กว่า 60 ปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครอง สิริราชสมบัติ พระองค์ทรงกอปรพระราชกรณียกิจ น้อยใหญ่นานัปการ ด้วยพระวิริยะอุตสาหะ และน้ำพระราชหฤทัยอันเปี่ยมล้นด้วยพระเมตตาและพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่ออาณาประชาราษฎร์
พระราชกรณียกิจทั้งปวงนั้น ล้วนนำความเจริญรุ่งเรืองและความผาสุกมาสู่ประเทศชาติและประชาชนชาวไทยอย่างแท้จริง
“โครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณวัดมงคลชัยพัฒนา อันเนื่องมาจากพระราชดำริ” เป็นหนึ่งในพระราชดำริที่ทรงเรียกว่า “ทฤษฎีใหม่” โดยทรงมีพระราชดำรัส พระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆที่เข้าเฝ้าฯถวายพระพรชัยมงคล ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา วันที่ 4 ธันวาคม 2537 เรื่องทฤษฎีใหม่ ความตอนหนึ่งว่า
“...หลักมีว่า แบ่งที่ดินเป็น 3 ส่วน ส่วนหนึ่งเป็นที่สำหรับปลูกข้าว อีกส่วนหนึ่งสำหรับปลูกพืชไร่ พืชสวน และก็มีที่สำหรับขุดสระน้ำ...ในบริเวณนี้จะเกิดเป็นบริเวณ ที่พัฒนาแบบใหม่ ถึงเรียกว่า “ทฤษฎีใหม่” ...เป็นวิธีการ อย่างหนึ่งที่จะทำให้ประชาชนมีกินแบบตามอัตภาพ คืออาจไม่รวยมาก แต่ก็พอกิน ไม่อดอยาก...”
• จุดกำเนิดทฤษฎีใหม่แห่งแรกของไทย
เมื่อปี 2531 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทาน พระราชดำริให้มูลนิธิชัยพัฒนาจัดหาที่ดินบริเวณวัดมงคล (ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามใหม่ว่าวัดมงคลชัยพัฒนา เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2535) ตำบลห้วยบง อำเภอเมือง จังหวัดสระบุรี เพื่อขุดสระเก็บน้ำและจัดทำแปลงสาธิตเกษตรผสมผสาน
“...เรื่องนี้เริ่มต้นที่จังหวัดสระบุรี...ได้ดูแผนที่สระบุรี ทุกอำเภอ หาๆไป ลงท้ายได้เจอวัดชื่อมงคล อยู่ห่างจากอำเภอเมืองประมาณ 10 กิโลเมตร แล้วก็เหมาะในการพัฒนา จึงไปซื้อที่ ซื้อด้วยเงินส่วนตัวและเพื่อนฝูงได้ร่วมบริจาคจำนวนหนึ่ง ได้ซื้อ 15 ไร่ ที่ใกล้วัดมงคล... ทางราชการโดยกรมชลประทาน กรมพัฒนาที่ดิน กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร ทางนายอำเภอและผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี ได้ช่วยกันทำโครงการนี้ โครงการนี้ใช้ทุนของมูลนิธิชัยพัฒนาส่วนหนึ่ง ใช้เงินของราชการส่วนหนึ่ง โดยวิธีขุดบ่อน้ำ เพื่อใช้น้ำนั้นมาทำการเพาะปลูกตาม ‘ทฤษฎีใหม่’ ซึ่งทฤษฎีใหม่นี้ยังไม่ เกิดขึ้น...” (พระราชดำรัส วันที่ 4 ธันวาคม 2537)
ต่อมาในปี 2536 พระองค์ได้พระราชทานพระราชดำริ ให้มูลนิธิชัยพัฒนา จัดหาที่ดินเพิ่มอีก 15 ไร่ ซึ่งติดกับที่ดินแปลงแรก เพื่อจัดทำเป็น “โครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณวัดมงคลชัยพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” ในการบริหารจัดการดินและแหล่งน้ำ เพื่อการเกษตรรูปแบบใหม่ อันเป็นหลักการและรูปแบบการพัฒนาด้านการเกษตรกรรมในระดับครัวเรือน เพื่อให้เป็นศูนย์สาธิตการดำเนินเกษตรทฤษฎีใหม่อย่างเป็นรูปธรรม สามารถให้เกษตรกรนำไปประยุกต์ใช้ปฏิบัติในพื้นที่ของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างพออยู่พอกิน โครงการนี้นับเป็นจุดกำเนิดของทฤษฎีใหม่แห่งแรกในประเทศไทย
โดยเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2536 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้เสด็จฯไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศ ถวายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ณ วัดมงคลชัยพัฒนา ในการนี้ได้ทอดพระเนตรการดำเนินงานในโครงการทฤษฎีใหม่ อาทิ สระเก็บน้ำ แปลงพืชสวน พืชไร่ และกิจกรรมต่างๆของโครงการ พร้อมทั้งทรงมีพระราชดำรัสพระราชทานแนวทางการดำเนินงาน ความตอนหนึ่งว่า
“...บริเวณพื้นที่ใหม่นี้ให้ปลูกข้าวเป็นหลัก ปลูกไม้ยืนต้นไม้ผลแซมบ้าง เพื่อให้ชาวบ้านมีข้าวกิน ไม่ต้องซื้อ ประชาชนมีพื้นที่ประมาณ 15 ไร่ ลองทำให้เหมือนของเขา พื้นที่แห้งแล้งขาดน้ำ แต่ละแปลงให้มีน้ำของเขา แล้วก็สูบน้ำมาใช้ พื้นที่ชาวบ้าน ถ้าทำหลายๆโครงการ ชาวบ้านทำได้ไหม ราชการจะช่วยอะไรบ้าง เช่น ขุดสระให้ ในพื้นที่ 3,000 ไร่ ทำได้ 200 บ่อ แต่ต้องดูพื้นที่ ที่เหมาะสมด้วย ตอนแรกก็ปลูกข้าวก่อน ทีหลังก็ปลูกไม้ผล ตกลงเราก็สนับสนุนได้ ให้วัด โรงเรียน ราชการ และมูลนิธิร่วมกัน โครงการนี้เป็นโครงการที่สามารถผนึกกำลัง ต้องไม่ลงทุนมากนัก ทำเหมือนชาวบ้านทำ ยอมให้เสียบ้าง ถ้าลงทุนทำมากไป หลวงจะทำได้ แต่ชาวบ้านทำไม่ได้...”
• ทฤษฎีใหม่ที่เป็นรูปธรรม
ข้อมูลจากมูลนิธิชัยพัฒนา ระบุว่า โครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณวัดมงคลชัยพัฒนาฯ แบ่งพื้นที่ดำเนินงานออกเป็น 2 ส่วนคือ
ส่วนที่ 1 แปลงสาธิตการเกษตรแบบผสมผสาน จำนวน 16 ไร่ 2 งาน 23 ตารางวา ดำเนินการทดสอบและพัฒนา ระบบการปลูกพืชผักสวนครัวในรูปแบบต่างๆ อาทิ สวนพืชตระกูลมะ สวนพืชสมุนไพร สวนผลไม้ในที่ดอน สวนพรรณไม้หอมเฉลิมพระเกียรติ รวมถึงการขุดสระน้ำสำหรับเลี้ยงปลาและปลูกหญ้าแฝกเพื่อป้องกันการชะล้าง พังทลายของดิน เป็นต้น
ส่วนที่ 2 แปลงสาธิตเกษตรทฤษฎีใหม่ จำนวน 15 ไร่ 2 งาน 24 ตารางวา แบ่งพื้นที่ดำเนินงานตามแนวพระราชดำริทฤษฎีใหม่ โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 ส่วน คือ 30-30-30-10 โดยสัดส่วนดังกล่าวได้นำมาปรับตามความเหมาะสมของสภาพพื้นที่ของวัดมงคลชัยพัฒนา โดยแต่ละส่วนประกอบด้วย
ส่วนที่หนึ่ง พื้นที่ประมาณ 2.5 ไร่ ดำเนินการขุดสระ กักเก็บน้ำขนาด 55 เมตร ยาว 71 เมตร ลึก 5 เมตร สามารถเก็บกักน้ำได้ประมาณ 18,000 ลูกบาศก์เมตร เพื่อนำน้ำมาไว้ใช้ในฤดูแล้ง นอกจากนี้ในสระยังได้เลี้ยงปลานิลและปลาตะเพียน เพื่อเป็นรายได้เสริมอีกทางหนึ่ง
ส่วนที่สอง พื้นที่ประมาณ 5.5 ไร่ พัฒนาพื้นที่เป็นแปลงนาข้าว โดยหลังฤดูเก็บเกี่ยวสามารถปรับสภาพดินเพื่อทำการปลูกพืชไร่ พืชผักชนิดต่างๆ เช่น ข้าวโพดหวาน มะระ ถั่วเขียว เป็นต้น
ส่วนที่สาม พื้นที่ประมาณ 3.8 ไร่ ทำการเกษตรอื่นๆ เช่น ปลูกพืชไร่ ไม้ผล ไม้ยืนต้น และพืชสมุนไพร เพื่อใช้เป็นอาหารประจำวัน หากเหลือจากการนำบริโภคก็นำไปจำหน่าย โดยเลือกปลูกให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม และความต้องการของตลาด ตัวอย่างของพืชที่ปลูกคือ อ้อย กล้วย กระถิน พริกขี้หนู มะกรูด เป็นต้น
ส่วนที่สี่ พื้นที่ประมาณ 3.7 ไร่ เป็นส่วนของที่อยู่อาศัย ถนน และเลี้ยงสัตว์ ตลอดจนการปลูกผักปลอดสารพิษ เพื่อบริโภคในครัวเรือนและจำหน่าย เป็นการลดค่าใช้จ่ายและเสริมรายได้ในครัวเรือน
• ผลที่เกิดขึ้นจากทฤษฎีใหม่
อำนาจ ขำมาลัย เจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตร ซึ่งมาปฏิบัติหน้าที่ใน ‘โครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณวัดมงคลชัยพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ’ ตั้งแต่ปี 2539 เล่าว่าแรกๆชาวบ้านก็ยังลังเล เพราะการเปลี่ยนทัศนคติทันทีนั้นยาก เนื่องจากต้องใช้พื้นที่มากสำหรับการขุดสระ ซึ่งส่วนใหญ่เกษตรกรจะขุดสระไม่ใหญ่นัก ทำให้เก็บน้ำได้น้อย จึงไม่พอสำหรับการเกษตร
“เมื่อชาวบ้านมาเห็นว่าสระของโครงการฯ มีขนาดใหญ่ และสามารถมีกิจกรรมทำไปได้ตลอดปี โดยใช้น้ำจากที่กักเก็บไว้ในช่วงหน้าฝน ถ้าหน้าไหนฝนทิ้งช่วงก็สามารถสูบน้ำจากสระไปเลี้ยงต้นข้าวได้ ทำให้ข้าวได้ผลผลิตทุกปีไม่เสียหาย พอหลังจากการเก็บเกี่ยวข้าว ชาวบ้านก็เห็นอีกว่า ทางโครงการฯสามารถปลูกพืชไร่ที่อาศัยน้ำน้อย เช่น ข้าวโพด ถั่วเหลือง ถั่วเขียว งา อะไรต่างๆ ลงไปในพื้นที่นา โดยใช้น้ำจากสระ เมื่อชาวบ้านเห็นอย่างนี้เขาก็อยากที่จะดำเนินงานตามแนวทฤษฎีใหม่”
โดยในเบื้องต้น ทางราชการได้มาช่วยชุดสระน้ำให้ฟรีแก่ชาวบ้านที่ต้องการดำเนินงานตามแนวทฤษฎีใหม่
อำนาจบอกว่าชาวบ้านที่เข้าร่วมขยายผลทฤษฎีใหม่ มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จากเมื่อก่อนที่ทำนาอย่างเดียว คือ ทำนา 4 เดือน อีก 8 เดือนก็ปล่อยให้ที่ว่างเปล่า ผลผลิตก็ได้น้อย แต่เมื่อนำแนวทฤษฎีใหม่ไปปรับใช้ ตอนนี้มีรายได้เฉลี่ยวันละ 100-200 บาททุกวัน โดยการปลูกพืชผัก เช่น ใบกะเพรา แมงลัก โหระพา สะระแหน่ 4 อย่างนี้ เป็นรายได้รายวัน และมีรายได้หลักจากข้าว หรือข้าวโพด ถั่วเขียว ทานตะวัน ซึ่งขึ้นอยู่กับความถนัดของเกษตรกรแต่ละคน
“เดิมทีชาวบ้านใช้ปุ๋ยเคมี แต่ปัจจุบันได้ลดการใช้ปุ๋ยลง แต่ผลผลิตกลับเพิ่มขึ้น บางบ้านได้ข้าวถึง 40-50 ถังต่อไร่ ซึ่งขึ้นอยู่กับข้าวแต่ละพันธุ์ การดูแลรักษาก็ง่าย และแถวนี้ก็ไม่เคยแห้งแล้ง
ตอนนี้มีอยู่ 4 ตำบลที่มาเข้าร่วมโครงการ มีตำบลห้วยบง ตำบลเขาดินพัฒนา ตำบลผึ้งรวง และตำบลบ้านแก้ง รวมแล้วประมาณ 100 กว่าครอบครัว และก็ขอเข้าร่วมมาเรื่อยๆ เนื่องจากการที่เกษตรกรเข้าร่วม เราก็มีการจัดฝึกอบรมความรู้ให้ โดยจัดทุกๆ 3 เดือน เพื่อจะดูว่าเขามีปัญหาอะไรไหม ผลผลิตเป็นอย่างไร และมีรายได้แค่ไหน”
• เตรียมเข้าสู่ทฤษฎีใหม่ขั้นที่สอง
จากทฤษฎีใหม่ขั้นที่ 1 ที่เน้นเรื่องการผลิตแบบพึ่งพาตนเองให้พออยู่พอกิน และเมื่อพอกินพอใช้ในครอบครัวแล้ว ส่วนที่เหลือจึงขาย ซึ่งเป็นการเข้าสู่ขั้นที่สองของทฤษฎีใหม่
“ตอนนี้กำลังรวมกลุ่มชาวบ้านในรูปของสหกรณ์ตามทฤษฎีใหม่ขั้นที่ 2 โดยทางอำเภอเฉลิมพระเกียรติเป็นผู้ดำเนินการ เริ่มทำถุงใส่พืชผักปลอดภัยจากสารพิษ และข้าวปลอดสารพิษ เพื่อออกจำหน่าย” อำนาจเล่า
อำนาจยังเล่าด้วยว่า ปัจจุบัน โครงการฯ มีรายได้ต่อปี จากการจำหน่ายข้าวและพืชผักพืชไร่ประมาณ 2 แสนบาท
“พระครูมงคล (พระครูมงคลรัตนวัฒน์ (อาทิตย์ สิริวฑฺฒโน) เจ้าคณะอำเภอพระพุทธบาท) ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดมงคลชัยฯ ท่านดีมาก ท่านสั่งทางวัดว่า ถ้ามีงานอะไรต่างๆให้ซื้อพืชผักของโครงการทำอาหาร เพราะรายได้นั้นนำส่งมูลนิธิชัยพัฒนา แล้วทางวัดยังมีส่วนช่วยในเรื่องการประชาสัมพันธ์โครงการฯ เช่น หน่วยราชการหรือชาวบ้านที่มาวัด พระท่านก็จะคุยเรื่องทฤษฎีใหม่นี้แทรกเข้าไปด้วย”
ปัจจุบัน วัดมงคลชัยพัฒนา อยู่ในเขต อ.เฉลิมพระ เกียรติ จ.สระบุรี ซึ่งเดิม อ.เฉลิมพระเกียรติเป็นพื้นที่การ ปกครองของอำเภอเมืองสระบุรี ตั้งขึ้นเป็นกรณีพิเศษ ตามโครงการจัดตั้งอำเภอเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในมหามงคลฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2539
• พระอัจฉริยภาพ สู่ความสุขของพสกนิกร
ทฤษฎีใหม่ที่วัดมงคลชัยพัฒนาแห่งนี้ เป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์แห่งพระอัจฉริยภาพ ของพระบาทสมเด็จ-พระเจ้าอยู่หัว
“พระองค์ทรงเล็งเห็นการณ์ไกลว่า ถ้าเกษตรกรมีกิจกรรมทำ มีรายได้ มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เขาก็ไม่อยากละถิ่นฐานไปขายแรงงานในเมืองใหญ่ โครงการฯนี้เป็นโครงการที่ทำให้ชาวบ้านมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น พระองค์ท่านได้เล็งเห็นว่า หัวใจของการทำการเกษตรก็คือน้ำ พระองค์ท่านทรงคิดค้นว่าจะทำอย่างไร จะขุดบ่อเท่าไหร่ถึงจะมีน้ำพอเพียงในการทำการเกษตร ซึ่งตรงนี้เป็นพระอัจฉริยภาพ เพราะสระน้ำของโครงการก็เป็นบทพิสูจน์ให้ชาวบ้านได้เห็นแล้ว ทำให้ชาวบ้านมีความสุขเพิ่มขึ้นผมเองทำงานตรงนี้ก็มีความสุข” อำนาจบอกเล่าด้วยรอยยิ้ม
• ปฏิบัติตามทฤษฎีใหม่ก็ร่ำรวยได้
กล่าวได้ว่า ทฤษฎีใหม่ คือ ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมของการประยุกต์ใช้เศรษฐกิจพอเพียงอย่างเด่นชัดที่สุด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัส เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2538 ความตอนหนึ่งว่า
“...ทฤษฎีใหม่มีไว้ป้องกันความขาดแคลน ในยามปกติก็จะทำให้ร่ำรวยมากขึ้น ในยามที่มีอุทกภัย ก็สามารถ ที่จะฟื้นตัวได้รวดเร็ว ทำให้ประชาชนมีโอกาสพึ่งตนเองได้อย่างดี โดยไม่ต้องให้ราชการช่วยมากเกินไป ฉะนั้นจึงได้สนับสนุนให้มีการปฏิบัติตามทฤษฎีใหม่...”
อย่างไรก็ตาม ทรงย้ำว่า
“ทฤษฎีใหม่ ยืดหยุ่นได้ และต้องยืดหยุ่น เหมือนชีวิตของเราทุกคนต้องมียืดหยุ่น” (พระราชดำรัส เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2541)
สรุป 3 ขั้นตอน ของ “ทฤษฎีใหม่”
ขั้นที่ 1 การจัดสรรพื้นที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน โดยการแบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 ส่วน ตามอัตราส่วน 30 (ขุดสระกักเก็บน้ำ) : 30(ปลูกข้าว) : 30(ปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น พืชผัก พืชไร่ฯลฯ) : 10 (ที่อยู่อาศัย) เพื่อให้พึ่งพาตนเองได้
ขั้นที่ 2 เกษตรกรรวมพลังกันในรูปกลุ่มหรือสหกรณ์ ดำเนินการในด้าน 1. การผลิต 2. การตลาด 3. การเป็นอยู่ 4. สวัสดิการ 5. การศึกษา 6. สังคมและศาสนา โดยกิจกรรมดังกล่าวนี้ ต้องได้รับความร่วมมือจากส่วนราชการ องค์กรเอกชน ตลอดจนสมาชิกในชุมชนนั้นเป็นสำคัญ
ขั้นที่ 3 ประสานงาน เพื่อจัดหาทุน หรือแหล่งเงิน เช่น ธนาคาร หรือบริษัท ห้างร้านเอกชน มาช่วยในการลงทุน และพัฒนาคุณภาพชีวิต
(จากหนังสือเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ โดยมูลนิธิชัยพัฒนา)
การดำเนินชีวิต ตามแนวพระราชดำริพอเพียง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเข้าใจถึงสภาพสังคมไทย ดังนั้นเมื่อได้พระราชทานแนวพระราชดำริ หรือพระบรมราโชวาทในด้านต่างๆ จะทรงคำนึงถึงชีวิต สภาพสังคมของประชาชนด้วย เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งทางความคิด ที่อาจนำไปสู่ความขัดแย้งในทางปฏิบัติได้
แนวพระราชดำริในการดำเนินชีวิตอย่างพอเพียง
1. ยึดความประหยัด ตัดทอนค่าใช้จ่ายในทุกด้าน ลดละความฟุ่มเฟือยในการใช้ชีวิต
2. ยึดถือการประกอบอาชีพด้วยความถูกต้อง ซื่อสัตย์ สุจริต
3. ละเลิกการแก่งแย่งผลประโยชน์และแข่งขันกันในทางการค้าแบบต่อสู้กันอย่างรุนแรง
4. ไม่หยุดนิ่งที่จะหาทางให้ชีวิตหลุดพ้น จากความทุกข์ยาก ด้วยการขวนขวายใฝ่หา ความ รู้ให้มีรายได้เพิ่มพูนขึ้น จนถึงขั้นพอเพียง เป็นเป้าหมายสำคัญ
5. ปฏิบัติตนในแนวทางที่ดี ลดละสิ่งชั่ว ประพฤติตนตามหลักศาสนา
(จากหนังสือเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ โดยมูลนิธิชัยพัฒนา)
(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 109 ธันวาคม 2552 โดยกองบรรณาธิการ)