xs
xsm
sm
md
lg

ความรู้คู่สุขภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นั่งหลังตรงส่งผลเสียต่อสุขภาพ
นายแพทย์วาซีม บาร์ซีร์ รังสีแพทย์แห่ง โรงพยาบาลวูดเดนด์ ในสกอตแลนด์ กล่าวว่า วิทยาการสมัยใหม่ของ เครื่องตรวจร่างกายด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้านั้น จะสามารถตรวจผู้ป่วยได้ทั้งท่านั่งและท่ายืน จึงสามารถมองเห็นผลของแรงโน้มถ่วงที่มีต่อกระดูกสันหลังของร่างกายคน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการนั่งหลังตรง 90 องศาอย่างที่คนทั่วไปเห็นเป็นเรื่องปกตินั้น ได้เพิ่มแรงกดกระดูกสันหลังช่วงเอว ส่งผลให้หมอนรองกระดูกกดทับ เกิดผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาวเป็นอย่างมาก
นายแพทย์บาร์ซีร์แนะนำว่าทางทีดีควรนั่งเอนหลัง ให้ลำตัวทำมุม 135 องศา กับต้นขา เหมือนท่านั้งบนเก้าอี้ที่ปรับเอนได้ เช่น เก้าอี้นวด ซึ่งเป็นท่าที่มีแรงกดน้อยที่สุด และสำหรับผู้ที่นั่งทำงานบนเก้าอี้ทั้งวัน เช่น ผู้ใช้คอมพิวเตอร์ ควรนั่งให้สะโพกสูงกว่าเข่า และเท้าวางราบขนานไปกับพื้น นั่งเอนหลังให้มุมระหว่างลำตัวกับท่อนขากว้างขึ้น

กินถั่ว เนื้อสัตว์ แก้โรคหลงลืม
ในการศึกษาที่ USDA Human Nutrition Research Center ในบอสตัน นักวิจัยพบว่าผู้ชายที่มีระดับของวิตามิน B6 B12 และ B folate สูงในเลือด จะมีความทรงจำที่ดีกว่า ทั้งนี้ จากการทดสอบพบว่าสารอาหารพวกนี้ช่วยให้สมองทำงานได้เต็มที่ และยังช่วยควบคุม homocysteine ซึ่งเป็น กรดอะมิโนชนิดหนึ่งที่อยู่ในร่างกาย ที่เป็นตัวขัดขวางการที่เลือดจะไปหล่อเลี้ยงสมอง
ส่วนอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามิน B6 และโฟเลต มากที่สุด คือถั่ว สำหรับวิตามิน B12 มีมากในเนื้อสัตว์และอาหารทะเล

ฝึกสมาธิเป็นประจำช่วยบำบัดโรคหัวใจ
ในการประชุมของสมาคมหัวใจแห่งอเมริกา นักวิจัยจากวิทยาลัยการแพทย์ในวิสคอนซิน และมหาวิทยาลัยมาฮาริชีในไอโอวา สหรัฐฯ รายงานว่า ได้สุ่มเลือกคนแอฟริกัน-อเมริกัน 201 คน ทั้งชายและหญิงที่อายุเฉลี่ย 59 ปี และมีปัญหาเส้นเลือดแดงที่หล่อเลี้ยงหัวใจตีบ ให้ทำสมาธิหรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินชีวิต
กลุ่มแรกได้รับโจทย์ให้ทำสมาธิวันละสองครั้ง ครั้งละ 20 นาที ส่วนกลุ่มที่สองได้รับโจทย์ให้เปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินชีวิต โดยการเข้าอบรมเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงดั้งเดิม ซึ่งรวมถึงการควบคุมอาหารและการออกกำลังกาย
หลังจากผ่านไป 9 ปี นักวิจัยพบกรณีการเกิดหัวใจวาย โรคหลอดเลือด สมอง หรือเสียชีวิต 20 คน ในกลุ่มที่ทำสมาธิ และ 31 คน ในกลุ่มศึกษาด้านสุขภาพ
นอกจากอัตราการเสียชีวิต อาการหัวใจวาย และโรคหลอดเลือดสมองในกลุ่มสมาธิจะลดลงแล้ว ความดันโลหิตเฉลี่ยของกลุ่มนี้ยังลดลงอย่างชัดเจน นอกจากนี้ ระดับความเครียดทางจิตใจยังลดลงในกลุ่มตัวอย่างบางคน

เดินช้าเพิ่มความเสี่ยงตายจากโรคหัวใจ
อเล็กซีส์ เอลบาซ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยทางการแพทย์แองแซร์มในปารีส แนะว่าผู้สูงวัยควรทำให้ร่างกายกระฉับกระเฉงตลอดเวลา เนื่องจากอาจช่วยให้ชีวิตยืนยาวและกล้ามเนื้อต่างๆ ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การศึกษาของแองแซร์มครอบคลุมกลุ่มตัวอย่างหญิง-ชายสุขภาพดี อายุระหว่าง 65-85 ปี จำนวนกว่า 3,200 คนที่อาศัยอยู่ในสามเมืองในฝรั่งเศส
ช่วงต้นการศึกษาในปี 1999 นักวิจัยประเมินสุขภาพของกลุ่มตัวอย่าง และจับเวลาการเดิน โดยขอให้กลุ่มตัวอย่างเดินเร็วที่สุดเท่าที่ทำได้ ห้าปีต่อมากลุ่มตัวอย่าง 209 คนเสียชีวิต โดยในจำนวนนี้ 99 คนเสียชีวิตจากโรคมะเร็ง, 59 คนจากโรคหัวใจ, 53 คนจากโรคติดเชื้อและอื่นๆ โดยรวมแล้วอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่เกือบ 7%
อัตราการเสียชีวิตในกลุ่มที่เดินช้าที่สุดที่มีจำนวน 1 ใน 3 ของผู้เข้าร่วมทั้งหมด โดยประกอบด้วยผู้ชายที่เดินได้ระยะทางไม่เกิน 5.4 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และผู้หญิงที่เดินได้ระยะทางไม่เกิน 4.8 กิโลเมตรต่อชั่วโมงนั้น สูงกว่าผู้เข้าร่วมอีก 2 ใน 3 ที่เดินเร็วกว่า ถึง 44%
กลุ่มที่เดินช้าที่สุดเสียชีวิตจากอาการหัวใจวาย โรคหลอดเลือดสมอง และสาเหตุที่เกี่ยวข้องอื่นๆ มากกว่ากลุ่มที่เดินเร็วกว่าถึง 2.9 เท่า
อัตราการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นจากโรคหัวใจพบทั้งในผู้ชายและผู้หญิง และไม่เกี่ยวข้องกับอายุหรือความแข็งแรงของร่างกายแต่อย่างใด
เอลบาซ กล่าวว่า หนึ่งในความเป็นไปได้ที่สามารถอธิบายความเร็วในการเดินกับการเสียชีวิตจากโรคหัวใจคือ ปัจจัยเสี่ยงเดียวกันที่ทำให้ความเสี่ยงโรคหัวใจสูงขึ้น นั่นคือความดันโลหิตสูงและโรคเบาหวานนั้น ยังเป็นสาเหตุของโรคหลอดเลือดสมองตีบตันขนาดเล็กที่ทำให้ผู้ป่วยเดินเร็วไม่ได้ อย่างไรก็ดี จำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมเพื่อยืนยันสมมติฐานนี้

ดูแลสุขภาพช่องปาก ถ้าไม่อยากสมองเสื่อม
งานวิจัยในอดีตระบุว่าเชื้อโรคที่เป็นต้นเหตุของโรคเหงือก เป็นตัวชักนำโรคอื่นๆ ด้วยเช่นกัน เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน และจำนวนอสุจิต่ำ ขณะที่งานวิจัยล่าสุดพบว่า เชื้อโรคดังกล่าวอาจบั่นทอนกระบวนการคิดที่ชัดเจน โดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบียในนิวยอร์ก ภายใต้การนำของดร.เจมส์ โนเบิล ได้ทดสอบชาย-หญิง 2,300 คน เพื่อหาเชื้อโรคที่ทำให้เกิดโรคเยื่อหุ้มฟันอักเสบ ที่อาจนำไปสู่การที่เหงือกและกระดูกขากรรไกรเสียหาย
นอกจากนี้ อาสาสมัครที่อายุ 60 ปีขึ้นไปยังต้องรับการทดสอบความจำ ผลปรากฏว่า 1 ใน 5 ซึ่งมีสุขภาพ ฟันแย่ที่สุด มีแนวโน้มมีปัญหาในการเรียงลำดับคำสามคำ มากกว่าคนที่มีปัญหาสุขภาพช่องปากน้อยที่สุดถึง 3 เท่า และมีแนวโน้มตกการทดสอบความจำที่อิงกับการคิดเลขในใจมากกว่าสองเท่า
นักวิจัยสรุปในรายงานในเจอร์นัล ออฟ นิวโรโลจี้, นิวโรเซอร์จีลี แอนด์ ไซเคียทริก ว่า นี่เป็นหลักฐานที่ตอกย้ำการค้นพบความเชื่อมโยงระหว่างสุขภาพช่องปากกับโรคสมองเสื่อม
แม้ไม่รู้สาเหตุที่ชัดเจน แต่รู้กันว่าเชื้อโรคในเหงือก สามารถสร้างความเสียหายให้กับหลอดเลือดแดง และหลอดเลือดแดงที่เสียหายมีความเกี่ยวโยงกับโรคสมองเสื่อม รวมถึงทำให้เกิดการอักเสบ ซึ่งเกี่ยว ข้องกับโรคในสมอง เช่น อัลไซเมอร์
สุขภาพช่องปากนั้นมีความเกี่ยวพันอยู่แล้วกับสุขภาพหัวใจ ผลศึกษาหลายชิ้นชี้ว่าคนที่เป็นโรคเหงือก มักมีเส้นเลือดหัวใจตีบที่อาจทำให้เกิดอาการหัวใจวายและโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งเป็นไปได้ว่าเนื่องจากเชื้อโรคที่ทำให้เกิดโรคเหงือกสามารถเข้าสู่กระแสเลือด กระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้เกิดการอักเสบและผนังหลอดเลือดแดงตีบ
อย่างไรก็ตาม นักวิจัยอังกฤษตั้งข้อสังเกตรายงาน ฉบับนี้ว่า ไม่ได้เป็นหลักฐานยืนยันว่าการมีปัญหาสุขภาพฟันนำไปสู่ปัญหาความจำ แต่อาจเป็นได้ว่าคน เราแปรงฟันน้อยลงเมื่อความจำเริ่มถดถอย

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 110 มกราคม 2553 โดยธาราทิพย์)
กำลังโหลดความคิดเห็น