xs
xsm
sm
md
lg

พบคนไทยป่วยโรคท้าวแสนปม 6 แสนคน แพทย์ชี้ถ่ายทอดได้ทางพันธุกรรมเท่านั้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สธ.ชี้โรคท้าวแสนปม เป็นผิวหนังชนิดไม่ติดต่อทางการสัมผัส แต่เป็นถ่ายทอดทางพันธุกรรม ในไทยพบผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้ประมาณ 6 แสนคน
นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา
จากกรณีที่มีข่าวพบหญิงวัย 42 ปี ชาวตำบลบ้านครัว อ.บ้านหมอ จ.สระบุรี ป่วยเป็นโรคท้าวแสนปม มีก้อนขึ้นทั่วร่างกาย หมอยิ่งตัดออกก็ยิ่งลุกลาม และยังป่วยเป็นมะเร็งเต้านมด้วย นอกจากนี้ ขาข้างซ้ายพิการตั้งแต่กำเนิด ต้องใส่ขาเทียม ทำให้การดำเนินชีวิตยากลำบาก ต้องการให้หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องให้ความช่วยเหลือนั้น

เกี่ยวกับความคืบหน้าในการให้ความช่วยเหลือหญิงรายดังกล่าว วันนี้ (28 มกราคม 2554) นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)ให้สัมภาษณ์ ว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ให้การดูแลช่วยเหลือหญิงที่ป่วยเป็นโรคเท้าแสนปม และรักษาโรคมะเร็งเต้านม ด้วยวิธีการฉายแสงที่ศูนย์มะเร็งลพบุรีมาอย่างต่อเนื่อง และติดตามอาการเป็นระยะๆ โดยเป็นผู้ป่วยในโครงการรักษาฟรี 48 ล้านคน ใช้บัตรประชาชนใบเดียว ประเด็นที่ผู้ป่วยวิตกกังวลคือ กลัวเพื่อนบ้านรังเกียจ เนื่องจากเกรงว่าจะติดโรคท้าวแสนปม ซึ่งในวันนี้ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสระบุรี ได้ส่งเจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านครัว ไปทำความเข้าใจกับชาวบ้านในละแวกเดียวกันแล้ว และจะติดตามดูแลผู้ป่วยถึงบ้านเป็นระยะๆ

นพ.สุพรรณ กล่าวต่อไปว่า โรคท้าวแสนปม (Neurofibromatosis) ไม่ใช่โรคติดต่อ ไม่ติดต่อทางการสัมผัส หรือการหายใจ เนื่องจากไม่ได้เกิดจากเชื้อโรค แต่เป็นโรคผิวหนังที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม เกิดจากเซลล์เยื่อหุ้มประสาทเจริญผิดปกติกลายเป็นเนื้องอกขึ้นตามผิวหนัง ในคนไทยพบประมาณร้อยละ 1 หรือประมาณ 600,000 คน ขณะที่ต่างประเทศพบน้อยเพียง 1 ใน 3,000 คน โดยก้อนเนื้อจะมีโอกาสเป็นมะเร็งได้ร้อยละ 2-5 ผู้ที่เป็นโรคนี้จะมีเนื้องอกตะปุ่มตะป่ำทั่วตัว มีขนาดเล็กบ้างใหญ่บ้าง กระจายไปเต็มตัว บางรายอาจมีไม่กี่ตุ่ม แต่ส่วนใหญ่ร่างกายแข็งแรงเหมือนคนปกติทั่วไป

“ในการรักษา เป็นการรักษาตามอาการ โดยวิธีตัดก้อนเนื้อที่ก่อให้เกิดความรำคาญ โดยเฉพาะก้อนใหญ่ที่ ก่อให้เกิดความไม่สะดวกในการดำรงชีวิตประจำวัน เช่น ก้อนที่มีน้ำหนักมาก ถ่วง หรือปิดรูหู ปิดปาก หรือปิดตาทำให้ลืมตาไม่ขึ้น ไม่สะดวกในการรับประทานอาหาร อย่างไรก็ตามหลังผ่าตัดก้อนเนื้อออกแล้ว ก้อนเนื้อก็จะงอกขึ้นมาใหม่ได้” นพ.สุพรรณ กล่าว

โฆษก สธ.กล่าวต่อไปว่า ในการป้องกันโรคท้าวแสนปม แนะนำว่า ผู้ป่วยโรคนี้สามารถแต่งงานได้ แต่ควรคุมกำเนิด ไม่ควรมีบุตร เนื่องจากโรคจะถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ไปสู่ลูกหลานได้ ดังนั้น เพื่อนบ้าน บุคคลใกล้ชิดกับผู้ป่วย ไม่ควรแสดงความรังเกียจผู้ป่วย เนื่องจากไม่ได้เป็นโรคติดต่อ ยังสามารถให้การช่วยเหลือดูแลซึ่งกันและกันได้เหมือนคนปกติทั่วไป
กำลังโหลดความคิดเห็น