xs
xsm
sm
md
lg

พุทธลีลา : ปางขับพระวักกลิ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พระพุทธรูปปางขับพระวักกลิอยู่ในพระอิริยาบถประทับขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายวางบนพระเพลา (ตัก) พระหัตถ์ขวายกขึ้นเสมอพระอุระ(อก) หันฝ่าพระหัตถ์ตะแคงเข้าด้านใน แสดงกิริยาทรงโบกพระหัตถ์ขับไล่ พระพุทธรูปปางนี้มีที่มา ดังนี้
มานพคนหนึ่ง ชื่อ วักกลิ เกิดในตระกูลพราหมณ์ที่มั่งคั่ง ในเมืองสาวัตถี วันหนึ่งได้เห็นพระพุทธเจ้า ขณะทรงบิณฑบาต วักกลิเกิดหลงใหลในพุทธลักษณะและพุทธจริยวัตรอันงามพร้อม จึงคิดออกบวช เพื่อจะได้มีโอกาสเฝ้าติดตามชื่มชมพระพุทธองค์อย่างใกล้ชิด
ครั้นออกบวชแล้ว พระวักกลิก็ไม่ได้สนใจศึกษาและปฏิบัติธรรม ได้แต่ติดตามพระพุทธเจ้าไปทุกหนทุกแห่ง เพื่อเฝ้าดูแต่พระรูปกาย พระบรมศาสดาได้ตรัสเตือนและชี้ทางออกให้ท่านหันมาปฏิบัติธรรมว่า
“ดูก่อน วักกลิ เธอมัวติดตามดูร่างกายอันต้องเปลือยเน่านี้ด้วยเหตุอันใด วักกลิ ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเท่ากับได้เห็นตถาคต ผู้ใดเห็นตถาคต ผู้นั้นเท่ากับได้เห็นธรรม ผู้ที่เห็นเราโดยไม่เห็นธรรม หาได้ไม่ และผู้เห็นธรรมดีแล้วนั้นแล ย่อมจะเห็นเราผู้ตถาคตโดยประจักษ์แท้”
แต่พระวักกลิหาได้เข้าใจสิ่งที่พระพุทธองค์ทรงตักเตือนไม่ ยังคงปฏิบัติเช่นเดิม คือไม่ว่าพระบรมศาสดาจะอยู่ที่ไหน พระวักกลิก็จะไปเฝ้าใกล้ๆ ในที่สุดพระพุทธองค์ทรงเล็งเห็นว่า หากเป็นเช่นนี้ พระวักกลิจะไม่ได้บรรลุมรรคผลอันใด ดังนั้น เมื่อใกล้เข้าพรรษา พระพุทธองค์ได้เสด็จไปยังราชคฤห์ พระวักกลิก็ตามเสด็จไปด้วย พอถึงวันเข้าพรรษา เมื่อพระวักกลิมาเฝ้า พระศาสดาจึงทรงขับไล่พระวักกลิ “จงออกไป วักกลิ”
พระวักกลิไม่ได้รู้ซึ้งถึงพระเมตตา จึงเกิดความเสียใจน้อยใจ จึงตั้งใจจะไปกระโดดหน้าผาฆ่าตัวตาย พระพุทธองค์ทรงดำริว่า ภิกษุรูปนี้ถ้าไม่ได้ความสบายใจด้วยการปลอบโยนจากเราแล้ว น่าที่จะทำลายอุปนิสัยแห่งมรรคผลให้พินาศเสียเป็นแน่แท้ อาศัยพระมหากรุณาอันแรงกล้าได้ทรงเปล่งพระรัศมี ให้พระรูปของพระองค์ปรากฎแก่พระวักกลิ พร้อมตรัสเรียกชื่อ “วักกลิ” เมื่อพระวักกลิได้เห็นพระบรมศาสดาแสดงพระเมตตา ตรัสเรียกเช่นนั้น ก็ดีใจระงับความโศกเศร้าอันใหญ่หลวงได้ทันที ประคองอัญชลีถวายบังคมพระบรมศาสดาด้วยความเคารพ และซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงประทานชีวิตอันสดชื่นคืนให้แก่ตนในเวลานั้น พระพุทธองค์จึงทรงเทศน์โปรดพระวักกลิจนบรรลุอรหัตผล พระพุทธเจ้าทรงตั้งท่านไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านหลุดพ้นด้วยศรัทธา

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 106 กันยายน 2552 โดยกานต์ธีรา)
กำลังโหลดความคิดเห็น