xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมะกับสุขภาพ : การเจริญสติ ทำสมาธิ ช่วยให้อายุยืนยาวขึ้น คนอายุยืน (ตอนที่ 15)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

Elizabeth Blackburn
ท่านผู้อ่านครับ คนเราอายุจะยืนหรือสั้น เรื่องพันธุกรรมก็เป็นปัจจัยที่สำคัญประการหนึ่ง ที่ทำให้คนอายุไม่เท่ากัน

งานวิจัยทางการแพทย์พบว่า ในคนที่มีอายุยืนถึง ๑๐๐ ปี ลูกของเขาก็มีโอกาสจะอายุยืนได้มากกว่าคนที่พ่อแม่อายุไม่ถึงร้อยปี ๔ เท่า นอกจากนั้น ตัวสารพันธุกรรมหรือยีนบางชนิด ยังเป็นตัวควบคุมการเกิดโรคต่างๆ ด้วย ยีนบางตัวช่วยให้เป็นมะเร็งได้มากขึ้น ยีนบางตัวก็ป้องกันไม่ให้เป็นโรคมะเร็ง

ในช่วง ๓๐ ปีที่ผ่านมามีความก้าวหน้าในเรื่องพันธุกรรมเป็นอย่างมาก นักวิจัยทางด้านชีววิทยาโมเลกุลได้ค้นพบความจริงหลายประการ เกี่ยวกับการเกิดโรคต่างๆ และวิธีรักษาแบบใหม่ๆ นอกจากนั้น ยีนยังเป็นตัวกำหนดอายุของเราด้วย

ร่างกายของเราถูกควบคุมรูปร่าง การทำงาน ตั้งแต่เกิดโดยยีนหรือหน่วยพันธุกรรม จะอยู่บนโครโมโซม ๒๓ คู่ ในคน (ดูภาพโครโมโซม) ตรงปลายโครโมโซมจะมีส่วนที่หุ้มอยู่คล้ายหมวก เรียกว่า ทีโลเมียร์ (Telomeres)

ส่วนนี้จะเป็นตัวกำหนดอายุคนเรา เวลาที่มีการแบ่งตัวของเซลล์ ส่วนนี้จะสั้นลงไปเรื่อยๆ คนไหนทีโลเมียร์สั้น ก็จะมีความชรามากขึ้น อายุสั้นลง

แต่ธรรมชาติก็มีเอ็นไซม์ตัวหนึ่งชื่อว่าทีโลเมอร์เรส (Teromerase) เป็นตัวช่วยให้ทีโลเมียร์มีความยาวอยู่เรื่อย ไม่สั้นลง ถ้าตัวนี้ทำงานได้ดีและอยู่นาน เซลล์ก็ยังแบ่งตัวได้ต่อไป เราก็จะแก่ช้าลง อายุยืนขึ้น แต่ถ้าตัวนี้ไม่ทำงาน หรือถูกกั้นโดยยาบางชนิด เซลล์ก็จะหยุดแบ่งตัว หยุดการเจริญเติบโต ผู้ที่ค้นพบเอนไซม์ ทีโลเมอร์เรส ก็คือ ศาสตราจารย์ Elizabeth Blackburn ศาสตราจารย์ Carol Grelder และศาสตราจารย์ Jack Szostak ทั้งสามท่าน ได้ศึกษาเรื่องนี้จนค้นพบเอนไซม์ตัวนี้ และศึกษาการทำงานของมัน เธอและคณะได้รับรางวัลโนเบล สาขาสรีรวิทยาและการแพทย์ ในปี ๒๐๐๙ นี้เอง โดยใช้เวลาศึกษาอยู่ ๓๐ ปี (ท่านผู้อ่านอาจจะหาดูรายละเอียดได้ใน www.nobelprize.org )

Elizabeth Blackburn เป็นศาตราจารย์ทางด้านชีววิทยาโมเลกุล ทำงานอยู่ที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา งานวิจัยของเธอยังพบว่า ภาวะเครียดในชีวิตประจำวัน และอาการซึมเศร้า มีส่วนขัดขวางการทำงานของเอนไซม์ทีโลเมอร์เรส ทำให้ทีโลเมียร์สั้นลง นั่นก็คือเราก็แก่เร็ว อายุสั้นลง

ในขณะเดียวกันการเจริญสติ (Mindfulness meditation) ช่วยให้การทำงานของทีโลเมอร์เรสดีขึ้น ทีโลเมียร์ยาวขึ้น นั่นคือทำให้เราอายุยืนขึ้น

ในกรณีของมะเร็ง ถ้าเราหายามาทำลายการทำงานของเอนไซม์ทีโลเมอร์เรสได้ เซลล์มะเร็งก็จะมีทีโลเมียร์สั้นลง เซลล์ก็อายุสั้นลง นี่คือการค้นพบที่ยิ่งใหญ่ของ Elizabeth Blackburn และคณะ ทำให้พบวิธีรักษาใหม่ๆ ทางพันธุกรรมในโรคที่เรายังรักษาไม่ได้ เช่นโรคมะเร็ง และวิธีที่ทำให้เราแก่ช้าลง โดยการใช้เซลต้นกำเนิดบำบัดโรค เป็นต้น (อ่านรายละเอียดได้ใน www. Dharmadoctors. org/2009/09/aging.)

ศจ.ดร.ดีน ออร์นิช (Dean Ornish Ph.D) แพทย์ทางด้านโรคหัวใจ ก็อยู่ที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานฟรานซิสโก เหมือนกัน ท่านเป็นผู้ใช้การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตในการรักษาโรคหัวใจโดยไม่ต้องใช้ยาและการผ่าตัด ดังที่ผู้เขียนเคยกล่าวถึงในฉบับเดือนมกราคม ๒๕๕๓

งานวิจัยของท่านเมื่อเร็วๆนี้ก็พบว่า การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตคือเรื่องอาหาร การออกกำลังกายสม่ำเสมอ การฝึกสมาธิ และการผ่อนคลาย ทำให้ยีนมีการเปลี่ยนแปลงได้ ช่วยกระตุ้นให้ยีนที่ควบคุมการทำหน้าที่ป้องกันมะเร็ง ทำงานได้ดีขึ้น และยับยั้งยีนที่ควบคุมการเเจริญเติบโตของมะเร็ง โดยศึกษาในผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากและมะเร็งเต้านม ระยะแรกๆ ดังนั้น การทำสมาธิจึงช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งได้ และทำให้เราอายุยืน

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 125 เมษายน 2554 โดย นพ.แพทย์พงษ์ วรพงศ์พิเชษฐ)
Carol Grelder
Jack Szostak
โครโมโซม

กำลังโหลดความคิดเห็น