xs
xsm
sm
md
lg

อโรคยาศาลา : โยคะ สมาธิ ช่วยรักษาโรคหัวใจ พุทธธรรมบำบัด (ตอนจบ)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แพทย์อีกท่านหนึ่งที่มีผลงานน่าสนใจ ก็คือ ศาสตราจารย์ ดีน ออร์นิช (Dean Ornish) ซึ่งเป็นอายุรแพทย์ทางโรคหัวใจที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานฟรานซิสโก และเป็นประธานสถาบันวิจัยทางเวชศาสตร์ป้องกันที่ซาลซาลิโต เขาได้ใช้วิธีการบำบัดทางกายและจิต ได้แก่ การรับประทานอาหารไขมันต่ำ การออกกำลังกายปานกลาง การฝึกโยคะ สมาธิ เทคนิคการผ่อนคลาย การทำกลุ่มบำบัด มาใช้ในการรักษาโรคหัวใจ และพิสูจน์ให้เห็นว่า วิธีการดังกล่าวสามารถทำให้เส้นเลือดที่อุดตัน ให้มีรูขยายกว้างขึ้นได้ โดยไม่ต้องผ่าตัดเปลี่ยนเส้นเลือด

โปรแกรมของเขา คือ Dr.Dean Ornish Program for Reversing Heart Disease ได้ช่วยผู้ป่วยโรคหัวใจรุนแรงจำนวนมาก ที่ไม่ต้องการผ่าตัด เช่น บ๊อบ ฟินเนล ชาวเมืองเรดวู๊ด แคลิฟอร์เนีย ผู้อำนวยการองค์กรการศึกษาเอกชนซึ่งไม่หวังผลกำไร กล่าวว่า

“เมื่ออายุ 55 ปี ผมป่วยเป็นโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ เส้นเลือดหัวใจ 2 เส้นตีบตันไป อีกหนึ่งเส้นตีบไปร้อยละ 80 ผมไม่สามารถเคลื่อนไหวไปไหนได้ เพราะจะเจ็บหน้าอก หมอบอกว่า ถ้าไม่รีบผ่าตัดเปลี่ยนเส้นเลือดที่หัวใจ มีหวังต้องตายในเวลาไม่เกิน 6 เดือน ผมจึงได้เข้าโปรแกรมของหมอดีน แรกๆผมไม่สามารถทำโยคะได้ ผมก้มลงเอามือแตะหัวแม่เท้าไม่ถึง ผมไม่ชอบโยคะ เวลาตื่นนอน รู้สึกว่าไม่สดชื่น เนื้อตัวแข็งทื่อไปหมด ไม่มีชีวิตชีวา แต่หลังจากฝึกไป 6 เดือน ผมพบว่า ผมตื่นขึ้นด้วยความสดชื่น กระฉับกระเฉง ข้อต่อไม่ติดขัดเหมือนเดิม

เวลาผมไปหาหมอหัวใจ ต้องจ่ายครั้งละ 165 เหรียญ ในเวลา 15 นาที ในจำนวนนี้ประกันจ่ายให้ร้อยละ 80 เวลาไปเข้าชั้นเรียนโยคะ ผมจ่ายเองครั้งละ 8-12 เหรียญ เดี๋ยวนี้ผมจ่ายเงินเพื่อฝึกโยคะมากกว่าไปหาหมอ แต่โยคะก็ให้ประโยชน์ต่อสุขภาพของผมมากกว่า ผมกลายเป็นคนเลิกบ้างาน แต่มาบ้าโยคะแทน ผมรู้สึกว่าโปรแกรมของหมอช่วยแก้ไขเรื่องอารมณ์ให้ผ่อนคลาย มีสมาธิ ปล่อยวางได้มาก ซึ่งผมคิดว่ามันเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้ผมหายจากโรคหัวใจ” น้ำหนักของเขาลดลงจาก 180 ปอนด์ เหลือ 140 ปอนด์ คอเลสเตอรอลลดลงจาก 235 เหลือ 120 และเขาหลงใหลโยคะมาก

นพ.ดีนใช้ธรรมชาติบำบัดในการรักษาผู้ป่วย จากการที่เขาเคยประสบปัญหาส่วนตัว ช่วงก่อนเรียนแพทย์ เขารู้สึกเครียดจากการเรียนมาก จนกลายเป็นคนซึมเศร้า และเกือบฆ่าตัวตาย เขาต้องออกจากโรงเรียนกลับไปอยู่บ้านที่ดาลัส พี่สาวเขาแนะนำให้รู้จักกับสวามีสัทชิดานันทะ (Swami Satchidananda) ซึ่งเดินทางไปเผยแพร่ ปรัชญาโยคะอยู่ในอเมริกาขณะนั้น และท่านได้แนะนำให้ เขาฝึกโยคะ ฝึกสมาธิ และรับประทานอาหารมังสวิรัติ ครั้งแรกเขาปฏิเสธ แต่หลังจากนั้น 2-3 สัปดาห์เขาก็เริ่มฝึก ไม่นานสภาพจิตใจก็เริ่มดีขึ้นมาก จนสามารถกลับไปเรียนจนจบ และเข้าเรียนต่อที่วิทยาลัยแพทย์เบเลอร์ และฝึกโยคะตลอดมา ในเวลานั้นปี ค.ศ.1975 เป็นช่วงที่โรงเรียนแพทย์ที่นั่น กำลังเป็นผู้นำในการผ่าตัดเปลี่ยนเส้นเลือดหัวใจ ซึ่งมีชื่อเสียงโด่งดังมาก

เมื่อเขาเป็นหมอโรคหัวใจที่นี่ ก็พบว่า การผ่าตัดเปลี่ยนเส้นเลือดหัวใจไม่ได้แก้ปัญหา แต่เป็นการเลี่ยงปัญหา เนื่องจากคนไข้ยังไม่หมดปัญหาหลังผ่าตัด เพราะหลังจากนั้น 2-3 ปี เส้นเลือดบริเวณนั้นก็เริ่มตีบตันอีก เขาพบว่าคนไข้โรคหัวใจมีปัญหาทางจิตใจมาก

จากงานวิจัยที่เขาลองทบทวนดูก็ได้พบว่า อารมณ์ที่ไม่ดี ความเครียด เป็นสาเหตุให้ความดันโลหิตสูง ไขมัน ในเลือดสูง และเกิดอาการทางหัวใจตามมา การศึกษาระยะหลังพบว่า การทำสมาธิ การฝึกโยคะ การฝึกความผ่อนคลาย อาหารมังสวิรัติ ช่วยลดความดันโลหิต ลดไขมันในเลือด นอกจากนั้นเขายังได้ศึกษางานของ นพ.เฟรดแมน เกี่ยวกับบุคลิกภาพของผู้ป่วยโรคหัวใจ และการดำเนินชีวิตของคนไข้เหล่านี้

เขาจึงเริ่มทำการศึกษา โดยครั้งแรกศึกษาในคนไข้ 10 คน ให้คนไข้งดบุหรี่ เดินออกกำลังกายทุกวัน ฝึกโยคะ ฝึกสมาธิ และเข้ากลุ่มบำบัดทางจิตใจ รับประทานอาหารมังสวิรัติ และลดไขมันในอาหารลงไม่ให้เกินร้อยละ 15 ทำเช่นนี้เป็นเวลา 1 เดือน จากการตรวจร่างกายผู้ป่วย พบว่า มีเลือดไปเลี้ยงหัวใจมากขึ้น อาการเจ็บหน้าอกหายไปในช่วงที่เข้าโปรแกรม

เขาจึงได้ตีพิมพ์รายงานในวารสารของสมาคมแพทย์อเมริกัน ในปี ค.ศ.1979 บทความดังกล่าวได้รับการวิพากษ์ วิจารณ์อย่างมากในเรื่องอาหาร อายุรแพทย์กล่าวว่า อาหารไขมันต่ำแบบของเขา เป็นเรื่องที่ปฏิบัติไม่ได้สำหรับ คนอเมริกัน และแพทย์ส่วนใหญ่ยังเชื่อว่า เมื่อเส้นเลือดตีบไปแล้วจะกลับมาขยายกว้างเหมือนเดิมไม่ได้

ดังนั้นในปี ค.ศ.1980 นพ.ออร์นิชจึงเริ่มทำการศึกษาอีกครั้งในผู้ป่วย 48 ราย ที่เป็นโรคเส้นเลือดหัวใจตีบอย่างรุนแรง โดยแบ่งคนไข้เป็น 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งให้การรักษาแบบทั่วไป ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ที่ดูแลไปตามปกติ อีกกลุ่มหนึ่งให้ฝึกโยคะ ฝึกสมาธิ ออกกำลัง กายปานกลาง ทำกลุ่มบำบัด รับประทานอาหารไขมันต่ำ เป็นเวลา 3 สัปดาห์ ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มที่ให้การรักษาแบบทั่วไป อาการเลวลง แต่กลุ่มที่รักษาโดยวิธีการของเขานั้น ไขมันคอเลสเตอรอลลดลงร้อยละ 21 อาการแน่นหน้าอกลดลงร้อยละ 91 สามารถออกกำลังกายได้มากขึ้นร้อยละ 55 และความดันโลหิตลดลง ความเครียดลดลง มีสุขภาพดีขึ้น เขาได้เขียนรายงานลงในวารสารของสมาคมแพทย์อเมริกัน ในปี ค.ศ.1983 ซึ่งคำวิจารณ์ยังคงเหมือนเดิม และยังไม่ยอมรับว่าโรคเส้นเลือดหัวใจตีบจะกลับมาเหมือนเดิมได้

ดังนั้น เพื่อให้แน่ใจว่าการทดลองของเขาได้ผลจริง เขาจึงทำการศึกษาอีกเป็นครั้งที่ 3 ในผู้ป่วยชาย 43 ราย หญิง 5 ราย กลุ่มหนึ่งให้รักษาตามแบบปกติทั่วไป อีกกลุ่มหนึ่งให้รักษาตามแบบของเขาและไม่ให้ยาลดไขมัน งดสูบบุหรี่ เดินออกกำลังกายวันละครึ่งถึงหนึ่งชั่วโมง สัปดาห์ละ 3 วัน ฝึกโยคะและสมาธิวันละ 1 ชม.ทุกวัน รับประทานอาหารไขมันต่ำประมาณร้อยละ 10 เข้ากลุ่มบำบัดสัปดาห์ละ 2 ครั้ง แต่บางคนทำไม่ได้ทุกอย่าง บางคนฝึกโยคะสมาธิไม่ได้ บางรายคิดว่าการเข้ากลุ่มบำบัดเป็นเรื่องไร้สาระ มีอยู่รายหนึ่งเป็นนักกีฬาชายอายุ 49 ปี ซึ่งควบคุมอาหาร และออกกำลังกาย ไม่สนใจเรื่องสมาธิและการเข้ากลุ่มบำบัด สองสามเดือนต่อมาขณะที่เขากำลังออกกำลังกายด้วยเครื่องโยก ก็เกิดอาการแน่นหน้าอก และเสียชีวิตในเวลาต่อมา

การเสียชีวิตของคนไข้รายนี้ ทำให้ผู้เข้าโปรแกรมคนอื่นๆ เห็นความสำคัญของปัจจัยทางด้านจิตใจ นอกจากปัจจัยทางด้านอาหารไขมันสูง การสูบบุหรี่ ความดันโลหิตสูง การมีประวัติของคนในครอบครัวที่เป็นโรคหัวใจ เป็นปัจจัยสำคัญต่อการเสียชีวิตของผู้ป่วย ดังนั้นหมอออร์นิช จึงเน้นเรื่องโยคะ สมาธิ การทำกลุ่มบำบัด ว่าเป็นสิ่งจำเป็น ดังอุทาหรณ์ในผู้ป่วยรายนี้

หลังจากทำการศึกษาอยู่ 1 ปี เขาพบว่า กลุ่มที่รักษาแบบปกติมีอาการเจ็บหน้าอกมากขึ้น เส้นเลือดหัวใจตีบมากขึ้น ตรงข้ามกับกลุ่มที่เขาดูแลอยู่ มีอาการเจ็บหน้าอก ลดลงร้อยละ 91 และร้อยละ 82 เส้นเลือดที่เคยตีบกลับคืนมา ปริมาณเลือดไหลเวียนผ่านเส้นเลือดได้มากขึ้นสองเท่า เขาได้ตีพิมพ์ลงในวารสารสมาคมแพทย์อเมริกัน ฉบับเดือนธันวาคม ค.ศ.1998 ปัจจุบันโปรแกรมของเขาได้รับการยอมรับและใช้ในโรงพยาบาลต่างๆ

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 110 มกราคม 2553 โดย นพ.แพทย์พงษ์ วรพงศ์พิเชษฐ)
กำลังโหลดความคิดเห็น