หลายเดือนที่ผ่านมานิทรรศการ “ภาพของพ่อ-บารมีแห่งแผ่นดิน” บนชั้น 9 ของหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร บริเวณสี่แยกปทุมวัน ทำให้คนทั่วไปได้มีโอกาสชมชื่มพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวผ่านผลงานศิลปะที่หาชมได้ยากและไม่สามารถประเมินราคาได้
เพราะหลายชิ้นเป็นผลงานสะสมส่วนตัวของศิลปิน นักสะสมศิลปะ แกลลอรี่ หอศิลป์ และธนาคารหลายแห่ง ที่อนุญาตให้ผู้จัดนิทรรศการหยิบยืมมาจัดแสดงเป็นการเฉพาะกิจ เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และวาระการเปิดหอศิลป์ฯอย่างเป็นทางการ ประกอบด้วย พระบรมสาทิสลักษณ์ และพระบรมรูป ที่ศิลปินและประติมากร 32 ท่านสร้างสรรค์ขึ้นมานานกว่า 40 ปี มาจนถึงผลงานในห้วงเวลาปัจจุบัน ได้แก่
1. ภาพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเปียโนที่พระตำหนักภูพิงศ์ราชนิเวศน์ และภาพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เขียนที่น้ำตกแม่สา จ.เชียงใหม่(2506) เทคนิคปากกาเมจิกบนกระดาษ ของ พิริยะ ไกรฤกษ์ 2. ภาพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว(2549) เทคนิคดินสอถ่านชาโคว์ ของ ศักดิ์วุฒิ วิเศษมณี 3. ภาพพระบรมฉายาลักษณ์ (2534) เทคนิคสีน้ำมันบนผ้าใบ ของ อวบ สาณะเสน 4. ภาพพ่อของแผ่นดิน(2551) เทคนิคสีน้ำมันบนผ้าใบ ของ จำนันต์ สารารักษ์ 5. ภาพในหลวงของเรา (2546) เทคนิคภาพถ่ายพิมพ์บนผ้าใบ ของ ไกรทิพย์ พันธุ์วุฒิ 6. ภาพพ่อ(2550) เทคนิคสีน้ำมันบนผ้าใบ ของ วราวุธ ชูแสงทอง 7. ภาพเหมือนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (2531) เทคนิคสีน้ำมันบนผ้าใบ ของ สาธิต ทิมวัฒนบรรเทิง 8. ภาพทรงพระเจริญ (2530) เทคนิคสีน้ำมันบนผ้าใบ ของ ไพรวัลย์ ดาเกลี้ยง
9. ภาพในหลวงของชาวบ้าน(2525) เทคนิคสีน้ำ ของ เกียรติศักดิ์ ผลิตาภรณ์ 10. ภาพเชียงใหม่ เทคนิคสีแสตมป์บนภาพถ่าย ของ อนุชัย ศรีจรูญพู่ทอง 11. ภาพพระคู่ฟ้าของแผ่นดิน(2503) เทคนิคสีโปสเตอร์บนกระดาษ ของ สามารถ ครือเครือ 12. ภาพขอจงทรงพระเจริญยิ่งยืนนนาน(2549) เทคนิคสีน้ำบนกระดาษ ของ เกริกบุระ ยมนาค 13. ภาพในหลวงของชาวไทย(2542) เทคนิคคอมพิวเตอร์และสีน้ำมันบนผ้าใบ ของ ชวลิต เสริมปรุงสุข 14. ภาพพลังของแผ่นดิน เทคนิคสีน้ำมันบนผ้าใบ ของ ชัยรัตน์ แสงทอง 15. ภาพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว(2549) เทคนิคสีน้ำมันบนผ้าใบ ของ จักรพันธุ์ โปษยกฤต 16. ภาพพระมหากษัตริย์มหาราช (2549) เทคนิคสีอะคริลิกบนผ้าใบ ของปัญญา วิจินธนสาร
17. ภาพภูมิธรรม-ภูมิแผ่นดิน (2550) เทคนิคสีอะคริลิคบนจีวร ของ อนุพงษ์ จันทร 18. ภาพ 29,200 วัน กับภาพลักษณ์ความพอเพียง เทคนิคสีอะคริลิคบนผ้าใบ ของ ปรีชา เถาทอง 19. พระบรมรูปทรงผนวช หล่อด้วยปูนปาสเตอร์ ของ เขียน ยิ้มศิริ 20. พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หล่อด้วยปูนปาสเตอร์ ของ สนั่น ศิลากรณ์ 21. พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (2516) หล่อด้วยสัมฤทธิ์ ของ ไข่มุกต์ ชูโต 22. พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช(2552) เทคนิคกระเบื้องเคลือบและสัมฤทธิ์ ของ จักรพันธุ์ วิลาสินีกุล 23. ภาพสุวรรณภูมิ(2549) เทคนิคสื่อผสม ของ เมธาวี จิราพงษ์ 24. ภาพรูปและกรอบ(2551) เทคนิคสีน้ำมันบนผ้าใบ ของ อรรถสิทธิ์ อนิวรรตน์ชน
25. ภาพประทับใจหมายเลข 2 (2549)เทคนิคสีอะคริลิคบนผ้าใบของ วุฒิกร คงคา 26. ภาพในหลวงของหนู(2530) เทคนิคสีอะคริลิคบนผ้าใบ ของ สมโภชน์ ทองแดง 27. ภาพ “ธ” (2546) เทคนิคดินสอบนกระดาษ ของ อังกฤษ อัจฉริยโสภณ 28. ภาพฝนเทียม(2549) เทคนิคภาพพิมพ์นูนต่ำของ อำนาจ คงวารี 29. ภาพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว(2550) เทคนิคสีน้ำมันบนผ้าใบ ของ ลาวัณย์ อุปอินทร์ 30. ภาพขอพระองค์ทรงเจริญยิ่งยืนนาน(2549) เทคนิคแม่พิมพ์ตะแกรงไหมและทองคำเปลว ของ ชัยวุฒิ ร่วมฤดีกุล 31. ภาพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (2549) เทคนิคภาพพิมพ์จากภาพถ่าย ของ คณากร คชาชีวะ และ 32. ผลงานศิลปะจัดวาง “ประดุจฟ้าโน้มลงสู่ดิน” (2549) จัดแปรผันตามพื้นที่ ของ วัชระ ประยูรคำ
รวมถึงผลงานภาพถ่ายฝีพระหัตถ์เมื่อปี พ.ศ.2510 ชื่อ “เงาพิศวง” ของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ช่างภาพมืออาชีพ ไกรทิพย์ พันธุ์วุฒิ เอื้อเฟื้อให้ทำสำเนามาจัดแสดงนิทรรศการย่อย “ความสำพันธ์ทางไกลที่อยู่ชิดใกล้” และ “ความมหัศจรรย์ทางใจที่ต่างสัมผัสได้” ตลอดจนวีดีทัศน์ชุด “ภาพของเพลงสรรเสริญพระบารมี” จัดทำโดยมูลนิธิหนังไทย
• ภาพของพ่อ-บารมีแห่งแผ่นดิน
ภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระองค์ประทับตรงเด่นเป็นสง่า มีพระพักตร์ขรึม สงบนิ่ง มองตรง ขณะที่พระพาหาวางแนบพระกาย ดูเคร่งขรึมจริงจัง แสดงถึงความเข้มแข็งและมีพลังบารมี ปรากฎอยู่ในภาพเขียนเทคนิคดินสอถ่านชาโคว์ ชื่อ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” ซึ่ง ศักดิ์วุฒิ วิเศษมณี ศิลปินผู้เชี่ยวชาญในการเขียนภาพพอร์เทรต์ และมีผลงานเป็นที่ยอมรับในระดับแนวหน้าของเมืองไทย เขียนขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2549 และขณะนี้อยู่ในการครอบครองของประภัสสร เสริมทรัพย์
แบบที่ใช้ในการเขียนภาพ ศักดิ์วุฒิ เล่าว่าได้มาจากภาพพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่เด็กนักเรียนคนหนึ่งติดเอาไว้ในสมุดรายงาน ศักดิ์วุฒิใช้ความมีจินตนาการและความมีรสนิยมที่ดี กำหนดโครงสีของภาพให้เป็นน้ำตาลอมเทา ให้ความรู้สึกขลังคล้ายภาพถ่ายเก่า ชวนให้ย้อนระลึกไปในอดีต แล้วลืมเหตุการณ์ในปัจจุบันที่บ้านเมืองมีสภาพวุ่นวายไปเสีย
“ยิ่งบ้านเมืองเป็นแบบนี้ ก็ยิ่งทำให้อยากเขียนภาพพระองค์ท่าน เพราะทรงเป็นแรงบันดาลใจ เป็นศูนย์รวมของคนไทยทุกอย่าง เอ่ยเป็นคำพูดได้ยาก แต่ผมคิดว่าคนเขียนภาพในหลวงทุกคนคงเข้าใจความรู้สึกนี้ดี
ภาพในหลวงในผลงานของผมแบบที่ผมใช้เขียนภาพ มักจะเป็นภาพถ่ายโบราณ เพราะผมชอบ เพราะภาพพระองค์ท่านในปัจจุบันดูทรงเหน็ดเหนื่อยพระวรกายและมีศิลปินเขียนกันเยอะแล้ว ที่สำคัญการนำภาพที่หายากๆ เอามาเขียน มันทำให้เราย้อนไปสู่ยุคสมัยก่อนในช่วงเวลาที่สภาพบ้านเมืองของเรามีความสวยงาม และทุกคนต่างมีความสุข ตอนนี้บ้านเมืองวุ่นวายมาก เวลาเขียนภาพในหลวงสมัยก่อน ทำให้ผมนึกถึงความสวยงามในยุคที่พระองค์ท่านขึ้นครองราชย์ และทรงแต่งองค์งดงาม”
• พ่อหลวงของรากหญ้า
ภาพเขียนทคนิคสีฝุ่นบนผ้าใบชื่อ “ทรงพระเจริญ” ผลงานของ ไพรวัลย์ ดาเกลี้ยง ศิลปินผู้เชี่ยวชาญในการเขียนภาพแนวเหมือนจริง เขียนขึ้นเมื่อ พ.ศ.2530 สมบัติของธนาคารกสิกรไทย เป็นหนึ่งในผลงานศิลปะที่ถ่าย ทอดชีวิตชาวบ้านในชนบทที่มีความรักความศรัทธา และจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างที่สุด
ไพรวัลย์เขียนภาพพ่อลูกในท้องถิ่นห่างไกลและทุรกันดาร ขณะกำลังเดินทางไปรอรับเสด็จ สะท้อนให้ผู้ชมนึกถึงความยากลำบากที่เกิดขึ้นระหว่างการเดินทางเท้าที่เปล่าเปลือยของเด็กหญิงที่ย่ำเดินไปบนถนนในยามเที่ยงที่มีแดดแรง ส่วนผู้เป็นพ่อมือโอบถือกรอบรูปที่มีพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ใช้แขนคล้องตระกร้าใส่ธงและสัมภาระต่างๆ ปากที่เม้ม สายตาที่เด็ดเดี่ยว แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่จะไปให้ถึงจุดหมายปลายทางที่ตั้งใจไว้ ซึ่งชายแก่ในภาพส่วนหนึ่งไพรวัลย์ระลึกไปถึงคุณพ่อของตัวเองที่เป็นชาวบ้านธรรมดาๆคนหนึ่งเช่นกัน
“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นรากแก้วของแผ่นดินตลอดมา คนทั่วไปต่างรับรู้ได้ว่าพระองค์ท่านไม่เคยทิ้งประชาชน ทรงห่วงคนอื่นมากกว่าพระองค์เอ และทรงปฏิบัติให้ได้เห็น ผมเขียนภาพโดยการแสดงออก ผ่านภาพคุณพ่อของผม แทนภาพชาวบ้าน คนด้อยโอกาส ที่เป็นประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ มีความศรัทธาและจงรักภักดีต่อพระองค์ท่าน
คุณพ่อของผมเป็นชาวบ้านที่ยากจนมาก เป็นเกษตรกร แต่ก็เป็นคนจนที่ยิ่งใหญ่ มีอุดมคติ รักในอาชีพ และเห็นว่าการศึกษาเท่านั้นที่จะช่วยให้ลูกหลุดพ้นจากกง เกวียนกำเกวียน คุณพ่อพูดกับผมเสมอว่าแม้คุณพ่อจะเกิดมาเป็นคนที่ด้อยโอกาส แต่ในชีวิตของท่านก็โชคดีอยู่อย่างหนึ่งที่มีพระเจ้าแผ่นดินที่ดี”
• กษัตริย์ผู้ทรงสง่างามในสายตาชาวโลก
ภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ พระบรมราชินีนาถ ขณะทรงมีพระราชปฏิสันถารอย่างเป็นกันเอง กับ Elvis Presley และ Juliet Prowse นักแสดงนำในภาพยนตร์เรื่อง G.I.Blues เป็นภาพที่ วุฒิกร คงคา ศิลปินผู้ชื่นชอบการชมภาพยนตร์ ได้แนวความคิดมาจากภาพพระบรมฉายาลักษณ์ในครั้งที่สองพระองค์เสด็จเยือนโรงถ่าย Paramount ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อ พ.ศ.2503 ซึ่งเป็นหนึ่งในคอลเลคชั่นภาพเก่าน่าเก็บที่เขาสะสมไว้
เนื่องจากสะสมภาพพระบรมฉายาลักษณ์ที่เกี่ยวกับพระองค์ท่านเอาไว้มาก เมื่อถึงคราวที่ต้องถ่ายทอดเรื่องราวของพระองค์ท่านผ่านงานศิลปะ วุฒิกรก็มักจะเลือกหาภาพที่สะสมเอาไว้มาเป็นเนื้อหาในการนำเสนองานอยู่เสมอ และอารมณ์ของภาพได้หลอมรวมเอาสิ่งที่เขารับมาจากการชมภาพยนตร์ด้วย
ภาพเขียนสไตล์ POP ART เทคนิคสีอะคริลิก ชื่อ “ภาพประทับใจ หมายเลข 2” ซึ่งบริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ซื้อภาพนี้เก็บรักษาเอาไว้ และได้เอื้อเฟื้อให้นำมาจัดแสดง จึงมีองค์ประกอบคล้ายมองผ่านจอภาพยนตร์
“ภาพที่พระองค์ท่านถ่ายคู่กับเอลวิส เป็นภาพที่เราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี การที่ผมมีความประทับใจในพระองค์ท่านและเป็นคนที่ชอบดูหนังด้วย เวลาที่มีโจทย์ให้ต้องทำงาน ผมก็จะเอาภาพเหล่านี้ มาเป็นไอเดียในการสร้างงาน ในสไตล์ที่ผมชอบ”
• เทวดาเดินดิน
วิกฤติเศรษฐกิจเมื่อ พ.ศ.2540 พระราชดำรัสเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ช่วยให้คนจำนวนไม่น้อยตื่นจากฝันร้าย และมีกำลังใจที่จะเริ่มต้นชีวิตใหม่อย่างมีความหวัง ตลอดจนมีทางเลือกที่จะจัดการกับปัญหาและความล้มเหลวที่ต้องเผชิญ
หลังจากที่ผ่านการทำงานปั้นอนุสาวรีย์มายาวนาน เมื่อเริ่มต้นจัดแสดงเดี่ยวศิลปะในแกลเลอรี่ครั้งแรก ประติมากร ‘วัชระ ประยูรคำ’ เลือกที่จะนำเสนองานศิลปะจัดวางชุด “ประดุจฟ้าโน้มลงสู่ดิน” ที่มีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นแรงบันดาลใจ
“การทำงานศิลปะของผมทุกครั้ง ผมชอบหยิบเอาความรู้สึกและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองขณะนั้นมาทำงาน ช่วงปีพ.ศ. 2540 เศรษฐกิจไทยแย่มาก จึงเลือกเอาพระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงมานำเสนอ
ผมทำงานมาหลายปี อยากจะทำอะไรที่มันมากกว่างานที่เกิดจากการปั้นด้วยมือ ดังนั้นนอกจากงานชุดนี้จะถ่ายทอดความรู้สึกที่ผมมีต่อพระองค์ท่านว่า ทรงห่วงใยในทุกข์สุขของประชาชน และทรงงานอย่างเหน็ดเหนื่อยพระวรกายเพื่อเรา ผ่านพระบรมรูปทำจากหินทรายที่พระองค์ท่านประทับยืนถือแผนที่ ดูติดดิน มีแสงออร่าสีเหลือง
ส่วนหนึ่งผมยังถ่ายทอดความรู้สึกของผมที่รู้สึกว่า พระองค์ท่านว่าทรงเป็นเหมือนเทวดา ด้วยการนำงานศิลปะในยุคสุโขทัยที่ผมสัมผัสได้จากวัดพระธาตุศรีชุม จ.สุโขทัย มาดัดแปลงเป็นงานในมิติสมมติ ที่เชื่อมต่อกันกับมิติแรกที่เป็นมิติในความเป็นจริง
คนที่เคยไปวัดนี้คงจะเคยเห็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยองค์ใหญ่ประดิษฐานอยู่ในมณฑป ผมนำแรงบันดาล ใจจากตรงนั้นมาสร้างเป็นกล่องขนาดใหญ่ที่คนสามารถเดินเข้าไปและเหยียบยืนอยู่บนพื้นนุ่มๆ ในบรรยากาศแบบฝันๆ สามารถชะเง้อจ้องมองพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งเป็นสีทอง สวมชฎา ขณะประทับนั่งอยู่บนบัลลังก์ และมีแสงออร่าสีน้ำเงินสาดส่อง ให้ความรู้สึกคล้ายพระนารายณ์อวตารมาเกิด”
และนี่คือตัวอย่างของผลงานศิลปะส่วนหนึ่งที่สะท้อนความรู้สึก จิตวิญญาณ ภาพในใจและความประทับใจที่ศิลปินแต่ละคนมีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แตกต่างกันออกไป
(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 109 ธันวาคม 2552 โดยฮักก้า)