• เตือนคนวัย 40 ปีขึ้นไป
รีบตรวจต้อหิน ก่อนตาบอด
รศ.นพ.ปริญญ์ โรจนพงศ์พันธุ์ หัวหน้าภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประธานชมรมต้อหิน แห่งเอเชียตะวันออกและใต้ กล่าวว่า จากการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับ การแพร่หลายของโรคต้อหิน โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในชุมชนร่มเกล้า เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ ในกลุ่มตัวอย่าง 701 ราย ซึ่งมีอายุ 50 ปีขึ้นไป พบว่า 1 ใน 7 มีโอกาสเป็นโรคต้อหินมุมปิด และผู้หญิงมีความเสี่ยงสูงกว่าผู้ชาย 3 เท่า
ดังนั้น คนวัย 40 ปีขึ้นไป จึงควรเข้ารับการตรวจต้อหิน ซึ่งหากตรวจพบในระยะที่ขั้วประสาทตาของคนไข้ยังไม่ถูกทำลาย แพทย์สามารถรักษาเพื่อป้องกันได้ หากตรวจพบช้าอาจถึงขั้นทำให้สูญเสียการมองเห็นถาวร และถ้าถึงขั้นตาบอด คนไข้จะไม่สามารถผ่าตัดเปลี่ยนดวงตาได้อีก เพราะประสาทในสมองที่เกี่ยวข้องกับการมองเห็น จะเกิดการสูญเสียไปด้วย โรคต้อหิน นั้น 9 ใน 10 คน มักจะไม่มีอาการ โอกาสที่จะสังเกตอาการมีเพียง 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น เมื่อพบว่าเป็นโรคต้อหินประสาทตาของคนไข้จะถูกทำลายไปแล้วมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ต้อหินจึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้คนตาบอดถาวร ที่สำคัญโรคต้อหินจะมาแบบไม่รู้ตัว
โดยต้อหินแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ 1. ต้อหินมุมเปิด พบบ่อยที่สุด เกิดจากความดันในลูกตาสูงขึ้นทีละน้อย 2. ต้อหินมุม ปิด เกิดจากการที่มุมระหว่างม่านตากับกระจกตาแคบ ทำให้เกิดการอุดตันของทางระบายน้ำหล่อเลี้ยงภายในลูกตา ส่งผลให้ความดันตาสูงขึ้น 3. ต้อหินในเด็ก พบได้ตั้งแต่เกิด เป็นได้ทั้งต้อหินชนิดมุมเปิดและมุมปิด อาการต้อหินที่สังเกตได้คือ ปวดศีรษะ ปวดตา ตามัว มองเห็นแต่ตรงกลางและจะมีปัญหาในการมองเห็นจากด้านข้าง
• การหัวเราะ รักษาโรคเบาหวาน
มีข้อมูลจากนักจิตประสาทภูมิคุ้มกันแห่งมหาวิทยาลัยโลมาลินดา รัฐแคลิฟอร์เนียร์ ว่าเสียงหัวเราะของผู้ป่วยเบาหวานช่วยลดระดับโคเลสเตอรอล และลดความเสี่ยงโรคหัวใจได้ โดยทําการทดลองกับผู้ป่วยเบาหวานประเภทสอง อายุราว 50 ปี จํานวน 20 คน ทุกคนได้รับการรักษาทางการแพทย์ตามมาตรฐาน ทั้งกินยาลดความดัน และยาลดระดับ โคเลสเตอรอล
ผูู้ทดลองแบ่งผู้ป่วยเบาหวานออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกใช้วิธีรักษาด้วยยาตามปกติ ส่วนกลุ่มที่สองได้รับทั้งยาและการบําบัดด้วยการหัวเราะ โดยให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้ดูหนัง ฟังเพลงที่ตนเองชอบวันละ 30 นาที ต่อเนื่องนาน 12 เดือน ได้ผลการทดลองออกมาว่า ผู้ป่วยกลุ่มที่สองมีปริมาณโคเลสเตอรอลชนิดดี หรือเอชดีแอลเพิ่มขึ้น 26 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่กลุ่มแรกมีเอชดีแอลเพิ่มขึ้นแค่ 3 เปอร์เซ็นต์ ส่วนสารบ่งชี้การอักเสบหรือซีรีแอคทีฟโปรตีน ก็ลดลงมากถึง 66 เปอร์เซ็นต์ ในกลุ่มที่สอง และ 26 เปอร์เซ็นต์ ในกลุ่มแรก
ผู้วิจัยให้เหตุผลว่า ขณะหัวเราะ ร่างกายจะเผาผลาญโคเลสเตอรอลชนิดเลว และเพิ่มปริมาณโคเลสเตอรอลชนิดดี ช่วยป้องกันโรคหัวใจ และเพิ่มภูมิคุ้มกันการติดเชื้อได้
• ผู้หญิงอ้วน...เสี่ยงมะเร็งเต้านม
มะเร็งเต้านมเป็นสาเหตุการเสียชีวิตในสตรีสหรัฐถึง 500,000 คน รองจากมะเร็งปอด หรือประมาณ 1.3 ล้านคนทั่วโลก นักวิทยาศาสตร์พบว่าน้ำหนักตัวที่เพิ่มมากเกินไปมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็งเต้านม ซึ่งสาเหตุมาจากฮอร์โมนเอสโตรเจน พวกเขากล่าวว่า สตรีที่มีน้ำหนักเกิน มีความเสี่ยงสูงร้อยละ 35 ที่จะเป็นมะเร็งเต้านม เพราะว่าเอสโตรเจนจะสะสมในไขมันและช่วยให้เนื้องอกเจริญเติบโต ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 20-30 ของโรคมะเร็ง
เนื้องอกเนื่องจากมะเร็งเรียกว่า เอสโตรเจนรีเซ็พเตอร์ เพราะมันใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจนในการเจริญเติบโต ประมาณ 20% คือเอชอีอาร์ทูโพสซิทีฟ เพราะมีโปรตีนเอชอีอาร์ทูเข้ามาเกี่ยวข้อง
• ขาดวิตามินดี ส่งผลความดันโลหิตสูง
จากการวิจัยครั้งใหม่ ระบุว่า คนที่มีวิตามินดีในร่างกายอยู่ในระดับต่ำ มีโอกาสสูงที่เส้นเลือดแดงจะแข็งตีบตัน ทำให้หลอดเลือดขาดความยืดหยุ่น
ทั้งนี้ การค้นพบของนักวิทยาศาสตร์แห่งสถาบันพยากรณ์สุขภาพ (สถาบันที่เกิดจากความร่วมมือระหว่าง มหาวิทยาลัยเอมเมอรี่ และจอร์เจีย เทค) ในสหรัฐอเมริกา ช่วยเพิ่มเติมหลักฐานที่ว่า การขาดวิตามินดี อาจทำให้สภาพหลอดเลือดเสื่อม ทำให้ความดันโลหิตสูง และเสี่ยงที่จะเกิดโรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือดหัวใจตามมา
• สปสช.จัดระบบดูแลผู้ป่วย
"หลอดเลิอดสมองตีบตัน"
นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า โรคหลอดเลือดสมองเป็นโรคที่ทำให้เกิดความพิการในระดับต้นๆ ซึ่งเป็นปัญหาของระบบสาธารณสุขไทย เมื่อเกิดอาการโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันแล้ว ผู้ป่วยต้องได้รับการรักษาโดยการฉีดยาละลายลิ่มเลือดทันเวลาภายใน 3 ชั่วโมง อย่างไรก็ตามในปีงบประมาณ 2553 ที่ผ่านมา พบว่า มีผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือดทันเวลามีเพียงร้อยละ 0.90 เท่านั้น ซึ่งทำให้มีอัตราการเสียชีวิตและความพิการสูงมาก จึงมีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่ต้องมีระบบการดูแลรักษาที่ถูกต้องรวดเร็วและมีความพร้อมจะช่วยลดความพิการและอัตราเสียชีวิตลงได้
เลขาธิการ สปสช.กล่าวต่อว่า สำหรับอาการเบื้องต้นที่แสดงถึงภาวะหลอดเลือดสมองตีบ หรืออุดตันเฉียบพลัน คือ มีอาการหน้าเบี้ยวข้างใดข้างหนึ่ง เมื่อบอกให้ผู้ป่วยยิ้มหรือยิงฟัน มีอาการแขนตกข้างใดข้างหนึ่งโดยให้ผู้ป่วยยกมือยื่นตรง ทั้ง 2 ข้าง เมื่อให้ผู้ป่วยลองกำมือจะมีแรงลดลงข้างใดข้างหนึ่ง และมีการพูดผิดปกติ เมื่อมีอาการดังกล่าว ญาติควรติดต่อเข้ารับบริการที่รพ.ใกล้ที่สุดก่อน ไม่ต้องเป็นรพ.ตามสิทธิ หรือติดต่อสายด่วน สปสช.1330 ซึ่งเจ้าหน้าที่จะซักประวัติ เบื้องต้น หากเข้าเกณฑ์ภาวะหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตันเฉียบพลัน ก็จะแนะนำให้เข้ารับบริการที่รพ.ในโครงการ และหากผู้ป่วยมีภาวะวิกฤตก็จะประสานสายด่วน 1669 ในการให้บริการรถนำส่งรพ.
(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 127 มิถุนายน 2554 โดย ธาราทิพย์)