กลุ่มพระชาวแคว้นอวันตี คือ กลุ่มพระที่เป็นชาวแคว้นอวันตีโดยกำเนิด มี ๒ รูป คือ พระมหากัจจายนะ และพระโสณกุฏิกัณณะ แต่ละรูปมีประวัติที่น่าศึกษาดังนี้
สถานะเดิม
พระมหากัจจายนะ เกิดในวรรณะพราหมณ์ ตระกูล “กัจจายนะ” บิดาเป็นปุโรหิตของพระเจ้าจัณฑปัชโชต ท่านมีชื่อว่า “กาญจนะ” หรือ “กัญจนะ” เพราะเกิดมามีผิวพรรณงามดุจทองคำ
พระโสณกุฏิกัณณะ เกิดในวรรณไวศยะ ตระกูลคหบดีในเมืองกุรรฆระ มารดาชื่อกาฬี เป็นอุบาสิกาผู้ถวายการบำรุงพระมหากัจจายนะ ท่านมีชื่อเดิมว่า “โสณะ” แปลว่า “ทอง” แต่เป็นเพราะเมื่อเจริญวัยขึ้น ใช้ต่างหูราคา ๑ โกฎิ จึงมีชื่อต่อมาว่า “โสณกุฏิกัณณะ” หรือ “โสณโกฎิกัณณะ” (โสณะผู้ใช้ต่างหูราคา ๑ โกฎิ)
ชีวิตฆราวาส
พระมหากัจจายนะ เนื่องจากเป็นบุตรของปุโรหิตและศึกษาจบไตรเพท เมื่อบิดาถึงแก่กรรม พระเจ้าจัณฑปัชโชติ จึงทรงตั้งท่านไว้ตำแหน่งปุโรหิตสืบต่อมา ท่านปฏิบัติหน้าที่ด้วยดีมาโดยลำดับ จนเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย
พระโสณกฏิกัณณะ เนื่องจากนางกาฬีผู้เป็นโยมมารดา เป็นโยมอุปัฏฐากของพระมหากัจจายนะ และไปนมัสการพระมหากัจจายนะอยู่เนืองๆ เวลาที่ท่านมาจำพรรษาที่ภูเขาปวัตตะเมืองกุรรฆระ ซึ่งอยู่แคว้นอวันตีตอนใต้ อันเป็นส่วนที่เรียกว่าอวันติทักขิณาบถ และถือได้ว่าเป็นปัจจันตชนบท (ถิ่นกันดาร) นางได้นำลูกชายไปด้วยตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็กๆ จึงทำให้ลูกชายคุ้นเคยกับพระเถระ และได้ฟังคำสอนของพระเถระ อยู่เป็นประจำ ครั้นเจริญวัยขึ้นท่านยิ่งศรัทธาในพระพุทธศาสนามากขึ้น จึงได้สร้างวัดขึ้นที่ภูเขาปวัตตะเพื่อถวายแก่พระเถระ
กล่าวถึงนางกาฬี ในคัมภีร์มโนรถปูรณีกล่าวว่า นางได้เป็นพระโสดาบันก่อนหญิงคนใด รวมทั้งก่อนโยมมารดาและภรรยาเก่าของพระยสะด้วย ดังมีเรื่องเล่าว่า
วันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตรโปรดฤาษีปัญจวัคคีย์นั้น นอกจากฤาษีโกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรมเป็นพระโสดาบันแล้ว ก็ยังมีมนุษย์คือเทวดาและพรหมอีก ๑๘ โกฏิได้ดวงตาเห็นธรรมด้วย ในจำนวนนั้นมีสาตาคิรยักษ์รวมอยู่ด้วย
สาตาคิรยักษ์อยู่ทางตอนเหนือของชมพูทวีป บริเวณป่าหิมพานต์ มีเพื่อนยักษ์ชื่อเหมวตยักษ์อยู่ทางตอนใต้ ครั้นได้บรรลุโสดาปัตติผลแล้ว สาตาคิรยักษ์ก็คิดถึงเหมวตยักษ์ผู้เป็นเพื่อน อยากให้ได้บรรลุธรรมอย่างที่ตนบรรลุบ้าง จึงชวนยักษ์บริวารเหาะมาหา
ฝ่ายเหมวตยักษ์เองมองไปทางป่าหิมพานต์เห็นมีดอกไม้บานนอกฤดูกาล ก็คิดอยากไปเล่นสนุกสนานกับเพื่อนสาตาคิรยักษ์ จึงชวนยักษ์บริวารเหาะไปหา แล้วทั้ง ๒ ฝ่ายก็มาพบกันกลางทาง คือในอากาศ เหนือบ้านของนางกาฬี แล้วสนทนากันถึงเหตุที่ทำให้ต่างฝ่ายต่างจะไปหากัน
สาตาคิรยักษ์บอกให้เหมวตยักษ์ทราบว่า ผู้ที่เป็นต้นเหตุให้ป่าหิมพานต์มีดอกไม้บานนอกฤดูกาลนั้นก็คือ เจ้าชายสิทธัตถะ พระโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะ ผู้ซึ่งบัดนี้ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว และบัดนี้กำลังหมุนล้อธรรม (แสดงธรรม) โปรดมนุษย์และเทวดาทั้งหมื่นจักรวาฬ
เหมวตยักษ์พอได้ยินคำว่าพระพุทธเจ้า ก็สนใจมาก จึงถามสาตาคิรยักษ์ว่า ได้เห็นพระพุทธเจ้าเต็มตาหรือเปล่า พระพุทธเจ้าทรงมีพระทัยมั่นคงไหม ทรงควบคุมความคิดในอารมณ์ต่างๆ ทั้งที่น่าปรารถนาและไม่น่าปรารถนาได้ไหม
สาตาคิรยักษ์ก็กล่าวตอบว่า เห็นมาแล้ว และวันนี้ก็เป็นวันอุโบสถ ๑๕ ค่ำ ขอให้เราไปเฝ้าพระพุทธเจ้ากันเถิด เมื่อสาตาคิรยักษ์กล่าวสรรเสริญพระคุณของพระพุทธเจ้าจบลง เหมวตยักษ์ก็ได้บรรลุโสดาปัตติผล
ขณะที่ยักษ์ทั้ง ๒ กำลังสนทนาอยู่เหนือบ้านของนางกาฬีนั้น นางก็ลุกขึ้นจากที่นอนมานั่งฟัง จับได้ว่าไม่ใช่เสียงมนุษย์จึงตั้งใจฟัง และเกิดศรัทธาเลื่อมใสพระพุทธเจ้า ทั้งที่ยังไม่เคยเห็นพระองค์ แล้วก็ได้บรรลุโสดาปัตติผลเช่นกัน
ต่อมาเมื่อพระมหากัจจายนะเดินทางกลับมาเผยแผ่พระพุทธศาสนา นางจึงมีโอกาสพาโสณะลูกชายไปหา และรับอุปัฏฐากดังกล่าวแล้ว
โสณะประกอบอาชีพค้าขายซึ่งเป็นอาชีพเดิมของพระกูล นำสินค้าบรรทุกเกวียนจากบ้านเกิด ไปขายในเมืองอุชเชนีเป็นประจำ ท่านไม่มีครอบครัวเพราะประพฤติพรหมจรรย์ตลอดเวลา บริโภคอาหารมื้อเดียว นอนคนเดียว
การออกบวช
พระมหากัจจายนะ ออกบวชคราวที่พระเจ้าจัณฑปัชโชตส่งท่านไปทูลนิมนต์พระพุทธเจ้า ให้เสด็จมาโปรดชาวแคว้นอวันตี เรื่องมีอยู่ว่า
พระเจ้าจัณฑปัชโชตทรงทราบข่าวว่า พระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นในโลกแล้ว ทรงมีพระราชประสงค์จะได้เฝ้าพระพุทธเจ้า และทูลนิมนต์พระพุทธเจ้าให้แสดงธรรมโปรดพสกนิกรของพระองค์ด้วย จึงทรงปรึกษากับปุโรหิตกัจจายนะ เมื่อปุโรหิตกัจจายนะเห็นชอบตามพระราชประสงค์ พระองค์จึงทรงมอบหมายให้ปุโรหิตกัจจายนะเดินทางไปเฝ้าพระพุทธเจ้าที่วัดเชตวัน เมืองสาวัตถี แคว้นโกศล
ฝ่ายปุโรหิตกัจจายนะมีจิตน้อมไปในการออกบวชเป็นพื้นเดิมอยู่แล้ว เมื่อได้รับมอบหมายให้ไปทูลนิมนต์พระพุทธเจ้า จึงเห็นเป็นโอกาสสมควรทูลขอพระราชานุญาต ออกบวชในพระพุทธศาสนาด้วย พระเจ้าจัณฑปัชโชตทรงอนุญาตตามความประสงค์ โดยพระราชานุญาตครั้งนี้เอง ปุโรหิตกัจจายนะจึงทูลขอบวชต่อพระพุทธเจ้าหลังจากฟังพระธรรมเทศนาจบลง ซึ่งพระพุทธเจ้าก็ทรงบวชให้ด้วยวิธีบวชแบบเอหิภิกขุอุปสัมปทา
พระโสณกุฏิกัณณะ ออกบวชในสำนักของพระมหากัจจายนะ เรื่องมีอยู่ว่า ท่านมีศรัทธาที่จะออกบวชมานานแล้ว แต่พระมหากัจจายนะไม่ยอมบวชให้ เพราะเห็นว่าท่านเป็นกำลังสำคัญของตระกูล จึงได้แต่บอกให้ท่านประพฤติพรหมจรรย์ไปก่อน
ท่านทำตามพระเถระแนะนำ แต่การประพฤติพรหมจรรย์นั้นก็ยิ่งทำให้ท่านมีศรัทธาที่จะออกบวชมากขึ้น ท่านขอบวชต่อพระเถระถึง ๓ ครั้ง ครั้งที่ ๓ พระเถระเห็นว่าท่านมีศรัทธาแน่วแน่ จึงบวชให้เป็นสามเณรก่อน เพราะขณะนั้นพระเถระจำพรรษาอยู่ที่เมืองกุรรฆระ อันเป็นเมืองชายแดน ไม่สามารถหาพระมาร่วมเป็นคณปูรกะ (เต็มคณะ) ได้ครบ ๑๐ รูป เนื่องจากพระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ว่า ในการบวชเป็นพระนั้น ต้องมีพระร่วมเป็นคณปูรกะตั้งแต่ ๑๐ รูปขึ้นไป จึงจะถือว่าบวชเป็นพระได้สำเร็จ เมื่อได้พระไม่ครบ ๑๐ รูป พระเถระจึงไม่สามารถบวชโสณะเป็นพระให้ได้
พระโสณกุฏิกัณณะบวชเป็นสามเณรอยู่ ๓ ปี พระมหากัจจายนะจึงสามารถหาพระมาร่วมเป็นคณปูรกะได้ครบ ๑๐ รูป ครั้นแล้วจึงได้บวชเป็นพระให้ด้วยวิธีญัตติจตุตถกรรมอุปสัมปทา
(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 130 กันยายน 2554 โดย ผศ.ร.ท.ดร.บรรจบ บรรณรุจิ)
สถานะเดิม
พระมหากัจจายนะ เกิดในวรรณะพราหมณ์ ตระกูล “กัจจายนะ” บิดาเป็นปุโรหิตของพระเจ้าจัณฑปัชโชต ท่านมีชื่อว่า “กาญจนะ” หรือ “กัญจนะ” เพราะเกิดมามีผิวพรรณงามดุจทองคำ
พระโสณกุฏิกัณณะ เกิดในวรรณไวศยะ ตระกูลคหบดีในเมืองกุรรฆระ มารดาชื่อกาฬี เป็นอุบาสิกาผู้ถวายการบำรุงพระมหากัจจายนะ ท่านมีชื่อเดิมว่า “โสณะ” แปลว่า “ทอง” แต่เป็นเพราะเมื่อเจริญวัยขึ้น ใช้ต่างหูราคา ๑ โกฎิ จึงมีชื่อต่อมาว่า “โสณกุฏิกัณณะ” หรือ “โสณโกฎิกัณณะ” (โสณะผู้ใช้ต่างหูราคา ๑ โกฎิ)
ชีวิตฆราวาส
พระมหากัจจายนะ เนื่องจากเป็นบุตรของปุโรหิตและศึกษาจบไตรเพท เมื่อบิดาถึงแก่กรรม พระเจ้าจัณฑปัชโชติ จึงทรงตั้งท่านไว้ตำแหน่งปุโรหิตสืบต่อมา ท่านปฏิบัติหน้าที่ด้วยดีมาโดยลำดับ จนเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย
พระโสณกฏิกัณณะ เนื่องจากนางกาฬีผู้เป็นโยมมารดา เป็นโยมอุปัฏฐากของพระมหากัจจายนะ และไปนมัสการพระมหากัจจายนะอยู่เนืองๆ เวลาที่ท่านมาจำพรรษาที่ภูเขาปวัตตะเมืองกุรรฆระ ซึ่งอยู่แคว้นอวันตีตอนใต้ อันเป็นส่วนที่เรียกว่าอวันติทักขิณาบถ และถือได้ว่าเป็นปัจจันตชนบท (ถิ่นกันดาร) นางได้นำลูกชายไปด้วยตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็กๆ จึงทำให้ลูกชายคุ้นเคยกับพระเถระ และได้ฟังคำสอนของพระเถระ อยู่เป็นประจำ ครั้นเจริญวัยขึ้นท่านยิ่งศรัทธาในพระพุทธศาสนามากขึ้น จึงได้สร้างวัดขึ้นที่ภูเขาปวัตตะเพื่อถวายแก่พระเถระ
กล่าวถึงนางกาฬี ในคัมภีร์มโนรถปูรณีกล่าวว่า นางได้เป็นพระโสดาบันก่อนหญิงคนใด รวมทั้งก่อนโยมมารดาและภรรยาเก่าของพระยสะด้วย ดังมีเรื่องเล่าว่า
วันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตรโปรดฤาษีปัญจวัคคีย์นั้น นอกจากฤาษีโกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรมเป็นพระโสดาบันแล้ว ก็ยังมีมนุษย์คือเทวดาและพรหมอีก ๑๘ โกฏิได้ดวงตาเห็นธรรมด้วย ในจำนวนนั้นมีสาตาคิรยักษ์รวมอยู่ด้วย
สาตาคิรยักษ์อยู่ทางตอนเหนือของชมพูทวีป บริเวณป่าหิมพานต์ มีเพื่อนยักษ์ชื่อเหมวตยักษ์อยู่ทางตอนใต้ ครั้นได้บรรลุโสดาปัตติผลแล้ว สาตาคิรยักษ์ก็คิดถึงเหมวตยักษ์ผู้เป็นเพื่อน อยากให้ได้บรรลุธรรมอย่างที่ตนบรรลุบ้าง จึงชวนยักษ์บริวารเหาะมาหา
ฝ่ายเหมวตยักษ์เองมองไปทางป่าหิมพานต์เห็นมีดอกไม้บานนอกฤดูกาล ก็คิดอยากไปเล่นสนุกสนานกับเพื่อนสาตาคิรยักษ์ จึงชวนยักษ์บริวารเหาะไปหา แล้วทั้ง ๒ ฝ่ายก็มาพบกันกลางทาง คือในอากาศ เหนือบ้านของนางกาฬี แล้วสนทนากันถึงเหตุที่ทำให้ต่างฝ่ายต่างจะไปหากัน
สาตาคิรยักษ์บอกให้เหมวตยักษ์ทราบว่า ผู้ที่เป็นต้นเหตุให้ป่าหิมพานต์มีดอกไม้บานนอกฤดูกาลนั้นก็คือ เจ้าชายสิทธัตถะ พระโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะ ผู้ซึ่งบัดนี้ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว และบัดนี้กำลังหมุนล้อธรรม (แสดงธรรม) โปรดมนุษย์และเทวดาทั้งหมื่นจักรวาฬ
เหมวตยักษ์พอได้ยินคำว่าพระพุทธเจ้า ก็สนใจมาก จึงถามสาตาคิรยักษ์ว่า ได้เห็นพระพุทธเจ้าเต็มตาหรือเปล่า พระพุทธเจ้าทรงมีพระทัยมั่นคงไหม ทรงควบคุมความคิดในอารมณ์ต่างๆ ทั้งที่น่าปรารถนาและไม่น่าปรารถนาได้ไหม
สาตาคิรยักษ์ก็กล่าวตอบว่า เห็นมาแล้ว และวันนี้ก็เป็นวันอุโบสถ ๑๕ ค่ำ ขอให้เราไปเฝ้าพระพุทธเจ้ากันเถิด เมื่อสาตาคิรยักษ์กล่าวสรรเสริญพระคุณของพระพุทธเจ้าจบลง เหมวตยักษ์ก็ได้บรรลุโสดาปัตติผล
ขณะที่ยักษ์ทั้ง ๒ กำลังสนทนาอยู่เหนือบ้านของนางกาฬีนั้น นางก็ลุกขึ้นจากที่นอนมานั่งฟัง จับได้ว่าไม่ใช่เสียงมนุษย์จึงตั้งใจฟัง และเกิดศรัทธาเลื่อมใสพระพุทธเจ้า ทั้งที่ยังไม่เคยเห็นพระองค์ แล้วก็ได้บรรลุโสดาปัตติผลเช่นกัน
ต่อมาเมื่อพระมหากัจจายนะเดินทางกลับมาเผยแผ่พระพุทธศาสนา นางจึงมีโอกาสพาโสณะลูกชายไปหา และรับอุปัฏฐากดังกล่าวแล้ว
โสณะประกอบอาชีพค้าขายซึ่งเป็นอาชีพเดิมของพระกูล นำสินค้าบรรทุกเกวียนจากบ้านเกิด ไปขายในเมืองอุชเชนีเป็นประจำ ท่านไม่มีครอบครัวเพราะประพฤติพรหมจรรย์ตลอดเวลา บริโภคอาหารมื้อเดียว นอนคนเดียว
การออกบวช
พระมหากัจจายนะ ออกบวชคราวที่พระเจ้าจัณฑปัชโชตส่งท่านไปทูลนิมนต์พระพุทธเจ้า ให้เสด็จมาโปรดชาวแคว้นอวันตี เรื่องมีอยู่ว่า
พระเจ้าจัณฑปัชโชตทรงทราบข่าวว่า พระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นในโลกแล้ว ทรงมีพระราชประสงค์จะได้เฝ้าพระพุทธเจ้า และทูลนิมนต์พระพุทธเจ้าให้แสดงธรรมโปรดพสกนิกรของพระองค์ด้วย จึงทรงปรึกษากับปุโรหิตกัจจายนะ เมื่อปุโรหิตกัจจายนะเห็นชอบตามพระราชประสงค์ พระองค์จึงทรงมอบหมายให้ปุโรหิตกัจจายนะเดินทางไปเฝ้าพระพุทธเจ้าที่วัดเชตวัน เมืองสาวัตถี แคว้นโกศล
ฝ่ายปุโรหิตกัจจายนะมีจิตน้อมไปในการออกบวชเป็นพื้นเดิมอยู่แล้ว เมื่อได้รับมอบหมายให้ไปทูลนิมนต์พระพุทธเจ้า จึงเห็นเป็นโอกาสสมควรทูลขอพระราชานุญาต ออกบวชในพระพุทธศาสนาด้วย พระเจ้าจัณฑปัชโชตทรงอนุญาตตามความประสงค์ โดยพระราชานุญาตครั้งนี้เอง ปุโรหิตกัจจายนะจึงทูลขอบวชต่อพระพุทธเจ้าหลังจากฟังพระธรรมเทศนาจบลง ซึ่งพระพุทธเจ้าก็ทรงบวชให้ด้วยวิธีบวชแบบเอหิภิกขุอุปสัมปทา
พระโสณกุฏิกัณณะ ออกบวชในสำนักของพระมหากัจจายนะ เรื่องมีอยู่ว่า ท่านมีศรัทธาที่จะออกบวชมานานแล้ว แต่พระมหากัจจายนะไม่ยอมบวชให้ เพราะเห็นว่าท่านเป็นกำลังสำคัญของตระกูล จึงได้แต่บอกให้ท่านประพฤติพรหมจรรย์ไปก่อน
ท่านทำตามพระเถระแนะนำ แต่การประพฤติพรหมจรรย์นั้นก็ยิ่งทำให้ท่านมีศรัทธาที่จะออกบวชมากขึ้น ท่านขอบวชต่อพระเถระถึง ๓ ครั้ง ครั้งที่ ๓ พระเถระเห็นว่าท่านมีศรัทธาแน่วแน่ จึงบวชให้เป็นสามเณรก่อน เพราะขณะนั้นพระเถระจำพรรษาอยู่ที่เมืองกุรรฆระ อันเป็นเมืองชายแดน ไม่สามารถหาพระมาร่วมเป็นคณปูรกะ (เต็มคณะ) ได้ครบ ๑๐ รูป เนื่องจากพระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ว่า ในการบวชเป็นพระนั้น ต้องมีพระร่วมเป็นคณปูรกะตั้งแต่ ๑๐ รูปขึ้นไป จึงจะถือว่าบวชเป็นพระได้สำเร็จ เมื่อได้พระไม่ครบ ๑๐ รูป พระเถระจึงไม่สามารถบวชโสณะเป็นพระให้ได้
พระโสณกุฏิกัณณะบวชเป็นสามเณรอยู่ ๓ ปี พระมหากัจจายนะจึงสามารถหาพระมาร่วมเป็นคณปูรกะได้ครบ ๑๐ รูป ครั้นแล้วจึงได้บวชเป็นพระให้ด้วยวิธีญัตติจตุตถกรรมอุปสัมปทา
(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 130 กันยายน 2554 โดย ผศ.ร.ท.ดร.บรรจบ บรรณรุจิ)