xs
xsm
sm
md
lg

โฆษก บช.น.แฉ! ด.ต.หญิงล่องหน เหตุหนี้บานมือเติบ

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

พล.ต.ต.สุพร พันธุ์เสือ รอง ผบช.น.ในฐานะโฆษกกองบัญชาการตำรวจนครบาล
“โฆษกนครบาล” แจง “ด.ต.หญิง” ระดมเงินตำรวจปล่อยกู้นอกระบบให้สมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ บช.น.เป็นเรื่องของคน 2 คนที่ต้องฟ้องร้องกันเอง ยังไม่มีการสอบสวนตรวจสอบตำรวจนักธุรกิจที่นำเงินมาลงทุนปล่อยกู้ ขณะที่ “นักข่าว” ในพื้นที่ภาคใต้ถูกข่มขู่คุกคามแล้ว หลังเปิดโปงความฟอนเฟะของ “สหกรณ์ออมทรัพย์” แห่งหนึ่ง วิ่งโร่เข้าแจ้งความถูกผู้มีอิทธิพลคุกคามแล้ว

วันนี้ (20 พ.ค.) ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้ากรณี ด.ต.หญิงนายหนึ่ง สังกัดกองกำกับการฝ่ายอำนวยการ 1 กองบังคับการอำนวยการ กองบัญชาการตำรวจนครบาล ตำแหน่งเจ้าหน้าที่การเงินสหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจนครบาล ได้ขาดราชการนานกว่า 1 เดือน โดยไม่มีสาเหตุ จนความแตกภายหลัง ว่า การขาดงานดังกล่าวเกี่ยวข้องกับเงินกู้นอกระบบวงเงินกว่า 50 ล้านบาท ที่มีการระดมจากข้าราชการตำรวจใน บช.น.มาปล่อยกู้ให้สมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจนครบาล โดยสำรองจ่ายให้ก่อนแล้วหักดอกเบี้ยร้อยละ 5 โดยล่าสุด ปลายสัปดาห์ก่อนผู้บังคับบัญชาสายงานมีคำสั่งให้ ด.ต.หญิงชนากานต์ บูรณพงศ์ ตำแหน่ง ผบ.หมู่ ฝอ.1 บก.อก.บช.น.ออกจากราชการไว้ก่อน เนื่องจากขาดราชการนานติดต่อกัน 15 วัน โดยไม่มีเหตุอันควรถือว่าเป็นความผิดวินัยร้ายแรง พร้อมตั้งกรรมการสอบสวนกรณีขาดงานดังกล่าวโดยไม่มีการแจ้งผู้บังคับบัญชาทราบไปแล้วนั้น

กระทั่งล่าสุดภายในกองบัญชาการตำรวจนครบาล ยังไม่มีการเคลื่อนไหวใดๆ ในเรื่องนี้ ถึงแม้จะมีการระดมเงินจากข้าราชการตำรวจมาปล่อยกู้ในอัตราร้อยละ 5 ก็ตาม แม้แต่นายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ที่กำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจนครบาลโดยตรงก็ไม่มีการตรวจสอบใดๆ

ด้าน พล.ต.ต.สุพร พันธุ์เสือ รอง ผบช.น.ในฐานะโฆษกกองบัญชาการตำรวจนครบาล ชี้แจงว่า การปล่อยเงินกู้นอกระบบให้กับสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจนครบาลนั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับสหกรณ์แต่อย่างใด เป็นเรื่องของคนสองคนที่ดำเนินการตกลงทำสัญญานำเงินมาให้กู้ยืมกันเองและเป็นคดีทางแพ่งเกี่ยวกับคน 2 คน ไม่ต้องมีการตั้งกรรมการสอบสวนหรือตรวจสอบเอาผิดว่า มีตำรวจนายใดนำเงินมาปล่อยกู้นอกระบบบ้าง ส่วนการขาดราชการของ ด.ต.ชนากานต์ นั้น อยู่ระหว่างการสอบสวนสาเหตุว่าเกิดจากอะไร พร้อมปฏิเสธว่าไม่ได้มีการสั่งการใดๆ ให้นายตำรวจระดับสารวัตรคนหนึ่งในสหกรณ์โทรศัพท์ไปตำหนิและเรียกตัวเหยื่อที่เป็นพลเรือนที่ออกมาให้ข่าวมาสอบปากคำและนำเข้าในระบบเป็นการกล่าวอ้างชื่อของตนเองมากกว่า

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนที่ ด.ต.หญิงรายนี้จะหายตัวไป ได้นำรถยนต์โตโยต้าคัมรี่ ป้ายแดงที่ซื้อมาราคาล้านกว่าบาท และรถยนต์ฮอนด้าซีอาร์วีป้ายแดง ที่เขาซื้อมาก่อนหน้านี้ไปจำนำกับนายตำรวจคนหนึ่งราคาคันละ 5 แสนบาท โดยอ้างว่า หมุนเงินไม่ทัน ทั้งที่มีเพื่อนตำรวจด้วยกันเตือนแล้วว่า อย่าไปยุ่งเกี่ยวกับ ด.ต.หญิงรายนี้ แต่กลับไม่เชื่อจนขณะนี้รถทั้ง 2 คันได้ถูกไฟแนนซ์ยึดกลับไปแล้ว เพราะขาดส่งเกิน 3 งวด เนื่องจากวางเงินดาวน์เพียง 30 เปอร์เซ็นต์

นอกจากนี้ มีรายงานด้วยว่า สาเหตุที่ ด.ต.หญิงรายนี้ หมุนเงินไม่ทัน เพราะนอกจากนำเงินมาปล่อยกู้นอกระบบสหกรณ์ออมทรัพย์นครบาลแล้ว ยังนำเงินไปปล่อยกู้ที่อื่นอีกอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 20 และถูกเขาโกงอีกต่อหนึ่ง จึงหมุนเงินไม่ทัน ประกอบกับเป็นคนใช้เงินมือเติบใช้จ่ายเงินฟุ่มเฟือยชอปปิ้งวันละ 2-3 หมื่นบาท และยังมีหนี้สินเงินกู้สหกรณ์ บช.น.ในชื่อของตัวเองวงเงิน 9 แสนบาท ซึ่งเพื่อนตำรวจหญิงด้วยกันที่เซ็นค้ำประกันต่างเคร่งเครียดกันเป็นแถวเพราะต้องแบกภาระชดใช้หนี้แทนในครั้งนี้

สำหรับขบวนการกู้เงินนอกระบบครั้งนี้นั้น มีวิธีการขั้นตอนที่ไม่ลึกลับซับซ้อนอะไร และเป็นที่รู้กันในหมู่เจ้าหน้าที่สหกรณ์กับตำรวจชั้นประทวนที่มากู้เงิน ว่า หากใครต้องการเงินด่วนไม่ต้องรอการอนุมัติจะสำรองจ่ายให้ก่อนโดยเป็นเงินที่ได้จากการระดมจากตำรวจใน บช.น.แล้วหักดอกเบี้ย ณ ที่จ่ายร้อยละ 5 จากนั้นให้เซ็นมอบอำนาจในการเบิกจ่ายเงินพร้อมยึดสมุดบัญชีธนาคารและบัตรข้าราชการไว้ เมื่อเงินสหกรณ์อนุมัติเมื่อไหร่ขบวนการเงินกู้นอกระบบนี้ก็จะไปเบิกเงินมาหมุนเวียนใช้กับรายอื่นต่อไป และจ่ายปันผลให้กับเจ้าของเงินซึ่งมีทั้งตำรวจระดับชั้นประทวนจนไปถึงระดับนายพลและนายทุนจากที่อื่นในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 5 จ่ายทุกวันที่ 15 และ 30 ของเดือน ที่ผ่านมา ตลอดเวลา 10 ปีมีการจ่ายดอกเบี้ยตรงเวลาตลอดทำให้ข้าราชการตำรวจใน บช.น.ที่ได้ยินข่าวต่างก็เห็นดีกับการทำธุรกิจนี้จึงชักชวนกันนำเงินมาลงทุนเป็นจำนวนมาก บางรายบอกต่อกับญาติต่างขายที่ดินที่นามาลงทุนกันเป็นล่ำเป็นสัน จนหลายรายได้เงินต้นคืนก็นำเงินนั้นกลับมาสมทบอีกจนยอดเพิ่มสูงมากขึ้นทะลุ 50 กว่าล้านบาทมีการรับเงินผลประโยชน์กันไปมูลค่ามหาศาล จนมาระยะหลังเมื่อปลายเดือน เม.ย.และต้นเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ด.ต.หญิงรายนี้ขาดส่งจำนวน 2 งวดจนเจ้าของเงินมีการทวงถามและได้รับคำตอบว่า เงินกระจายไปหมดแล้วพร้อมปฏิเสธที่จะชี้แจงใดๆ และหายตัวไปในที่สุด สำหรับนายตำรวจที่นำเงินมาลงทุนกับกลุ่มของ ด.ต.หญิงรายนี้นั้นมียอดเงินตั้งแต่ 5 แสนบาทจนถึง 10 ล้านบาท มีทั้งระดับนายพลลงไปจนถึงชั้นประทวนรวมถึงเจ้าหน้าที่ในสหกรณ์ด้วยกันและนอกหน่วยอีกหลายนาย

ด้านนายตำรวจ ยศ พ.ต.อ.(อักษรย่อนำหน้า จ.) ที่เกือบตกเป็นเหยื่อขบวนการเงินกู้นอกระบบสหกรณ์ออมทรัพย์ บช.น.เปิดเผยว่า ช่วงต้นปีที่ผ่านมามีเพื่อนนายตำรวจหลายคนด้วยกันมาชักชวนให้นำเงินก้อนมาลงทุนกับ ด.ต.หญิงคนนี้ แต่ได้ปฏิเสธไป เพราะหาเงินได้ไม่ทัน เนื่องจากเป็นตัวเลขหลักล้าน เมื่อมาเห็นข่าวใน นสพ.ก็รู้สึกตกใจ และสงสารเพื่อนๆ ที่ถูกเชิดเงินไป เท่าที่ทราบในสหกรณ์ตำรวจนครบาลมีการปล่อยเงินกู้นอกระบบนี้มานานกว่า 10 ปีแล้วและเป็นที่รู้กันในวงตำรวจที่มากู้เงินสหกรณ์ว่าหากอยากได้เงินเร็วก็ต้องมาถามหา ด.ต.หญิงคนนี้

ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจอีกนาย (ไม่ขอเปิดเผยชื่อ) กล่าวว่า หลายปีก่อนหน้านี้เคยมากู้เงินสหกรณ์ออมทรัพย์ ซึ่งจะรู้กันในกลุ่ม ว่า มีนายหน้าเป็นตำรวจหญิงอยู่ในสหกรณ์ปล่อยเงินก้อนให้ก่อนคิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 5 บาทต่อ 15 วัน หากยอดเงิน 1 แสนบาทก็จะหักไปจำนวน 5 พันบาท โดยมียึดหลักฐานสมุดบัญชีและบัตรเอทีเอ็มไว้ เมื่อเงินกู้สหกรณ์โอนเข้ามาตามกำหนดเวลาเจ้าหนี้นอกระบบก็จะเบิกเงินนั้นคืนกลับเข้ามาปล่อยให้คนอื่นกู้ต่อไป ตอนนั้นเพื่อนเคยมากู้เงินแต่ต้องการใช้เงินก่อน เขาก็ทำแบบนี้เพราะได้เงินเร็วไม่ต้องรอ วิธีนี้ดีสำหรับคนที่เดือดร้อนเงิน แต่สำหรับตนนั้นก็มากู้ตามสิทธิที่ได้รับ เพราะได้เงินก้อนไปลงทุนถูกหักแค่เดือนละไม่กี่ร้อยบาทก็คุ้มสำหรับการผ่อนจ่ายระยะยาวไม่ถึงกับเดือดร้อนเท่าไหร่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การกู้เงินสหกรณ์นั้นสมาชิกสามารถกู้ได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้โดยให้สิทธิสำหรับผู้ที่เป็นสมาชิกมีอายุตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไปจนถึง 180 เดือน ยื่นเรื่องกู้เงินได้ตั้งแต่ 16 เท่าของเงินเดือนจนถึงขั้นสูงสุด 52 เท่าของเงินเดือนสูงสุดไปเกิน 6 แสนบาทผ่อนชำระทั้งหมด 96 งวด ส่วนเงินกู้นอกระบบนั้นเป็นที่รู้กันว่า มีหลายกลุ่มในบรรดาข้าราชการตำรวจหญิงในสหกรณ์ออมทรัพย์ไม่ใช่เฉพาะกลุ่มของ ด.ต.หญิงที่หายตัวไปอย่างเดียว โดยพฤติการณ์มีการระดมเงินจากนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ลงไปจนถึงนายตำรวจระดับ พ.ต.ท.ในนครบาล และนายทุนเอกชนกว่า 20 นาย ตกเป็นเหยื่อ อาทิ นายพลอักษรย่อ ก.และ นายพล อักษรย่อ ภ.นำเงินมาลงทุนตัวเลขหลัก 10 ล้าน รวมถึงอดีตนายพลที่เกษียณอายุราชการไปแล้ว และข้าราชการตำรวจที่ยังปฏิบัติหน้าที่อยู่ โดยให้ดอกเบี้ย 15 วัน 5 เปอร์เซ็นต์

ด้าน ส.ต.ท.นายหนึ่ง (ไม่ขอเปิดเผยชื่อ) แสดงความไม่เห็นด้วยกับระบบเงินกู้นอกระบบนี้ โดยระบุว่า เป็นพฤติการณ์ที่ฉวยโอกาสเหมือนขูดเลือดกับปู เพราะทุกคนที่มากู้สหกรณ์ก็เดือดร้อนอยู่แล้ว แต่ จนท.กลับเอาช่องว่างมาหากิน และมีการยื่นข้อเสนอว่า หากอยากได้เงินก่อนก็ต้องถูกหักดอกเบี้ยเหมือนกับเป็นเกมของเขาที่ยื้อเวลา เพื่อให้เหยื่อเข้ามาอยู่ในระบบของการได้เงินเร็วขึ้น และเป็นวัฏจักรวงจรหมุนไปเรื่อยๆ ทางออกที่ดีที่สุด คือ ให้ปลดตำรวจสหกรณ์ไปอยู่หน่วยอื่น และให้จ้างบุคคลนอกเข้ามาเป็นผู้จัดการบริหารแทน อีกทั้งต้องการให้ตำรวจผู้ใหญ่คอยตรวจสอบบัญชีหลักทรัพย์ของเจ้าหน้าที่แต่ละรายด้วย เพราะเป็นที่น่าสังเกตว่า ตำรวจทั้งชายและหญิงที่ทำหน้าที่ในสหกรณ์หลายมีเงินใช้กันอย่างฟุ้งเฟ้อ บางคนมีรถหรูขับ ทั้งที่เป็นแค่ชั้นประทวนเงินเดือนหมื่นกว่าบาทเท่านั้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ เคยมีเหตุการณ์ตำรวจ สน.ดินแดง ก่อเหตุทุบกระจกรถยนต์ของ ด.ต.ชายคนหนึ่งที่เป็นเจ้าหน้าที่สหกรณ์ ซึ่งจอดรถไว้ในลานจอดรถ บช.น.เนื่องจากรู้ว่ามีการหอบเงินสดมาเตรียมเพื่อจ่ายให้กับผู้ที่กู้เงินสหกรณ์ที่ต้องการใช้บริการเงินกู้นอกระบบ หากใครต้องการก็จะพาเดินไปด้านหลังเพื่อหยิบเงินสดในรถให้ จึงเกิดการเขม่นกันเองสำหรับกลุ่มที่มีเงินหนานายทุนใหญ่กับอีกกลุ่มจึงส่งคนมาชี้เป้าและลงมือทุบรถเพื่อดิสต์เครดิตกันเอง และยังพบว่าก่อนหน้านี้เมื่อ 3-4 ปีที่ผ่านมา ผลพวงของการปล่อยเงินกู้นอกระบบในหมู่ข้าราชการตำรวจด้วยกันนี้ส่งผลให้อดีตแม่บ้านที่ทำความสะอาดใน บช.น.คนหนึ่งถึงกับเครียดใช้อาวุธปืนยิงตัวเองตายเนื่องจากถูกโกงไปต่อหน้าต่อตาไม่มีเงินไปจ่ายค่างวดให้กับเจ้าหนี้ที่ไปยืมเงินมาจำนวนกว่า 1 ล้านบาททีเดียว

ขณะที่ความเคลื่อนไหวในพื้นที่ จ.ภาคใต้ ก็มีเหตุการณ์ความไม่ชอบมาพากลในสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งหนึ่งเช่นกัน กระทั่งมีการข่มขู่คุกคามสื่อมวลชนที่เสนอข่าว โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 19 พ.ค.ที่ผ่านมา นายประสาน สุกใส ผู้อำนวยการหนังสือโฟกัสภาคใต้ ได้นำ น.ส.โสภา เดชรัตน์ อายุ 23 ปี ผู้สื่อข่าว หนังสือพิมพ์โฟกัสภาคใต้ เข้าแจ้งความกับพนักงานสอบสวน สภ.หาดใหญ่ หลังจากถูกผู้มีอิทธิพลข่มขู่จากการเสนอข่าวความไม่ชอบมาพากล การบริหารในสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งหนึ่งในหาดใหญ่ นอกจากนี้ ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนกับ นายไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล นายกสมาคมหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทย ขอความเป็นธรรมชี้แจงกรณีการนำเสนอข่าวความฟอนเฟะของสังคมข้าราชการครั้งนี้ด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น