ศูนย์ข่าวนครราชสีมา- “โรคต้อหิน” มหันตภัยร้ายทำลายดวงตาชาวโคราชบอดเฉลี่ยปีละ 5,000-6,000 ราย แพทย์ระบุเป็นโรครักษาไม่หาย ทำให้ตาบอดอันดับ 2 รองจากต้อกระจก ระบุคนไข้มักไม่รู้ตัวจนพบว่าตาใกล้บอดแล้วจึงเข้ามารักษา แนะกลุ่มเสี่ยงหญิงอายุ 40 ปีขึ้นไป และผู้เป็นโรคเบาหวาน-ความดัน ควรตรวจสายตาปีละครั้ง
วันนี้ (9 มี.ค.) ที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา อ.เมือง จ.นครราชสีมา นพ.ธีรพล โตพันธานนท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา เป็นประธานเปิดกิจกรรมรณรงค์เนื่องในวันต้อหินโลก ภายใต้ชื่องาน “ตาใส ห่างไกล ต้อหิน” เพื่อให้ประชาชนได้เข้าใจถึงการเกิดโรคและการป้องกันโรคต้อหิน รวมทั้งเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ตรวจสุขภาพตาฟรี เพื่อค้นหาภาวะเสี่ยงการเกิดโรคต้อหิน
นพ.ธนภูมิ รังสินธุ์ จักษุแพทย์โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา กล่าวว่า โรคต้อหิน คือ โรคทางตาที่ผู้ป่วยจะค่อยๆ สูญเสียลานสายตา โดยจะเริ่มจากขอบด้านนอกก่อน ซึ่งคนส่วนใหญ่มักไม่ทราบว่าตัวเองเป็นโรคนี้โดยเฉพาะในระยะแรก เพราะอาการยังไม่ชัดเจนพอทราบว่าเป็นต้อหิน ตาก็ใกล้บอดแล้ว ในผู้ป่วยบางรายหากเป็นต้อหินชนิดเฉียบพลันถึงจะมีอาการปวดศีรษะ ปวดตา คลื่นไส้ อาเจียน เห็นสีรุ้งรอบดวงไฟ ที่อันตรายที่สุด คือ ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องทันท่วงทีลานสายตาจะค่อยๆ แคบลงจนตาบอดในที่สุด ไม่สามารถรักษาให้กลับคืนมามองเห็นได้
จากสถิติการรักษาของ โรงพยาบาลมหาราช นครราชสีมา พบว่า โรคต้อหินเป็นโรคที่ทำให้ตาบอดได้เป็นอันดับ 2 โดยอันดับ 1 คือ โรคต้อกระจก แต่โรคต้อกระจก และโรคต้อเนื้อ สามารถรักษาให้หายได้แต่โรคต้อหินเป็นโรคที่รักษาไม่หายและต้องรักษาไปตลอดชีวิต ผู้ที่เป็นโรคนี้อาจสูญเสียการมองเห็นแบบถาวรได้ เพราะว่าขั้วประสาทตาถูกทำลาย พบโรคนี้มากในผู้หญิงที่อายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป และผู้ที่มีประวัติทางพันธุกรรมคนในครอบครัวเป็นมาก่อน หรือมีประวัติใช้ยาสเตียรอยด์มาก และเคยผ่าตัดโรคตามาก่อน, ผู้ป่วยโรคเบาหวาน, โรคหัวใจ และความดันโลหิตสูง
นพ.ธนภูมิ กล่าวต่อว่า อัตราผู้ป่วยเป็นโรคต้อหินของ จ.นครราชสีมา เฉลี่ยแล้วมี 5,000-6,000 คนต่อปี ส่วนทั่วประเทศมีกว่า 2 ล้านคน โดยสถิติผู้ป่วยของ จ.นครราชสีมา ปี 2551 พบผู้ป่วย 3,358 ราย, ปี 2552 มีผู้ป่วย 6,107 ราย, ปี 2553 มีผู้ป่วย 6,502 ราย และโรคนี้มีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี เพราะต้อหินเป็นโรคที่จะสร้างน้ำในลูกตา ซึ่งโดยปกติลูกตาจะสร้างน้ำหล่อเลี้ยงตัวเองอยู่แล้ว เมื่อสร้างแล้วก็ต้องมีการระบายออก เมื่อคนเรามีอายุมากขึ้นท่อระบายน้ำก็อาจอุดตันและทำให้เกิดความดันขึ้นได้เอง คนไข้โรคต้อหินส่วนใหญ่จะไม่มีอาการ
ดังนั้น ผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ต้องไปตรวจสายตาอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง วิธีการป้องกันรักษา คือ 1.ไม่ซื้อยาหยอดตามาหยอดเอง 2.ใส่แว่นกันแดดเวลาออกแดด
“การรักษาเพื่อชะลอหรือหยุดยั้งการลุกลามของโรคต้อหินทำได้โดยการควบคุมความดันลูกตา แต่ยังไม่มีการรักษาใดที่ทำให้กลับมามองเห็นเป็นปกติได้ ซึ่งปัจจุบันแนวทางการรักษาโรคต้อหินมี 3 วิธีหลักๆ คือ 1.การใช้ยาหยอดตาลดความดันตา 2.การรักษาด้วยแสงเลเซอร์ และ การรักษาด้วยการผ่าตัด อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ดีที่สุด คือ ประชาชนควรรับการตรวจสุขภาพตาจากจักษุแพทย์ อย่างน้อยปีละครั้ง” นพ.ธนภูมิ กล่าว