เมื่อสองสัปดาห์ก่อน ผมเขียนเกี่ยวกับประวัติการพัฒนาของประเทศญี่ปุ่นจากภาพของการเข้าแถวอย่างมีระเบียบและอดทนของชาวญี่ปุ่นซึ่งฉายออกมาทางโทรทัศน์หลังเกิดแผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์ที่นั่นเมื่อวันที่ 11 มีนาคม ความเห็นที่อ่านได้ในอินเทอร์เน็ตบ่งว่าผู้อ่านหลายท่านขุ่นข้องใจเพราะเข้าใจว่าผมไม่ได้อยู่ในเมืองไทย ไม่เคยทำอะไรให้เมืองไทยแล้วยังมาหยามคนไทยให้เจ็บช้ำในบทความนั้น ขอเรียนว่าบทความนั้นและบทความนี้เขียนในเมืองไทย หากผู้ที่ส่งความเห็นเหล่านั้นต้องการส่งความเห็นอีก อาจลองเปิดเว็บไซต์ www.sawaiboonma.com หรือหนังสือชื่อ “มองเมืองไทย: จากสิบปีของการใช้หนี้แผ่นดิน” เพื่อหาข้อมูลเพิ่มเติม
เว็บไซต์นั้นทำขึ้นโดยกัลยาณมิตรผู้หนึ่งซึ่งผมยังไม่เคยพบหน้า เขาทำขึ้นมาเพื่อนำงานของผมมาแบ่งปัน ส่วนหนังสือเรื่องนั้น ณ วันนี้ไม่มีวางขาย อย่างไรก็ตาม หากผู้อ่านต้องการ กรุณาไปที่งานสัปดาห์หนังสือจากวันนี้ถึงวันที่ 6 เมษายน ผมจะฝากสัก 12 เล่มไว้ที่ W11 ซึ่งเป็นร้านของสำนักพิมพ์ OhMyGood Books เมื่อท่านบอกผู้ที่อยู่ประจำร้านว่าได้อ่านบทความนี้และมารับหนังสือตามคำแนะนำของผม ท่านจะได้หนังสือโดยไม่ต้องซื้อหาและจะได้ข้อมูลมาใช้ในการเขียนบทประณามและความเห็นครั้งต่อไปได้อย่างครอบคลุมยิ่งขึ้น
ก่อนที่ท่านจะมีโอกาสได้อ่าน ขอนำเนื้อหาบางตอนของหนังสือเรื่องนั้นมาปันกันในวันนี้ ผมค่อนข้างโชคดีที่มีโอกาสเดินทางไปยังเมืองต่างๆ ในหลายส่วนของโลกทั้งในประเทศที่บุคคลทั่วไปมองว่าก้าวหน้าและในประเทศที่ได้ชื่อว่าล้าหลัง สิ่งหนึ่งซึ่งผมทำเป็นประจำเมื่อไปถึงเมืองเหล่านั้นได้แก่การออกไปเดินเป็นเวลานานๆ ในระหว่างที่เดินนั้นผมมักสังเกตทางเท้าของเขาเป็นพิเศษ เนื่องจากการสร้างทางเท้าเป็นงานที่ไม่มีความสลับซับซ้อนมากนัก ทั้งประเทศความก้าวหน้าและประเทศล้าหลังควรจะสร้างให้ดีได้ใกล้เคียงกัน
การสังเกตบ่งว่าทางเท้าในประเทศก้าวหน้ามีคุณภาพสูงกว่าทางเท้าในประเทศล้าหลังอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนั้น พิจารณาว่าแตกต่างกันอย่างไร ถ้าผู้อ่านมีโอกาสออกไปเดินในหลายๆ ย่านของกรุงเทพฯ ภาพที่ได้อาจบ่งบอกอะไรมากกว่าภาพที่ผมถ่ายอีกมาก หากท่านจะออกไปเดินจริงๆ หวังว่าจะทำด้วยความระมัดระวัง ทั้งนี้เพราะหากไม่ทำการดูแลรักษาให้อยู่ในสภาพที่ดีก็มีความแตกต่างกัน ยิ่งกว่านั้น การนำเครื่องกีดขวางมาตั้งบนทางเท้า หรือยึดทางเท้าเป็นของส่วนตัวจะไม่มีให้เห็นในประเทศก้าวหน้า ส่วนในประเทศล้าหลังมักจะทำกันอย่างแพร่หลายแบบไม่อายผีสางเทวดา
ผมแนบภาพทางเท้าในกรุงโตเกียวซึ่งถ่ายเมื่อเดือนธันวาคมพร้อมๆ กับภาพทางเท้าที่ถ่ายในกรุงเทพฯ เมื่อสัปดาห์ที่แล้วมาให้ผู้อ่านเช่นนั้น ท่านอาจตกหลุมจนขาหักหรือคอหักได้
หนังสือเรื่องนั้นมีภาพทางเท้าในเมืองลพบุรีท่อนหนึ่งซึ่งผมมีความคุ้นเคยมานาน ทางเท้านั้นถูกร้านขายดอกไม้ยึดไปเป็นของส่วนตัวมาหลายสิบปี สภาพทางเท้าเช่นนี้ชี้ให้เห็นการละเมิดกฎเกณฑ์ของสังคมชนิดเข้ากระดูกดำซึ่งประชาชนของประเทศก้าวหน้าทำน้อยกว่าประชาชนของประเทศล้าหลัง และเป็นต้นเหตุหนึ่งซึ่งทำให้ฝรั่งบางกลุ่มตราคนไทยว่าเป็นพวก “ขี้โกง”
แน่ละ ส่วนประกอบของการ “ขี้โกง” มีมากมายหลายอย่างรวมทั้งความฉ้อฉลและการลักขโมย ความแพร่หลายของการลักขโมยในเมืองไทยน่าจะอ่านได้จากรั้วบ้านซึ่งบางแห่งเสริมด้วยขวดแตก เหล็กแหลมและลวดหนามดังกับว่าบ้านที่อยู่ในรั้วนั้นเป็นคุก เพื่อให้เห็นความแตกต่างระหว่างบ้านในเมืองไทยและบ้านในอเมริกา ผมนำภาพบ้านของมหาเศรษฐีหมายเลขสามของโลกชาวอเมริกันจากหนังสือชื่อ “มหาเศรษฐีขี้ไม่เหนียว” มาปันกันดูด้วย บ้านนั้นตั้งอยู่ในเมืองขนาดกลางของอเมริกา ผมคงไม่ต้องบอกว่ามันต่างกับบ้านของคนไทยโดยทั่วไปอย่างไร
ภาพเหล่านี้น่าจะชี้ให้เห็นสภาพจิตวิญญาณของสังคม ผมมิได้ตั้งใจจะหยามคนไทยให้เจ็บช้ำ แต่มองว่าถ้าเราไม่ยอมรับว่ามาตรฐานด้านพฤติกรรมของเราต่ำกว่าของเขา เราจะไม่มีทางสร้างความก้าวหน้าได้เยี่ยงอเมริกาและญี่ปุ่น