xs
xsm
sm
md
lg

อาหารเป็นยา : แก่นตะวัน ต้านโรคอ้วน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อีกหนึ่งพืชสมุนไพร ที่มีสรรพคุณสุดยอด และกำลังมาแรงแซงโค้งในเวลานี้ คือ “แก่นตะวัน” เป็นพืชที่มีหัวใต้ดินคล้ายมันแกว ลำต้นสูง 1.5-2.0 ม. ใบรีรูปไข่ บางพันธุ์มีขอบใบหยัก มีขนตามกิ่งและใบ ดอกทรงกลมแบน สีเหลือง คล้ายดอกทานตะวัน หรือ บัวตอง ดังนี้จึงมีชื่อเรียกอื่นๆ ได้แก่ “ทานตะวันหัว” “แห้วบัวตอง” มีชื่อภาษาอังกฤษว่า เยรูซาเล็ม อาร์ติโช้ก (Jerusalem artichoke) หรือซันโช้ก (sunchoke) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Helianthus tuberosus L. เป็นพืชในตระกูลทานตะวัน มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาเหนือ แต่มีความทนทานต่อทุกสภาพภูมิอากาศ ทำให้ต้นแก่นตะวันเป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย เพราะเป็นพืชที่ปลูกง่าย

สุดยอดสรรพคุณของแก่นตะวันนั้นอยู่ตรงหัว ซึ่งสามารถขุดขึ้นมาล้างแล้วรับประทานสดๆได้เลย

สำหรับสรรพคุณต่างๆของแก่นตะวันนั้น ดร.ครรชิต จุดประสงค์ อาจารย์สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้บอกไว้ว่า

แก่นตะวันมีส่วนประกอบของอินนูลินและฟรุคโตโอลิโกแซคคาไรด์ในปริมาณสูง ซึ่งสารทั้งสองชนิดมีคุณสมบัติเป็นใยอาหารชนิดละลายน้ำได้ดีกว่าใยอาหารชนิดอื่นๆ จึงถูกแบคทีเรียย่อยสลายได้ กลายเป็นอาหารที่ดีของจุลินทรีย์ในลำไส้ใหญ่ของคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจุลินทรีย์ที่ส่งผลดีต่อสุขภาพ

ช่วยควบคุมน้ำหนัก

นอกจากนี้ยังเป็นสารประกอบเชิงซ้อนกลุ่มคาร์โบไฮเดรตที่ให้พลังงานต่ำกว่ากลุ่มคาร์โบไฮเดรตทั่วไป จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่มีความสำคัญในการแก้ปัญหาภาวะน้ำหนักเกิน เนื่องจากสารดังกล่าวมีลักษณะคล้ายแป้ง แต่มีคุณสมบัติในการรักษาสมดุลของสารอาหารที่ได้จากการบริโภค โดยสามารถบริโภคได้ในปริมาณมาก แต่ยังคงรักษาระดับพลังงานให้คงที่ จึงใช้เป็นอาหารควบคุมน้ำหนักได้

ช่วยลดน้ำหนัก

คุณสมบัติเฉพาะของสารอินนูลิน ที่ร่างกายไม่มีความสามารถในการย่อยที่กระเพาะอาหารและลำไส้เล็ก จึงสามารถอยู่ในระบบทางเดินอาหารได้เป็นระยะเวลานาน ช่วยให้รู้สึกอิ่ม ส่งผลทำให้บริโภคอาหารได้น้อยลง สามารถควบคุมพลังงานที่ได้รับต่อวันได้เป็นอย่างดี

ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด

นอกจากนี้ยังมีกลิ่นหอมและรสชาติหวาน สามารถใช้ทดแทนน้ำตาล โดยไม่ส่งผลกระทบต่อระดับน้ำตาลในเลือด แม้จะบริโภคในปริมาณมาก จึงเหมาะสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน ช่วยให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น แก่นตะวันมีเนื้อกรอบคล้ายมันแกว สามารถกินได้ทั้งแบบสดๆ เมื่อกินเป็นประจำสามารถทดแทนอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตและน้ำตาล จะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงได้

ลดความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ และช่วยดูดซึมแคลเซียม

แก่นตะวันยังมีคุณสมบัติเป็นใยอาหาร สามารถผลักของเสียที่ขับถ่ายได้ยาก หรือของเสียที่ตกค้างในทางเดินอาหารออกไปจากร่างกาย ช่วยบรรเทาอาการท้องผูก และลดความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ได้

นอกจากนี้ ยังมีคุณสมบัติความเป็นพรีไบโอติค ซึ่งเป็นแหล่งอาหารของจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย และช่วยลดจุลินทรีย์ที่ก่อโรค โดยเกิดจากกระบวนการการหมักของสารที่มีอินนูลินและโอลิโกแซคคาร์ไรด์เป็นส่วนประกอบ

โดยปกติ ในกระบวนการย่อยอาหาร สารอาหารที่ถูกย่อยและดูดซึม จะลดความเป็นกรดลงเรื่อยๆ เมื่อถึงลำไส้ใหญ่จะมีฤทธิ์เป็นด่าง พร้อมขับถ่ายออกจากร่างกาย

แต่ “แก่นตะวัน” ซึ่งมีอินนูลินและฟรุคโตโอลิโกแซคคาไรด์เป็นส่วนประกอบ เมื่อเดินทางมาถึงลำไส้ใหญ่ จะมีจุลินทรีย์บางชนิดย่อยให้กลายเป็นกรดไขมันสายสั้นๆ กรดไขมันดังกล่าวส่งผลต่อการเพิ่มปริมาณของ จุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อร่างกายและมีฤทธิ์ในการกำจัด จุลินทรีย์บางชนิดที่ส่งผลเสียต่อร่างกาย จึงช่วยให้ลำไส้ ทำงานได้ตามปกติ และยังสามารถเพิ่มภูมิคุ้มกันของร่างกาย

กระบวนการนี้ยังช่วยปรับสภาพของลำไส้ให้มีความเหมาะสมต่อการดูดซึมแร่ธาตุบางชนิดที่ยังไม่สามารถดูดซึมในลำไส้เล็ก ช่วยให้ลำไส้ใหญ่มีการดูดซึมแร่ธาตุที่ จำเป็นต่อร่างกายเพิ่มขึ้นได้ โดยจากผลการวิจัยสามารถดูดซึมแร่ธาตุต่างๆโดยเฉพาะแคลเซียมได้มากถึงร้อยละ 20 โดยกระบวนการทั้งหมดผ่านการทดสอบในคนเรียบร้อยแล้ว

เพื่อให้ได้ประโยชน์ของสารอาหารที่ครบถ้วน จึงควรบริโภค “แก่นตะวัน” ในรูปของอาหาร เพื่อให้ได้คุณค่าจากใยอาหาร ซึ่งมีส่วนสำคัญในการลดความเสี่ยงจากโรคมะเร็งลำไส้

นอกจากนี้ แก่นตะวันยังเป็นพืชที่ให้พลังงานมาก เพราะหัวสด 1 ตัน สามารถผลิตเอทานอลที่บริสุทธิ์ 99.5% ได้ 100 ลิตร นำไปผสมน้ำมันเบนซิน ผลิตแก๊สโซฮอล์ได้อีกด้วย

วิธีรับประทาน “แก่นตะวัน” ให้ได้คุณค่า

เนื่องจากคุณสมบัติของใยอาหารที่มีปริมาณสูง การรับประทานสารสกัดในปริมาณมาก อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงจากการบริโภคได้ โดยการทำให้เกิดอาการต่างๆที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินอาหาร เช่น อาการไม่สบายท้อง จุกเสียด แน่นท้อง ท้องอืดท้องเฟ้อ ท้องเสีย คลื่นไส้ เป็นต้น ซึ่งอาการเหล่านี้พบในระดับต่ำและไม่ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคมากนัก หากรับประทานในรูปของแก่นตะวันสด หรือทำเป็นเมนูอาหารต่างๆ

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 132 พฤศจิกายน - ธันวาคม 2554 โดย กองบรรณาธิการ)



กำลังโหลดความคิดเห็น