรหันต์ที่ท่านดำรงตนอยู่ในพระธรรมวินัยตลอด ๒๔ ชั่วโมง โดยไม่ขาดตอนเลย ถ้าท่านทำอย่างที่คิดกัน ท่านก็คงมีเวลาทำผิดพลาดในเรื่องของศีลได้ ซึ่งนั่นไม่ใช่การปฏิบัติธรรมอันนำให้เกิดความ มีสติสมบูรณ์ อย่างที่เป็นคุณลักษณะของพระอรหันต์ ผู้ห่างไกลจากกิเลสทั้งปวง โยมลองตริตรองดูว่า ความโกรธที่ลูกไม่ได้ดั่งใจนั้น จะเกิดขึ้นเมื่อใด”

“เมื่อลูกไม่ทำตามที่ผมหรือภรรยาสั่งสอนซิครับหลวงตา”

“แล้วตอนนั้นเรามีสติไหม?”

“จะมีได้ไงครับ อะไรอยู่ใกล้มือก็คว้ามาตีลูกเลย ถือว่าไม่ปฏิบัติตามที่พ่อแม่สั่งสอน พ่อแม่มีสิทธิ์ที่จะตีลูกได้ ผิดหรือครับหลวงตา”

“ว่าถูกก็ถูกตามโยมว่า ว่าผิดก็ผิดตามธรรม โยมลองคิดดูซิ ตอนโยมเป็นเด็ก พ่อแม่ตีโยม โยมยังว่าพ่อแม่ผิดเลย ตอนนี้โยมเป็นพ่อแม่แล้ว ทำไมจึงทำอย่างนั้นกับลูกอีกล่ะ”

“ก็ลูกไม่ได้ดั่งใจผมกับภรรยานี่ครับ”

“แสดงว่าโยมก็ทำไม่ได้ดั่งใจของพ่อแม่ ที่เป็นปู่ย่าตายายของหลานล่ะซิ โยมคิดดูนะที่มีคำกล่าวสอนกันสืบต่อมาว่า พ่อแม่เป็นพระอรหันต์ของลูก อย่างโยมนี่จะเป็นพระอรหันต์หรือเป็นพระยามารของลูกล่ะ”

“สงสัยจะเป็นพระยามารน่ะครับ ต่อไปผมและภรรยา คงจะต้องระวังความโกรธกับลูก หลวงตาพูดสอนมาครั้งนี้ ทำให้ได้คิดหลายเรื่องเลยครับ”

“โยม.. พรปีใหม่ที่จริงแท้ คือการทำความดีด้วยการปฏิบัติตนตามพระธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ ให้เกิดความสุขที่ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น คำที่พระ หรือผู้ใหญ่ให้พรนั้น ก็คือความมุ่งหมายที่ท่านปรารถนาให้ผู้รับได้ปฏิบัติตนให้บรรลุผลนั้น

วันนี้โยมมาขอพรปีใหม่ อาตมาก็ได้ให้พรปีใหม่แก่โยมตามที่ขอ ซึ่งโยมจะปรารถนาให้ตนบรรลุผลตามพรที่ให้ โยมก็ต้องปฏิบัติตนตามพระธรรมวินัยจนสามารถถึงความสุขที่จริงแท้ในพระพุทธศาสนา ซึ่งสุขนั้นจะอำนวยผลให้โยมและครอบครัวมีความสุขตลอดไป แค่นี้คงพอแล้วนะ”

“พรปีใหม่ที่หลวงตาให้ครอบครัวผมครั้งนี้ ผมจะน้อมนำไปปฏิบัติให้บรรลุผล ต้องขอกราบขอบพระคุณหลวงตามากๆครับ แล้วก็ขอถือโอกาสลากลับเลย”

“เจริญพร ขอให้มีความเจริญในพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า ให้พบความสุขที่ปรารถนาตลอดไปนะ..”

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 133 มกราคม 2555 โดย พระพจนารถ ปภาโส วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม)
กำลังโหลดความคิดเห็น