xs
xsm
sm
md
lg

กระเป๋าเพ้นท์ลาย ฝีมือสองสาวหัวใจศิลป์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ฝ้าย (ซ้าย) และ ขวัญ
จากความคิดที่ว่า อยากใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ที่สุด ทำให้ “ฝ้าย” หรือ “ปาริฉัตร การสมสิษฐ์” และ “ขวัญ” หรือ “พัชเรศ บุญศิริเศรษฐ” สองนิสิตจากคณะศิลปกรรมศาสตร์ ม.ศรีนครินทราวิโรฒ มองหาธุรกิจเล็กๆ มาลองทำกันดู

เมื่อมาเจอสถานที่ที่เปิดโอกาสให้นักศึกษามาใช้พื้นที่ขายของ ออกแบบผลงานแฮนด์เมดอย่างตลาดอินดี้ อินทาวน์ ณ ลานหน้าเซ็นทรัลเวิลด์ จึงทำให้พวกเธอทั้งสองคนสนใจและคิดจะมาขายของในที่แห่งนี้
ผลงานของคู่ซี้
ขวัญและฝ้ายนำไอเดียที่คิดกันไว้ พกพาต้นทุนอีกนิดหน่อยมาผลิตเป็นสินค้ากระเป๋าเพ้นท์ลาย นำมาเสนอทีมงานของตลาดอินดี้ฯ และก็ได้ลงพื้นที่ขายในไม่กี่วันถัดมา

“เริ่มมาขายของที่นี่ ได้ประมาณ 2 เดือนเศษแล้ว โดยเริ่มจากการทำกระเป๋าไม่กี่ใบก่อน ราวๆ 20-50 ใบ เพราะต้องการจะลองตลาดดูก่อนว่า ขายได้ดีไหม กระเป๋าลายนี้จะขายดีแค่ไหน จึงยังไม่กล้าทำเยอะ หลังจากลองทำแล้ว ก็ให้เพื่อนๆ มาช่วยดูว่าแบบนี้ดีหรือยัง สวยไหม ควรจะเพิ่มอะไรบ้าง ตรงนี้ก็จะเช็กเทรนด์ตลาดได้ส่วนหนึ่ง” ฝ้าย เล่าถึงที่มาของการขายสินค้าที่ตลาดอินดี้ อินทาวน์

เมื่อสินค้าเริ่มขายได้ และมีแนวโน้มว่าขายดีขึ้นเรื่อยๆ ขวัญและฝ้ายก็ไม่รอช้าลงมือทำสินค้าออกมาเรื่อยๆ

สินค้าล็อตแรกๆ ที่ทำออกมาจะเป็นกระเป๋าไม่มีฟองน้ำ พอมีคนมาแนะนำให้ลองใส่ฟองน้ำ จึงพัฒนารูปแบบกระเป๋าให้มีฟองน้ำเพิ่มขึ้นมา เพื่อจะเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า ส่วนสีที่ใช้เพ้นท์ผ้าก็จะเป็นปากกาเพ้นท์ผ้าโดยเฉพาะ เพื่อคุมคุณภาพของสีว่าจะไม่เลอะเทอะ หรือซักออกง่าย

“จุดเด่นของกระเป๋าเพ้นท์ลายจริงๆ จะอยู่ตรงลายที่ลายเพ้นท์นั่นเอง เพราะรายละเอียดของแต่ละลายจะไม่เหมือนกัน ถึงแม้บางลายจะคล้ายๆ กัน โดยทุกลายจะออกแบบเอง วาดเอง ใช้เวลา 30-40 นาทีต่อใบ ในกรณีที่ลูกค้าสั่งทำแล้วให้คิดลายเอง ค่อนข้างใช้เวลานาน” ฝ้ายกล่าว

สำหรับขั้นตอนการทำ การหาวัตถุดิบขวัญและฝ้ายจะทำกันเองทั้งหมด ตั้งแต่ไปหาซื้อผ้า และอุปกรณ์ตกแต่งเพิ่มเติม เดินตามร้านเพื่อเช็กราคาวัสดุอุปกรณ์ เพื่อให้ได้ต้นทุนที่มีราคาไม่สูงนัก แต่มีคุณภาพ ยกเว้นแต่ขั้นตอนการเย็บกระเป๋าที่ต้องส่งให้ช่างเย็บให้ เพราะจะได้ตัวกระเป๋าที่ระเอียดและเนี๊ยบกว่าทำเอง ส่วนการตัด เย็บ ติด และวาดจะทำด้วยตัวเอง
ช่วยกันทำงาน
“เราจะส่งไปให้ช่างเย็บกระเป๋าให้เป็นรูปเป็นร่างก่อน หลังจากนั้นก็จะมาเย็บปากปิดติดเข้าไปกับตัวกระเป๋า ส่วนลายที่จะเพ้นท์ ก็จะแล้วแต่ลูกค้าสั่งทำ ส่วนหนึ่งก็จะทำสต็อกไว้สัก 20-30 ใบ นอกจากนั้นจะเพ้นท์ให้เห็นกันจะๆ เพื่อให้รู้ว่าสินค้าเราทำมือจริงๆ” ขวัญ กล่าวเสริม

ด้านราคาสินค้าจะเริ่มต้นที่ 139-169 บาท แล้วแต่ขนาด ส่วนกำไรต่อชิ้นก็จะอยู่ที่ประมาณ 50-70% ของต้นทุน

“เวลาที่ขายได้กำไรมา ก็จะเอามาหักลบต้นทุนเหลือเท่าไหร่ก็จะเอามาแบ่งกัน แล้วก็จะเอาเงินที่ขายได้ มาขายในครั้งต่อไป ทำไปเรื่อยๆ ได้กำไร ไม่ขาดทุน ซึ่งก็ถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดี”

เรียกได้ว่านอกจากรายได้ที่หามาได้ด้วยน้ำพักน้ำแรงของตัวเองแล้ว ยังได้เรียนรู้ว่าการทำงานมันเหนื่อย มันหายากแค่ไหน ต้องรู้จักวางแผนว่า จะทำอะไร ซื้อของเมื่อไหร่ ขายเท่าไหร่ ทำไปแล้วใบนี้จะขายได้ไหม มันต้องมีขั้นตอนและการวางแผนทุกครั้ง ที่นี่จึงเปรียบเสมือนโรงเรียนฝึกงานขายให้กับฝ้ายและขวัญโดยตรง

**************************************

ข้อมูลจาก นิตยสาร SMEs Today ฉบับที่ 71 ประจำเดือน กันยายน 2551
กำลังโหลดความคิดเห็น