แพทยสภา หวั่นทฤษฎี "โพเพทัส" แพร่ทางเว็บไซต์ เป็นการหลอกผู้บริโภค วอนประชาชนอย่าเพิ่งเชื่อ อย.เตรียมตรวจสอบรายชื่อ หวั่นโฆษณาหลอกลวง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้รับการร้องเรียนว่า มีการโฆษณา ทฤษฎีโพเพทัส (POPATUS)หรือ ทฤษฎีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าแกน ซึ่งอ้างว่าเป็นการรักษาด้วยศาสตร์ใหม่ ไม่ใช่การแพทย์ทาง
เลือกหรือแพทย์แผนปัจจุบัน แต่ใช้พลังงานคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า รักษาในระดับเซลล์ และไม่ใช้ยาหรือวิตามิน แต่ขายน้ำดื่ม และใช้พลังจิตในการรักษาร่วมด้วย ซึ่งมีการโฆษณาทั้งในเว็บไซต์ และทำหนังสือวางขายในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ
จากกรณีดังกล่าว นพ.สัมพันธ์ คมฤทธิ์ เลขาธิการแพทยสภา กล่าวว่า ไม่เคยได้ยินทฤษฎีดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันการอ้างวิธีรักษาแบบมหัศจรรย์ สามารถรักษาได้สารพัดโรค ถูก
แพร่กระจายง่ายเพราะสังคมมีช่องทางการสื่อสารมากขึ้น จึงง่ายต่อการระบาดของการโฆษณาชวนเชื่อการแพทย์แบบแปลกๆ ในส่วนของแพทยสภา หากพิสูจน์ได้ว่าแพทย์ผู้เผยแพร่ทฤษฎีดังกล่าว เป็นแพทย์จริง มีใบประกอบวิชาชีพแต่กลับมาเผยแพร่วิธีการรักษาที่อาจจะยังไม่เป็นที่ยอมรับ ก็ถือว่า ผิดจริยธรรมวิชาชีพแพทย์แน่ๆ ส่วนความผิดอื่นๆ คงปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการจริยธรรม ของแพทยสภาต่อไป
“การอ้างว่า สามารถใช้วิธีใดรักษาได้ผล หากพิจารณาตามหลักความจริง ข้อแรกที่เราต้อง คำนึงถึง คือ ผู้เผยแพร่เป็นแพทย์จริงหรือไม่ สองผู้ที่อ้างว่าเป็นผู้ป่วยนั้นมีตัวตนหรือเปล่า หรือเป็นแค่การกล่าวอ้างมาลอยๆ เท่านั้น สามต้องมอง ว่า วิธีการรักษานั้นเป็นที่ยอมรับของวงการแพทย์หรือไม่ ส่วน น้ำสูตรพิเศษนั้น ต้องดูด้วยว่ามีการจดทะเบียนที่ถูกต้อง จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา( อย.)หรือไม่ เพราะ ตั้งแต่เป็นแพทย์มายังไม่เคยได้ยิน ทฤษฎีดังกล่าวเลย”นพ.สัมพันธ์ กล่าว
นพ.สัมพันธ์ กล่าวด้วยว่า การแพทย์ในลักษณะะของโฆษณาชวนเชื่อ ปัจจุบันมีเป็นจำนวนมาก หากยังไม่แน่ใจหรือไม่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ยืนยันผลการรักษา ขอให้ผู้บริโภคอย่าหลงเชื่อ หรือหากพบเอกสารเผยแพร่ก็ควรมีการตรวจสอบอย่างถ้วนถี่ก่อน เช่น อาจโทรถาม อย.ก่อนบริโภค เป็นต้น เพื่อจะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อของการโฆษณาชวนเชื่อ
ด้าน นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) กล่าวว่า โดยทั่วไป การโฆษณาอาหาร เสริมหรือโฆษณายานั้นจำเป็นจะต้องมี การขออนุญาต จาก อย.ก่อนอยู่แล้ว ที่แน่ๆไม่มียาหรืออาหารเสริมใดสามารถรักษาได้ทุกโรคแน่นอน จึงอาจเป็นไปได้ว่า กรณีการเผยแพร่ดังกล่าวอาจเป็นการหลอกลวงผู้บริโภค อย่างไรก็ตามจะขอเวลาในการตรวจสอบทะเบียนรายชื่อน้ำผัก ผลไม้ดังกล่าวก่อน ว่า มีการจดทะเบียนตามชื่อที่กล่าวอ้างหรือไม่และจดในนามของอาหารเสริมหรือยา