ปางโปรดอสุรินทราหู หรือที่เรียกโดยทั่วไปว่าพระปางไสยาสน์ เป็นพระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถนอนตะแคงขวา พระบาทซ้ายทับพระบาทขวาเสมอกัน พระหัตถ์ซ้ายทอดไปตามพระวรกาย พระหัตถ์ขวาตั้งขึ้นประคองพระเศียร และมีพระเขนย(หมอน)รองรับ บางแบบสร้างให้พระเขนยวางอยู่ใต้พระกัจฉะ(รักแร้)
ที่มาของพระพุทธรูปปางนี้มีว่า สมัยที่พระพุทธองค์ทรงประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร อสุรินทราหู อุปราชของท้าวเวปจิตตอสุรบดินทร์ ผู้ครองอสูรพิภพ ได้สดับถึงพระเกียรติคุณของพระพุทธเจ้าจากเหล่าเทพยดา จึงปรารถนาจะไปเฝ้าบ้าง แต่แล้วก็คิดว่าพระพุทธองค์ทรงเป็นมนุษย์และมีพระวรกายเล็กกว่าตัวเอง การไปเฝ้าก็ต้องก้มลง ซึ่งตัวเองไม่เคยก้มศีรษะให้ใคร เมื่อคิดดังนี้จึงไม่ไป แต่เมื่อเห็นเหล่าเทพยดาพากันไปเฝ้าฟังธรรม ก็เลยเกิดความคิดที่จะไปเฝ้าอีก ดังนั้น คืนหนึ่งอสุรินทราหูจึงได้ไปเฝ้าพระพุทธองค์ยังที่ประทับ
พระพุทธเจ้าทรงทราบด้วยพระญาณถึงความรู้สึกนึกคิดของอสุรินทราหู จึงตรัสแก่พระอานนท์ให้จัดเตรียมสถานที่ไว้ พระองค์จะนอนรอรับอสุรินทราหู แล้วก็ทรงเนรมิตรพระวรกายให้ใหญ่กว่าอสุรินทราหูหลายเท่า เมื่ออสุรินทราหูมาเข้าเฝ้า และได้เห็นเช่นนั้นก็รู้สึกอัศจรรย์ใจ จึงถวายอภิวาท และเงยหน้าชมพุทธลักษณะ ด้วยความยินดี
หลังจากทรงมีพระปฏิสันถารกับอสุรินทราหูแล้ว ก็ตรัสว่า “อสุรินทราหู!บุคคลทั้งหลายเมื่อได้ทราบข่าวเล่าลือ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดๆหากยังไม่ได้เห็น ยังไม่พิจารณาให้ถ่องแท้แก่ใจตนแล้ว ไม่พึงติชมก่อน อสุรินทราหู ท่านคงเข้าใจว่า ท่านมีร่างกายใหญ่กว่าเทพยดาและอสูรทั้งหลาย จริงอยู่บรรดาพวกอสูรทั้งหลายในอสูรพิภพนั้นมีร่างกายเล็กกว่าท่าน แต่ท่านคิดหรือเปล่าว่าในที่อื่นอาจมีผู้อื่นที่มีร่างกายใหญ่กว่าท่าน เหมือนปลาใหญ่ในหนองคลองบึง มันอาจคิดว่าตัวมันโตกว่าปลาทั้งหลาย ไม่มีปลาตัวใดจะเสมอได้ เพราะมันยังไม่ได้ไปเห็นปลาในมหาสมุทร อสุรินทราหู! แม้ท่านเองก็ยังมีความรู้สึกเช่นนั้น อสุรินทราหู บรรดาพรหมทั้งหลายในพรหมโลกชั้นบนทั้งหมดล้วนมีร่างกายใหญ่กว่าท่าน” ครั้นอสุรินทราหูทูลขอให้ทรงพาไปชม พระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงทำปาฏิหาริย์ พาไปยังพรหมโลกทันที
บรรดามหาพรหมเมื่อเห็นพระพุทธองค์เสด็จมา ก็พากันมาเฝ้าเป็นอันมาก มหาพรหมที่มาล้วนมีร่างกายใหญ่โตกว่าอสุรินทราหู แต่พระผู้มีพระภาคกลับมีพระวรกายใหญ่กว่ามหาพรหมทั้งหมด ส่วนอสุรินทราหูเห็นเช่นนั้นก็เกิดหวาดกลัว หลบอยู่เบื้องหลังพระผู้มีพระภาค ตั้งแต่นั้นมาอสุรินทราหูก็ลดมานะทิฐิ และเมื่อได้ฟังธรรม ก็เกิดความเลื่อมใส ขอถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง
พระพุทธรูปปางนี้ เป็นพระบูชาประจำวันเกิดสำหรับผู้เกิดวันอังคาร
(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 108 พฤศจิกายน 2552 โดยกานต์ธีรา)