xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมะกับสุขภาพ : กุศลกรรมบถ ๑๐ ทำให้อายุยืนยาว คนอายุยืน (ตอนที่ 20)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ท่านผู้อ่านครับ ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้ยกเอาพระสูตรต่างๆที่ท่านกล่าวว่าเป็นเหตุให้อายุยืน ซึ่งโดยสรุปก็ได้แก่ การทำบุญกิริยาวัตถุต่างๆ ในตอนนี้ขอกล่าวต่อไปอีกสักเล็กน้อย

มีพระสูตรหนึ่งที่ท่านกล่าวไว้ชัดเจนในเรื่อง “ปัจจัยของการมีอายุยืน” นั่นคือ มหาธัมมปาลชาดก ขุททกนิกาย ทสกนิบาต มีใจความว่า

พระโพธิสัตว์ เกิดในตระกูลพราหมณ์ ชื่อว่า ธรรมปาลกุมาร เมื่อเติบโตขึ้นบิดาได้ส่งไปเรียนศิลปะวิทยาการกับอาจารย์ ที่เมืองตักกสิลา ธรรมปาลได้ไปอยู่กับอาจารย์ซึ่งเป็นหัวหน้ามานพ ๕๐๐ คน ต่อมาบุตรชายคน เดียวของอาจารย์ตายลงตั้งแต่ยังหนุ่ม อาจารย์และหมู่ญาติ และลูกศิษย์ทั้งหลายต่างก็เศร้าโศก เสียใจ ร่ำไห้ คร่ำครวญ แต่ธรรมปาลไม่ร้องไห้เลย ชนทั้งหลายจึงพากันมาถามด้วยความประหลาดใจ

ธรรมปาลก็ตอบไปว่า เขาไม่เคยเห็นคนตายแต่ยังหนุ่มๆ ในตระกูลของเขามีคนตายเมื่ออายุมากๆแล้ว ทั้งนั้น อาจารย์ได้ฟังแล้วก็รู้สึกอัศจรรย์ใจ ดังนั้น หลังจากจัดการงานศพบุตรชายเรียบร้อยแล้ว ก็ได้เดินทางไปยังบ้านของธรรมปาล เพื่อตรวจสอบดูว่าจริงหรือไม่

ในระหว่างทางได้พบกระดูกแพะ จึงนำใส่กระสอบ ให้คนรับใช้ถือไปด้วย เมื่อไปถึงบ้านของธรรมปาล พราหมณ์ผู้เป็นบิดาของธรรมปาลก็ออกมาต้อนรับ และเมื่อรับประทานข้าวปลาอาหารเรียบร้อยแล้ว อาจารย์จึงแจ้งข่าวแก่พราหมณ์ว่า

“ท่านพราหมณ์ ธรรมปาลกุมารบุตรของท่านเป็นคนมีสติปัญญา เรียนจบไตรเพทและศิลปะ ๑๘ ประการแล้ว แต่ได้ตายเสียแล้วด้วยโรคอย่างหนึ่ง สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง ท่านอย่าได้เศร้าโศกไปเลย”

พราหมณ์ได้ฟังแล้ว นิ่งคิดอยู่ครู่หนึ่ง แล้วก็ตบมือพร้อมกับหัวเราะดังลั่น อาจารย์เห็นเช่นนั้น จึงถามขึ้นด้วยความแปลกใจว่า

“ท่านพราหมณ์ ท่านหัวเราะอะไร”

พราหมณ์ตอบว่า “ลูกฉันยังไม่ตาย ที่ตายนั้นจักเป็นคนอื่น”

อาจารย์จึงกล่าวว่า “ท่านพราหมณ์ ท่านได้เห็นกระดูก บุตรของท่านแล้ว จงเชื่อเถิด”

จากนั้นอาจารย์จึงได้นำกระดูกออกมา แล้วกล่าวว่า “นี่กระดูกบุตรของท่าน”

พราหมณ์ตอบไปว่า “ท่านอาจารย์..นี่คงเป็นกระดูกของสัตว์อื่น คนในตระกูลของเราไม่เคยมีใครตายตั้งแต่หนุ่มมา ๗ ชั่วโคตรแล้ว”

อาจารย์รู้สึกอัศจรรย์ใจ จึงยอมรับ แล้วถามต่อไป ว่า

“อะไรเป็นวัตรของท่าน อะไรเป็นพรหมจรรย์ของท่าน การที่คนหนุ่มๆไม่ตายนี้ เป็นผลแห่งกรรมอะไรที่ท่านประพฤติดีแล้ว ดูก่อนพราหมณ์ ขอท่านจงบอกเนื้อความนี้แก่เรา เหตุไรหนอ คนหนุ่มๆของพวกท่านจึงไม่ตาย”

พราหมณ์ได้ฟังดังนั้นแล้ว จึงกล่าวถึงเหตุที่ทำให้คนในตระกูลไม่ตายแต่หนุ่มๆว่า

“พวกเราประพฤติธรรม ไม่กล่าวมุสา งดเว้นกรรมอันไม่ประเสริฐทั้งหมด เพราะเหตุนั้นแหละ คนหนุ่มๆของพวกเราจึงไม่ตาย

พวกเราฟังธรรมของอสัตบุรุษและของสัตบุรุษแล้ว เราไม่ชอบใจธรรมของอสัตบุรุษ ละอสัตบุรุษ ไม่ละสัตบุรุษ เพราะเหตุนั้นแหละ คนหนุ่มๆของพวกเราจึงไม่ตาย

ก่อนที่จะเริ่มให้ทาน พวกเราเป็นผู้ตั้งใจดี แม้กำลังให้ก็มีใจผ่องแผ้ว ครั้นให้แล้วก็ไม่เดือดร้อนภายหลัง เพราะเหตุนั้นแหละ คนหนุ่มๆของพวกเราจึงไม่ตาย

พวกเราเลี้ยงดูสมณะ พราหมณ์ คนเดินทาง วณิพก ยาจก และคนขัดสนทั้งหลายให้อิ่มหนำสำราญด้วยข้าว น้ำ เพราะเหตุนั้นแหละ คนหนุ่มๆของพวกเราจึงไม่ตาย

พวกเราไม่นอกใจภรรยา ถึงภรรยาก็ไม่นอกใจพวกเรา พวกเราประพฤติพรหมจรรย์ นอกจากภรรยาของตน เพราะเหตุนั้นแหละ คนหนุ่มๆของพวกเราจึงไม่ตาย

พวกเราทั้งหมดงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ งดเว้นสิ่งของที่เขาไม่ให้ในโลก ไม่ดื่มของเมา ไม่กล่าวปด เพราะเหตุนั้นแหละ คนหนุ่มๆของพวกเราจึงไม่ตาย

บุตรที่เกิดในภรรยาผู้มีศีลดีเหล่านั้น เป็นผู้ฉลาด มีปัญญา เป็นพหูสูต เรียนจบไตรเพท เพราะเหตุนั้นแหละ คนหนุ่มๆของพวกเราจึงไม่ตาย

มารดาบิดา พี่น้องหญิงชาย บุตร ภรรยา และเราทุกคนประพฤติธรรม มุ่งประโยชน์ในโลกหน้า เพราะเหตุนั้นแหละ คนหนุ่มๆของพวกเราจึงไม่ตาย

ทาส ทาสี คนที่อาศัยเลี้ยงชีวิต คนรับใช้ คนทำงานทั้งหมด ล้วนแต่ประพฤติธรรม มุ่งประโยชน์ในโลกหน้า เพราะเหตุนั้นแหละ คนหนุ่มของพวกเราจึงไม่ตาย”


ท่านผู้อ่านครับ ข้อความในพระไตรปิฏกก็มีดังที่กล่าวมานี้ จะเห็นว่า พราหมณ์ผู้เป็นบิดาพระโพธิสัตว์ แสดงถึงคุณของการปฏิบัติธรรม

การปฏิบัติธรรมในที่นี้อรรถกถาจารย์ท่านอธิบาย ว่าหมายถึง กุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ คือ เว้นจาก กายทุจริต ๓ คือ เว้นจากการฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ การประพฤติผิดในกาม เว้นจาก วจีทุจริต ๔ คือ พูดเท็จ พูดคำหยาบ พูดส่อเสียด พูดเพ้อเจ้อ เว้นจาก มโนทุจริต ๓ คือ เว้นจากความคิดเพ่งเล็งอยากได้ของผู้อื่น เว้นจาก ความคิดร้ายผู้อื่น มีความเห็นชอบ ถูกต้องตามคลองธรรม

นี่ก็เป็นข้อปฏิบัติในพุทธศาสนาที่เป็นเหตุให้อายุยืน ซึ่งท่านแสดงไว้อย่างชัดเจนในพระสูตรนี้

พบกันใหม่ฉบับหน้าครับ

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 130 กันยายน 2554 โดย นพ.แพทย์พงษ์ วรพงศ์พิเชษฐ)
กำลังโหลดความคิดเห็น