xs
xsm
sm
md
lg

ทางเอก : หัวใจกรรมฐาน (ต่อ)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

๗. ขยายความ - การรู้เนืองๆ

จาก ๒ หัวข้อที่ผ่านมาคงทำให้เพื่อนนักปฏิบัติรู้จักอารมณ์ที่ถูกต้องของการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน แล้วว่า จะต้องเป็นอารมณ์รูปนามเท่านั้น และรู้วิธีที่จะรู้รูปและนามได้อย่างถูกต้องแล้วว่า ก่อนจะรู้ต้องไม่ถูกตัณหาและทิฏฐิครอบงำให้เกิดความอยากรู้และนำไปสู่การสักรู้ ระหว่างรู้ต้องสักว่ารู้ ไม่ถลำเข้าไปรู้อันเป็นการกำหนดหรือเพ่งจ้อง และเมื่อรู้แล้วไม่ต้องทำสิ่งใดเพิ่มเติมนอกเหนือไปจากการรู้รูปนามตามความเป็นจริง อนึ่ง การรู้รูปให้รู้ลงเป็นปัจจุบัน ส่วนการรู้จิตให้ตามรู้

เมื่อทราบถึงอารมณ์กรรมฐานและวิธีรู้อารมณ์ที่ถูกต้องแล้ว ถัดจากนี้ก็เป็นหน้าที่ของผู้ปฏิบัติที่จะต้องรู้รูปนามเนืองๆ ไม่ใช่รู้คราวเดียวแล้วเลิก หรือรู้ ๒-๓ วันแล้วเลิก แต่จะต้องรู้รูปนามกันไปตลอดชีวิตทีเดียว และยิ่งรู้ได้บ่อยเท่าใดก็ยิ่งดี เพราะจะทำให้เข้าใจความเป็นจริงของรูปนามได้มากยิ่งขึ้นเท่านั้น

ขอให้เพื่อนนักปฏิบัติสังเกตให้ดีว่า ผู้เขียนใช้คำว่า รู้บ่อยๆ หรือ รู้เนืองๆ ไม่ได้ใช้คำว่ารู้ต่อเนื่อง เพราะธรรมชาติของการรู้นั้นเรารู้ได้ทีละขณะๆเท่านั้น จึงเป็นไปได้ที่จะรู้บ่อยๆ แต่จะให้จิตตั้งมั่นรู้อารมณ์นานๆ นั้นเป็นไปไม่ได้เลย เพราะจิตเกิดดับอย่างรวดเร็วอยู่ตลอดเวลา

เมื่อแรกหัดนั้นนานๆ ผู้ปฏิบัติจะเกิดรู้ได้สักครั้งหนึ่ง เพราะจิตยังไม่ค่อยรู้จักสภาวธรรมมากนัก ต้องเป็นอารมณ์ที่รุนแรง เช่น โกรธแรงๆ หรือตกใจแรงๆ จึงจะเห็นได้ แต่เมื่อฝึกหัดไปนานเข้า จิตจะรู้จักและจดจำสภาวธรรมได้มากขึ้นๆ สติก็จะยิ่งเกิดได้ถี่ขึ้นๆ เพราะการจดจำสภาวธรรมได้แม่นยำเป็นเหตุใกล้ให้เกิดสติ

การรู้บ่อยๆนั้นถ้าผู้ปฏิบัติรู้ได้เองก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่บางคนจิตมีความหลงรุนแรง มักจะเผลอลืม ตัวไปคราวละนานๆ ถ้าเป็นอย่างนี้ก็ให้หาเครื่องช่วย โดยการหาอารมณ์อันหนึ่งมาเป็นวิหารธรรม หรือมาเป็นสิ่งที่จิตจะคอยรู้เป็นประจำไว้ เมื่อไม่มีอารมณ์ใดเด่นชัดให้รู้ ก็กลับมารู้อารมณ์อันเป็นวิหารธรรมของตนต่อไป พอมีอารมณ์อื่นแปลกปลอมเข้ามา ก็ค่อยรู้สิ่งที่แปลกปลอมเข้ามานั้น

วิหารธรรมที่ว่านี้พระพุทธเจ้าทรงประทานไว้ให้พวกเราแล้ว ได้แก่ อารมณ์รูปนามในสติปัฏฐานนั่นเอง

เช่นบางท่านถนัดที่จะรู้ลมหายใจ เมื่อรู้ลมหายใจแล้วสติเกิดได้บ่อย ก็ให้ใช้ลมหายใจเป็นวิหารธรรม หายใจออกก็รู้สึกตัวหายใจเข้าก็รู้สึกตัว หายใจไปแล้ว จิตเกิดหลงไปคิดก็ค่อยรู้ทันว่าจิตหลงไปคิด หายใจไปแล้วจิตสงบก็ค่อยรู้ว่าจิตสงบ หายใจแล้วเกิดปีติสุขก็ค่อยรู้ว่ามีปีติสุข เป็นต้น

บางท่านถนัดที่จะรู้รูปที่เคลื่อนไหวก็หมั่นเดินจงกรม เดินเพื่อจะรู้สึกตัว เมื่อเดินอยู่หากจิตเกิดหลงไปคิดก็ค่อยรู้ทันว่าจิตหลงไปคิด เดินไปแล้วจิตสงบก็ค่อยรู้ว่าจิตสงบ เดินไปแล้วเกิดปีติสุขก็ค่อยรู้ว่ามีปีติสุข เป็นต้น

ใครถนัดรู้เวทนาก็ใช้เวทนาเป็นวิหารธรรม ใครถนัดดูจิตก็ใช้จิตเป็นวิหารธรรม เรื่องนี้ให้สังเกตตนเองว่า รู้สิ่งใดแล้วสติเกิดบ่อยก็ให้ใช้สิ่งนั้นเป็นวิหารธรรม

หากรู้รูปนามไปนานๆ แล้วจิตเกิดความอ่อนล้าลง ก็ให้พักผ่อนทำความสงบจิต เช่น ผู้ที่ใช้ลมหายใจเป็นวิหารธรรมก็ให้จิตเข้าพักอยู่กับลมหายใจ

ผู้ที่เดินจงกรมเป็นวิหารธรรมก็เดินต่อไป แต่ไม่ใช่เดินรู้รูปนาม ให้ใช้สติจับเบาๆ เข้าไปที่กายหรือที่จิตก็ได้ เป็นการพักผ่อน ผู้ที่รู้เวทนาทางกายก็ให้ใช้สติจับเบาๆ เข้าที่กายทั้งกาย

ผู้ที่รู้เวทนาทางใจและผู้ที่รู้จิตก็ให้ใช้สติจับเข้าที่ความรู้สึกว่างๆ หรือความไม่มีอะไรเลยเป็นที่พักผ่อน

อนึ่ง จิตที่ว่างๆ เรียกว่าอากาสานัญจายตนจิต จิตที่รู้ความไม่มีอะไรเลยเรียกว่าอากิญจัญญายตนจิต จิต ๒ ดวงนี้เป็นอารมณ์ที่ใช้ทำสมถกรรมฐานของนักดูจิตได้

เมื่อจิตใจได้พักผ่อนแช่มชื่นแล้ว ก็กลับมารู้รูปนามเพื่อการเจริญปัญญาต่อไปอีก จนกว่าจะบรรลุมรรคผลนิพพาน เมื่อถึงที่สุดเป็นพระอรหันต์แล้ว ก็จะมีวิหารธรรมเป็นที่พักเฉพาะตัวอีก แต่ละท่านจะมีวิหารธรรมแตกต่างกันไปตามความคุ้นเคยของท่าน

(อ่านต่อฉบับหน้า)

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 124 มีนาคม 2554 โดย พระปราโมทย์ ปาโมชฺโช)
กำลังโหลดความคิดเห็น