xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมปฏิบัติ : ปริศนา 4 ข้อ ใช้ทรัพย์ให้เกิดสุข

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนว่า คนที่เกิดมาทุกคนต้องมีสัมมาอาชีพ หาเลี้ยงปากเลี้ยงท้องทุกคน อย่าเป็นคนงอมืองอเท้า ในสมัยโบราณถ้าลูกหลานใครขี้เกียจขี้คร้าน ท่านบอกว่าขี้เกียจจะตายหนีไปบวชเสีย ท่านด่าประชดพระในพุทธศาสนาที่ไม่ปฏิบัติศึกษาเล่าเรียน มีแต่กินแล้วนอน อันนั้นด่าศาสนาโดยแท้ ศาสนาพุทธไม่ใช่อย่างนั้น ศาสนาสอนให้คนขยันหมั่นเพียร มีบทบาลีกล่าวว่า อุฏฐตา วินฺทเต ธนํ แปลความว่า คนขยันหาทรัพย์ได้ ถึงแม้จะไม่รวย ก็พอคุ้มปากคุ้มท้อง อีกบทหนึ่งว่า วิรเยน ทุกฺขมจฺเจติ พ้นทุกข์ได้ก็เพราะความเพียร ก็ทำนองเดียวกัน
พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงสอนให้ขี้เกียจขี้คร้าน ตรงกันข้ามพระพุทธองค์ทรงประณามคนที่ขี้เกียจขี้คร้าน ว่า เกิดมาแล้วอย่าเป็นคนรกโลก ไม่ทำมาหากินแล้วมิหนำซ้ำยังฉ้อโกงลักขโมยเขาอีก ทรงสอนทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ คือ ทรงสอนให้อุตส่าห์ทำมาหาเลี้ยงชีพด้วยความขยันหมั่นเพียร เกิดขึ้นมาแล้วต้องมีอาชีพหาอยู่หากินด้วยกันทั้งนั้น แม้แต่สัตว์ทั้งหลายก็ยังต้องหากิน จะอยู่ว่างเปล่าโดยปราศจากอาหารหล่อเลี้ยงไม่ได้
ดังเทวดาถามปัญหาสามเณรว่า เอกนามกึ หนึ่งไม่มีสองคืออะไร มีคำเฉลยว่า สพฺเพ สตฺตา อาหารฏฐิติกา หนึ่งไม่มีสองคือสัตว์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นมาจะต้องกินอาหารจึงจะมีชีวิตอยู่ได้ นี่คือหนึ่งไม่มีสอง เหตุนั้นพระพุทธองค์จึงทรงสอนนักสอนหนา ให้ทำมาหากินโดยสุจริต ไม่คิดเบียดเบียนซึ่งกันและกัน ต่างคนต่างหาด้วยน้ำพักน้ำแรง ด้วยความขยันหมั่นเพียร ด้วยความสมัครใจในธุรกิจของตนจริงๆ เรียกว่าหาโดยอิสระเสรี ไม่มีการบีบบังคับซึ่งกันและกัน นี่ เป็นทั้งสังคมนิยมและเสรีประชาธิปไตย สังคมนิยมนั้นว่าถึงด้านวัตถุ ทุกคนต่างก็ทำงานประกอบอาชีพไม่เบียดเบียนกัน เสรีประชาธิปไตย คือนิยมทางด้าน จิตใจ ทำด้วยใจสมัครไม่มีใครบีบบังคับ นอกจากนี้ พระพุทธเจ้ายังทรงสอนความมีเสรี ซึ้งเข้าไปกว่านั้นอีก
ทรัพย์อันใดที่แสวงมาได้แล้วอย่าหวงแหนเก็บเอาไว้ใช้แต่คนเดียว เพราะคนเราเกิดมาไม่ใช่อยู่คนเดียวได้ จะต้องอยู่กับผู้อื่น เมื่ออยู่คนเดียวไม่ได้ ต้องอยู่กันหมู่มาก ก็ต้องรู้จักเฉลี่ยแบ่งสรรปันส่วนของตัวที่มีอยู่ให้แก่ผู้อื่น ท่านแสดงไว้ว่าทรัพย์ที่หามาได้ ถ้าหากใช้เป็นแล้วจะเป็นความสุขทั้งตนและ คนอื่น ท่านสอนให้รู้จักแบ่งใช้เป็น ๔ ส่วน โดยพูดเป็นนัยปริศนาไว้ว่า
• ส่วนที่ ๑ ใช้หนี้เก่า
• ส่วนที่ ๒ ใช้หนี้ใหม่
• ส่วนที่ ๓ ฝังไว้ในดิน
• ส่วนที่ ๔ เอาไปทิ้งลงน้ำ

ส่วนที่ ๑ ใช้หนี้เก่า คือ ให้บำรุงเลี้ยงบิดา-มารดา ผู้มีอุปการคุณ
เราเกิดขึ้นมาเรียกว่าได้มรดกตกทอดจากบิดามารดา เลือดเนื้อเชื้อไขทั้งหมดเป็นของบิดา มารดาทั้งนั้น วิชาความรู้และสิ่งอื่นๆทั้งหมดที่เรามีเราใช้อยู่นี้ ล้วนแต่มาจากบิดามารดาเป็นต้นเหตุ เราจะเป็นใหญ่เป็นโต หรือเป็นอะไรก็ตาม ถ้าไม่ได้ส่วนจากบิดามารดาแล้ว เป็นอะไรไม่ได้สักอย่างเดียว บิดามารดาจึงเป็นผู้มีพระคุณที่สุด เหตุนั้นท่านจึงสอนว่า เมื่อเราหาทรัพย์มาได้แล้วจงใช้หนี้เก่าท่านไป คนเราถ้าไม่รู้จักบุญคุณของบิดามารดาแล้วทำดีอะไรไม่ได้เลย เหตุเพราะรู้จักบุญคุณบิดามารดานี่แหละจึงรู้จักสร้างคุณงามความดี เพื่อสนองบุญคุณผู้มีพระคุณมีบิดามารดาเป็นต้น โลกมนุษย์อันนี้จะอยู่เป็นสุขก็เพราะคิดถึงบุญคุณของกันและกัน
ส่วนที่ ๒ ใช้หนี้ใหม่ คือ ให้แก่บุตรธิดา ลูกหลาน ที่เกิดจากเรา เขาทวงเอาหนี้อยู่ทุกวัน วันหนึ่งๆตั้งหลายสตางค์ เขาจะทวงเอาอยู่ตลอดเวลาตราบใดที่เขายังเป็นลูกหลานของเราอยู่ อันนี้เป็นหนี้ใหม่ใช้มันไป แล้วก็ยินดีเสียด้วย
ส่วนที่ ๓ ฝังไว้ในดิน นั่นคือเอาไปบริโภคเพื่อเลี้ยงอัตตภาพของตนให้มีชีวิตอยู่ได้ ดังเคยอธิบายให้ฟังแล้ว ตัวคนเราเหมือนกับพื้นแผ่นดินอันหนึ่ง พูดกันง่ายๆ เรียกว่าหลุม เป็นหลุมอันหนึ่งที่จะต้องเอาของทิ้งลงไปทุกวัน คือเราบริโภคผ่านลำคอไป ยังกระเพาะอาหารนั่นเอง ทางพุทธศาสนาท่านว่า อุคฺฆรนฺตํ ปคฺฆรนฺตํ คนเรามีไถ้อันหนึ่งมีปาก ๒ ข้าง ไหลเข้าไหลออก หมายความว่าบริโภคเข้าไปแล้วก็ถ่ายออกมา หลุมดินหรือไถ้อันนี้แหละที่เราต้องนำของเข้าไปฝัง ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งวันตาย เราฝังอยู่ตลอดเวลา สารพัดอย่างที่เราจะเอาไปฝังในนั้น เนื้อของสัตว์ต่างๆ กุ้ง หมู ปู ปลา เป็ด ไก่ วัว ควาย เอาไปฝังทั้งหมด ฝังลูกไม้ผลไม้ สารพัดอย่างไม่มีเต็มสักที ทางพุทธศาสนาท่านสอนให้เกิดความสลดสังเวช อันตัวของเรานี้เหมือนกับป่าช้าผีดิบ คนตายที่ ไม่ได้เผาเขาเอาไปฝังเรียกว่าป่าช้าผีดิบ แต่ป่าช้าของ เรามันจะสุกก็ตามจะดิบก็ช่างฝังได้ทั้งหมด ตัวคนเรา นี้คิดดูเถิดไม่มีดีเลย ที่เราพากันถือว่าเป็นคนเป็นตนเป็นตัว ว่าเป็นโน่นเป็นนี่ มันล้วนแต่เป็นเรื่องถือเรื่องสมมติกันขึ้นมา นิยมตั้งกันขึ้นมาทั้งนั้น แต่แท้ที่จริงแล้วทุกคนก็คือ ป่าช้าผีดิบดีๆ นี่เอง เป็นหลุมที่ฝังสารพัดทุกสิ่งทุกอย่าง ท่านจึงสอนว่าทรัพย์ส่วนที่ ๓ ให้เอาไปฝังไว้ที่ดิน
ส่วนที่ ๔ ให้เอาไปทิ้งลงน้ำ คือว่าการทำสาธารณประโยชน์โดยวิธีใดก็ตาม จะเป็นการสร้างถนน สร้างโรงเรียน โรงพยาบาล แม้จะทำบุญในพุทธศาสนาก็ได้ เรียกว่าสาธารณประโยชน์ เพื่อประโยชน์ส่วนรวม เพื่อทุกๆคนนั่นเอง ที่เรียกว่าทิ้งลงน้ำ เพราะวัตถุที่เราให้ทานไปเรายกให้เลยไม่คิดจะทวงกลับคืนมา เหมือนเราทิ้งของลงน้ำจมดิ่งหายเงียบไปเลย ไม่ต้องการเอากลับมาอีก อีกประการหนึ่ง การทำบุญทำทานมีแต่ความปลื้มปีติ อิ่มใจ ได้ความเย็นใจ สบายใจ เหมือนกับเอาของทิ้งลงในน้ำฉะนั้น

(จากส่วนหนึ่งของการแสดงธรรม ณ วัดหินหมากเป้ง อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย
วันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๑๙)

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 106 กันยายน 2552 โดยหลวงปู่เทสก์ เทศรังสี วัดหินหมากเป้ง จ.หนองคาย)
กำลังโหลดความคิดเห็น