แม่ค้าแฉ “ดาบตำรวจหญิง” ใน บช.น.หลอกลวงตุ๋นเงินไปร่วมล้านบาท แล้วหายตัวขาดราชการไปไร้ร่องรอย วอนนำเงินมาคืนเพราะได้มาจากน้ำพักน้ำแรง พร้อมเรียกร้องเหยื่อรายอื่นออกมาแสดงตัวโดยไม่ต้องเกรงอิทธิพล ด้วยมีตำรวจทั้งระดับนายพล นายพัน สารวัตร และแม่ค้าใน บช.น.อีกหลายราย
วันนี้ (19 พ.ค.) ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้ากรณี ด.ต.หญิงนายหนึ่ง สังกัดกองกำกับการฝ่ายอำนวยการ 1 กองบังคับการอำนวยการ กองบัญชาการตำรวจนครบาล ทำหน้าที่เจ้าหน้าที่สหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจนครบาล ได้หายตัวไปเกือบ 1 เดือน จนความแตกภายหลังว่าการหายตัวไปครั้งนี้มีความเกี่ยวข้องกับเงินกู้นอกระบบสหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจนครบาล วงเงินกว่า 50 ล้านบาท โดยมี ด.ต.หญิงรายนี้เป็นตัวตั้งตัวตีในการระดมเงินจากตำรวจใน บช.น.นั้น กระทั่งเมื่อวันที่ 15 พ.ค.ที่ผ่านมา พ.ต.อ.พีระพล อัจกลับ ผกก.ฝ่ายอำนวยการ 1 บก.อก. บช.น.ผู้บังคับบัญชาสายงาน มีคำสั่งให้ ด.ต.(หญิง) ชนากานต์ บูรณพงศ์ ตำแหน่ง ผบ.หมู่ ฝอ.1 บก.อก.บช.น.ออกจากราชการไว้ก่อน เนื่องจากขาดราชการนานติดต่อกัน 15 วันโดยไม่มีเหตุอันควร พร้อมตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีเกี่ยวข้องกับการปล่อยเงินกู้นอกระบบให้กับข้าราชการตำรวจที่เป็นสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ บช.น.ที่มาขอกู้เงิน
ล่าสุด เมื่อเวลา 14.00 น.ที่ห้องสื่อมวลชนกองบัญชาการตำรวจนครบาล นางเอ๋ (ขอสงวนชื่อและนามสกุลจริง) อายุ 48 ปี อาชีพธุรกิจส่วนตัวขายน้ำผลไม้เพื่อสุขภาพ นำหลักฐานสัญญาเงินกู้ที่มี ด.ต.(หญิง) ชนากานต์ ที่ตกเป็นข่าว เซ็นลงนามพร้อมหลักฐานการโอนเงินเข้าบัญชี และเอกสารรับรองซึ่งเป็นบัตรข้าราชการตำรวจของ ด.ต.(หญิง) ชนากานต์ เข้าชี้แจงต่อสื่อมวลชนพร้อมเล่าเหตุการณ์ที่หลงกลตกเป็นเหยื่ออย่างละเอียดว่า เพราะความโลภของตัวเอง จากนั้นได้นำหลักฐานทั้งหมดเพื่อลงบันทึกประจำวันต่อพนักงานสอบสวน สน.ดุสิต ไว้เป็นหลักฐาน
นางเอ๋ (นามสมมติ) กล่าวว่า รู้จักกับ ด.ต.(หญิง) ชนากานต์ ประมาณ 2 ปี จากการแนะนำของเจ้าหน้าที่ตำรวจชั้นประทวนสังกัดกองกำกับการอารักขารักษาความปลอดภัย (อป.) บช.น.ชักชวนให้นำเงินมาปล่อยเงินกู้สหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจนครบาล โดยให้ดอกเบี้ยร้อยละ 5 เลยสนใจนำเงินมาลงทุนครั้งแรกจำนวน 3 แสนบาทในรอบ 2 ปี ที่ผ่านมาได้เงินตอบแทนเดือนละ 1.5 หมื่น และจ่ายตรงเวลาตลอด จากนั้นตำรวจหญิงคนนี้ก็ชักชวนให้นำเงินมาลงทุนเพิ่มอีกจึงตัดสินใจนำมาให้อีก 2 แสนบาท โดยจ่ายเงินกันโดยตรงกับ ด.ต.(หญิง) ชนากานต์ เพิ่งจะได้รับดอกเบี้ยเพียง 1 หมื่นบาท เพียง 1 เดือน ระหว่างนั้น ด.ต.(หญิง) ชนากานต์ ก็มักจะโทร.มาหาโดยตลอด มีการกู้ยืมเงินกันไปมาอีกหลายครั้งคราวละ 1- 2 แสนบาท แต่ไม่ได้มีการเซ็นสัญญาเพราะโอนเงินให้กันทางเอทีเอ็ม
“ต่อมาเมื่อหลังสงกรานต์ ด.ต.(หญิง) ชนากานต์ ก็โทร.มาหาพี่ แล้วอ้างว่านายเวรของนายพลตำรวจในนครบาลที่รู้จักกันขอเพิ่มยอดอีก 5 แสน และจะให้ดอกเบี้ยร้อยละ 7 พี่ก็หลงเชื่อเพราะเห็นว่าดอกเบี้ยดีจึงรีบไปหาเงินแล้วนัดส่งเงินให้ที่เซ็นทรัลบางนา ตอนนั้นเขามาเอาเงินด้วยตัวเองแต่พี่หาได้แค่ 4.2 แสนบาท เลยให้เขาไปแค่นั้น และมีการเซ็นสัญญากันเหมือนที่ผ่านมา และยังบอกอีกว่าถ้ามีเงินอีกก็เอามาอีก พี่จึงไปชักชวนญาติๆ ที่โคราชช่วยกันหาเงินมาลงทุนจนญาติหลายรายต่างเร่งไปกู้เงิน ธ.ก.ส.มาลงทุน ส่วนพี่ก็เอาที่ดินผืนหนึ่งที่เป็นมรดกจากพ่อแม่ให้มาไปจำนำกับทางญาติได้เงินมาอีก 1 ล้านบาท รวมยอดของญาติๆ ด้วยเป็น 10 ล้านบาทกำลังจะเตรียมมาให้ แต่โทร.ติดต่อเขาไม่ได้ทั้งโทรศัพท์มือถือ และโทรศัพท์บ้าน จึงแปลกใจทั้งๆ ที่พี่ก็ถือเงินอยู่จะเอามาให้เขา” นางเอ๋ กล่าว และว่า อยากให้ ด.ต.(หญิง) ชนากานต์ นำเงินที่เอาไปมาคืนจะได้พ้นผิด เพราะเป็นเงินที่เก็บมาทั้งชีวิตจากอาชีพแม่ค้าต้องเลี้ยงดูครอบครัวอีกหลายคน และอยากเรียกร้องให้ผู้เสียหายรายอื่นๆ ออกมาแสดงตัวไม่ต้องกลัวอิทธิพลใดๆ เพราะทราบมาว่ามีตำรวจรวมถึงพ่อค้าแม่ค้าที่ขายของอยู่ด้านหลัง บช.น.สูญเงินไปเยอะ
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า มีนายตำรวจที่นำเงินมาลงทุนกับกลุ่มของ ด.ต.(หญิง) ชนากานต์นั้นมียอดเงินตั้งแต่ 5 แสนบาท จนถึง 10 ล้านบาท บางรายจำนวน 1 ล้านบาท บางราย 2 ล้านบาท โดยเฉพาะรายใหญ่ อาทิ นายพล ส, นายพล ก, ผกก.พ, พ.ต.ท. จ, พ.ต.ท. อ, สารวัตร ช, สารวัตร ส และนายตำรวจระดับรอง ผกก. และสารวัตร สังกัดกองบังคับการอำนวยการ บช.น. และนอกหน่วยอีกหลายนาย ซึ่งมีการระดมทุนทั้งระยะแรกในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา และระยะหลังเมื่อกลางปี 2551