xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมะกับชีวิตประจำวัน : แดนเกิดทุกข์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“ทุกข์” ที่เกิดขึ้นแก่คนและสัตว์ ย่อมมีสาเหตุมาจากจุดบกพร่อง เช่น ร่างกายเป็นโรคอันเป็นทางมาของ ทุกข์ ก็แสดงว่า ร่างกายมีส่วนบกพร่องภายในตัว หากว่าร่างกายยังสมบูรณ์อยู่ทุกๆ ส่วนแล้ว จะไม่มีช่องทางให้ทุกข์เกิดได้เลย จะเห็นได้จากคนไข้ด้วยโรคชนิดต่างๆ พากันหลั่งไหลเข้าไปให้หมอตรวจ และรักษาที่โรงพยาบาล ทั้งนี้ล้วนเป็นผู้มีส่วนบกพร่องในร่างกายทั้งนั้น ไม่ใช่ผู้มีร่างกายอันสมบูรณ์เลย

แม้การตรวจโรคและการให้ยาของหมอ ก็คือตรวจดูสิ่งบกพร่อง และการแก้ไขซ่อมแซมสิ่งบกพร่องของคนไข้ ให้สมบูรณ์ขึ้นนั่นเอง ถ้าร่างกายเริ่มดีขึ้น คนไข้ก็เริ่มมีความสุข เพราะโรคถูกกับยา ถ้าร่างกายได้รับการรักษาโดยถูกต้อง โรคก็หาย ทุกข์ก็ดับไปนั่นเอง

พระพุทธเจ้าเป็นผู้ฉลาดจึงไม่ทรงสอนให้แก้ทุกข์ ซึ่งเป็นตัวผล แต่ทรงสอนให้แก้ต้นเหตุ คือความบกพร่อง หรือสิ่งบกพร่อง อันเป็นสาเหตุที่เกิดขึ้นแห่งทุกข์ที่เรียกว่า “สมุทัย” แปลว่าแดนเกิดขึ้นแห่งทุกข์ เมื่อเหตุดับผลก็ดับไปเอง

การที่พระพุทธเจ้าทรงยกเอาทุกข์ขึ้นมาประกาศก่อนอื่น ก็คือการชี้บอกหลักฐานความจริงให้ทราบ เพื่อจะได้ค้นหาสาเหตุที่เป็นมา แล้วทำการแก้ไขให้ถูกทาง เช่น เดียวกับของกลางที่โจรลักไป เจ้าหน้าที่ต้องถือเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญเพื่อจะผูกมัดโจรให้อยู่ในเงื้อมมื้อ ฉะนั้น

การแสวงหาอาชีพไม่เพียงพอกับความจำเป็นในครอบครัว ย่อมเกิดความทุกข์เดือดร้อนขึ้นมาในครอบครัว เพราะไม่ว่าคนและสัตว์ถ้ามีเครื่องบำรุงด้วยความสมบูรณ์ แล้ว ความทุกข์เดือดร้อนไม่ค่อยมีในหมู่ชนและครอบครัวนั้นๆ ถ้าหาไม่แล้ว แม้แต่คู่สามีภรรยาซึ่งเป็นที่รักยิ่งของกันและกัน ก็ยังกลายเป็นคู่เวรและแยกทางเดินกันได้ ทั้งนี้ เนื่องจากความบกพร่องในการแสวงหาอาชีพและทางอื่นๆ อีกเข้าผสมกัน ทุกข์ในครอบครัวจึงเกิดขึ้น เพราะความอดอยากขาดแคลน มีไม่เพียงพอกับความจำเป็นที่จะพึงใช้ พึงรับประทานบ้าง เพราะราคะตัณหาไม่มีเพียงพอในอารมณ์บ้าง

ความบกพร่องเกิดได้หลายทางคือ เพราะความไม่ฉลาดในการทำมาหาเลี้ยงชีพ หารายได้ไม่ทันเขาบ้าง เพราะสุขภาพไม่สมประกอบบ้าง เพราะความโง่และเกียจคร้านเป็นเจ้าเรือนบ้าง ขี้เกียจทำงานหารายได้ แต่การจ่ายกับการกินนั้นลือนามบ้าง เพราะราคะตัณหาเข้าครอบงำจิต จนลืมสำนึกตัวและครอบครัวบ้าง นี้กล่าวไว้พอประมาณ

ถ้าความบกพร่องดังกล่าวนี้มีในที่ใดมาก ทุกข์ย่อมมีในที่นั้นมาก ท่านให้นามจุดบกพร่องนี้ว่า สมุทัย แปลว่า แดนเกิดทุกข์ ถ้าใครบกพร่องจุดไหน ทุกข์ก็เกิดตามจุดนั้น ที่พระพุทธเจ้าสอนให้มีความขยันหมั่นเพียร อย่าเป็นคนเกียจคร้าน ให้เก็บรักษาทรัพย์ที่หามาได้ อย่าใช้อย่างสุรุ่ยสุร่าย ให้จ่ายพอประมาณเท่าที่เห็นว่าจำเป็น ทั้งนี้เพื่อสอนให้คนรู้วิธีหลบหลีก “ทุกข์” และสอนวิชาปราบปราม “สมุทัย” คือ ตัวขี้เกียจ ด้วย “มรรค” คือ ความเข้มแข็งต่อการแสวงหาอาชีพ เพื่อ “นิโรธ” ความดับทุกข์ในครอบครัว เป็นต้น จะมีทางเกิดขึ้นเป็นความสุขในครอบครัวและหมู่ชนนั้นๆ

มิใช่พระพุทธเจ้าสอนคนให้นั่งงอมืองอเท้า ไม่คิดอ่าน หางานทำ แล้วนั่งกอดทุกข์ นอนกอดทุกข์ เพราะไม่มีอะไรจะใช้และรับประทาน ไม่ได้สอนให้กอดทุกข์อยู่โดยหาทางออกไม่ได้ อริยสัจทั้งหมดพระองค์นำมาสอนเพื่อเปลื้องทุกข์จากบรรดาสัตว์ทั้งนั้น ไม่มีอริยสัจบทใดจะสอนคนให้จมอยู่ในทุกข์ ทั้งสอนพระทั้งสอนฆราวาสผู้ครองเรือน แต่ทรงแยกวิธีสอนต่างกันไปบ้างตามเพศและฐานะ รวมแล้วเป็นเรื่องสอนคนให้มีความฉลาด ปลดเปลื้องตนออกจากทุกข์ทั้งนั้น

แต่เราพากันมองข้ามอริยสัจกันเสียมาก จึงไม่สามารถจะแก้ไขปลดเปลื้องทุกข์ ทั้งเกี่ยวกับเรื่องภายนอก เช่น ครอบครัวเหย้าเรือนสังคม และวงงานต่างๆ ทั้งทุกข์ที่เกิดขึ้นภายในใจโดยเฉพาะได้ นอกจากความคิดเห็นที่เข้าใจว่าทันสมัยนี้เท่านั้น จะพาให้เป็นอุปสรรคต่อตนเอง ในการครองชีพไม่เป็นไปเพื่อความสะดวกทันโลกเขา เพราะคำว่าทันสมัยนี้อาจจะเป็นสมัยของสมุทัย คือหาได้น้อยแต่จ่ายมาก ก็ไม่มีใครทราบได้

หากพยายามดำเนินตามทางอริยสัจชี้บอกแล้ว การแสวงหารายได้คงนับวันสมบูรณ์ การประพฤติตัวก็คงมีขอบเขต การจับจ่ายใช้ทรัพย์ก็คงรู้จักฐานะของทรัพย์และของตัว การสุรุ่ยสุร่ายจ่ายโดยเห็นว่าจำเป็นไปเสียทุกกรณี ก็คงมีความรู้จักประมาณเป็นเครื่องค้ำประกันไว้บ้าง ทรัพย์ที่หามาได้มากน้อยก็คงจะมีสถานที่จอดแวะบ้าง ความฟุ้งเฟ้อเห่อตามเพื่อนก็จะรู้สึกตัวบ้างว่า นั่นคือทางฉิบหาย เพราะเสียทั้งทรัพย์ เสียทั้งหลักนิสัย คือ นิสัยเป็นสมบัติสำคัญกว่าสมบัติใดในโลก ถ้าหลักนิสัยได้เสียไป เพราะความไม่คำนึงตัวเองในปัจจุบัน และอนาคตแล้ว จะหาโอกาสตั้งตัวไม่ได้ตลอดไป

ผู้ไม่มองข้ามหลักนิสัยพยายามดัดแปลงจิตใจให้เป็นไปในกรอบของศีลธรรม คือความดีงาม จะเป็นผู้มีความสง่าราศีในปัจจุบันและอนาคต เพราะหลักนิสัยคือหลักทรัพย์ ทรัพย์ทุกประเภทจะตั้งอยู่ได้เพราะหลักใจดี มีนิสัยมั่นคง ไม่เอนเอียงต่อสิ่งแวดล้อมโดยง่ายดาย มีเหตุผลเป็นเครื่องปกครองตนเองและทรัพย์สิน จะไม่เสื่อมเสียไปเพราะถูกหลอกลวงจากคนอื่นหรือถูกหลอกลวงจากตัวเอง แต่การหลอกลวงตนเองเป็นสิ่งที่เราจะมองเห็นได้โดยยาก ทั้งๆ ที่ถูกหลอกจากตัวเองอยู่ตลอดเวลา ทรัพย์สมบัติเก็บไว้ด้วยมือของตัวเอง แต่แล้วก็ตัวเป็นผู้สังหารทรัพย์โดยไม่คำนึงว่าควรหรือไม่ควร จับจ่ายตามความอยากเป็นเจ้าครองใจ เพียงเท่านี้ก็พอทราบได้ว่าตนถูกหลอกจากตนเองด้วยความสนิทใจ

เพราะฉะนั้น การที่พระศาสนาสอนคนให้รู้จักวิธีปฏิบัติต่อตัวเองโดยถูกต้องเพื่อปิดกั้นทางมาของทุกข์ จึงเป็นทำนองเดียวกันกับหมออธิบายเรื่องโรคและวิธีรักษาตัวให้แก่คนไข้นำไปปฏิบัติ เพื่อความปลอดภัยแก่ตัวเอง ซึ่งตรงกับอริยสัจที่สอนคนให้ฉลาดปกครองตัวเองด้วยการรู้สาเหตุทางมาของความสุขความทุกข์ และรู้วิธีแก้ไขและส่งเสริมตามเหตุการณ์ที่ควร

ผู้หวังความเจริญจึงควรแยกแยะอริยสัจไปปฏิบัติตามเพศและชั้นภูมิของตน จะเป็นผู้เจริญรุ่งเรืองทั้งปัจจุบันและอนาคต เพราะไม่เคยปรากฏพุทธบริษัทรายใดที่นำอริยสัจของพระพุทธเจ้าไปปฏิบัติแล้ว ได้รับความเสียหายและล่มจมไป นอกจากจะทำผู้นั้นให้เป็นคนดีและประเสริฐ จนกลายมาเป็นบุคคลตัวอย่างของโลกเท่านั้น

ที่กล่าวนี้โดยมากจะเป็น “อริยสัจ” ทั่วไป จะเรียกว่า “อริยสัจนอก” หรืออริยสัจครอบครัวก็ได้ ตามแต่จะเรียกด้วยความถนัดใจ

(เรียบเรียงจากส่วนหนึ่งของพระธรรมเทศนา
วันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๐๗)


(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 127 มิถุนายน 2554 โดย พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว) วัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี)
กำลังโหลดความคิดเห็น