xs
xsm
sm
md
lg

บทความพิเศษ : ภาวะทางจิตใจ ที่ทำให้เกิดโรคทางกาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โรคภาวะทางจิตใจสามารถทำให้เกิดโรคทางกายได้หลายชนิด มักผ่านการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติและฮอร์โมน โรคทางกายที่พบบ่อยได้แก่

1. ปวดศีรษะ ถือเป็นอาการที่พบบ่อยมากที่สุดอาการหนึ่ง เนื่องมาจากมีสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการนี้ได้มากมาย แต่การตรวจร่างกายแล้วพบสาเหตุนั้น กลับพบ ไม่บ่อย ซึ่งทำให้ทั้งแพทย์และผู้ป่วยไม่สบายใจ เชื่อว่าสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากอารมณ์และความเครียด เช่น ภาวะวิตกกังวล หรือภาวะซึมเศร้า มากระตุ้นให้เกิดอาการขึ้น

อย่างไรก็ตาม อาการปวดศีรษะนี้ นอกจากจะเป็น การแสดงออกของอารมณ์ภายในแล้ว ยังอาจมาจากความเชื่อแบบหลงผิด (delusion) หรือเป็นการสื่อให้บุคคลภายนอกรอบตัวผู้ป่วยให้ความสนใจกับผู้ป่วยมากขึ้น ซึ่งแพทย์ควรให้ความสนใจกับผลของอาการนี้ต่อชีวิตทั่วไปของผู้ป่วยและครอบครัวด้วย

ชนิดของโรคปวดศีรษะที่สัมพันธ์กับจิตใจคือ

• ไมเกรน มีปัจจัยทางพันธุกรรมมาเกี่ยวข้องด้วยกว่า 2 ใน 3 ของผู้ป่วย และมักพบในผู้มีอาการมีบุคลิกภาพแบบพยายามควบคุมทุกอย่างในชีวิตให้ดี มีระเบียบ ไม่แสดงความโกรธ แต่ไม่พบว่าจะมีเหตุการณ์ใดที่เจาะ จงให้เกิดอาการนี้ อาศัยการรักษาด้วยยาเพื่อควบคุมอาการ และใช้จิตบำบัดเพื่อแก้ไขบุคลิกดังกล่าวในระยะยาว

• ปวดศีรษะจากความตึงเครียด (Tension headache) ส่วนใหญ่มีอาการในช่วงบ่ายหรือเย็นหลังการงานที่ทำให้เครียด หรือบางรายก็มีปัญหากับครอบครัว โรคทางจิตเวชเกือบทุกโรคทำให้เกิดอาการชนิดนี้ได้ โดยเฉพาะกับผู้ที่จริงจังและแข่งขัน ควรค้นหาว่ามีโรคทางจิตเวชหรือไม่ โดยถามถึงอาการร่วมอื่นๆ อาจให้ยาคลาย กังวลในระยะยาว นอกจากนี้ การฝึกผ่อนคลาย การทำจิตบำบัด จะช่วยป้องกันอาการเป็นซ้ำได้

2. โรคที่เกี่ยวกับภูมิคุ้มกัน มีข้อสังเกตมานานแล้วว่า เมื่อบุคคลมีความเครียด จะเกิดการเจ็บป่วยได้ง่ายและบ่อยขึ้นจากโรคต่างๆ ไม่ว่าโรคติดเชื้อหรือโรคภูมิแพ้ ปัจจุบันจึงมีการศึกษาทางการแพทย์ในเรื่องดังกล่าวให้ชัดเจนมากขึ้น แม้การศึกษาจะไม่บ่งชี้ชัดนักในแง่การวัดปริมาณเม็ดเลือดหรือสารภูมิคุ้มกัน เช่น มีเส้นใยประสาทในไขกระดูกหรือต่อมไทมัส หรือหากไฮโปทาลามัสถูกทำลายจะทำให้ปฏิกิริยาภูมิแพ้ต่างไปจากเดิม

นอกจากนี้ การทำงานของเม็ดเลือดขาว ก็ขึ้นกับสื่อประสาทและฮอร์โมนหลายชนิด หรือโรคที่เกี่ยวกับภูมิคุ้มกันบางอย่าง รวมทั้งผู้ป่วยเอดส์ มีอาการรุนแรงมากน้อยตามความเครียด มีผู้พบว่าผู้ป่วยวัณโรคที่ได้รับการช่วยเหลือทางจิตใจจะฟื้นตัวได้ดียิ่งขึ้น

3. ปวดหลัง เช่นเดียวกับอาการปวดศีรษะ กว่าร้อยละ 95 ของผู้มีอาการปวดหลังไม่สามารถตรวจพบความผิดปกติที่ชัดเจนได้ นอกจากนั้น พบว่าผู้มีอาการนี้ไม่น้อยมีความกังวลหรือซึมเศร้าร่วมอยู่ด้วย การรักษาจึงอาจให้ยารักษาภาวะดังกล่าวร่วมกับยาแก้ปวด รวมทั้งให้คำแนะนำ ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ และสนับสนุนให้กลับไปทำหน้าที่เดิม

4. ไขข้ออักเสบรูมาตอยด์ มีผู้สนใจในบุคลิกภาพของผู้ป่วยด้วยโรคนี้ว่า มักมีลักษณะเสียสละ ทำตนให้ลำบาก อดกลั้น และต้องพยายามทำทุกอย่างให้ดีที่สุด โดยไม่แสดงความรู้สึก และมีบางรายพบว่า อาการกำเริบ ตามความเครียดทางจิตใจ ผู้ป่วยเหล่านี้มีโอกาสเกิดความซึมเศร้าอันเป็นผลมาจากความพิการจากโรคได้ง่ายกว่าคนทั่วไป

5. โรคระบบหัวใจและหลอดเลือด โรคหัวใจขาดเลือด เกิดอาการได้เสมอหากผู้ป่วยเกิดความเครียดหรือโกรธ มีผู้เสนอว่า ผู้ที่ป่วยโรคเหล่านี้มักมีบุคลิกภาพที่แข่งขัน รุนแรง ทะเยอทะยาน ไขว่คว้า แต่อารมณ์ฉุนเฉียว โดยจะพบระดับโปรตีนในเลือด โคเลสเตอรอล หรือไตรกลีเซอไรด์ ในเลือดสูงด้วย จนเสี่ยงต่อภาวะดังกล่าว

โรคความดันโลหิตสูงที่ไม่ทราบสาเหตุ คนเหล่านี้มัก มีท่าทีเป็นมิตร เชื่อฟังเคร่งครัดตามกฎ และเก็บงำความโกรธไว้ไม่แสดงออก ร่วมกับมีประวัติครอบครัวของการป่วยโรคนี้

การรักษาของทั้ง 2 โรค ได้แก่ การทำจิตบำบัดเพื่อเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิต แนวคิดมุ่งหวัง ให้รู้จักผ่อนคลาย ทำเทคนิคคลายเครียดอย่างมีหลักการ ร่วมกับการใช้ยาควบคุมโรคดังกล่าวโดยตรง

6. โรคระบบทางเดินอาหาร โรคแผลในกระเพาะอาหารและอาการท้องอืด เป็นที่ยอมรับมานานแล้วว่า อาการและโรคนี้สัมพันธ์ใกล้ชิดกับโรควิตกกังวลเรื้อรัง โดยเฉพาะแผลในกระเพาะอาหารมากกว่าแผลในลำไส้เล็ก มีการศึกษาด้วยว่า ความกังวลทำให้มีการเคลื่อนไหว บีบตัวของกระเพาะอาหารผิดปกติ ร่วมกับรายงานที่ว่า เมื่อบุคคลต้องเผชิญกับเหตุการณ์เครียดที่รุนแรง เช่น การสูญเสียคนใกล้ชิด จะมีอาการท้องอืดมากกว่าคนทั่วไป การรักษาด้วยยารักษาโรคกระเพาะเท่านั้นจึงอาจไม่เพียงพอในการรักษาหรือป้องกันในระยะยาว

การฝึกผ่อนคลาย การแก้ปัญหา และจิตบำบัดร่วมไปด้วย จะทำให้ผู้ป่วยปลอดจากอาการดังกล่าวได้นานกว่าผู้รับประทานยารักษาโรคกระเพาะเพียงอย่างเดียว

ภาวะกลุ่มอาการท้องผูกสลับกับท้องเสีย (Irritable bowel syndrome) มักมีอาการทองผูกสลับท้องเสีย ปวดท้องมีลมในทางเดินอาหารมากอย่างเรื้อรัง โดยไม่สัมพันธ์กับชนิดของมื้ออาหาร หรือการติดเชื้อ หรือการใช้ยาในสหรัฐอเมริกา พบว่าผู้ไปพบแพทย์ระบบทางเดินอาหารมากกว่าร้อยละ 50 มีอาการนี้ และกว่าร้อยละ 32 มีสมาชิกในครอบครัวที่มีอาการนี้เช่นกัน การทดสอบด้วยแบบทดสอบทางจิตวิทยาพบว่า ผู้ป่วยจะมีความกังวล ขาดความเชื่อมั่น โทษตนเอง และอาจบอกอาการเจ็บป่วย อื่นๆ อีกคล้ายในโรคความผิดปกติทางจิตใจที่แสดงอาการ ออกทางร่างกาย (กลุ่ม somatization disorder) และเมื่อมีความเครียด ผู้ป่วยจะเกิดอาการมากขึ้น คนรอบข้าง จะให้ความสนใจผู้ป่วยมากขึ้นด้วย การรักษาจึงต้องอาศัย หลายวิธี ทั้งการใช้ยารักษาอาการท้องผูก ท้องเสีย การควบคุมชนิดของอาหาร การฝึกผ่อนคลาย การทำจิตบำบัด ให้ให้ยาต้านเศร้า กลุ่มtricyclic ร่วมกับการเปลี่ยน การสนองต่อการของครอบครัวของผู้ป่วยด้วย

7. อาการของระบบทางเดินหายใจ ที่พบบ่อยมากในห้องฉุกเฉินของทุกโรงพยาบาล คืออาการของระบบทางเดิน หายใจชนิดหนึ่ง (hyperventilation syndrome) ที่มีอาการคล้ายหอบหืด โดยผู้ป่วยจะมีอาการหายใจหอบเร็ว หัวใจเต้นแรง บ่นแน่นหน้าอก หายใจไม่ออก มือเท้าชา เกร็ง บางรายจะมีนิ้วมือจีบร่วมด้วย

• โรคหอบหืด แม้ว่าจะมีการพิสูจน์แล้วว่าอาการของโรคเกิดจากระบบภูมิคุ้มกัน แต่มีข้อสังเกตว่า ผู้ป่วยมักมีลักษณะเก็บความโกรธ ไม่สามารถแสดงความอยาก พึ่งพิงผู้อื่นออกได้ และอารมณ์ดังกล่าวถูกส่งผ่านระบบประสาทอัตโนมัติและระบบภูมิคุ้มกันจนเกิดอาการ ดังนั้น เมื่อพบผู้ป่วยที่มีอาการเป็นประจำ การมองหา ปัจจัยทางจิตใจและแก้ไขนอกเหนือไปจากการให้ยาขยายหลอดลม อาจช่วยให้อาการของโรคดีขึ้น

สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างสภาพจิตใจกับการเกิดมะเร็งนั้น ยังไม่อาจสรุปได้แน่ชัดว่าเป็นเหตุและผลต่อกันได้อย่างชัดเจน เนื่องจากมีปัจจัยอื่นอีกหลายประการที่เข้ามามีบทบาทในการเกิดมะเร็ง เช่น พันธุกรรม การใช้ ชีวิต การได้เผชิญกับสารต่างๆ ตลอดจนภาวะภูมิคุ้มกัน ของบุคคลนั้นๆ อย่างไรก็ตาม พบว่าสภาพจิตใจมีผลต่อการดำเนินโรคของมะเร็งอยู่ไม่น้อย

จะเห็นได้ว่า โรคทางกายที่เป็นผลจากจิตใจดังกล่าว แม้จะมีพยาธิสภาพทางกายหรือพยาธิสรีระที่เกิดขึ้นจริง แต่การใช้ยารักษาอาการทางกายโดยไม่สนใจสภาพจิตใจ จะทำให้ประสิทธิภาพการรักษาด้อยลง ดังนั้น จึงควรคำนึงถึงการรักษาด้านจิตสังคม การเปลี่ยนแปลงการใช้ชีวิตของผู้ป่วยควบคู่ไปด้วย

(จากหนังสือจิตเวชศาสตร์ รามาธิบดี)

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 125 เมษายน 2554 โดย ผศ.นพ. ปราโมทย์ สุคนิชย์ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทย์สาสตร์ รามาธิบดี)
กำลังโหลดความคิดเห็น