xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมะกับชีวิตประจำวัน : ปรับตัวปรับใจ เรื่องเร่งด่วนของชีวิต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สังคมโลกยุคปัจจุบันนี้มีสภาพเหมือนกับไฟไหม้ เพราะมีปัญหานานาประการเกิดขึ้นในหมู่มนุษย์ด้วยประการต่างๆ บรรดาปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้ประชาชนทั่วๆไปมีความร้อนอกร้อนใจ มีความเป็นทุกข์ล่วงหน้า กลัวว่าสิ่งเหล่านั้นมันจะมาทำลายเรา ทำลายทรัพย์สมบัติของเรา ทำลายอิสระเสรี ซึ่งเราเคยได้เคยมีไว้ให้เสียไป ก็มีความวิตกกังวลด้วยปัญหานั้นๆ มันก็มีความทุกข์ มีความไม่สบายทั้งกายทั้งใจ เพราะขณะใดที่ใจเราร้อนกระวนกระวายด้วยปัญหาอะไรก็ตาม ร่างกายก็พลอยเดือดร้อนกระวนกระวายไปด้วย พลอยมีความทุกข์มีปัญหาเกิดขั้นด้วยเหมือนกัน เพราะสภาพกายกับจิตนั้น มีความสัมพันธ์กันอยู่ตลอดเวลา สิ่งใดเกิดขึ้นแก่ร่างกาย ก็ย่อมจะส่งผลไปถึงจิตด้วย สิ่งใดที่เกิดขึ้นในจิต ก็ส่งผลมาถึงร่างกายด้วย ยกตัวอย่าง เช่นว่าเรามีความวิตกกังวลด้วยปัญหาอะไรก็ตาม เราจะรู้สึกว่าร่างกายผิดปกติ เช่นว่าหัวใจต้องทำงานหนัก ต้องสูบฉีดโลหิตไปเลี้ยงร่างกายมากขึ้น บางทีก็มีการผิดปกติในระบบการย่อยอาหาร ท้องไส้ไม่เป็นปกติ บางทีก็กระทบกระเทือนไปถึงระบบขับถ่าย เช่นเป็นคนท้องผูก ถ่ายไม่เป็นปกติ สิ่งเหล่านี้เกิดจากปัญหาทางจิต คือความวิตกกังวลในเรื่องอะไรต่างๆ

เพราะฉะนั้นถ้ามีปัญหา คือความทุกข์ความเดือดร้อนกระทบกระเทือนจิตใจบ่อยๆ ก็ล่อแหลมที่จะเป็นโรคทางประสาท สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจากปัญหา คือความวิตกกังวล อันเป็นความทุกข์ความเดือดร้อนในชีวิตประจำวัน ซึ่งเราไม่มีความปรารถนาที่จะให้เกิดสิ่งนั้นขึ้นในวิถีชีวิต แต่ว่ามันก็หลีกเลี่ยงยากอยู่เหมือนกัน เพราะชีวิตของเราต้องเกี่ยวข้องกับคนต่างๆ ก็คนที่เราอยู่ร่วมกันนั้น ไม่ใช่ว่าจะมีจิตใจเป็นปกติเสมอกันทุกคน บางคนก็มีสภาพจิตใจอย่างหนึ่ง บางคนก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง เช่นบางคนใจร้อนใจเร็ว บางคนก็ใจเย็นใจสงบ บางคนก็มีความรู้สึกรุนแรง บางคนก็ไม่ค่อยจะมีความรุนแรงเท่าใด การพูดจาของคนบางคนก็เป็นไปตามใจ เช่น ถ้าเป็นคนใจร้อนใจเร็ว มักจะใช้ถ้อยคำประเภทรุนแรงสามหาวด้วยประการต่างๆ แต่ถ้าเป็นคนใจสงบใจเย็น การพูดจาก็ไม่ค่อยจะรุนแรง มีความยั้งคิด ไม่พูดอะไรไปตาม อารมณ์ แต่ว่าคิดแล้วจึงพูด คิดแล้วจึงทำ คนที่มีสภาพจิตใจอย่างนั้นไม่ค่อยจะเป็นปัญหาเท่าใดนัก แต่ถ้าเราอยู่ ร่วมกับคนที่มีจิตใจไม่ได้ฝึกฝนไม่ได้อบรมมาก่อน ก็ย่อมจะมีปัญหา มีความทุกข์ความเดือดร้อนเป็นธรรมดา

เราจะไปห้ามสิ่งนอกกายนั้นย่อมไม่ได้ เช่น ห้ามเรื่องดินฟ้าอากาศ อันเป็นธรรมชาติที่เป็นอยู่ตามเรื่องตามราวนั้นไม่ได้ จะไปห้ามคนนั้นคนนี้ว่าอย่าคิดอย่างนั้น อย่าพูดอย่างนั้น อย่าทำอย่างนั้นอย่างนี้ ก็ย่อมจะไม่ได้เสมอไป ถึงแม้จะทำได้ก็ต้องใช้เวลา เพราะมันเป็นเรื่องของแต่ละบุคคล...

เราควรจะห้ามตัวเราเอง ดีกว่าจะไปจัดการกับเรื่องคนอื่น เพราะการจัดการเรื่องของคนอื่นนั้นมันยาก แต่จัดการกับตัวเราเองนั้นง่ายกว่า อันนี้เป็นความจริง แต่คนเราไม่เข้าใจความจริงข้อนี้ ไม่พยายามที่จะจัดปรับตัวเอง แต่ว่าไปปรับตัวคนอื่น ปัญหาจึงเกิดขึ้นทุกวันทุกเวลา
ในการปรับตัวเราเองนั้น ก็เรียกว่าเป็นการปฏิบัติธรรมนั่นเอง การปฏิบัติธรรมก็คือการปรับตัวเองให้ต้อนรับสิ่งทั้งที่เกิดขึ้นได้ โดยไม่เป็นทุกข์ เราปรับจิตใจของเราให้ต่อสู้กับสิ่งทั้งหลายโดยเราไม่ต้องเป็นทุกข์ มันเป็นเรื่องจำเป็น เป็นงานรีบด่วน เป็นเรื่องสำคัญสำหรับชีวิตเราโดยแท้
เพราะว่าเราจะต้องประสบกับอารมณ์อันไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พึงอกพึงใจอยู่ทุกเวลา ถ้าเราไม่จัดการกับตัวเรา เพื่อให้เข้ากับสิ่งเหล่านั้นแล้ว เราก็ต้องเป็นทุกข์เรื่อยไป เป็นทุกข์ในเรื่องของคนอื่น ในกิริยาท่าทางของคนอื่น ในการกระทำอะไรต่างๆของคนอื่นอยู่ตลอดเวลา ก็คล้ายๆ กับว่า เราเปิดประตูบ้านเปิดหน้าต่างไว้ สิ่งสกปรกคือฝุ่นละอองก็ปลิวเข้ามาในบ้าน จนกระทั่ง เต็มบ้าน ฝุ่นหนาไปทั้งบ้านทั้งเรือน อันนี้เป็นการไม่ถูกต้องที่จะกระทำเช่นนั้น

แต่ว่าเราควรระมัดระวังตัวเอง ในการที่จะรับรู้สิ่งเหล่านั้น ทำให้เราเป็นผู้มีสติปัญญารู้เท่ารู้ทันต่อสิ่งนั้นๆ ที่มากระทำต่อชีวิตจิตใจของเรา เพื่อชีวิตเราจะได้ไม่ต้องขึ้นๆลงๆกับสิ่งที่มากระทบมากเกินไป ถ้าเราไม่ปรับจิตใจของเราให้มีกำลังใจต่อต้านอย่างดีแล้ว เราก็มีอาการขึ้นๆลงๆกับอารมณ์อย่างนั้นอยู่ตลอดเวลา เรื่องดีมากระทบใจมันฟุ้งขึ้นเรียกว่าดีใจ ถ้าเรื่องไม่ดีมากระทบใจ ก็เหี่ยวแห้งร่วงโรยลงไปเรียกว่าเป็นความเสียใจ สภาพจิตใจของเราควรจะอยู่ในสภาพที่เรียกว่าปกติ ถ้าปกติมันก็ไม่ขึ้นไม่ลง ไม่ดีใจไม่เสียใจกับสิ่งที่มากระทบ เรื่องอย่างนี้เป็นเรื่องที่เราควรจะได้สนใจศึกษาปฏิบัติในชีวิตประจำวัน แล้วเราจะมีความสุขทางใจ มีความสงบ มีความเป็นอยู่อย่างเรียบร้อยตามฐานะพุทธบริษัท อะไรๆ เกิดขึ้นก็จะไม่เป็นปัญหาให้เราต้องกระวนกระวาย ต้องมีความ ทุกข์ความเดือดร้อนกับสิ่งนั้นเสมอไป

สิ่งภายนอกเท่าที่เรามีเราได้ไว้เช่นว่าเงินทองข้าวของ เกียรติยศชื่อเสียง อะไรๆ ต่างๆในสังคมนั้น มันก็ไม่ได้ช่วยให้เรามีความสงบใจเสมอไป ไม่ได้ช่วยให้เรามีความสุขทางจิตเสมอไป ถ้าเราไม่เข้าใจ จัดทำใจของเราให้เหมาะกับสิ่งเหล่านั้น ซ้ำร้ายมันอาจจะเป็นพิษเป็นภัยกับเราด้วยซ้ำไป เช่นว่าเราได้อะไรมาก็ดีใจเกินไป หรือว่าสูญเสียอะไรไปก็เสียใจมากเกินไป ความดีใจเกินไปก็ดี ความเสียใจมากเกินไปก็ดี มันทำให้เป็นทุกข์ทั้งนั้น แต่ ว่าดีใจนั้นเป็นทุกข์ที่มองไม่เห็น เราเห็นว่ามันเป็นความสบายหัวเราะได้ แต่ว่าหลังจากนั้นมันก็เป็นทุกข์ในภายหลัง เพราะอะไร ก็เพราะสิ่งทั้งหลายมันไม่คงที่ มันมีการเปลี่ยนแปลง ไม่มีอะไรคงสภาพอยู่อย่างนั้นตลอดไป

สัจจะหรือความจริงที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ธรรมทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนัตตา” อันนี้เป็นหลักที่พระองค์ตรัสไว้แน่นอน ไม่มีความเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น ทีนี้เราไม่เข้าใจในความจริงของสิ่งเหล่านี้ เมื่อไม่เข้าใจก็ไปยึดมั่นถือมั่นในสิ่งเหล่านั้น สำคัญผิดว่ามันจะเป็นไปตามที่ใจปรารถนา มันไม่เที่ยงแต่เรานึกว่ามันเที่ยง มันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์แต่เรานึกว่ามันเป็นเหตุให้เกิดความสุขความสบาย มันไม่มีอะไรที่เรียกว่าเป็นเนื้อแท้ แต่เราไปคิดว่ามันเป็นสิ่งเที่ยงแท้ถาวร อันนี้คือความเข้าใจผิดในจิตใจของเรา แล้วเราเข้าไปเกาะจับสิ่งนั้นไว้ด้วยความหลงผิด ด้วยความเข้าใจผิด จิตเราก็มีปัญหา เกิดความทุกข์ความเดือดร้อนเรื่อยไป

(เรียบเรียงจากส่วนหนึ่งของปาฐกถาธรรม วันที่ ๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๑๙)

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 109 ธันวาคม 2552 โดยพระพรหมมังคลาจารย์ (ปัญญานันทภิกขุ) วัลชลประทานรังสฤษฎ์ จ.นนทบุรี)
กำลังโหลดความคิดเห็น