“ดวงตา เป็นสิ่งสำคัญในชีวิตของคนเรา แต่หากตาคู่นั้นกำลังจะมืดมิดในวัยสูงอายุ คุณเคยคิด ไหมว่าหากย้อนเวลาได้ เราจะรับมืออย่างไร”
• โรคจุดภาพชัดที่จอตาเสื่อมคืออะไร
โรคจุดภาพชัดที่จอตาเสื่อม (Macular degeneration) เป็นกลุ่มโรคที่เกิดจากการเสื่อมของบริเวณจุดภาพชัดของจอตา ทำให้สูญเสียการมองเห็นส่วนกลางของภาพ หากพบในผู้มีอายุ 50 ปี ขึ้นไป จะเรียกว่า “โรคจุดภาพชัดที่จอตาเสื่อมในผู้สูงอายุ” (Age related Macular degeneration) ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้กลุ่มผู้สูงอายุสูญเสียการมองเห็น โดยจะทำให้สูญเสียการมองเห็นเฉพาะภาพตรงส่วนกลาง โดยที่ภาพด้านข้างของการมองเห็นยังดีอยู่ เช่น คุณอาจเห็นขอบของนาฬิกา แต่ไม่สามารถบอกได้ว่า เป็นเวลาอะไร
ผู้ที่มีโรคจุดภาพชัดที่จอตาเสื่อม อาจไม่มีอาการในระยะเริ่มต้น ถ้าบริเวณที่เสื่อมมีขนาดเล็กมาก และหากจุดภาพชัดของตาอีกข้างยังปกติ เมื่อใช้ตา 2 ข้างร่วมกัน ผู้ป่วยอาจไม่สังเกตว่ามีการเปลี่ยนแปลง ต่อมาเมื่อความเสื่อมมากขึ้นจึงมีอาการมองภาพไม่ชัด เห็นภาพบิดเบี้ยว เห็นจุดดำ หรือจุดบอดที่บริเวณส่วนกลางภาพในที่สุด โดยไม่มีอาการเจ็บปวด ดังนั้น โดยตัวของโรคจอประสาท ตาเสื่อม จะไม่ทำให้การมองเห็นมืดสนิทไปทั้งหมด แม้แต่ในรายที่เป็นมาก คนไข้จะยังพอมองเห็นทางด้านขอบข้างของภาพ และพอที่จะช่วยเหลือดูแลตัวเองได้บ้าง
โรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย เช่น การเสื่อมสภาพของร่างกายตามวัย ซึ่งโดยธรรมชาติสัดส่วนของสารต้านอนุมูลอิสระในร่างกายของคนเราจะแปรผันไปตามอายุที่มากขึ้น ทำให้มีการสะสมของอนุมูลอิสระและเกิดการเสื่อมของส่วนต่างๆในร่างกายมากขึ้นโดยเฉพาะที่จอตา และจะมีความเสี่ยงสูงขึ้นหากมีประวัติคน ในครอบครัวเป็นโรคนี้มาก่อน มีพฤติกรรมการใช้สายตาที่ต้องเผชิญกับแสงแดดนานๆ หรือมีการสูบบุหรี่ร่วมด้วย
จากหลักฐานทางการแพทย์พบว่า ผู้ที่สูบบุหรี่มีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคจุดภาพชัดที่จอตาเสื่อมเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า และมีโอกาสเกิดโรคนี้เร็วกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ถึง 10 ปี นอกจากนี้แล้ว ผู้ที่ป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูงและมีระดับไขมันในเลือดสูง รวมถึงสตรีวัยหมดประจำเดือนที่ไม่ได้กินฮอร์โมนทดแทน ก็พบว่ามีความเสี่ยงสูงขึ้นในการเป็นโรคนี้เช่นกัน
• 2 แบบของโรคจุดภาพชัดที่จอตาเสื่อมในผู้สูงอายุ
1. แบบแห้ง เกิดจากการเสื่อมและบางตัวลงของบริเวณศูนย์กลางรับภาพของจอตา ทำให้การมองเห็นค่อยๆ ลดลง โดยที่อาการของโรคจะเป็นไปอย่างช้าๆ
2. แบบเปียก พบได้ประมาณ 15-20% ของโรคจุด ภาพชัดที่จอตาเสื่อมในผู้สูงอายุ เกิดจากการเสื่อมโดยมีเส้นเลือดผิดปกติงอกขึ้นมาใหม่ หากเส้นเลือดที่งอกใหม่นี้เปราะบาง จะเกิดการรั่วซึม ทำให้จุดภาพชัดบวมมองเห็นภาพบิดเบี้ยว และสูญเสียการมองเห็นในส่วนกลางในที่สุด
• ปัญหาของโรคจุดภาพชัดที่จอตาเสื่อมในผู้สูงอายุ
ส่วนใหญ่คนไข้มักจะไม่รู้ตัวว่า มีอาการของโรคดังกล่าวเกิดขึ้น เนื่องจากการเสื่อมอาจเกิดในตาข้างเดียว หรือเสื่อมไม่เท่ากันทั้ง 2 ข้าง ทำให้การมองเห็นโดยรวมยังดีอยู่ จนกว่าจะมีการเสื่อมที่ค่อนข้างมากแล้วจึงจะสังเกตได้ว่า การมองเห็นผิดไปจากเดิม เช่น ตาพร่ามัวลง ความชัดเจนในการมองเห็นลดลง มองเห็นภาพบิดเบี้ยว มองเห็นตรงกลางของภาพไม่ชัดเจน ดังนั้น ถ้าพบความผิดปกติเหล่านี้ ควรรีบปรึกษาแพทย์ อย่านิ่งนอนใจ เนื่องจากการตรวจพบและรักษาในระยะแรก จะป้องกันการเกิด จุดบอดที่จุดภาพชัดได้
• ทดสอบสภาพจอตาด้วยตารางตรวจ
จุดภาพชัด (Amsler Grid)
จักษุแพทย์จะแนะนำให้ผู้สูงอายุที่มีโอกาสเกิดโรคจุดภาพชัดที่จอตาเสื่อม หรือผู้ที่เป็นโรคจุดภาพชัดที่จอตาเสื่อมแล้ว ทดสอบสภาพจอตาเป็นประจำด้วยการมองตารางตรวจจุดภาพชัด (Amsler grid) โดยสามารถทำการ ทดสอบได้ด้วยตนเอง ดังนี้
1. เมื่อจะทดสอบการมองเห็น ไม่ต้องถอดแว่นตา หรือคอนแทคเลนส์ที่ใส่อยู่ออก
2. มองแผ่นภาพนี้ในระดับสายตา บนผนังที่มีแสงสว่างเพียงพอ
3. ยืนห่างจากแผ่นภาพตารางประมาณ 14 นิ้ว ใช้มือปิดตาข้างหนึ่งไว้ มองที่จุดตรงกลางแผ่นภาพ ด้วยตาข้างที่เปิดอยู่
4. ขณะที่จ้องจุดตรงกลางนี้ให้สังเกตว่าตารางสี่เหลี่ยมที่เห็นเป็นเส้นตรงหรือไม่ และมีขนาดเท่ากันหรือไม่
5. ถ้าพบว่าส่วนไหนของตารางไม่ชัด หรือโค้งเป็นลักษณะคลื่น บิดเบี้ยว ขาดจากกัน พร่ามัว หรือบางพื้นที่ หายไปจากพื้นที่ที่มองเห็น หรือมีการเปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับการตรวจครั้งสุดท้าย ควรพบจักษุแพทย์ทันที
6. ทำการทดสอบซ้ำเช่นเดียวกับตาอีกข้าง
“หากหมั่นใส่ใจเสียแต่วันนี้ สุขภาพตาต้องดีครับ”
หลากวิธีรักษาและถนอมดวงตา
โรคจุดภาพชัดที่จอตาเสื่อมนั้นมีการรักษาหลายวิธี ทั้งการรักษาด้วยการยิงเลเซอร์ การฉีดยาเพื่อยับยั้งเส้นเลือดใหม่ที่งอกขึ้นมา หรือแม้กระทั่งการผ่าตัด แต่เหล่านี้สู้การดูแลสุขภาพดวงตาตั้งแต่ยังหนุ่มสาวไม่ได้ ซึ่งนับเป็นหนทางที่ดีที่สุด สรุปเป็นข้อๆ ได้ดังนี้
1. งดสูบบุหรี่
2. หลีกเลี่ยงการเผชิญแสงแดดจัดเป็นประจำ หรือถ้าจำเป็นควรใช้แว่นตากันแดดที่มีการกรองแสงยูวี
3. ควบคุมน้ำหนักตัว ไม่กินอาหารที่มีไขมันสูง ควรเพิ่มการกินผักใบเขียวและผลไม้ทุกวัน
4. การตรวจสุขภาพตาเป็นประจำทุก 1-2 ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป แม้ไม่มีอาการผิดปกติใดๆ แต่ก็เริ่มจะมีปัญหาเรื่องสายตาเปลี่ยนแปลง หรืออาจมีความผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับดวงตาที่ไม่แสดงอาการอย่างอื่น เช่น ต้อหิน ต้อกระจก การตรวจพบและให้การรักษาโรคตั้งแต่ระยะแรก จะสามารถเยียวยาให้ดวงตาสามารถใช้งานได้ต่อไป
(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 124 มีนาคม 2554 โดย ผศ.นพ.ณัฐวุฒิ รอดอนันต์ ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล)