อันท้องไส้ของคนเรานั้น เคยมีคนเปรียบเปรยเอาไว้ว่าเป็นเหมือนดั่ง “ป่าช้า” ของเหล่าสรรพสัตว์ที่ต้อง เกิดมาเพื่อเป็นอาหารประทังชีวิตให้กับสิ่งมีชีวิตที่ดูเหมือนจะประเสริฐกว่าอย่างมนุษย์ เพื่อมีกำลังวังชาประกอบกิจกรรมในแต่ละวัน (ทั้งที่มีสาระบ้าง ไร้สาระซะบ้าง สร้างสรรค์บ้าง ทำลายล้างกันเองบ้าง)
เทศกาลกินเจที่มีขึ้นเป็นประจำทุกปี จึงถือเป็นโอกาส อันดีของมนุษย์ผู้ประเสริฐที่จะได้ทำการล้างป่าช้าในร่างกายตัวเอง อันเป็นที่สิงสู่ของสรรพสัตว์มากมายมาตลอดทั้งปี ที่นอกจากจะเป็นเหมือนการล้างลำไส้เพื่อสุขภาพให้กับผู้ปฎิบัติแล้ว ยังเป็นการ “ชลอ” การล้างผลาญชีวิตสัตว์ที่ถูกเลี้ยงเอาไว้เพื่อเป็นอาหารสำหรับมนุษย์กันอย่างถ้วนหน้าด้วย
พูดถึงเรื่องนี้ ทำให้ผมนึกถึงภาพยนต์เรื่อง “Babe หมูน้อยหัวใจเทวดา” เป็นภาพยนตร์เล็กๆ ของประเทศออสเตรเลีย ซึ่งมาฉายบ้านเราเมื่อปี 1995 หนังเรื่องนี้ได้พยายามปรุงแต่งความเข้าใจของมนุษย์ที่มีต่อสัตว์เสียใหม่ ด้วยการเล่าเรื่องในเชิงเหนือจินตนาการ โดยมีลูกหมูตัวหนึ่งเป็นตัวนำเรื่อง จนผู้ที่ได้ดูอดคิดต่อไปไม่ได้ว่า ถ้าสัตว์เหล่านั้นเพียงแค่สื่อสารได้อย่างที่มนุษย์เราเป็นกัน พวกมันอาจไม่ต้องเจอชะตากรรมในโลกของความเป็นจริงที่น่าโหดร้าย
“เบ๊บ” ลูกหมูน้อย เกิดมาในสภาพแวดล้อมที่ไม่ต่างจากพี่น้องหมูทั่วโลกของมัน นั่นก็คือเล้าอันแสนสกปรก และไม่นานหลังจากที่มันลืมตาดูโลก ก็ต้องบอกลากับผู้เป็นแม่ที่ถูกส่งตัวออกไปจากเล้า “ตามวาระ” หรือที่เบ๊บในตอนนั้นคิดไปเองว่า แม่ของมันกำลังจะไปขึ้นสวรรค์แบบหมูๆ
แต่ชะตาของเบ๊บคงยังไม่ถึงฆาต เพราะเจ้าของเล้าหมูจับมันไปออกงาน และบังเอิญที่ “อาเธอร์ ฮ็อกเก็ตต์” เจ้าของฟาร์มผู้เงียบขรึม ซึ่งเกิดถูกชะตากับเจ้าหมูน้อยอย่างบอกไม่ถูก ได้เบ๊บกลับบ้านไปเป็นรางวัลหลังจากเขา ทายน้ำหนักของมันได้อย่างตรงเผง
เบ๊บได้กลายเป็นสมาชิกใหม่ในฟาร์มของฮ็อกเก็ตต์ ที่ประกอบไปด้วยสัตว์นานาชนิด ทั้งฝูงแกะที่ฮ็อกเก็ตต์เลี้ยงเป็นอาชีพหลัก เป็ดจอมซ่าที่ชอบขันแข่งกับไก่ หนูจอมประสานเสียง ฯลฯ
แต่ผู้ที่ไม่รู้สึกยินดีกับการมาครั้งนี้ของเบ็บได้แก่ “เร็กซ์” สุนัขต้อนแกะซึ่งไม่พอใจที่เจ้าของฟาร์มเอา “หมูสกปรก” มาพักที่เดียวกับครอบครัวของมัน ยิ่งภายหลังเบ๊บตั้งปณิธานว่าจะเป็น “หมูต้อนแกะ” ตัวแรกของโลกให้จงได้ ทำให้เร็กซ์มีอคติต่อเบ๊บมากขึ้นไปอีก ตรงข้าม กับ “ฟลาย” คู่ของเร็กซ์ที่เจ้าของเอาลูกหมาทั้งครอกที่เธอ เพิ่งคลอดไปขายจนหมด ทำให้หมาที่ขาดลูกอย่างเธอและ หมูที่ขาดแม่อย่างเบ๊บ สานสัมพันธ์กันแนบแน่นยิ่งขึ้น
เส้นทางการก้าวมาสู่หมูต้อนแกะซึ่งไม่มีที่ไหนในโลกมาก่อนของเบ๊บ ได้ให้บทเรียนในการดำเนินชีวิตหลายๆด้าน ทั้งความมานะบากบั่นของเบ๊บที่พิสูจน์ให้เห็นว่า หมูก็สามารถทำงานอย่างอื่นได้นอกจากเลี้ยงไว้เป็นอาหาร ซึ่งการทำสิ่งที่ “แตกต่าง” เช่นนี้ผู้ปฏิบัติจะต้องผ่านการทดสอบหลายด่าน ทั้งการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้สนับสนุน และเอาชนะอคติของผู้ที่อยู่ตรงกันข้ามที่มีอยู่มาก มายไปพร้อมๆกัน
รวมไปถึงการสอนให้เห็นคุณค่าของการเอาใจเขามาใส่ใจเราของคนในสังคม เมื่อเบ๊บได้ลบล้างความเชื่อของสุนัขต้อนแกะทั้งปวงที่เคยคิดว่า มีเพียงความหวาดกลัวเท่านั้น ที่จะสามารถทำให้เหล่าฝูงแกะ (ที่พวกมันคิดว่าเป็นสัตว์ที่โง่เง่า) อยู่รวมกันอย่างเป็นระเบียบได้ แต่เบ๊บ ก็ได้แสดงให้เห็นว่า ความเมตตากรุณา และความนับถือ แก่กันต่างหากที่สามารถซื้อใจแกะทั้งฝูง และทำให้คำสั่งของลูกหมูตัวเล็กๆอย่างมัน เกิดประสิทธิภาพมากกว่า ความหวาดกลัวที่ได้รับจากเหล่าสุนัขเป็นไหนๆ
แต่กระนั้น กำลังใจของเบ๊บเกือบจะต้องหมดไป เพราะความริษยาของเจ้าดัชเชส แมวจอมเจ้าเล่ห์ที่แอบเล่าชะตากรรมสุดท้ายของหมูที่ถูกเลี้ยงโดยคน ให้กับเบ๊บได้ฟัง ซึ่งเป็นความจริงที่เกือบจะทำให้เบ๊บแทบเอาชีวิตไม่รอด หลังจากที่หลายครั้งหลายหนเหลือเกินที่ฮ็อกเก็ตต์เองเกือบจะนำเบ๊บมาเป็นอาหารเย็นบนโต๊ะเสียแล้ว แต่ด้วยความผูกพันอย่างประหลาดของทั้งคู่ ได้สอนให้ชาวปศุสัตว์อย่างเขาได้รู้ว่า สัตว์บางตัวอาจจะสร้างคุณค่าทางจิตใจอย่างมหาศาลให้กับผู้เลี้ยงได้มากกว่าการเป็นแค่อาหารมื้อหนึ่ง
ซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้พิสูจน์ออกมาอย่างชัดเจนในฉากไคล์แม็กของเรื่องนี้ ที่แสนจะเรียบง่าย ใช้คำพูดเพียงสองสามคำ แต่ทรงพลังต่อจิตใจคนดูอย่างยากที่จะต้าน ทานได้ จนผลงานเล็กๆ จากออซซี่เรื่องนี้สามารถเข้าชิงรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมของออสการ์ในปีดังกล่าว พร้อมกับสาขาอื่นๆ รวมกันถึง 7 สาขา
การได้ชมผลงานที่แสนประทับใจเรื่องนี้ น่าจะช่วยสร้างความรู้สึกดีๆในการดำรงตนอย่างไม่เบียดเบียนชีวิตผู้อื่น และความเมตตากรุณาช่วยเหลือเกื้อกูลกันนั้น เป็นคุณธรรมที่จะช่วยให้ทุกชีวิตบนโลกนี้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข
(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 107 ตุลาคม 2552 โดยอดิศร สุขสมอรรถ)