xs
xsm
sm
md
lg

พุทธลีลา : ปางประทานอภัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พระพุทธรูปปางประทานอภัย นิยมสร้างกัน ๒ แบบ แบบหนึ่งเป็นพระพุทธรูปในพระอิริยาบถยืน ยกพระหัตถ์ทั้งสองเสมอพระอุระ ตั้งฝ่าพระหัตถ์ออกไปข้างหน้า ส่วนอีกแบบหนึ่งเป็นพระพุทธรูปในพระอิริยาบถนั่งขัดสมาธิ ยกพระหัตถ์ทั้งสองป้องเสมอพระอุระ ตั้งฝ่าพระหัตถ์เข้าหากัน เบนออกไปข้างหน้าเล็กน้อย

ที่มาของปางนี้มีกล่าวไว้ว่า พระเจ้าอชาตศัตรู พระราชโอรสของพระเจ้าพิมพิสาร แห่งกรุงราชคฤห์ ถูกพระเทวทัตซึ่งเป็นพระอาจารย์ ยุยงให้ปลงพระชนม์พระราชบิดา แล้วขึ้นครองราชย์แทน ส่วนพระเทวทัตก็อยากเป็นใหญ่ในหมู่สงฆ์ จึงพยายามปลงพระชนม์พระพุทธเจ้า พระเจ้าอชาตศัตรู ก็ทรงช่วยพระเทวทัตโดยพระราชทานนายขมังธนูไปลอบปลงพระชนม์ พระศาสดา รวมทั้งพญาช้างนาฬาคิรีที่กำลังตกมันและดุร้าย เพื่อไปทำร้ายพระพุทธเจ้า แต่ก็ไม่สำเร็จ มหาชนพากันติเตียนการกระทำของพระเจ้าอชาตศัตรูและพระเทวทัต จนทำให้พระเจ้าอชาตศัตรูทรงสำนึกถึงความผิด และทรงตัดขาดกับพระเทวทัต พร้อมทั้งได้เสด็จมาเฝ้าพระพุทธองค์ เพื่อขอประทานอภัยโทษที่ทรงล่วงเกิน

พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงพระธรรมเทศนา จนพระเจ้าอชาตศัตรูพอพระทัยว่าพระธรรมเทศนาแจ่มแจ้งนัก จากนั้นจึงได้ทูลขอประทานอภัยโทษต่อพระบรมศาสดา ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โทษได้ครอบงำหม่อมฉัน ซึ่งเป็นคนเขลาคนหลงไม่ฉลาด หม่อมฉันได้ปลงพระชนม์ชีพพระบิดาผู้ดำรงธรรม เป็นพระราชาโดยธรรม เพราะเหตุแห่งความเป็นใหญ่ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงรับทราบความผิดของหม่อมฉันโดยเป็นความผิดจริง เพื่อสังวรต่อไปเถิด”

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “อาตมภาพขอรับทราบความผิดของมหาบพิตร การที่บุคคลเห็นความผิดโดยเป็นความผิดจริง แล้วสารภาพตามความเป็นจริง รับสังวรต่อไปนี้ เป็นความชอบในธรรมวินัยของพระอริยเจ้า”

พระเจ้าอชาตศัตรูได้ขอถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งสูงสุด และนับแต่นั้นมาทรงปกครองบ้านเมืองด้วยทศพิธราชธรรม และทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาด้วยดี เช่น ทรงให้ความอุปถัมภ์ในการทำสังคายนาพระไตรปิฎก ครั้งที่ ๑ แต่พระองค์ไม่สามารถบรรลุธรรมขั้นสูงได้ เพราะได้กระทำปิตุฆาต ซึ่งเป็นกรรมอันหนักนั่นเอง

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 110 มกราคม 2553 โดยกานต์ธีรา)

กำลังโหลดความคิดเห็น