xs
xsm
sm
md
lg

ตามรอยโชวห่วยแพร่สู้ห้างยักษ์5 ปีหลังปักธงโมเดิร์นเทรดหมดสิทธิ์“ประทับใจ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จากความพยายามของกลุ่มค้าปลีกรายย่อยในจ.แพร่ และหอการค้า ที่ร่วมกันปรับแนวทางให้บริการลูกค้าใหม่ทั้งเมือง ยกระดับการให้บริการ และจัดแคมเปญต่อเนื่องฯลฯ ทำให้วันนี้ พวกเขายังยืนหยัดอยู่ได้
แพร่ – เก็บบทเรียนการต่อกรห้างใหญ่-ทุนยักษ์ของ “โชวห่วยเมืองแพร่” ยัน 5 ปีบนแผ่นดินเมืองแพร่โมเดิร์นเทรดไม่มีทางประทับใจแน่ หลังค้าปลีกรายย่อยทั้งเมือง ผนึกกำลังหอการค้า ฯ– องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดแคมเปญส่งเสริมการขาย-ปลุกกระแสรักษ์ท้องถิ่นขึ้น 3 ปีซ้อน ตรึงยอดขายเอาไว้ได้จนถึงทุกวันนี้



กว่า 5 ปีมาแล้วที่ กลุ่มค้าปลีกรายย่อยหรือโชวห่วย รวมถึงองค์กรภาคเอกชนอย่างหอการค้าจังหวัดแพร่ ลุกขึ้นมาต่อสู้กับห้างใหญ่ กลุ่มทุนยักษ์ และร้านสะดวกซื้อ ที่เข้ามาเปิดสาขาในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นร้านสะดวกซื้อ 7-11 เทสโก้ โลตัส โดยหนึ่งในแนวทางต่อสู้คัดค้านไม่ให้ห้างใหญ่เปิดบริการ ก็คือ ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ แต่สุดท้ายไม่สามารถทัดทานได้ เพราะไม่ว่ากลุ่มการเมือง กลุ่มข้าราชการ รวมไปถึงกลุ่มผู้บริโภคในตัวเมืองและบ้านนอกต่างให้ความสนใจที่จะได้ร้านค้าที่จำหน่ายราคาถูกกว่า - คุณภาพการให้บริการที่ทัดเทียมเมืองใหญ่ๆ ของประเทศ

กระทั่งปี 2547 ห้างบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ ก็เข้ามาเปิดบริการ ในเขต อบต.นาจักร ติดเขตเทศบาลเมืองแพร่ โดยมีพื้นที่ขายมากกว่า 10,000 ตารางเมตร(ตร.ม. )บนที่ดินย่านธุรกิจใหม่คือย่าน “กาดน้ำทอง” การก่อสร้างสำเร็จได้ด้วยการใช้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และกรรมการป่าช้าจีน ที่เปลี่ยนพื้นที่ป่าช้าเป็นสนามกีฬา ในเอกสารของ อบต.

บรรดาห้างใหญ่ –ทุนยักษ์เหล่านี้ ก็ยังคงเปิดให้บริการกินส่วนแบ่งตลาดค้าปลีกเมืองแพร่มาจนถึงทุกวันนี้

ช่วงแรก กลุ่มทุนค้าปลีกรายย่อยในท้องถิ่น และหอการค้าแพร่ ภายใต้การนำของ นายเอกชัย วงศ์วรกุล ได้รวมตัวกันปลุกกระแสต่อต้านห้างใหญ่ โดยการตั้งชมรมผู้ค้าปลีกจังหวัดแพร่ ขึ้นมาขับเคลื่อน เชิญชวนให้ชาวแพร่หันมาซื้อของในร้านค้าของคนแพร่ และขึ้นป้ายต่อต้านการค้าขนาดใหญ่ที่เข้ามา แต่ก็ล้มเหลวเช่นกัน

ในที่สุดนายเอกชัย วงศ์วรกุล ประธานหอการค้าจังหวัดแพร่ ยุคนั้น หันมาใช้ยุทธศาสตร์ใหม่ ยกเลิกการต่อต้าน แต่หันมาผนึกกำลังกลุ่มการค้าท้องถิ่น ร่วมกันปรับแนวทางให้บริการลูกค้าใหม่ทั้งเมือง ยกระดับการให้บริการ และสร้างแคมเปญดึงดูดลูกค้า ค้นหาสมาชิกที่เห็นร่วมกันลงขันจัดทำคูปองส่วนลด - แจกของรางวัลให้แก่ลูกค้าที่ใช้บริการร้านค้าในกลุ่มสมาชิก

การต่อสู้รอบใหม่ของโชวห่วยเมืองแพร่ รอบแรกเริ่มขึ้นพร้อมกับการเปิดโอกาสให้มีถนนคนเดิน โดยร่วมมือกับเทศบาลเมืองแพร่ เปิดตลาดนัดถนนคนเดินในทุกต้นเดือน และทุกครั้งจะมีการจับคูปองชิงรางวัล ในรอบ 6 เดือนมีการชิงรางวัลเครื่องไฟฟ้า และเมื่อครบรอบ 1 มีการจับรางวัลรถกระบะ จนสามารถปลุกกระแสรักษ์ท้องถิ่นขึ้นมาได้ ไม่เพียงประชาชนเท่านั้นแต่ร้านค้าทุกอำเภอต่างให้ความสนใจ จนทำให้ร้านค้าปลีกในจังหวัดแพร่ส่วนใหญ่เข้าร่วมในแคมเปญนี้อย่างครึกครื้น

กระแสตอบรับในคราวนั้น ทำให้มีการผลักดันทำโครงการที่ 2 โดยมี นางจิระพันธ์ โชติรัตนวิมล เข้ามารับหน้าที่เป็นประธานหอการค้าจังหวัดแพร่ ครั้งนี้ได้รับการตอบรับจากทุกฝ่ายทั้งผู้บริโภคและกลุ่มการค้าในจังหวัดแพร่ ทำให้งานต่อสู้กับกลุ่มการค้าขนาดใหญ่ ได้ผลเกินคาด ประสบความสำเร็จ และทำอยู่ถึง 3 ครั้ง

ปีแรก สามารถสร้างยอดขายให้แก่โชวห่วยในเครือข่ายรวมกันมากถึง 200 ล้านบาท ปีที่2 สร้างยอดขายเพิ่มเป็น 250 ล้านบาท และปี 2549 สามารถทำยอดขายรวมมากถึง 300 ล้านบาท ยอดเงินดังกล่าวเป็นเครื่องพิสูจน์ได้ว่า โชวห่วยท้องถิ่นสามารถตรึงลูกค้าไว้ได้เป็นอย่างดี ส่งผลให้หอการค้าแพร่ได้รับการประกาศให้เป็นหอการค้ายอดเยี่ยมระดับประเทศ

การรวมตัวของกลุ่มค้าปลีกท้องถิ่นเมืองแพร่อย่างเหนียวแน่น เพื่อต่อกรกับห้างใหญ่ นอกจากจะทำให้เกิดศักยภาพการแข่งขันแล้ว ยังใช้ระบบลอจิสติกส์(Logistic)เข้ามาช่วยด้วย ซึ่งเห็นได้ชัดว่า ห้างต่างถิ่น 2 ห้างใหญ่มีอาการไม่ค่อยดี หรือแม้กระทั่งอาจต้องมองว่า การลงทุนตั้งห้างใหญ่ ที่แพร่อาจทำได้เพียงการเก็บสต๊อกสินค้าเสริมจังหวัดหลักๆ เท่านั้น

นอกจากนี้ยังแสดงให้ซัปพลายเออร์ได้เห็นศักยภาพของผู้ประกอบการค้าปลีกของท้องถิ่นว่าสามารถร่วมกันทำงานอย่างได้ผล ทำให้ซัปพลายเออร์ต่างๆ เริ่มให้การสนับสนุนกิจการในท้องถิ่นมากขึ้น ต่างจากห้างใหญ่ ที่ปัจจุบันนำสินค้าเฮาส์แบรนด์มาวางขายแข่งกับสินค้าของซัปพลายเออร์ จนทำให้ยอดขายของผู้ผลิตสินค้าหายไปเป็นจำนวนมาก ซึ่งถ้าปล่อยให้เป็นอย่างนี้ ผู้ที่จะประสบปัญหาหนักก็คือ ซัปพลายเออร์ ทำให้สุดท้ายก็ต้องหันมาร่วมมือกับโชวห่วย ที่เป็นลูกค้าเก่าแก่มากขึ้น

นางสุดสวาท มงคลเจริญวงศ์ ประธานหอการค้าจังหวัดแพร่ คนปัจจุบัน กล่าวว่า หลังยุทธศาสตร์การต่อสู้กับห้างข้ามชาติและกลุ่มทุนใหญ่ที่รุกเข้าสู่จังหวัดแพร่ ทำให้กลุ่มผู้ประกอบการค้าในจังหวัดแพร่ ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ซึ่งในความจริงแล้วหอการค้าฯและกลุ่มค้าปลีกได้ประสบการณ์การเรียนรู้ จากปัญหาที่เกิดขึ้น และเกิดการรวมตัวอย่างเป็นปึกแผ่นเพื่อทำงานร่วมกันที่สำคัญคือการคืนกำไรให้แก่ลูกค้า

“การผลึนกำลังสู้กับห้างข้ามชาติกลุ่มทุนใหญ่ที่ผ่านมา เป็นเหมือนงานวิจัยที่เราได้ปิดช่องว่างจุดบกพร่องของกลุ่มการค้าด้วยกันเอง เช่นการค้าขายที่ไม่เคยมองเรื่องการให้บริการที่ดีต่อลูกค้า หรือการปันกำไรคืนกลับให้แก่ลูกค้า มาถึงวันนี้ พวกเราสู้กับห้างใหญ่ได้ เพราะเราได้ใช้กลยุทธ์เดิมในการให้บริการต่อลูกค้า เช่น การเปิดสินเชื่อที่ง่ายกว่าห้างใหญ่ การแจก แถม ในโอกาสที่เหมาะสม เป็นต้น”

นางสุดสวาท ย้ำว่า วันนี้กระแสการซื้อสินค้าในตัวเมืองแพร่ เห็นได้ชัดว่า ลูกค้าใช้บริการของกลุ่มค้าปลีกท้องถิ่นมากกว่า ส่งผลสะเทือนให้แก่ห้างใหญ่ๆ ที่เข้ามาตั้งในจังหวัดแพร่ได้มากพอสมควร

เธอ บอกว่า ต้องยอมรับศักยภาพของกลุ่มทุนใหญ่ที่ยังสามารถยืนหยัดอยู่ได้ ด้วยการใช้การบริการที่สามารถถ่ายเทงบประมาณมาทดแทนกันได้ ทำให้ห้างต่างๆ ยังคงเปิดในจังหวัดแพร่ได้ แต่เชื่อว่าการค้าในจังหวัดแพร่ทุกห้างไม่ประทับใจอย่างแน่นอน

ส่วนที่ยังคงเห็นการค้าที่ก้าวหน้าขยายสาขามากขึ้นคือ เซเว่นอีเลฟเว่น ซึ่งพบว่า สาขาที่มีกำไรสูงสุดอยู่ที่ อ.เด่นชัย ซึ่งเป็นการซื้อขายของผู้สัญจรบนเส้นทางแพร่ อุตรดิตถ์ มากกว่าการค้าที่มาจากชาวจังหวัดแพร่



กำลังโหลดความคิดเห็น