xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมปฏิบัติ : ฌาน - สมาธิ (ต่อจากฉบับที่แล้ว)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ท่านไม่ได้กล่าวถึงว่าสมาธิมีเท่านั้นเท่านี้ เพราะมิใช่การรู้เพ่งอย่างฌาน จะจับเอาอะไรมาพิจารณาก็ได้ แม้ที่สุดนำอารมณ์ของฌานมาพิจารณาก็ได้ ขอแต่ให้พิจารณาเป็นพระไตรลักษณญาณก็แล้วกัน จิตจะรวมลงสมาธิได้เหมือนกัน

จิตของผู้ที่ได้สมาธิแล้วมี ๓ ภูมิ หยาบและละเอียดโดยลำดับ แต่ท่านไม่ได้เรียกว่า ภวังค์ เหมือนกับฌาน ท่านเรียกว่า สมาธิ เพราะพิจารณาเห็นตามเป็นจริงในอารมณ์ที่ตนพิจารณาแล้วนั้น คือ

๑. ขณิกสมาธิ เมื่อนักปฏิบัติกำหนดเอาอารมณ์ของสมาธิอันใดอันหนึ่งมาเป็นอารมณ์กัมมัฏฐาน เป็นต้นว่า พุทโธๆ อยู่นั้น จิตส่วนหนึ่งจะแวบเข้าไปเห็นผู้รู้ที่ว่า พุทโธๆ นั้นชัดเจน เหมือนกับมีผู้มาบอกให้ฉะนั้น พร้อมกับจิตรวมเป็นสมาธิขณะหนึ่ง แล้วก็หายไป แต่จิตไม่ได้ลืมสติ รู้ตัวอยู่ดีๆ นั่นเอง เรียกว่า ขณิกสมาธิ

ขณิกสมาธินี้ นักปฏิบัติทั้งหลายเป็นไม่เหมือนกันแต่ขอให้สังเกตไว้ว่า ขณะที่จิตรวมมีสติรู้ตัวอยู่ เรียกว่า สมาธิ ถ้าลืมตัวส่งไปตามอารมณ์ที่เกิดขึ้นเรียกว่า ฌาน

๒. อุปจารสมาธิ
นักปฏิบัติมากำหนดเอาอารมณ์ของขณิกสมาธิเช่นนั้นเหมือนกัน หรืออารมณ์อันใดที่ตนชำนิชำนาญแล้วติดอยู่ในใจของตนเองก็ได้ พิจารณาอยู่เฉพาะอารมณ์อันเดียว ไม่ส่งไปจากอารมณ์อันนั้นตลอดเวลา ยืน เดิน นั่ง นอน แต่ไม่รวมลงเป็นอัปปนา เรียกว่า อุปจารสมาธิ

ก่อนจะเข้าถึง อัปปนาสมาธิ หรือเมื่อถึงอัปปนาแล้ว จิตถอนออกมาอยู่ในอุปจาระ ก็มีอาการเช่นเดียวกัน แต่นุ่มนวลและละเอียดกว่า ตอนนี้จะทำให้เกิดปัญญาและความรู้ต่าง ๆ ที่เรียกว่า อภิญญา มีหูทิพย์ ตาทิพย์ เป็นต้น เช่น พระโมคคัลลานะเมื่อท่านลงมาจากภูเขาคิชฌกูฏ เห็นเปรตตัวหนึ่งมีร่างกายยาว ๓๐๐ เส้น มีปากเล็กเท่ารูเข็ม แล้วท่านหัวเราะในลำคอ พระลักขณะเถระผู้ติดตามเห็นดังนั้นเข้าใจว่าท่านเห็นนางเทพธิดา จึงถามท่าน ท่านก็ไม่บอก พอมาถึงสำนักพระพุทธเจ้า พระเถระก็กราบทูลเหตุนั้นถวายพระองค์ให้ทรงทราบ พระองค์จึงตรัสถามพระโมคคัลลานะ พระโมคคัลลานะก็กราบทูลพระองค์ดังกล่าวข้างต้น พระองค์ตรัสว่า “จริงอย่างโมคคัลลานะว่า เราได้เห็นแล้วแต่แรกได้ตรัสรู้ใหม่ๆ แต่ไม่มีใครเป็นพยาน นี่โมคคัลลานะเป็นพยานของเรา” แต่ถ้าควบคุมสติไว้ไม่ได้จะเตลิดเปิดเปิงไปใหญ่ นักปฏิบัติทั้งหลายจะเสียก็ตรงนี้เอง ถ้าควบคุมจิตของตนไว้ไม่ได้

เมื่อเกิดความรู้และปัญญาต่างๆ แล้วรวมเข้ามาเป็นอัปปนาสมาธิ เพราะพิจารณาเห็นว่า ความรู้และปัญญาเหล่านั้นก็เป็น อนิจจัง ไม่เที่ยง รู้แล้วก็หายไป ทุกขัง เป็นทุกข์ เพราะทนอยู่ไม่ได้ ประเดี๋ยวก็รู้ ประเดี๋ยวก็ไม่รู้ ถึงรู้และไม่รู้ สิ่งที่เราไปรู้ไปเห็นนั้นมันหากเป็นอยู่อย่างนั้นแต่ไหนแต่ไรมา รู้และไม่รู้มันก็ไม่ว่าอะไรกับใคร อนัตตา ไม่ใช่เป็นของของเรา มันเป็นจริงอย่างไรมันเป็นจริงของมันอยู่อย่างนั้น เป็นธรรมะทั้งหมด ไม่ว่าจะดีหรือชั่ว บาปหรือบุญ ธรรมะเป็นผู้แต่งมาทั้งนั้น

เมื่อจิตรวมเข้ามาเป็นอัปปนาสมาธิอยู่พักหนึ่งแล้วก็ถอนออกไปเป็นอุปจาระ ออกๆ เข้าๆ อยู่อย่างนี้ จิตของท่านผู้นั้นจะมีพลังแก่กล้า เดินก้าวหน้าได้อย่างดีที่สุด

๓. อัปปนาสมาธิ จิตจะรวมเข้าอย่างสนิทจนถอนอารมณ์ภายนอกออกหมดไปอยู่อันหนึ่งของมันต่างหากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ซึ่งเป็นสมมุติบัญญัติจะไม่มี ณ ที่นั้นเลย ยังเหลือแต่ผู้รู้อันเดียว บางทีมีคนมาเรียกได้ยินเสียง (เพราะประสาทหรือเซลล์ยังมีอยู่) แต่ไม่รู้ว่าเป็นเสียงอะไร เมื่อออกจากอัปปนาสมาธิแล้ว ในขณะนั้น มองดูคนและสิ่งต่างๆ จะเห็นเป็นสักแต่ว่าเท่านั้น ไม่มีสมมุติบัญญัติว่าคนหรือสิ่งนี้สิ่งนั้น อาการเช่นนี้จะเป็นอยู่สัก ๕ นาที ๑๐ นาที แล้วจึงค่อยๆ ลงจนเป็นปกติสมมุติบัญญัติตามเคย

ฌาน และ สมาธิ เป็นอันเดียวกันและต่างกัน

ฌาน ได้แก่การเพ่งในอารมณ์นั้นๆ ให้เป็นไปตามปรารถนาของตน เมื่อสังขารปรุงแต่งอยู่นั้น จิตก็จะรวมลงในอารมณ์ที่ปรุงแต่งนั้น แล้วก็เป็นไปตามปรารถนาของตน ดังอธิบายมาแล้ว เรียกว่า ฌาน

สมาธิ ได้แก่ การพิจารณาให้เห็นเหตุผลของมันตามความเป็นจริง จนจิตหยุดนิ่งอยู่ไม่คิดนึกต่อไป ยังเหลือแต่ผู้รู้ เรียกว่า สมาธิ

ฌาน และ สมาธิ นี้ จิตรวมเหมือนกัน ถ้าจิตไม่รวมก็ไม่เรียกว่า สมาธิ และ ฌาน

มีแปลกต่างกันที่ ฌานนั้น เมื่อจิตรวมเข้าแล้วจะลืมสติ เพ่งพิจารณาแต่อารมณ์อันเดียว หรือมีสมาธิอยู่ แต่ไปเพลินหลงอยู่กับภาพนิมิตและความสุขอันนั้นเสีย ไม่พิจารณาพระไตรลักษณญาณต่อไป หรือที่เรียกว่าความเห็นเป็นไปหน้าเดียว นี่เรียกว่า ฌาน

ส่วนสมาธินั้นเมื่อจิตรวมหรือไม่รวมก็มีสติรักษาจิตอยู่ตลอดเวลา รู้ตัวอยู่ว่าเราอยู่ในสภาพเช่นไร พิจารณาอะไร หยาบหรือละเอียดแค่ไหน เรียกว่า สมาธิ

บางทีเมื่อจิตถอนออกมาจากฌานแล้ว มาพิจารณาองค์ฌานนั้นหรือพิจารณาอารมณ์อันใดก็ตาม จนจิตแน่วแน่อยู่เฉพาะอารมณ์นั้น หรือเพ่งอารมณ์ของฌานอยู่แต่กลับไปพิจารณาพระไตรลักษณญาณเสีย จิตไม่รวมเป็นภวังค์เรียกว่า ฌานกลับเป็นสมาธิ

เมื่อพิจารณาอารมณ์ของสมาธิอยู่หรือออกจากสมาธิแล้วก็ตาม จิตไปยินดีน้อมเข้าสู่ความสงบสุข เลยไม่พิจารณาเอาอารมณ์ของสมาธินั้น จิตรวมเข้าไปเป็น ภวังค์ เรียกว่า สมาธิกลับมาเป็นฌาน

ฌานและสมาธินี้กลับเปลี่ยนกันไปกันมาอยู่อย่างนี้ เป็นธรรมดาของผู้ปฏิบัติ ไม่เป็นการเสียหายอะไร ขอแต่ให้รู้เรื่องของมันว่า อันนี้เป็นฌาน อันนี้เป็นสมาธิ อย่าไป ติดในอารมณ์นั้นๆก็แล้วกัน ทำให้ชำนิชำนาญคล่องแคล่วแล้วจะอยู่ในอารมณ์อันใดก็ได้

พระบรมศาสดาเมื่อทรงพระชนม์อยู่ หรือพระสาวกทั้งหลายเมื่อยังมีชีวิตอยู่ ก็ต้องเพ่งพิจารณาฌานนี้เป็นวิหารธรรมเครื่องอยู่ของท่าน ธรรมดาจิตจำเป็นต้องมีความคิดความนึกอยู่เสมอ ท่านเห็นโทษในอารมณ์นั้นๆ ว่าเป็นไปเพื่อวัฏฏะ เพราะฉะนั้น ท่านจึงน้อมเอาจิตมาพิจารณาให้เป็นฌานเสีย เพื่อเป็นเครื่องอยู่ในทิฏฐธรรมของท่าน

ฌาน และ สมาธิ นี้ต้องอาศัยซึ่งกันและกัน พระองค์จึงตรัสว่า ผู้ไม่มีฌานก็ไม่มีสมาธิ ผู้ไม่มีสมาธิก็ไม่มีฌาน ดังนี้ เอวํ ฯ

(แสดงธรรม ณ วัดหินหมากเป้ง อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย
วันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๒๒)


(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 127 มิถุนายน 2554 โดย หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี วัดหินหมากเป้ง จ.หนองคาย)
กำลังโหลดความคิดเห็น