xs
xsm
sm
md
lg

อาหารเป็นยา : กินอย่างไร??... ในผู้สูงอายุ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ความแก่เป็นสิ่งที่ทุกคนหลีกเลี่ยงไม่ได้ คงไม่ใช่เรื่องแปลกหากร่างกายจะเริ่มถดถอยลง เกิดการเสื่อมสภาพของระบบอวัยวะต่างๆ ไม่ฟิตเปรี๊ยะเหมือนแต่ก่อน วัยนี้จึงเป็นวัยที่ต้องดูแลเรื่องสุขภาพ ยิ่งตัวเลขอายุยิ่งเพิ่มขึ้น ก็ต้องยิ่งดูแลเรื่องอาหารการกินมากขึ้น การจะเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพ โภชนาการนับเป็นปัจจัยที่สำคัญในช่วงอายุนี้

การบริโภคอาหารที่ถูกต้องตามหลักโภชนาการ และควบคุมปริมาณอาหารให้เหมาะสมกับน้ำหนักตัว หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง หันมารับประทานอาหารประเภทปลาและไข่ให้มาก ดื่มนมพร่องมันเนย เพื่อให้ได้โปรตีนและแคลเซียมเพียงพอที่จะไปบำรุงกระดูกให้แข็งแรง รวมถึงรับประทานผักผลไม้ต่างๆ เพื่อช่วยในการขับถ่าย

การที่ผู้สูงอายุได้รับสารอาหารไม่เพียงพอหรือได้มากเกินไป จะมีผลซ้ำเติมต่ออวัยวะต่างๆ ในร่างกาย โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นโรคเรื้อรัง เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคภาวะไขมันในเลือดสูง โรคเบาหวาน และโรคเก๊าท์ เป็นต้น ซึ่งการรับประทานอาหารล้วนมีผลต่อร่างกายทั้งสิ้น

• อาหารสำหรับผู้สูงวัยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง

ควรรับประทานอาหารประเภทเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน เนื้อปลา นมพร่องมันเนย ข้าว ผลิตภัณฑ์จากแป้งที่ไม่ใส่เกลือ ผักและผลไม้สด

ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่ใช้เกลือเป็นส่วนผสม ได้แก่ น้ำปลา ซีอิ๊ว กุนเชียง ไส้กรอก เบคอน หมูแฮม ผลิตภัณฑ์แป้งและธัญพืชทุกชนิดที่ใส่เกลือ ผักดองและผักกระป๋องที่ใส่เกลือ ผลไม้แปรรูปที่มีโซเดียม ผลไม้เชื่อม ดอง ผลไม้แช่อิ่มที่ใช้เกลือและสารกันบูดที่มีโซเดียมเป็นส่วนผสม และอาหารที่ใส่ผงชูรส

• อาหารสำหรับผู้สูงวัยที่เป็นโรคภาวะ
ไขมันในเลือดสูง


ควรรับประทานอาหารประเภทเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน เนื้อปลา นมพร่องมันเนย ข้าวไม่ขัดสีมาก ผักและผลไม้สด ไขมันจากพืช เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันข้าวโพด น้ำมันรำข้าว เป็นต้น

ควรงดอาหารประเภทเครื่องในสัตว์ หนังเป็ด หนังไก่ ไข่แดง อาหารทะเลบางชนิด เช่น หอยนางรม ปลาหมึก อาหารและขนมหวานที่มีส่วนประกอบของกะทิ ไขมันที่ได้จากสัตว์ ไขมันจากพืชบางชนิดซึ่งมีกรดไขมันชนิดอิ่มตัว ได้แก่ น้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาล์ม และอาหารทอดทุกชนิด

• อาหารสำหรับผู้สูงวัยที่เป็นโรคเบาหวาน

ควรรับประทานอาหารในกลุ่มเนื้อสัตว์ เช่น ปลา กุ้ง หอย และเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ข้าวที่ไม่ขัดสีมาก ผักต่างๆ และผลไม้ เช่น มะละกอ ส้ม มะม่วง ควรงดอาหารประเภทเนื้อสัตว์ติดมัน อาหารที่มีน้ำตาลทุกชนิด ฟักทอง เผือก มัน ผลไม้รสหวานจัด เช่น ขนุน องุ่น ลำไย ทุเรียน น้อยหน่า เป็นต้น

• อาหารสำหรับผู้สูงอายุที่เป็นโรคเก๊าท์

ควรรับประทานอาหารประเภทเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน เนื้อปลา นมพร่องมันเนย ข้าว ผักและผลไม้สด ไขมันจากพืช ควรงดอาหารประเภทเครื่องในสัตว์ทุกชนิด เนื้อสัตว์ติดมัน ขนมหวานที่ทำจากถั่ว ผักจำพวกกระถิน ชะอม ไขมันจากสัตว์และไขมันจากพืชบางชนิด ซึ่งมีกรดไขมันชนิดอิ่มตัว เหล้า เบียร์

ผู้สูงวัยจึงควรเลือกรับประทานอาหารให้เหมาะสมกับตนเองหรือโรคที่เป็น นอกจากนี้ การออกกำลังกายใน วัยสูงอายุก็มีความสำคัญเช่นกัน รู้จักเลือกออกกำลังกายให้เหมาะสมกับสภาพร่างกาย ก็จะช่วยทำให้มวลกระดูกแข็งแรง สุขภาพแข็งแรงขึ้น และควรมีการพักผ่อนนอนหลับอย่างเพียงพอ ถ้าเป็นไปได้ลูกหลานควรพาผู้สูงอายุในบ้านไปเที่ยวพักผ่อนในสถานที่ที่ท่านชื่นชอบบ้าง เพื่อให้ท่านมีจิตใจเบิกบาน ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อสภาพร่างกาย

• เลือกผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร
อย่างชาญฉลาด


ปัจจุบันผลิตภัณฑ์เสริมอาหารได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก อาจเป็นผลมาจากการละเลยการดูแลสุขภาพด้วยวิธีที่ถูกต้อง ประกอบกับการใช้กลยุทธ์การส่งเสริมการตลาดของผู้ผลิตและผู้ประกอบการ โดยใช้การโฆษณาที่มีลักษณะอวดอ้างต่างๆ เช่น สามารถเสริมสร้างความจำ ช่วยลดน้ำหนัก เสริมสร้าง กระดูก รักษาโรคกระดูกพรุน หรือช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็ง เป็นต้น ซึ่งไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด ผู้สูงอายุและสมาชิกในครอบครัวจึงควรทำความเข้าใจ ให้ถ่องแท้ว่า ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารคืออะไร

ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร (Dietary Supplement) เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้รับประทานนอกเหนือจากการรับประทานอาหารตามปกติ ซึ่งมีสารอาหารหรือสารอื่นเป็นองค์ประกอบ มักอยู่ในรูปแบบของเม็ด แคปซูล ผล เกล็ด ของเหลวหรือลักษณะอื่น ซึ่งมิใช่รูปแบบอาหารตามปกติ สำหรับผู้บริโภคที่คาดหวังประโยชน์ทางด้านส่งเสริมสุขภาพ

ดังนั้น ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจึงเป็นเพียงอาหารชนิดหนึ่ง และอาหารย่อมไม่ใช่ยาที่จะไปรักษาโรคใดๆ ได้ การโฆษณาในเชิงช่วยรักษาโรคมะเร็ง โรคอ้วน โรคกระดูกพรุน จึงเป็นการโฆษณาที่อวดอ้างสรรพคุณเกินจริง หากผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนั้นมีสรรพคุณตามที่อวดอ้าง ก็ควรไปขึ้นทะเบียนเป็นยา ซึ่งจะมีการตรวจสอบอย่างเข้มงวด เพื่อพิสูจน์ว่าผลิตภัณฑ์นั้นมีสรรพคุณตาม ที่ระบุหรือไม่

ทั้งนี้ มักมีคำถามเสมอว่า ผู้สูงอายุควรรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหรือไม่ โดยข้อเท็จจริงแล้ว การรักษาสุขภาพของผู้สูงอายุให้แข็งแรง เพียงรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ในปริมาณที่พอเหมาะ หลีกเลี่ยงการ สูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 8 ช.ม. ทำจิตใจให้สดชื่นแจ่มใส เมื่อมีอาการเจ็บป่วยควรพบแพทย์ เพียงเท่านี้การรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารก็ไม่มีความจำเป็น

อย่างไรก็ตาม ในผู้สูงอายุบางรายอาจมีความจำเป็น ต้องใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ซึ่งข้อแนะนำการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร มีดังนี้

- สังเกตบนฉลาก ต้องมีเลขสารบบอาหาร ซึ่งผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ได้รับเลขสารบบอาหารภายในเครื่องหมาย อย. แสดงให้เห็นว่า ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมี สถานที่ผลิต ทั้งผู้ผลิตภายในประเทศและต่างประเทศ มีหลักเกณฑ์วิธีการผลิตที่ดี และสูตรส่วนประกอบที่ใช้ในการผลิตนั้นมีความปลอดภัย

- ไม่ควรหลงเชื่อโฆษณา ควรเปรียบเทียบข้อมูลโฆษณาที่ได้รับกับฉลากที่แสดงข้อมูลของผลิตภัณฑ์ ถ้าไม่ตรงกันหรือแสดงสรรพคุณนอกเหนือจากฉลาก ให้เชื่อเฉพาะข้อมูลที่ปรากฏบนฉลากเท่านั้น

พึงระลึกไว้เสมอว่า... ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารคืออาหาร ไม่ใช่ยา จึงไม่สามารถบรรเทา บำบัด หรือรักษา โรคใดๆ ตามที่โฆษณาอวดอ้างได้

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 123 กุมภาพันธ์ 2554 โดย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา)

กำลังโหลดความคิดเห็น