“พ่อแม่พี่น้องที่มาสรงน้ำสงกรานต์หลวงปู่ เสร็จแล้วก็ให้นั่งรอก่อนนะครับ เดี๋ยวหลวงปู่ท่านจะให้โอวาทครับ”
“เร็วซิเธอ เดี๋ยวไม่ทันสรงน้ำหลวงปู่ นี่เพราะเธอมัวแต่พิรี้พิไร มาช้าทุกปีเลย”
“จะบ่นไปถึงไหน นี่เดินมาจนถึงกุฎีหลวงปู่แล้ว ยังไม่หยุดอีก ฉันกับลูกก็เร่งแล้วนะ คุณน่ะช้าเอง รีบๆเร็ว จะหมดแถวแล้ว”
“ไม่ต้องเร่งหรอกโยม เดี๋ยวไอ้ตัวเล็กจะล้ม”
“ขอให้หลวงปู่มีอายุยืนเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรของพวกผมตลอดไปนะครับ”
“ขอให้หลวงปู่มีสุขภาพแข็งแรงนะเจ้าคะ”
“ขอให้หลวงปู่มีความสุขมากๆ นะครับ”
“สมพรปากนะ และขอให้ครอบครัวเธอ ได้รับพรสนอง ด้วยทุกคน”
“พ่อแม่พี่น้องครับ หลวงปู่ให้ลงไปทานอาหารกันก่อน แล้วค่อยขึ้นมารับโอวาทจากท่าน เรียกว่าอิ่มท้องแล้วค่อยอิ่มใจ เชิญเลยนะครับ แม่ครัวก็พวกเรากันเอง เอามาบ้านละอย่างสองอย่าง หลวงปู่ให้ลูกศิษย์หุงข้าวไว้พอกับพวกเราทุกคน ก๋วยเตี๋ยวเจ้าอร่อยนี่ เขามาด้วยศรัทธานะครับ รับประทานกันให้อิ่ม”
......
“เจริญพร ลูกหลานทุกคน วันนี้อบอุ่นใจเหมือนเคย ที่ทุกคนยังรักษาแบบแผนการปฏิบัติในวันสงกรานต์ที่บรรพชนนำพากระทำสืบต่อกันมาช้านาน นี่เป็นจารีตประเพณีของหมู่บ้านเรา พวกเราจะไปทำงานไกลใกล้แค่ไหน ต่างก็หมายเอาวันสงกรานต์เป็นวันกลับมาเยี่ยมบ้าน เยี่ยมถิ่นเกิด บ้านที่ถูกปิดไปก็ได้เปิดต้อนรับเจ้าของให้กลับมาอาศัย แม้จะชั่วคราว ภูมิเจ้าที่ก็คงจะสุขใจที่ได้มองเห็นความสำเร็จของลูกหลาน หลวงปู่อายุมากแล้ว ลมหายใจจะหมดลงไปวันไหนก็ไม่รู้ วันนี้ก็ได้รับพรจากลูกหลาน ก็ได้ต่ออายุไปอีกปี คอยต่อไปในปีหน้าว่าลูกหลานจะกลับมาสรงน้ำสงกรานต์ครบเหมือน ปีนี้ไหม คนเฒ่าคนแก่ที่นั่งรอรดน้ำอยู่นี้ก็คงจะรู้สึกเหมือนกัน
เงินทองที่ลูกหลานส่งมาให้เป็นค่าปัจจัย ๔ ก็ไม่สุขใจเท่ากับที่ได้เห็นลูกหลานมีความเจริญก้าวหน้าในชีวิต ความผูกพันเช่นนี้คงจะมีอยู่สืบไปในจิตใจของลูกหลาน คนหนุ่มสาววันนี้ต้องคอยจดจำจารีตประเพณีของบ้านเราไว้ ต่อไปเมื่อมาเป็นผู้ใหญ่ ก็จะได้พาลูกหลานปฏิบัติให้ถูกต้องสืบไป
บ้านเราไม่มีคนผิดเพศ ไม่มีขโมย ไม่มีการทุจริตทั้งหลาย ก็เพราะความใส่ใจในการทำตนให้อยู่ในกรอบของพระธรรมวินัย และจารีตประเพณีเสมอมา ทุกคนในบ้านเรานี้เป็นบัณฑิตในพระพุทธศาสนา ด้วยการถูกปลูกฝังขนบธรรมเนียมประเพณีมาแต่ยังเด็ก พอโตจนถึงเกณฑ์เรียนหนังสือ โรงเรียนก็จัดหลักสูตรพุทธประวัติ และนำชาดกมาสอน ในชั้นมัธยมก็จัดสอนธรรมศึกษา ปิดเทอม ใหญ่ก็ให้เด็กชายบวชเณร เด็กหญิงก็มาบวชพราหมณ์รักษาศีลอยู่ในวัด ทำให้พระสงฆ์ท่านได้ทำหน้าที่เป็นครูบาอาจารย์อย่างเต็มความสามารถ ทำให้เป็นที่พึ่งของลูกหลานได้เสมอมา นี่ก็เป็นเหตุให้บ้านเราได้รับคำชมจากบ้านอื่นว่าเป็นบ้านที่กราบพระงาม ไหว้ผู้ใหญ่สวย ต้อนรับแขกดี มีน้ำใจช่วยสังคมดี ก็ต้องขอให้ลูกหลานช่วยกันรักษาจารีตประเพณีที่ดีของบ้านเราให้สืบทอดต่อไปในรุ่นลูกหลานเหลนโหลน
การทำให้บ้านเรามีความเจริญกอปรด้วยความสุขได้เช่นนี้ เพราะบรรพชนของเราเป็นผู้มีศรัทธามั่นคงในพระธรรมวินัย เป็นบัณฑิตในพระพุทธศาสนา ท่านได้น้อมนำพุทธศาสนธรรมมาเป็นหลักดำเนินชีวิต แล้วประยุกต์มาเป็นหลักชุมชน สร้างจารีตประเพณีที่นำความ เข้มแข็งสามัคคีมาสู่ชุมชน เราจะเห็นได้ว่าทุกคนในบ้านเรามีความสนิทสนมเหมือนญาติ แม้คนที่มาอยู่ใหม่ก็จะถูกหลอมให้เข้ามาเป็นญาติด้วยจารีตประเพณี บ้านเราจึงแต่มีความสุขสันต์ร่มเย็นเสมอมา
ลูกหลานที่ยังเรียนหนังสือก็ดี ลูกหลานที่ไปทำงานต่างถิ่นก็ดี ต้องจดจำจารีต ประเพณีของบ้านเราไว้ให้ได้ และประพฤติตนให้อยู่ ในกรอบของจารีต ทำให้คนในสังคมที่เราไปอยู่ด้วยได้ซึมทราบถึงความดีงามของจารีตประเพณีของเรา ให้เขาได้รู้ว่า คนบ้านนี้โง่ในการทำความชั่ว แต่ฉลาดในการทำความดี มากไมตรีต่อผู้คน ครองตนตามหลักธรรม นี่ก็จะเป็นเชื้อความดีที่จะแผ่ไปสู่จิตวิญญาณของคนอื่นได้
ถ้ามีคนถามลูกหลานว่า ทำไมบ้านเราจึงมีแต่ความสุขสันต์ ลูกหลานก็ต้องตอบเขาไปว่าจารีตประเพณีได้สอนให้ประพฤติตนในกรอบพุทธธรรม ทุกครอบครัวล้วนยึดมั่นในหลักพุทธธรรม ลดความขัดแย้งในเรื่องที่เกิดจากกิเลส ทำความขัดแย้งให้จบในครอบครัว ถ้ามีความขัดแย้งระหว่างครอบครัว ก็จะทำความเข้าใจกันก่อน ถ้าไม่สำเร็จก็จะไปหาหลวงปู่หลวงพ่อให้ช่วยตัดสินให้ นี่คือจารีตของบ้านเรา
จารีตประการหนึ่งที่สำคัญ ที่ถูกกำหนดให้เป็นลักษณะของคนบ้านนี้ก็คือ ต้องเป็นคนโอบอ้อมอารี มีศีล รู้จักทำการงานแทนมารดาบิดา บำเพ็ญประโยชน์ด้วย โภคทรัพย์ที่หามาได้ด้วยความหมั่น ความขยัน สะสมขึ้นด้วยกำลังแขนของตน ได้มาโดยอาบเหงื่อต่างน้ำ ชอบธรรม ได้มาโดยธรรม แก่มารดาบิดา บุตร ภริยา แก่ชนภายในครอบครัวเช่นญาติพี่น้อง คนใช้ แก่ผู้อาศัยเลี้ยงชีพเช่นเพื่อน ผู้เป็นกัลยาณชน ต้องอยู่ครองเรือนโดยธรรม ต้องยังความยินดีให้เกิดขึ้นแก่ญาติทั้งที่ล่วงลับไป ทั้งที่มีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน แก่สมณพราหมณ์ เทวดา
คนบ้านนี้บำเพ็ญตนเช่นนี้จึงเป็นผู้มีความเจริญอยู่เสมอ ย่อมได้รับการสรรเสริญจากผู้ทราบข่าว มีความสุขทั้งขณะที่มีลมหายใจ ตายไปก็เชื่อได้ว่าเข้าสู่สุคติโลกสวรรค์แน่นอน
ก็ขอฝากลูกหลานให้ช่วยกันรักษาจารีตให้สืบต่อไปด้วยนะ เอาล่ะ.. ไปรดน้ำดำหัวผู้เฒ่าผู้แก่เถอะ แล้วจะได้ ลงไปไหว้หลวงพ่อโต ก่อพระเจดีย์ทราย รดน้ำอัฐิบรรพชน เล่นสงกรานต์กันในวัดนี่ล่ะ อนุญาตให้เลอะเทอะเฉพาะวันสงกรานต์เท่านั้นนะ
ขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัย และกุศลบุญราศีแห่งจารีตประเพณี จงอำนวยผลให้ลูกหลานได้ประสบสุขทุกทิวาราตรีกาลเทอญ”
“สาธุ “... “สาธุ”... “สาธุ”...
“หลวงปู่พูดเหมือนเดิมเลย ผมฟังตั้งแต่เด็กจนมีลูกเข้ามหาวิทยาลัย หลวงปู่ก็พูดแบบเดิม ไม่เปลี่ยนแปลงเลยครับ”
“แล้วจำได้หมดไหม ทำได้บ้างไหมล่ะ"
“จำได้ไม่หมดครับ แต่ทำได้หมด เพราะพ่อแม่เคี่ยวเข็ญมาแต่เด็ก บวชอยู่วัดหลวงปู่ก็อบรมตลอด จนจารีตนี่เป็นนิสัยไปไม่รู้ตัวครับ มันก็จริงอย่างที่หลวงปู่ว่า เพียงเขารู้ว่าผมเป็นคนบ้านนี้ เขาก็ให้เกียรติมากเลย ทำงานอะไรก็สะดวก นี่ถ้าไม่ได้หลวงปู่กับพ่อแม่อบรมมาแต่เด็ก ก็คงแย่เหมือนกันครับ”
“แล้วสอนลูกอย่างที่พ่อแม่สอนรึเปล่า"
“สอนครับ แต่แม่เด็กก็คอยแย้งว่ายังเด็กอยู่บังคับทำไม เดี๋ยวโตกว่านี้ค่อยสอนก็ได้ เราเถียงกันทุกวันเรื่องนี้ เขาไม่ใช่คนบ้านเรา ก็ไม่เห็นความสำคัญของจารีตประเพณีบ้านเรา เลยไม่รู้ว่าผลดีที่ทำตนตามจารีตประเพณีดีอย่างไร นี่ผมก็คิดว่าจะย้ายกลับมาอยู่บ้านแล้วครับ กลัวว่าลูกจะเสียคน”
“ขอโทษนะคะหลวงปู่ จิตวิทยาในการเลี้ยงเด็กเขาก็บอกว่าให้ปล่อยไปตามธรรมชาติของวัย แล้วเด็กก็จะมีพัฒนาการที่ดีเอง ถ้ามามัวมุ่งจะบังคับแต่เด็ก ก็จะทำให้เด็กขาดพัฒนาการไป.. นี่เธอ..ฉันผิดตรงไหน ตอนฉันเด็ก พ่อแม่ฉันก็เลี้ยงอย่างนี้”
“ใจเย็นๆ ๆ เราสองคนเป็นพ่อแม่แล้ว จะมาทะเลาะกันให้ลูกดู อายลูกบ้าง ฟังเหตุผลแล้วก็ดูดีนะ แต่หลวงปู่อยากให้หนูลองคิดดูซิว่า ปัญหาเด็กเล็กก็ดี ปัญหาวัยรุ่นก็ดี มันเกิดจากอะไร”
“....เกิดจากตัวเด็กค่ะ เด็กชอบทำตัวมีปัญหา เอาแต่ใจตัวเอง”
“วัยเด็กไม่มีประสบการณ์ชีวิต ดังนั้นจึงจำเป็นต้องเรียนรู้จากผู้ใหญ่ ถ้าผู้ใหญ่สอนสิ่งที่ดีให้แก่เด็ก เด็กก็ทำแต่สิ่งที่ดี เพราะมีผู้ใหญ่ทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง ถ้าผู้ใหญ่สอนสิ่งที่ไม่ดี เช่นเล่นไพ่ ขี้เกียจ ดื่มสุรา ลักขโมย เด็กก็จำ แล้วนำไปปฏิบัติตามด้วยสำคัญว่าดี เด็กก็เลยทำชั่วด้วยความบริสุทธิ์ใจใช่ไหม”
“ค่ะ”
“คราวนี้หนูลองตรองดูว่า ทำไมบ้านนี้จึงเน้นเรื่องจารีต ประเพณีกันตั้งแต่เด็ก จนโตเป็นผู้ใหญ่”
“ก็คงคิดปลูกฝังสิ่งที่ดีๆ อันเป็นคุณธรรมนำชีวิต ให้แก่เด็กใช่ไหมคะ”
“ใช่ เราไปเอาจิตวิทยาฝรั่งมาใช้.. ก็ถูก เพราะจะได้รู้เรื่องที่เป็นสากล แต่การนำมาใช้ก็ต้องรู้จักปรับประยุกต์ ให้เหมาะสมกับความเป็นอยู่ของเรา ธรรมชาติของชีวิตบ้านเราก็แตกต่างกับบ้านเขา ดังนั้นการเลี้ยงดูลูกหลานก็มีความแตกต่างกัน
สังคมเราเน้นให้ลูกหลานมีความใกล้ชิดกับปู่ย่าตายาย หรือเครือญาติมาแต่เล็ก จนผูกพันกันมาก เมื่อมีสุขทุกข์ก็มีครอบครัวเป็นที่พึ่งที่อาศัย ร่วมทุกข์ร่วมสุขเสมอ ดังนั้นจารีตประเพณีบ้านนี้จึงเน้นไปที่เด็ก ด้วยความเชื่อว่าไม้อ่อนดัดง่าย ไม้แก่ดัดยาก คือวัยเด็กนี่ป้อน สิ่งที่ดีคือจารีตประเพณีให้ ปลูกฝังให้เด็กทำจนเป็นนิสัย เมื่อพ้นวัยเด็ก คุณธรรมเหล่านี้ก็จะเป็นเชื้อความดีที่จะออกดอกออกผลเป็นความสุขในการดำเนินชีวิตแก่เด็ก และสามารถนำเด็กไปสู่เป้าหมายของชีวิตได้ในที่สุด”
“มิน่าล่ะ คนบ้านนี้จึงอยากกลับมาอยู่บ้านทุกคน ไม่มีใครคิดไปตั้งรกรากที่อื่นเลย ฉันว่าเราย้ายมาอยู่ที่นี่เถอะ ขอโทษนะคะที่ชวนขัดแย้งเรื่องลูกตลอดมา"
“ไม่เป็นไร.. โน่นกราบขอบคุณหลวงปู่ที่แนะนำให้ดีกว่า นี่ละคือจารีตบ้านนี้ หลวงปู่เป็นใหญ่เป็นประธานของบ้านนี้ ความสุขสันต์ของบ้านจึงดำเนินมาได้จนถึงเดี๋ยวนี้”
“หนูรู้ไหม ทำไมบ้านเราจึงต้องปลูกฝังจารีตประเพณีให้กับเด็ก และบังคับเด็กให้เดินในกรอบของจารีตประเพณี จนโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีของสังคม”
“ไม่ทราบค่ะ “
“ก่อนที่บรรพชนจะอพยพย้ายถิ่นฐานมาตั้งหลักปักฐานที่บ้านนี้ ได้ไปอาศัยอยู่ที่หลายบ้าน ได้เห็นถึงความลุ่มหลงในอบายมุขของคนในแต่ละบ้านมามาก ท่านจึงรวบรวมคนที่มีใจอยากสร้างหมู่บ้านที่มีแต่ความสุข ปราศจากอบายมุข ยึดมั่นในพระธรรมวินัย แล้วชวนกันออกเดินทางแสวงหาชัยภูมิที่ควรแก่การสร้างหมู่บ้านดังประสงค์ขึ้น จนมาถึงที่นี่ ได้พบพระธุดงค์รูปหนึ่ง ท่านปักกลดบำเพ็ญสมณธรรมอยู่ เกิดความเลื่อมใส กอปรกับ ได้สนทนาธรรมกับท่าน ได้ฟังทัศนคติการดำเนินชีวิตในกรอบแห่งพระธรรมวินัยจากท่าน ที่สอดคล้องกับอุดมการณ์ของตน จึงอาราธนาท่านเป็นประธานเลือกชัยภูมิสร้างหมู่บ้าน ซึ่งก็เลือกที่นี่ละ แล้วช่วยกันสร้างบ้านตามขนาดครอบครัวของตน แบ่งสันปันส่วนที่ดินกันตามความสามารถ แล้วประชุมกันสร้างวัดขึ้น ให้หลวงพ่อรูปนั้นได้อาศัยบำเพ็ญศาสนกิจ
เมื่อสร้างบ้านเสร็จแล้ว ก็มาประชุมกันที่วัด กำหนดจารีตประเพณีขึ้น จริงๆ ก็เอาจารีตของไทยนี่ละมาเป็นพื้นฐาน แต่เพิ่มรายละเอียดบางอย่างที่ตรงกับอุดมการณ์เข้าไป แล้วมีมติร่วมกันว่าบ้านนี้จะดำเนินชีวิตในกรอบของจารีตที่ทำขึ้นใหม่นี้ ถือปฏิบัติมาจนเป็นประเพณี ทั้งฝ่ายวัดฝ่ายบ้าน เมื่อคนบ้านอื่นทราบข่าว และได้มาสัมผัส คุณธรรมของคนบ้านนี้ ก็เลยผูกดองกัน อพยพย้ายมาอยู่รวมกัน สืบลูกหลานมาจนเป็นบ้านที่ใหญ่ขึ้น
เมื่อหลวงท่านตั้งเขตปกครอง บ้านนี้ก็ถูกจัดให้เป็นศูนย์กลางปกครองมาตลอด ต่อมาเมื่อความเจริญทางวัตถุมากขึ้น ผู้นำชุมชนจึงไปขอให้ผู้หลักผู้ใหญ่ย้ายศูนย์กลางปกครองไปไว้ที่บ้านอื่น บ้านเราจึงสามารถรักษาจารีตประเพณีมาได้จนถึงบัดนี้”
“มิน่าล่ะ สามีหนูเขาถึงอยากย้ายกลับมาอยู่บ้าน ตอนแต่งงานกับหนูใหม่ๆ ก็บอกหนูว่าถ้าลูกโตหน่อย ก็จะย้ายครอบครัวกลับบ้าน หนูเพิ่งเข้าใจเหตุผลเดี๋ยวนี้เอง”
“ที่นี่เรามีจารีตประเพณี ที่เป็นสายใยเชื่อมจิตใจของทุกครอบครัวให้เป็นหนึ่งเดียว ลูกหลานของทุกบ้านก็คือลูกหลานตน ดังนั้นทุกคนจึงต้องมีหน้าที่อบรมสั่งสอนเด็กเสมอกัน ต้องทำตนให้เป็นตัวอย่างที่ดีแก่เด็ก ช่วยงานโรงเรียนด้วยความเต็มใจ วันพระวันหยุดก็พากันมาทำบุญที่วัด บ้านไหนมีเรื่องทุกข์ร้อนก็ช่วยสงเคราะห์กัน ไม่พูดคำหยาบ เน้นมากเรื่องศีลข้อ ๔ คือไม่กล่าวคำเท็จ ต้องทำตนให้มีสัจจะ อันเป็นคุณธรรมที่บังคับไม่ให้ล่วงละเมิด ทำตนผิดศีลข้อ ๔ ความมีสัจจะนี้จะเป็นคุณธรรมที่นำให้ผู้ประพฤติเป็นคนมีความเที่ยงตรง ยุติธรรม กตัญญูกตเวที และมีความสวามิภักดิ์ต่อเจ้านาย ลูกหลานที่นี่จึงสามารถรักษาจารีตประเพณีได้อย่างมั่นคง”
“ทำไมไม่เน้นศีลข้อ ๕ ล่ะคะ”
“คนเราถ้ามีสัจจะแล้ว การละเมิดศีลย่อมไม่มี บ้านนี้ไม่มีการขายสุราหรือของมึนเมา ก็เพราะจารีตประเพณีได้กำหนดไว้ แม้จะมีคนดื่มบ้างก็จะรู้ตัวเองในที่สุดว่าฝืนจารีตบ้าน ที่สุดแล้วความละอายใจที่ถูกปลูกฝังมาแต่เด็ก ก็จะบังคับให้เขาเลิกดื่มสุราไปเลย นี่คือความเข้มแข็งของจารีตประเพณี”
“หลวงปู่ไม่กลัวเด็กวัยรุ่นมั่วสุมกันหรือคะ”
“ถ้าเราปลูกฝังจารีตประเพณีไว้ และผู้ใหญ่ทำตนเป็น คนดีให้เป็นแบบอย่าง เรื่องน่าอายที่ฝ่าฝืนจารีตประเพณีเช่นนี้ก็ไม่มี อย่าเชื่อหลวงปู่นะ ลองไปคุยกับพวกวัยรุ่นดู ถามดูก็ได้ แม้แต่จะคิดเรื่องพวกนี้ กล้าคิดกันไหม”
“หลวงปู่คะ แล้วบ้านที่มีหลายเมียนี่ ไม่ผิดจารีตหรือคะ”
“ที่นี่เราถือว่าถ้าทำถูกต้องตามจารีตประเพณี ก็ไม่ผิด ผู้ชายจะมีภรรยากี่คนก็ได้ ถ้าสามารถรับผิดชอบเขาในฐานะสามีได้ และต้องได้รับความยินยอมจากภรรยาเดิม ตลอดถึงครอบครัวของผู้ที่จะมาเป็นภรรยา มีการจัดงานแต่งงานถูกต้องตามประเพณี ที่นี่ผู้ชายมีน้อย ผู้หญิงมีมาก ก็ต้องยึดมั่นเรื่องจารีตประเพณี ศีลข้อ ๓ นั้น ห้ามล่วงละเมิดสิทธิหญิงต้องห้ามทั้ง ๓ ประเภทคือ หญิงมีสามี, หญิงมีญาติรักษา, หญิงที่จารีตรักษา เพราะฉะนั้นชายต้องยินดีเฉพาะภรรยาของตน หญิงต้องยินดีเฉพาะสามีของตน”
“อ้าว ทำไมผู้หญิงถึงมีสามีได้คนเดียวล่ะคะ”
“ว่าตามศีล หญิงก็สามารถมีสามีได้หลายคน ห้ามล่วงละเมิดชายต้องห้าม ๒ ประเภท คือ ชายอื่น นอกจากสามี, ชายที่จารีตรักษา
โดยธรรมชาติหญิงต้องตั้งครรภ์ ให้กำเนิดบุตรธิดา ดังนั้นการที่หญิงจะมีสามีมากกว่า ๑ คน ในคราเดียว จะทำให้บุตรธิดามีความสับสนในบุคคลที่เป็นพ่อ และก่อความขัดแย้งทะเลาะวิวาทไม่รู้จบ เหตุนี้จารีตประเพณี จึงห้ามหญิงมีสามีหลายคน”
“ลำเอียงหรือเปล่าค่ะหลวงปู่ อย่างนี้ก็ไม่เสมอภาคกัน สิคะ”
“ไม่ลำเอียงหรอก ถูกต้องแล้ว หนูไปคิดดูเอาเองเถอะ หลวงปู่พูดได้แค่นี้ล่ะ”
“พอแล้วๆ เดี๋ยวไม่ได้ลงไปทำบุญกัน ขอบคุณหลวงปู่มากครับ ที่กรุณาสอนภรรยาผมให้เข้าใจจารีตประเพณีบ้านเรา แต่ผมสัญญากับเธอแล้วว่าจะมีเธอเพียงคนเดียวครับ”
“อ้าว ไอ้ทิด หาเรื่องแล้วไหมล่ะ อาตมาว่าตามทฤษฎี เอ็งจะเอาไปปฏิบัติอย่างไร อาตมาไม่รู้ ถามเมียเอ็งดูเองเถอะ....จำไว้นะหนู ครอบครัวจะสุขสันต์ได้ ก็ด้วยการมีศีลมีธรรมในตัวของสามีภรรยา การเคารพนับถือกันในฐานะสามีภรรยา ช่วยกันสร้างความสุขในครอบครัวให้ลูกได้เห็น ได้จดจำไว้แต่สิ่งที่ดี ครอบครัวก็จะเป็นครอบครัวสุขสันต์ สมกับที่มีอยู่ในหมู่บ้านสุขสันติวาสน์ อยู่ในเขตธรรมของวัดสุขสันติวนาราม ชีวิตจะได้เจริญขึ้นๆๆๆ นะ”
“ กราบนมัสการลาครับ/ค่ะ”
“ เจริญพร”
(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 125 เมษายน 2554 โดย พระพจนารถ ปภาโส วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม)